Skip to main content
sharethis


26 มิ.ย. 2559 เวลา 13.00 น. ที่ คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เว็บไซต์ TCIJ ร่วมกับ Thai Civic Education และ มูลนิธิฟรีดริช เอแบร์ต (FES) จัดเวทีสาธารณะ “ถอดรื้อมายาคติ สื่อ-สาร-มวลชน” โดยมีวิทยากร คือ ผศ.พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) พิธีกร/ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ VoiceTV และนักวิเคราะห์ข่าว และ สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ดำเนินรายการโดย สุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการ TCIJ

สุชาดา กล่าวถึง จุดประสงค์ของงานว่า การจัดเวทีในวันนี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ TCIJ SCHOOL นอกจากเนื้อหาของหลังสูตร ยังมีเรื่องสื่อมวลชนศึกษา หรือรณรงค์ความเข้าใจเรื่องสื่อในปัจจุบัน เพราะประเทศไทยใช้ Social Media เป็นอันดับ 2 ของโลก นอกจากนี้เราอยู่ท่ามกลางข้อมูลข่าวสาร การรับสื่อจากทุกทาง ปัจจุบันผู้รับสื่อเองก็กลายเป็นผู้ส่งสารด้วย วันนี้เราจึงชวนมาทำความเข้าใจกับสื่อในปัจจุบัน รวมไปถึงเราอาจจะต้องเข้าใจปัญหาของระบบสื่อด้วย

เผยมายาคติ 5 ประการเกี่ยวกับ “สื่อข่าว”ในสังคมไทย

พิรงรอง รามสูต รณะนันท์ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง “ภูมิทัศน์ของสื่อที่เปลี่ยนไป” โดยระบุถึงมายาคติที่เกี่ยวข้องกับการสื่อข่าว ซึ่งอ้างจาก นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการเศรษฐศาสตร์การเมือง พูดถึงมายาคติในสื่อมี 5 อย่าง ได้แก่

1. ข่าวจากสื่อกระแสหลักเท่านั้นที่เป็น “ของจริง” โดยมีตัวชี้วัดสื่อกระแสหลัก คือ มีขอบเขตระดับชาติ เช่น ฟรีทีวี หนังสือพิมพ์ที่ออกรายวันทั่วประเทศ แต่ไม่ใช่นักหนังสือสือพิมพ์ท้องถิ่น, เป็นเชิงพาณิชย์เป็นหลักคือมีการประกอบการมุ่งหากำไรเป็นหลัก มีรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจนรู้ว่าหารายได้จากไหน, มองมวลชนใหญ่เป็นเป้าหมายหลัก แต่โดยข้อเท็จจริง ประเทศไทยสื่อกระแสรองมีปริมาณมากกว่าสื่อกระแสหลัก ที่เกิดจากการปฏิรูปสื่อตั้งแต่ปี 2540 ทำให้มีช่องทางข่าวสารจากสื่อกระแสรองมากขึ้น

เมื่อ 2 ปีก่อน ก่อนมีดิจิทัลทีวี มีทีวีหลักแค่ 6 ช่อง ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า แต่ภาพรวมสื่อไทยหลังปฏิวัติ ข้อมูลในช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2557 พบว่ามี 900 สถานีเคเบิลท้องถิ่น และ 150-200 สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และสถานีวิทยุชุมชนกว่า 6,000 แห่ง ส่วนหนึ่งถูกปิดโดยคำสั่ง คสช. ส่วนหนึ่งปิดตัวลงเพราะแนวทางธุรกิจที่ทำให้ต้องปิดตัวลงไป

2. สื่อมีโครงสร้างองค์กรชัดเจนเท่านั้นที่เป็นสื่อที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มายาคติของสื่อที่มองว่าสื่อกระแสหลักต้องเป็นสื่อที่เป็นสถาบันเท่านั้นถึงจะเป็นสื่อที่แท้ และมีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ความจริงแล้วสื่อกระแสหลักไม่มีกระบวนการกำกับดูแลตนเองที่จริงจัง ซึ่งพิรงรองกล่าวว่า “พอไปถามจำนวนเรื่องร้องเรียนจากสภาวิชาชีพวิทยุโทรทัศน์ กลับพบว่าก็ไม่ทราบว่ามีจำนวนอยู่เท่าไร สะท้อนถึงให้เห็นว่าไม่มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน”

