Skip to main content
sharethis

แรงงานทางทะเลพ.ศ.2558 มีผลบังคับใช้แล้ว รมว.แรงงานชี้เป็นการยกระดับการคุ้มครองแรงงานของคนประจำเรือบนเรือไทยให้ได้มาตรฐานสากลตามที่อนุสัญญากำหนด 

6 เม.ย. 2559 ธีรพล ขุนเมือง ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล (Maritime Labour Convention,2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองแก่คนประจำเรือเป็นการเฉพาะในเรื่องสภาพการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องส่งเสริมกิจการพาณิชนาวี ซึ่งพ.ร.บ.ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2558 และมีผลบังคับใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีร่างกฎหมายลำดับรองเพื่อรองรับร่างพ.ร.บ.นี้ จำนวน 34 ฉบับด้วยกัน แยกเป็นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน 3 ฉบับ กรมการจัดหางาน 2 ฉบับ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน 1 ฉบับ สำนักงานประกันสังคม 1 ฉบับ กระทรวงสาธารณสุข 5 ฉบับ กรมการกงสุล 2 ฉบับ และกรมเจ้าท่า 20 ฉบับ ซึ่งมีกระทรวงแรงงานเป็นเจ้าภาพหลัก โดย พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เร่งรัดติดตามกฎหมายรองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันเสร็จเรียบร้อยทุกฉบับ เป็นการยกระดับการคุ้มครองแรงงานของคนประจำเรือบนเรือไทยให้ได้มาตรฐานสากลตามที่อนุสัญญากำหนด และถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลชุดนี้ที่ผลักดัน พ.ร.บ.นี้ให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติในการดูแลคนทำงานตามมาตรฐานสากล

ธีรพล กล่าวต่อไปว่า หลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ว่า เนื่องจากการทำงานของคนประจำเรือนั้น ต้องสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายฉบับนี้ขึ้น เพื่อกำหนดมาตรฐานการทำงานและสภาพความเป็นอยู่ของคนประจำเรือและกำหนดเรื่องเกี่ยวกับการออกใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญา แก่เรือขนส่งทางทะเลที่ชักธงไทย เพื่อป้องกันการใช้มาตรการของรัฐเจ้าของท่าเรือที่มีต่อเรือไทย เช่น การกักเรือ การตรวจเรือ เป็นต้น และเป็นการส่งเสริมการพัฒนากิจการพาณิชยนาวีของประเทศอีกทางหนึ่ง

สำหรับประโยชน์ต่อเจ้าของเรือ คนประจำเรือและรัฐบาล นั้น ธีรพล ระบุว่าเจ้าของเรือจะมีความเชื่อมั่นในการนำเรือขนส่งสินค้าทางทะเลไปเทียบท่ายังประเทศที่ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ เนื่องจากมีใบรับรองด้านแรงงานทางทะเลที่ประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของธงเรือออกให้ตามกฎหมายภายในประเทศที่สอดคล้องกับอนุสัญญาฯ ทำให้ไม่ถูกกักเรือ ตรวจเรือ หรือสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องซึ่งจะทำให้การขนส่งสินค้าไม่เกิดความล่าช้าจึงไม่ถูกปรับ อีกทั้งยังสร้างความเชื่อมั่นของผู้ว่าจ้างให้ส่งสินค้า ขณะที่คนประจำเรือจะได้รับการคุ้มครองที่เป็นมาตรฐานขั้นต่ำในการทำงานที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในการทำงานบนเรือ เช่น เรื่องชั่วโมงการทำงาน วันหยุด การจ่ายค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด จัดให้มีเวลาพักไม่น้อยกว่า 1 ช.ม. สิทธิขึ้นฝั่ง/ลาคลอด หรือการส่งตัวคนประจำเรือกลับภูมิลำเนา และการได้รับรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยหรือเกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น 

สำรหรับ รัฐบาลไทย สามารถรักษาจำนวนกองเรือไทยไว้ได้ เนื่องจากเจ้าของเรือไทยสามารถแสดง “ใบรับรองแรงงานทางทะเล” ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.นี้ เพื่อนำไปแสดงต่อรัฐเจ้าท่าของต่างประเทศได้จึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปชักธงเรือของชาติอื่นที่ให้สัตยาบันอนุสัญญานี้ อันจะทำให้รัฐบาลไทยมีรายได้จำนวนมากจากการจดทะเบียนเรือ ภาษีอากรจากการประกอบธุรกิจของบริษัทเจ้าของเรือ รวมถึงรายได้อื่นที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังเป็นการเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศของไทยได้อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net