Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

วัสดุ (material) รูปทรง (form) และความหมาย (meaning)

ในกระบวนการของการสร้างผลงานประติมากรรมในยุคปัจจุบัน การพิจารณาใช้วัสดุให้เหมาะสมเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง มันเป็นแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากการสร้างผลงานประติมากรรมในกรอบคิดของศิลปะแบบสมัยใหม่ซึ่งเน้นไปที่คุณสมบัติและความมีลักษณะเฉพาะทางกายภาพของวัตถุเพื่อเป้าหมายในเชิงสุนทรียะ ดังเช่น ความงดงามของลายหินอ่อน เกรนและลายของเนื้อไม้ หรืออื่นๆ ในยุคปัจจุบัน การเลือกสรรวัสดุสำหรับการสร้างผลงานชิ้นหนึ่งๆ นั้นจะต้องคำนึงถึงความหมายที่แฝงฝังอยู่และเป็นสิ่งที่ต้องคิดอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะความหมายในทิศทางที่เกี่ยวกับกรอบความเชื่อ วิธีคิด วัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม ดังนั้น วัสดุที่เราเห็นในผลงานชิ้นหนึ่งๆ ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของศิลปินจึงเป็นสิ่งสำคัญในการสื่อผ่านทั้งความคิด ความหมาย และอารมณ์ความรู้สึก มันเป็นเครื่องมือที่สามารถสื่อสารได้ตั้งแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมไปจนถึงระดับของสภาวะนามธรรมอันลึกซึ้ง ศิลปินจึงมีความจำเป็นในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุที่ต้องครุ่นคิดและเอาใจใส่ เพราะแม้ว่าวัสดุจะถูกคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความเป็นรูปธรรมทางกายภาพ เป็นเพียงวัตถุหรือสสาร แต่แท้ที่จริงแล้วมันคือสิ่งที่เชื่อมโยงต่อไปยังความหมายต่างๆ เมื่อใช้มันอย่างเหมาะสมร่วมกับรูปทรงที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดีแล้ว มันจะกลายเป็นสื่อที่ทำหน้าที่นำผู้ชมไปยังความหมายตามที่ศิลปินต้องการอย่างได้ผลและมีพลัง

รูปทรงก็เช่นกัน 

Zhang Huan เป็นศิลปินเชื้อสายจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการศิลปะร่วมสมัยในระดับนานาชาติ เขาเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินที่ทำงานด้วยสื่อศิลปะการแสดง (performance) ในช่วงที่เขาใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ค ผลงานของเขาช่วงนั้น นอกจากการมีเนื้อหาอ้างอิงกับบริบททางสังคมแบบชาวจีนพลัดถิ่นแล้ว ส่วนใหญ่ล้วนมีลักษณะของการท้าทายและผลักดันข้อจำกัดของร่างกายของเขาเองไปจนถึงขีดสุดในทิศทางเดียวกับที่เราเห็นในผลงานหลายๆ ชิ้นในอดีตของ Marina Abramović เจ้าแม่แห่งศิลปะการแสดงผู้โด่งดัง

อย่างไรก็ตาม หลังจากการใช้ชีวิตถึงแปดปีในนิวยอร์ค Zhang Huan ก็เดินทางกลับแผ่นดินเกิดในปี 2005 และมันไม่เพียงเป็นแค่การได้กลับบ้านในทางกายภาพเท่านั้น มันยังมีความหมายของการค้นพบโลกภายในใจที่เขาแสวงหามาตลอดอีกด้วย เพราะหลังจากนั้นมา ผลงานของเขาก็เปลี่ยนแปลงและพัฒนาไปอย่างมาก จากปากคำของเขา เขารู้สึกว่าการสร้างผลงานของเขามีความเป็นอิสระมากขึ้น เขารู้สึกถึงทั้งความผ่อนคลายและความเชื่อมั่นที่มีเพิ่มมากกว่าเดิม มันมาจากการเปลี่ยนแปลงทั้งทางโลกทัศน์และชีวทัศน์ในเวลานั้น ด้วยเหตุที่เขาหันมานับถือศาสนาพุทธแทนความเชื่อเดิมที่เขาเคยมีอยู่ เขาเริ่มสร้างผลงานด้วยสื่อศิลปะอื่นๆ เป็นต้นว่า จิตรกรรมและประติมากรรม เขาใช้ผลงานของเขาเหล่านั้นในการสำรวจและค้นหาความหมายอันลึกซึ้งของศาสนาพุทธที่เขานับถือ สำหรับ Zhang Huan มันคือการสำรวจย้อนกลับเข้าไปภายในเพื่อค้นให้พบตัวตนและการพัฒนาวุฒิภาวะทางจิตวิญญาน และถ้าดูจากผลงานชิ้นหนึ่งที่เขาสร้างขึ้นในปี 2007 ดูเหมือนว่าเขาจะค้นพบมันแล้ว เขาได้กลับคืนไปสู่รากเหง้า และจากรากที่หยั่งลงไปสู่ความลึกนั้น สิ่งต่างๆ ที่เป็นแก่นแท้ของปรัชญาและศาสนาพุทธได้งอกเงยขึ้นมาอย่างงดงามและเป็นธรรมชาติ


Berlin Buddha, 2007, ash, iron and aluminium - Aluminium Buddha Part 370 x 490 x 260 m.
Ash Buddha Part 350 x 480 x 290 cm.