3. นักข่าวคือนักมายากลทางสังคม โดยอ้างอิงจากคำพูดของ Duncan McCargo ที่กล่าวว่า นักข่าวไทยสามารถเล่นกลได้กับทุกอย่าง ไม่มีความจริงใจ สื่อไทยมีความหลากหลาย เปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ ไม่ยึดติด แต่ในข้อเท็จจริงก็จะพบว่าหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและอังกฤษเชิงคุณภาพ ก็ทำหน้าที่เป็น “หมาเฝ้าบ้าน” อยู่จำนวนไม่น้อย แต่การรับรู้เรื่อง "หมาเฝ้าบ้าน" ผู้คนก็มักรับรู้ผ่านการบอกเล่า แต่เมื่อถามไปว่าเคยดูหรืออ่านสื่อฉบับนั้นหรือไม่ คำตอบที่ได้รับมักเป็นว่า ไม่เคย

4. สื่อชุมชน/สื่อท้องถิ่น คือกระบอกเสียงของโฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง จุดเริ่มต้นและการเข้าถึงสื่อเข้าถึงคลื่นเพื่อหากำไรหาประโยชน์ทางการเมือง และมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว เพิ่มบทบาททางการเมืองมากในช่วงประท้วงทางการเมือง (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง) แต่ปัจจุบันพบว่าวิทยุชุมชน 6,999 รายกำลังตายและหายไป ซึ่งวิทยุเหล่านี้ไม่ได้มีเนื้อหาทางการเมืองเลย

5. สื่อข่าวออนไลน์เป็นแค่ตัวกลางรวบรวมข่าว ไม่มีบทบาททางวารสารศาสตร์โดยตรง นักข่าวพลเมืองไม่ใช่นักข่าวมืออาชีพ ให้ข่าวสารข้อมูลโดยไม่ใส่ใจเรื่องลิขสิทธิ์ มีตั้งแต่เว็บท่าต่างๆ (เช่น Sanook, Kapook เป็นต้น) เสนอข่าวขนาดสั้น ซึ่งเราจะเจอในสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน แต่เราก็จะพบว่ามีสำนักข่าวออนไลน์ที่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น TCIJ, ประชาไท, ThaiPublica, สำนักข่าวอิศรา, Prasong.com เป็นต้น เกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกในการรับรู้ข่าวสาร มีข่าวเจาะ ข่าวที่เข้าถึงเฉพาะกลุ่มต่างๆ ในสังคมมากขึ้น

“มายาคติก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเรารื้อถอนมายาคติด้วยข้อเท็จจริง ด้วยความเข้าใจ เราก็จะเห็นอาจจะได้ภาพมุมหนึ่งที่แตกต่างออกไป” พิรงรอง กล่าวทิ้งท้าย

ก่อนจะได้ “สาร” ที่แท้จริง ต้องผ่านตัวกรองสารถึง 6 ชั้น

สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี บรรณาธิการข่าวต่างประเทศ หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น กล่าวถึง “สาร” และส่วนที่เป็น media โดยสรุปจากงานวิจัยของตนเองว่า Filter หรือตัวกรองสาร บางคนเปรียบว่าเหมือนการปรุงอาหารให้เหมาะกับความต้องการของประชาชน แต่ความจริงก็คือให้เหมาะกับความต้องการของคนทำสื่อมากกว่า ก่อนที่จะได้ข่าวออกมา 1 ชิ้น โดยตัวกรองสารมีอยู่ด้วยกัน 6 ชั้นด้วยกัน

