Skip to main content
sharethis

กรรมการเกาะรัตนโกสินทร์ฯ ยอมรับควรทบทวนแผนแม่บทฯใหม่ เห็นว่าชุมชนอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้ ย้ำการอนุรักษ์ควรเป็นเรื่องที่ไม่สร้างความขัดแย้งกับชุมชนและต้องได้ประโยชน์ทุกฝ่าย

2 ก.ย.2559 จากกรณีการไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬเพื่อสร้างสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) มีหน้าที่ต้องทำการไล่รื้อชุมชนดังกล่าวและเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมากว่า 24 ปีแล้ว ล่าสุด กทม.ยืนยันจะทำการรื้อชุมชนในวันพรุ่งนี้ (3 ก.ย.นี้) โดยได้ดำเนินการติดตั้งป้ายประกาศรื้อถอนตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวประชาไทสัมภาษณ์ รศ.ดร.ยงธนิศร์ พิมลเสถียร อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ในฐานะเป็นหนึ่งในกรรมการของคณะอนุกรรมการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะกรุงรัตนโกสินทร์

ประกาศไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬของ กทม.

รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าว่า คณะกรรมการกรุงกำหนดแผนแม่บทประมาณ 20 ปีมาแล้ว แต่ในช่วงที่เวลาที่ผ่านมามีแนวคิดของนักวิชาการหลายคนที่เห็นว่าชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับป้อมมหากาฬที่เป็นโบราณสถานได้ แต่บังเอิญว่าเรื่องของแผนแม่บทมันกำหนดแนวทางอีกแบบหนึ่ง ขณะที่นักวิชาการเสนอทางเลือกอีกทิศทางหนึ่ง ทางคณะกรรมการฯ มีความคิดว่าจะมีการปรับปรุงแผนแม่บท เพราะแผนที่ออกมาได้สร้างความขัดแย้งกับชุมชนมาอย่างยาวนาน แต่การทบทวนวิธีการคิดใหม่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และ กทม.ก็ยังดำเนินการตามมติเดิม ซึ่งกำหนดจะปรับปรุงพื้นที่โดยไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬในวันที่ 3 ก.ย.นี้

รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าวต่อว่า เรื่องระงับการไล่รื้อชุมชนต้องไปถาม กทม.เพราะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบและมีอำนาจหน้าที่เวนคืน แต่การจะลดข้อขัดแย้งในความคิดส่วนตัวนั้น การบริหารจัดการพื้นที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์มีได้หลายอย่าง มีได้ตั้งแต่ให้รัฐบาลเข้าครอบครองกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของและจัดการทำอะไรได้ทั้งหมด อีกแบบหนึ่งคือทำร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและผู้อยู่อาศัย หรืออีกอย่างเลยคือผู้อยู่อาศัยสามารถจัดการเองได้ แต่แผนเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ฯ อันเดิมไม่ได้กำหนดวิธีการบริหารจัดการตรงนี้เลย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการทบทวนเช่นกัน

“ถ้าในลักษณะนี้ กทม.อาจจะคุยกับทางชุมชนว่าขณะที่มีส่วนหนึ่งในพื้นที่ย้ายออกไปแล้ว และมีส่วนหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ กทม. อาจจะกำหนดกฎเกณฑ์ว่าในการรื้อย้ายพื้นที่่เพื่อจัดการให้เป็นพื้นที่สาธารณะแล้วจะมีการจัดการอย่างไรต่อ เช่น อาจจะเป็นพื้นที่สาธารณะให้มีคนเข้ามาใช้พื้นได้ แต่วิธีการจัดการส่งเสริมพื้นที่มีวิธีการจัดการได้หลายอย่าง หากว่ากทม.ได้ประกาศและให้ใครก็ได้เข้ามามีส่วนในการบริหารพื้นที่หรือช่วยกันดูแลพื้นที่ตามหลักของหุ่นส่วน แม้ว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นเจ้าของพื้นที่จริงๆ แต่ก็สามารถที่จะเสนอหลักเกณฑ์ตรงนี้ได้”

“แต่ผมไม่ใช่กทม. ก็เลยตอบไม่ได้ว่าวิธีการนี้จะทำได้หรือเปล่า เพราะการรื้อย้ายเป็นการทำหน้าที่ตามความชอบธรรมของหน่วยงาน กทม. ถ้าไม่รื้อย้ายก็ทำให้ผิดกฎหมายต่อไปหรือถ้ารื้อย้ายแล้วมีการเริ่มต้นพูดคุยหลักการบริหารจัดการพื้นที่ โดยให้ชุมชนมีข้อเสนอว่าจะทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตเหมือนเปิดโอกาสให้ได้คุยกัน และกทม.ก็มีหน้าที่ในการออกหลักเกณฑ์ว่าจะควบคุมอย่างไร มีแนวปฏิบัติในพื้นที่นี้อย่างไรให้ทุกคนทราบ หลังจากออกกฎเกณฑ์เรื่องการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ก็กำหนดว่าใครจะเป็นคนใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ วิธีการทำต้องค่อยๆ คุย อาจไม่ใช่แค่ชุมชนแต่ต้องร่วมกับหน่วยงานอื่นเพื่อหาข้อเสนอในการใช้พื้นที่ดังกล่าว”