Berlin Buddha, installation view


Berlin Buddha และพุทธธรรม

Berlin Buddha เป็นผลงานประติมากรรมกึ่งอินสตอลเลชันเชิงกระบวนการ (process base) ที่ Zhang Huan สร้างขึ้นสำหรับการแสดงในแกลเลอรีแห่งหนึ่งในเบอร์ลิน และนั่นเป็นเหตุผลที่มันถูกตั้งชื่อเช่นนั้น ในผลงานชิ้นนี้ ขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการสร้างงานประติมากรรมถูกนำมาแสดงให้เห็นในที่สาธารณะ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของเวลาและกฏของธรรมชาติที่เป็นสาระสำคัญของงานชิ้นนี้ก็ถูกเปิดเผยให้ผู้ชมได้เห็น เมื่อประติมากรรมถูกถอดออกจากแม่พิมพ์และนำมาวางให้เผชิญหน้ากับแม่พิมพ์ของตัวมันเอง มันเป็นภาพจำลองของพระพุทธรูปสองชิ้น ชิ้นหนึ่งคือแม่พิมพ์อลูมิเนียมสูงสี่เมตร ส่วนภาพจำลองของพระพุทธรูปอีกชิ้นหนึ่งนั้นถูกสร้างขึ้นจากการใช้เถ้าของธูปที่ถูกอัดกันจนแน่นและปราศจากการใช้กาวยึดให้ติดเข้าด้วยกัน มันจึงค่อยๆ หลุดและร่วงหล่น ค่อยๆ ผุพังและเสื่อมสภาพไปตลอดเวลาของการแสดงด้วยน้ำหนักและความเป็นรูปทรงของตัวมันเองและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

ดังนั้น นอกจากความหมายของการครุ่นคิดพิจารณา สมาธิ และการตรัสรู้ที่มีอยู่ในรูปลักษณ์และความเป็นสิ่งจำลองของพระพุทธรูปแล้ว Berlin Buddha ยังแสดงถึงกฏแห่งความจริงของการแตกดับและการละสังขาร มันแสดงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นแก่นสารอันลึกซึ้งตามวิธีคิดของพุทธศาสนา

และเมื่อเราพิจารณาเฉพาะไปที่ตัววัสดุ ซึ่งในที่นี้คือเถ้าของก้านธูปที่ Zhang Huan นำมาจากวัดในเซี่ยงไฮ้ มันเป็นเถ้าธุลีของธูปที่ถูกจุดและเผาโดยพุทธศาสนิกชนชาวจีนจำนวนมาก ถ้าเราพิจารณาถึงความหมายของธูป การจุดเผาธูป ควันของธูปที่ลอยหายไปในอากาศ และเถ้าของธูป มันคือพิธีกรรมที่เปรียบได้ดังการเปิดประตูเชื่อมต่อระหว่างโลกทางวัตถุของมนุษย์และโลกอื่นที่อยู่เหนือธรรมชาติ ทั้งโลกของสิ่งศักดิ์สิทธิ์และโลกแห่งจิตวิญญาน เถ้าของธูปคือสิ่งที่หลงเหลืออยู่ของกระบวนการนี้ มันจึงเป็นสิ่งที่เก็บกักความหมายของการสวดภาวนา ความหวัง อำนาจของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ และการมีอยู่ของจิตวิญญานจำนวนมากเอาไว้ ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมีความหมายที่สะท้อนกลับไปหาตัวของ Zhang Huan โดยตรงอีกด้วย เพราะเขาเป็นชาวพุทธที่เคร่งครัดแบบที่ไม่ต้องบวชและอยู่บ้าน (Ju Shi Buddhist) และเขายังไปวัดอยู่เสมอ เขากล่าวถึงการไปวัด การจุดธูป และการสวดภาวนาดังนี้

“โดยทั่วไปแล้ว ทุกๆ คนในวัดล้วนจุดธูปและสวดภาวนาสำหรับสิ่งต่างๆ บางคนสวดภาวนาเพื่อที่จะได้มีบุตรหลาน บ้างก็ขอให้ครอบครัวมีความปลอดภัย บ้างก็เพื่อขอให้มีสุขภาพดี บ้างเพื่อให้มีโชคดีหรือมีความมั่งคั่ง หรือให้ฟันฝ่าผ่านอุปสรรคขวากหนามไปได้ บางคนนั้นก็อาจสวดภาวนาเพื่อความสำเร็จในอาชีพ โลกที่อยู่ภายในวัดนั้นจึงเป็นโลกของความหวังในสิ่งต่างๆ อย่างหลากหลาย...