ตัวกรองแรก คือ เจ้าของสื่อ สุลักษณ์ระบุถึงสื่อในประเทศไทยว่าส่วนใหญ่เป็นเอกชน จึงถูกกำหนดมาแต่ต้นว่าเป็นธุรกิจ การนำเสนอจึงเกี่ยวข้องกับความสำคัญของสารที่ต้องกำหนดทิศทาง บุคลิกของสื่อสะท้อนเจ้าของ หัวข่าว มุมมองข่าว อยู่กับเจ้าของสื่อนั้นๆ   

ตัวกรองที่สอง ประกอบไปด้วย โฆษณา, ผู้สนับสนุน และเงินทุน สื่อจำนวนมากพึ่งพิงค่าโฆษณา สุลักษณ์ยกตัวอย่างถึง The Nation ที่ทำงานอยู่ ต้นทุนต่อฉบับอยู่ที่ 100 บาท แต่ขายจริงในราคา 30 บาท รายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา เมื่อจำกัดจำนวนหน้าก็ต้องมีการเลือกข่าว โดยเฉพาะข่าวใหญ่ๆ จากบริษัทใหญ่ ใน section ธุรกิจเพื่อให้บริษัทมาลงในข่าวได้ อีกประการหนึ่งคือทิศทางสื่อมวลชนถูกกำหนดทิศทางโดยบริษัทใหญ่ สังเกตได้จากการที่หนังสือพิมพ์ฉบับใดเขียนโจมตีบริษัทใหญ่ อาทิตย์ต่อๆ มาทิศทางของข่าวนั้นจะค่อยๆ เบาลง

ตัวกรองที่สาม แหล่งข่าวที่ใช้ เป็นตัวกำหนดทิศทางของข่าว และเป็นแผ่นกรองที่มีพลังมาก สุลักษณ์อธิบายเหตุผลที่สื่อมวลชนทุ่มเทกำลังไปอยู่ทำเนียบรัฐบาลว่า เพื่อรายงานสิ่งที่ศูนย์กลางอำนาจเป็นคนคิดและทำ เวลาประเทศเกิดปัญหา เช่น เกิดปัญหาที่ภาคใต้ สำนักข่าวต้องใช้ให้นักข่าวไปถามความเห็นผู้มีอำนาจในประเทศ แต่การไปเฝ้าของสื่อมากๆ ทำให้ความคิดของสื่อถูกกลืนเข้าไปอยู่ในกับความคิดของแหล่งข่าวด้วย สื่อจึงรู้จังหวะที่จะชงคำถามให้นายกฯ ทั้งๆ ที่นายกอาจจะต้องการตอบอยู่แล้ว เช่น น้ำท่วมที่ผ่านมา นายกฯบอกว่า น้ำท่วมเพราะมีคนหนักแผ่นดินเยอะ ทำไมสิ่งเหล่านี้นักข่าวจึงถาม และทำไมสิ่งเหล่านี้ถูกรายงานออกมา ก็เพราะมันไม่ใช่เรื่องน้ำท่วมแต่เป็นเรื่องการเมือง

ตัวกรองที่สี่ คือ Flak แปลว่าการให้ข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง แต่คนให้ข่าวมักพูดว่าเป็นข้อเท็จจริง เป็นการ counter อีกแบบหนึ่ง เช่น เราเสนอข่าวชาวโรฮิงญา แต่บอกว่ากลุ่มคนเหล่านั้นเป็นพวกค้ามนุษย์ รวมไปถึงการเกลื่อนภาษา (Euphemism) เช่น คุณชายบอกว่า “อย่าเรียกว่าน้ำท่วม ให้เรียกว่าน้ำรอการระบาย”

“เป็นสิ่งที่น่าสะอินสะเอียนที่สุด ในวงการสื่อสารมวลชนไม่ควรใช้การเกลื่อนคำ หรือพูดเรื่องเลวร้ายที่สุดให้ดูดี อย่างเกิดขึ้นมาในยุคปัจจุบัน เพราะอยากรักษาภาพพจน์ของผู้มีอำนาจ”สุภลักษณ์กล่าว