คณะกรรมการฯ พร้อมปรับปรุงแผนแม่บท เปลี่ยนแนวคิดการอนุรักษ์ที่ทุกคนมีส่วนร่วม

ภาพจากองค์กร FURD รศ.ดร.ยงธนิศร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ม.ธรรมศาสตร์

รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าวถึงหน้าที่ของคณะกรรมการเกาะกรุงรัตนโกสินทร์ว่า หน้าที่ของคณะกรรมการคือมีการกำหนดแนวนโยบายอนุรักษ์และพัฒนาในพื้นที่เกาะกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อจัดทำนโยบายแล้วคณะกรรมการก็ทำหน้าที่กลั่นกรองเรื่องของการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวนโยบาย ซึ่งแนวนโยบายก็จะมีขอบเขตที่กว้างจึงมีการกำหนดแผนแม่บทตามบทบาทขององค์กรต่างๆ ให้เข้ามาดูแลรับผิดชอบ บทบาทหน้าที่ส่วนใหญ่ก็คือการกลั่นกรองแล้วก็พิจารณาโครงการต่างๆ ซึ่งส่วนมากเป็นโครงการที่มาจากทางภาครัฐ ฉะนั้นในกรณีของป้อมมหากาฬก็มีการกำหนดบทบาทของ กทม.เป็นเวลานานแล้วและ กทม.ก็มาแจ้งทางคณะกรรมการให้ทราบว่าทำตามแผนแม่บทที่วางไว้ เรื่องของป้อมมหากาฬจึงเป็นการดำเนินงานตามแผนแม่บทที่ทำไว้ในอดีต

“คณะกรรมการทำหน้าที่พิจารณาตามแผนแม่บทที่ทำมาก่อนหน้านี้ จึงเป็นที่มาว่าพอเกิดปัญหาทำให้มีการหารือว่าควรทบทวนแผนแม่บทและจะทำอย่างไรดี เพราะเมื่อมีข้อขัดแย้งการทำให้สำเร็จตามแผนก็จะเป็นเรื่องยาก ถ้าในกรณีของป้อมมหากาฬสามารถคุยกันได้ก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งในการปรับปรุงและก็ทบทวนแผนแม่บทอันใหม่ และอาจจะเป็นการตั้งต้นอีกประเด็นหนึ่งในการจัดทำแผนแม่บทที่แต่เดิมไม่มี คือขาดหลักการและกรอบการบริหารจัดการโดยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วม และต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์มาตรฐานของการอนุรักษ์พื้นที่และแหล่งมรดกที่มีคุณค่าเพราะจะได้เกิดความโปร่งใสและจะได้ไม่มีใครเป็นเจ้าของอยู่เพียงคนเดียว”

รศ.ดร.ยงธนิศร์ กล่าวต่อว่า ในทางกฎหมายทางคณะกรรมการเห็นว่าเรื่องนี้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้วค่อนข้างจะเป็นเหตุเป็นผลที่แผนแม่บทเป็นแบบนั้นเพราะสถานการณ์มันเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ปัจจุบันสถานการณ์ของประชาชน ชุมชน และหลักการของการอนุรักษ์ทั่วโลกก็ไม่ได้มีหลักการในลักษณะแห้งๆ หรือว่ามีแต่การห้ามคนเข้าไปใช้โบราณสถาน ตอนหลังมีการจัดการร่วมกันระหว่างวัดกับชุมชน เอกชนทำร่วมกันเข้ามา ไม่ใช่พื้นที่แช่แข็งตายตัว ดังนั้นการดำเนินแผนในปัจจุบันต้องคิดถึงสาระของชุมชนผู้คนที่อยู่อาศัยด้วย สิ่งนี้จึงเป็นที่มาของการคิดที่จะมีการปรับปรุงแผนแม่บท คือทบทวนแผนแม่บทเดิม วิธีการที่ทำก็ควรจะแตกต่างออกไปจากเดิม และคิดว่าผลที่ได้ตามมาก็คงแตกต่าง ข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบก็ควรต้องเป็นการใช้ข้อมูลที่มาจากวงกว้างขึ้นหลายภาคส่วน

"เรื่องการอนุรักษ์ควรจะเป็นเรื่องที่ทุกคนเห็นชอบร่วมกันและต้องได้ประโยชน์จากการอนุรักษ์ แต่ว่าแผนที่ทำเรื่องการอนุรักษ์อันนี้กลับนำมาซึ่งข้อขัดแย้ง ดังนั้นก็คิดว่าควรจะต้องมีการทบทนแผนแม่บทเพื่อป้องกันไม่ให้มีการเกิดเหตุการณ์ลักษณะแบบนี้อีก แต่ส่วนขอการรื้อย้ายป้อมมหากาฬวันที่ 3 ก.ย.นี้ อย่างที่เรียนให้ทราบถ้าหากจะมีการช่วยชี้แนะหรือช่วยคิดในเชิงสร้างสรรค์หลังจากที่มีการเคลียร์อะไรทั้งหมดแล้ว ต่อไปนี้การบริหารจัดการชุมชนต้องมีข้อเสนอและถ้าหากว่าชุมชนอยากจะมีส่วนร่วมกรุงเทพมหานครก็ควรกำหนดหลักเกณฑ์ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้นเพื่อช่วยรักษาพื้นที่ได้และมีการใช้ประโยชน์ได้"

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net