Skip to main content
sharethis

11 ธ.ค. 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ - บำนาญแห่งชาติ จัดกิจกรรมแถลงข่าว “หนุนสังคมเป็นธรรม ลงทะเบียนคนจน ต้องลงทะเบียนคนรวยด้วย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
         
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ ให้สัมภาษณ์ว่า การจัดรัฐสวัสดิการนั้น รัฐต้องให้สวัสดิการกับประชาชนอย่างเสมอภาค โดยเฉพาะ 3 เรื่องคือ หลักประกันสุขภาพ หลักประกันด้านการศึกษา และหลักประกันเมื่อสูงวัย โดยใช้เงินภาษีจัดสวัสดิการให้ ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือรวย ก็มีสิทธิได้รับ สวัสดิการถ้วนหน้าจะช่วยลดรายจ่ายสำหรับคนจน หากไม่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเทอมค่าการศึกษา และมีบำนาญประชาชน ซึ่งเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนคนรวยก็ต้องจ่ายภาษีความมั่งคั่งที่กระจุกตัวในกลุ่มคนรวย เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีทรัพย์สิน เป็นการกระจายความมั่งคั่งของรัฐกลับคืนในรูปแบบสวัสดิการถ้วนหน้า ตอนนี้คนรวยที่สุดมีรายได้ต่างกับคนจนที่สุดถึง 22 เท่า

สุรีรัตน์ ให้ความเห็นว่า รัฐให้คนจนไปลงทะเบียนเพื่อจัดสวัสดิการ ซึ่งการลงทะเบียนนั้นเพื่อที่จะรู้ว่าแต่ละคนมีรายได้เท่าไหร่ ถ้าทุกคนในประเทศไทยที่มีบัตรประชาชนไปลงทะเบียนว่าเป็นใคร ทำงานอะไร และชี้แจงเรื่องรายได้ เพื่อจ่ายภาษี ไม่ว่าจะรวยหรือจน จะทำให้รัฐรู้ได้ว่าใครมีรายได้มากหรือน้อย จะเป็นธรรมกว่า และรัฐสามารถจัดสวัสดิการให้คนมีรายได้น้อยได้จริง ไม่ใช่สงเคราะห์ ไม่ใช่มาแอบอ้างลงทะเบียนเป็นคนจน
         
ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีวิธีคิดเชิงหลักการเปลี่ยนไป ทั้งที่ควรรับรองสิทธิพื้นฐานของประชาชนทุกคน เช่น ได้รับการรักษาพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย ได้รับการศึกษาทุกคนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เมื่อสูงวัยก็ได้รับบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า แต่รัฐธรรมนูญนี้กลับระบุว่า ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอ มีสิทธิได้รับสวัสดิการของรัฐ ทั้งที่สวัสดิการควรเป็นของทุกคน และรัฐควรต้องจัดหาให้ ซึ่งการเขียนแบบนี้สามารถตีความได้ เช่น ออกกฎหมายให้เบี้ยยังชีพเฉพาะคนแก่ที่จนเท่านั้น หรือแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพให้เป็นสำหรับผู้ยากไร้เท่านั้น คนเกือบจน คนเกือบรวย ก็อาจต้องเสียเงินค่ารักษา เป็นต้น

ด้าน ม้วน ถิ่นวิลัย แกนนำกลุ่มผู้หญิงจากอีสาน กล่าวว่า “เราหวังให้สังคมไทยมีรัฐสวัสดิการ แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นอุปสรรคในการคุ้มครองสิทธิของประชาชนโดยเท่าเทียมกัน แต่เครือข่ายภาคประชาชนจะไม่นิ่งเฉยและท้อถอยกับอุปสรรคนี้ จะร่วมกันติดตามสถานการณ์การบังคับใช้รัฐธรรมนูญว่าออกไปในทิศทางไหน อย่างไร และจะนำเสนอแนวคิด ข้อท้วงติง หรือร่างกฎหมายฉบับประชาชนให้เป็นไปในทิศทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประชาชนอย่างเราต้องได้ร่วมกำหนดด้วย”

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่ประชาชนต้องทำ คือ มีส่วนร่วมในการกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม โดยดูว่ารัฐสวัสดิการควรจัดได้แค่ไหน อย่างไร ส่วนรัฐนั้นจะจัดเก็บภาษีอย่างไรให้เป็นธรรม เช่น การขยายฐานคนเสียภาษี การกำหนดกติกา หรือวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะให้ประเทศมีฐานภาษี มีรายได้ที่มากขึ้น ซึ่งประชาชนควรมีส่วนร่วม ไม่ใช่กำหนดจากคนกลุ่มเล็กๆ

“ประชาชนมีสิทธิกำหนดว่าประเทศควรพัฒนาไปทางไหน เพราะถ้ารัฐมีงบประมาณจำกัดก็ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หากรัฐมีสวัสดิการที่ดี คนก็พร้อมที่จะเสียภาษี เพราะว่าก็จะได้รับประโยชน์กลับคืนมา” นิมิตร์ กล่าวและว่า การออกนโยบายให้คนจนมาลงทะเบียนไม่แก้ปัญหาในระยะยาว เพราะไม่ได้คำนึงถึงว่าเป็นสิทธิพื้นฐานในการสร้างความมั่นคงในชีวิต และยังลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย

ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐจ่ายเงินเป็นครั้งๆ เช่น ลงทะเบียนคนจนแล้วได้รับ 3,000 บาท ไม่ได้แก้ปัญหา ไม่ช่วยทำให้ความเหลื่อมล้ำหายไป แล้วคนเหล่านั้นเขาจะอยู่ต่ออย่างไรเมื่อเงินหมด ซึ่งรัฐควรจัดสวัสดิการให้เป็นหลักประกันที่ยั่งยืนให้กับประชาชนมากกว่า  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net