อันอันคือ IO หรือ Information Operation การพยายามใช้ปฏิบัติการทางข่าวสาร รวมทั้งการปล่อยการข่าวลือ ข่าวโกหก เพื่อให้ประชาชนเข้าใจตามที่ผู้มีอำนาจต้องการ เช่น ถ้ามีระเบิดที่หนึ่งเกิดขึ้น รู้ตัวคนร้ายทันที รู้ว่าหลบหนี แต่สิ่งที่ปรากฏในรายงานข่าวยังไม่มีพยานหลักฐาน แต่ปล่อยข่าวเพื่อให้เกิดข่าวลือในสังคม

ตัวกรองที่ห้า คือ อุดมการณ์ชาตินิยม ยกตัวอย่างเช่น กรณีเรื่องเขาพระวิหาร สุลักษณ์กล่าวว่า “ผมกลายเป็นสื่อไทยหัวใจเขมรเลย” ทำไมพาดหัวของสื่อจึงออกมาสองลักษณะ คือ เสียดินแดน กับ ไม่เสียดินแดนแบบนี้ เป็นเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างกันมากขึ้น ทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น หรือการนำเสนอข่าวในประเด็นมาตรา 112 ซึ่งประเทศไทยนำเสนอไม่ได้ เพราะขัดต่ออุดมการณ์หลักของชาติ ดังนั้น อุดมการณ์ที่สำคัญที่สุดจึงกลายเป็นแผ่นกรองที่สำคัญที่สุดที่คุณต้องตัดข้อเท็จจริงออก เพื่อให้อุดมการณ์เหล่านี้มีอยู่ได้

ตัวกรองที่หก เมื่อมีประเด็นหรือความขัดแย้ง ทำให้สื่อเกิดการนำเสนอแตกต่างกันตามมุมมองที่เข้าข้างฝั่งใดฝั่งหนึ่ง เมื่อสื่อเกิดการแยกข้างก็จะเห็นเรื่องเหล่านี้ชัดเจน เช่น สื่อต่างประเทศจะเสนอเรื่องชะตากรรมของโรฮิงญา ขณะที่ประเทศไทยรายงานจากเจ้าหน้าที่ว่าไม่มีปัญหาในกรณีดังกล่าว

“หลายคนคาดหวังว่าสื่อต้องสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ประชาชน หลายคนคาดหวังในฐานะผู้บริโภค ผมพูดจากมุมมองคนที่ทำคือเราทำในฐานะคนเล่าเรื่อง แต่ไม่ได้เล่าเรื่องแบบลอยๆ เป็นการเล่าแบบที่ แนวคิด มุมมอง หรือภาษา นี่จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น” สุภลักษณ์ กล่าว

“สื่อ” คือกระบอกเสียงของ “ชนชั้นกลาง” มาทุกยุคทุกสมัย

อธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง) พิธีกร/ผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์ VoiceTV และนักวิเคราะห์ข่าว กล่าวถึง “ประสบการณ์วิชาชีพสื่อ” ว่า จากประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบัน สื่อเป็นกระบอกเสียงของชนชั้นกลางในสังคม ทั้งในยุโรปหรือประเทศอื่นๆ อย่างประเทศไทยก็จะเห็นความเป็นชนชั้นกลางของสื่อที่ออกมาต่อสู้กับอำนาจ เช่น กลุ่มสุภาพบุรุษ หรือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ เป็นชนชั้นกลางที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐ จึงกล่าวได้ว่าสื่อเป็นตัวแทนของคนชั้นกลาง แต่คนชั้นกลางในยุคปัจจุบันนั้นเปลี่ยนไป สื่อเป็นองค์กรธุรกิจอยู่ได้ด้วยค่าโฆษณา อยู่ได้ด้วยคนดู อยู่ได้ด้วยกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อ นี่คือเป้าหมายของการขายในสังคม เพราะฉะนั้นไม่ว่าภาพมุมไหน สื่อคือตัวแทนของชนชั้นกลาง และชนชั้นกลางไทยในปัจจุบันคือใคร?

