Skip to main content
sharethis

พล.อ.ประวิตร ระบุ คสช.ให้ความสำคัญกับประเด็น ส.ว.สรรหามากที่สุด เนื่องจากมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ รับบทเฉพาะกาลอาจยังไม่เป็นสากล เพราะเน้นความมั่นคงของประเทศ 

24 มี.ค .2559 มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงข้อเสนอของแม่น้ำ 4 สายต่อคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า ไม่ใช่เรื่องต่อรอง เพียงแต่ให้ กรธ.ดูว่าสมควรทำอะไรบ้าง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญมีความสำคัญต่อบ้านเมืองในอนาคต ซึ่งตนก็บอกไปแล้วว่ามีความคิดแบบนี้ ก็ไม่เป็นไรแล้วแต่ กรธ. ท่านจะต้องไปคิดว่าอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง เพราะในช่วง 5 ปีเท่านั้นเพื่อให้ยุทธศาสตร์ชาติเดินหน้า และให้การปฏิรูปประเทศเป็นไปตามกลไก ตามรูปแบบที่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางไว้เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ ทาง คสช.มอบหมายให้เป็นหน้าที่ของ กรธ.อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไร แล้วแต่ กรธ.เห็นสมควร

เมื่อถามถึงกรณีที่ กรธ.ยอมรับเฉพาะการให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าไปเป็น ส.ว.แต่ไม่ยอมรับการประกาศชื่อนายกรัฐมนตรี รองนายกฯกล่าวว่า ไม่เป็นไร ก็แล้วแต่ท่าน ส่วนข้อดีข้อเสียการไม่ประกาศชื่อ นายกรัฐมนตรีนั้น ตนคงตอบไม่ได้ เพราะคณะรัฐมนตรี และ คสช.ประกาศมาเป็นแบบนี้ ซึ่งเห็นต่างกันได้ ซึ่ง กรธ.เองก็หวังดีกับบ้านเมือง คสช. และรัฐบาลก็หวังดีกับบ้านเมือง ก็ให้ชั่งน้ำหนักกันดู อย่างไรก็ตาม การที่ให้ความสำคัญเรื่อง ส.ว.สรรหาเป็นหลัก เพราะเป็นกลไกการปฏิรูปในอนาคต

เมื่อถามว่า กรธ.ตอบรับถือว่าเป็นการพบกันครึ่งทางใช่หรือไม่ รองนายกฯประวิตรกล่าวว่า อย่าบอกว่าพบกันครึ่งทาง อะไรรับได้ก็รับ อะไรรับไม่ได้ก็ไม่ต้องรับ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ทำ ไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ต้องทำ

ขณะที่สำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า ในส่วนข้อเสนอ ส.ว.ที่มาจากการสรรหา พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า เมื่อ กรธ. ตอบรับให้มี ส.ว. ที่มาจากสรรหา 200 คน  เเละมาจากการสรรหาเเบบไขว้ 50 คน  ถือเป็นเเนวทางที่รับได้ เพราะ คสช.ให้ความสำคัญกับประเด็น ส.ว.สรรหามากที่สุด เนื่องจากมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่านการปฏิรูปประเทศ

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอ คสช. ว่าจะทำให้เป็นประชาธิปไตยครึ่งใบนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เเล้วเสร็จ ขออย่าพึ่งวิจารณ์ 
 
อนุพงษ์ รับบทเฉพาะกาลอาจยังไม่เป็นสากล เพราะเน้นความมั่นคงของประเทศ 
 
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวด้วยว่า การออกความเห็นของตน อาจจะไปกระทบสิทธิของคนอื่น ซึ่งเป็นสิทธิของประชาชนในการพิจารณา ส่วนตัวเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเป็นสากล แต่ในบทเฉพาะกาลอาจยังไม่สมบูรณ์ในเรื่องความเป็นสากล แต่ต้องเน้นเรื่องความมั่นคงของประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้นให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณาเอง
 
เมื่อถามว่า พรรคการเมืองขอให้สามารถรณรงค์สำหรับการทำประชามติได้ พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า สามารถทำได้ หากเป็นการรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิ แต่ถ้าออกมารณรงค์เพื่อไม่ให้ใช้สิทธินั้นทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย ส่วนการขอเปิดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนั้น กรธ.ได้ทำอยู่แล้ว เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน แบบนี้สามารถทำได้ แต่ถ้ารณรงค์โดยบอกว่าดีหรือไม่ดี เป็นการใช้ความเห็นส่วนตัว แบบนี้คงไม่ดี เพราะประชาชนจะสับสนว่าคนหนึ่งบอกดี คนหนึ่งบอกไม่ดี แบบนี้คงไม่เป็นประโยชน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net