“ผมเป็นคนรุ่นก่อน 6 ตุลา 2519 หลัง 6 ตุลาฯ เข้าสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ เพราะฉะนั้นสื่อมีพลังสูง ในช่วงนั้นสื่ออยู่ได้ด้วยยอดขาย ถ้าอ่านคำให้สัมภาษณ์ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ที่เคยทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยในขณะนั้น จะเห็นว่าอยู่ได้ด้วยยอดขาย” อธึกกิต กล่าว

อธึกกิตเล่าต่อว่า หลังยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ การเมืองหลังปี 2520 มีการเซ็นเซอร์ข่าวอย่างรุนแรง ไทยรัฐ เดลินิวส์ ต้องเอานิยายมาลง ก่อนหน้านั้นหนังสือพิมพ์ไทยไม่มี เกิดการมีรูปบิกินี รูปเซ็กซี่ก็เกิดในยุคเผด็จาการ หลังยุค พล.อ.เปรม เป็นยุคก้าวกระโดดใหญ่ทางทุนนิยม เกิดหนังสือพิมพ์ธุรกิจ สื่อกลายเป็นเครื่องมือการตลาด มีโฆษณาเข้ามาเกี่ยวข้องสูงขึ้น สังคมไทยเปลี่ยนเป็นทุนนิยมบริโภค ดูง่ายๆ คือ มีฟาสต์ฟู้ดเข้ามาเป็นครั้งแรก และยุคโฆษณาทีวีที่โฆษณาบ้าเลือด เกิดนิยายประโลมโลก ชนชั้นกลางจำนวนมากเริ่มแยกตัวไปอยู่บ้านจัดสรร มีความปัจเจก สังคมไทยสร้างชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นมาในสังคมบริโภคนิยม สังคมที่ผสมระหว่างจารีตนิยม กับ อนุรักษ์นิยม เข้ากันอย่างกลมกลืนกัน

ในทางวิชาชีพ ช่วงปี 2530 สื่อมีระบบมากขึ้น สื่อในสมัยก่อนหน้านี้มีลักษณะเป็นองค์กรเล็กๆ มีลักษณะเป็นเสรีชนสูง เงินเดือนก็น้อย กินอุดมการณ์เยอะ ต่อมามีการเปลี่ยนแปลง คนทำงานสื่อเริ่มมีฐานะดีขึ้นมีเงินเดือนมากขึ้น มีลักษณะเป็นค่าย สถาบัน และความเป็นธุรกิจ เป็นกระบอกเสียงของชนชั้นกลางชัดเจนขึ้น มีการชี้นำอย่างที่มีคำพูดว่า “คนกรุงล้มรัฐบาล คนต่างจังหวัดเลือกรัฐบาล” สอดคล้องตามทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย

ต่อมาในช่วงปี 2535 สื่อกับประชาธิปไตย สื่อกระแสหลักคัดค้าน รสช. แต่ชูประเด็นเรื่อง “เสียสัตย์เพื่อชาติ” สิ่งเหล่านี้สะท้อนวิธีคิดได้ว่าสื่อไม่ได้ผูกติดกับความเป็นประชาธิปไตย หลังปี 2535 ชนชั้นกลางคิดว่าคนเมืองเป็นคนมีอำนาจในการชี้ขาดทางการเมือง มีพลังสื่อ พลังนักวิชาการ

เมื่อมาถึงช่วงปี 2540 ชนชั้นกลางเกิดความผันผวน เกิดอาการการปฏิเสธตะวันตก โดยมีลักษณะเรื่องนี้สูงจนมาพุ่งขึ้นสูงในช่วงของการไล่ทักษิณ ยอมรับทักษิณเป็นอำนาจนิยม และใช้สื่อย่างฉลาด เมื่อก่อนสื่อจะรุมอัดกระแสกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลอับจนหนทาง แต่ในยุคทักษิณดิ้นได้ เพราะหาประเด็นใหม่เพื่อหนีได้  ทักษิณเป็นนักการตลาดที่เก่ง จนทักษิณขึ้นสู่อำนาจสูงสุดในปี 2548 ใครๆ ก็กลัวทักษิณ สื่อจึงต้องล้อมกรอบ โดยครั้งแรกน่าจะเป็นเรื่อง CTX ขึงพืดรัฐบาล หนีจากหน้าสื่อไม่ได้หลายอาทิตย์ เรื่อยมาจนถึงเรื่องการขายหุ้นให้เทมาเส็กที่เป็นจุดเปลี่ยนของสื่อ ของสังคมในเวลาต่อมา

อธึกกิตให้ความเห็นต่อสื่อในปัจจุบันว่าเป็นกระบอกเสียงเป็นของชนชั้นนำและอนุรักษ์นิยม โดยกลุ่มคนเหล่านี้มีความรู้สึกปลอดภัย มีความสุข ไม่รู้สึกว่าตัวเองผิด ถึงแม้บางเรื่องจะสวนทางประชาธิปไตย สวนทางจรรยาบรรณสื่อที่ต้องปกป้องสิทธิ์ของคนเห็นต่าง ซึ่งสื่อไม่ได้ปกป้องเสียเห็นต่างของชนชั้นกลางเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งสังเกตได้จากความเห็นทางการเมืองในช่วงนี้ ยกตัวอย่างในกรณีสำนักข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติเรียกร้อยให้ปล่อย โรม รังสิมันต์ คนชั้นกลางบางส่วนก็จะแสดงความเห็นในทำนองว่าทำไมทีสองฝ่ายก่อนหน้า(รัฐประหาร)นี้จะตีกัน ทำไมไม่ออกมาเรียกร้อง เป็นต้น 
 
“ภาวะสังคมที่คนชั้นกลางส่วนใหญ่คิดว่าตนเองมีความสุขไม่ต้องไปวุ่นวายกับการเมือง มี คสช.จัดการให้และทำมาหากินกันไป ถ้าอยากทำความดีก็ไปปลูกป่า สวดมนต์ข้ามปี ใช้ชีวิตแบบ Slow Life ซึ่งคนที่ทำงานค่าแรง 300 บาท ทำแบบนี้ไม่ได้ คนชนชั้นกลางไม่ใช่พวกอนุรักษ์นิยม แต่คุณเป็นทุนนิยมบริโภค ที่เลือกเอาสถาบัน ศีลธรรม เป็นเครื่องมือปกป้องตัวเอง เรื่องที่เหลือช่างมัน” อธึกกิต กล่าว
 
นอกจากนี้ อธึกกิตยังตั้งข้อสังเกตถึงชนชั้นกลางในยุคนี้ว่ามีการปกป้องโลกของตัวเองมีขึ้นสูง มักมีความดีแบบที่ชนชั้นกลางยอมรับกัน ยกตัวอย่างเช่น ความดีแบบ สสส. ทำให้เกิดลักษณะว่ามีคนจ้างทำความดีโดยชอบธรรม สสส.จะจ่ายเงินให้ลงพื้นที่เขียนรายงานกิจกรรม และมาลงโฆษณาในพื้นที่สื่อ รวมไปถึงบริษัทและองค์กรรัฐที่พาไปดูโครงการต่างๆ กลับมาเขียนลงพื้นที่โฆษณา เป็นการทำความดีที่ได้เงินที่แทรกเข้ามาในสื่อ ไม่ผิดที่จะคล้อยตาม สสส. ทุกเรื่อง แต่ สสส.ไม่พูดเรื่องเสรีภาพ เรื่องสิทธิมนุษยชน อย่างเช่นการห้ามเขากินเหล้าไปบีบคั้นคนอื่นมากเกินไปหรือไม่ ซึ่งก่อให้เกิดกระแสทำความดีที่ใครโต้แย้งไม่ได้ เพราะเขาเป็นคนดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net