แรกเริ่มนั้น เมื่อผมไปวัด ผมจุดธูปและสวดภาวนาขอพรสำหรับตัวผมเอง แต่ในภายหลัง ผมได้เรียนรู้ที่จะสวดภาวนาเพื่อครอบครัวและทีมงานในสตูดิโอของผม ถึงตอนนี้ ทุกครั้งที่ผมอยู่ในวัดผมจะสวดภาวนาเพื่อสันติภาพและความกลมเกลียวกันของมวลมนุษย์และสวดภาวนาเพื่อโลกของเรา เหล่านี้คือกระบวนการซึ่งศาสนาพุทธได้ตั้งไว้เพื่อเป็นเป้าหมายของการกระทำ มันคือการเดินทางข้ามผ่านจากสถานะของการติดยึดหลงใน “อัตตาอันใหญ่โต” ไปสู่ “อัตตาที่เล็กลง” และในท้ายที่สุดคือสภาวะของ “ความไร้อัตตา” มันคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงจำเป็นต้องอุทิศตนเพื่อการพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา ศาสนาพุทธทำให้ผมได้พบกับสันติภาพและความสงบเย็นภายในใจ มันทำให้ผมเข้าใจลึกซึ้งยิ่งขึ้นถึงกฏของเหตุและปัจจัยและกฏของความไม่เที่ยงหรือหลักแห่งอนัตตา...”
 


Berlin Buddha ก่อนแกะพิมพ์


พระพุทธรูปขี้เถ้า
 

พระพุทธรูปและขี้เถ้า

ภาพของพระพุทธเจ้าเริ่มปรากฏให้เห็นครั้งแรกในผลงานศิลปะของ Zhang Huan ในปี 2004 มันมีที่มาจากการที่เขาได้พบเห็นชิ้นส่วนของพระพุทธรูปจำนวนมากในทิเบตและจีนซึ่งหลงเหลือจากการทำลายรูปเคารพของศาสนาต่างๆ ตามคำสั่งของรัฐบาลเหมาเจ๋อตงในยุคของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในอดีต เพราะตามความคิดของเหมา ศาสนานั้นเปรียบดังยาเสพติดที่ทำให้ผู้คนเสพติดและลุ่มหลง มันจึงเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความก้าวหน้าทางวัฒนธรรมตามอุดมการณ์คอมมิวนิสม์ คำสั่งของรัฐบาลเหมาทำให้เกิดธุรกิจการขโมยพระพุทธรูปจำนวนมากจากวัดต่างๆ พวกมันถูกลักลอบนำออกมาตัดเป็นชิ้นๆ และถูกขายต่อไปยังสถานที่และบุคคลต่างๆ ในอดีต ชิ้นส่วนของพระพุทธรูปในทิเบตเหล่านั้นทำให้ Zhang Huan เกิดความชื่นชอบและประทับใจในพลังความหมายและคุณสมบัติทางประติมากรรมของมัน เขาจึงซื้อชิ้นส่วนต่างๆ ของพระพุทธรูปดังกล่าวนี้มาเก็บสะสมไว้ในสตูดิโอของเขา มันทำให้เขาได้มีโอกาสพิจารณามันบ่อยๆ และทำให้เขาคิดนำพระพุทธรูปมาใช้เพื่อสื่อสารความคิดและการสำรวจค้นหาความหมายตามกรอบคิดแบบศาสนาพุทธในคติมหายานที่เขาเชื่อถือ มันทำให้เขาได้มีโอกาสทดลองและค้นหาวิธีการแสดงออกในแบบใหม่ๆ รวมไปถึงการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมในการนำพระพุทธรูปมาสร้างเป็นงานประติมากรรมเพื่อสื่อสารความคิดและความเชื่อของเขาด้วย

ส่วนการใช้เถ้าของธูปเป็นวัสดุในการทำงานนั้นเกิดขึ้นในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน หลังจากที่ Zhang Huan ได้หันมานับถือพุทธและใช้ชีวิตแบบชาวพุทธผู้เคร่งครัดจริงๆ การไปวัด จุดธูป และสวดภาวนาทำให้เขาได้เห็นถึงคุณค่าและความหมายของพิธีกรรมที่เปิดช่องทางเชื่อมต่อระหว่างโลกวัตถุของมนุษย์และโลกเหนือธรรมชาตินี้ เขาจึงนำขี้เถ้าของธูปที่ถูกจุดและเผาแล้วจากวัดมาเก็บสะสมไว้จำนวนมากในสตูดิโอของเขาและทดลองใช้มัน แรกเริ่มนั้นเขาใช้มันสร้างเป็นงานประติมากรรมแบบเรขาคณิต และต่อมาจึงนำมามันมาใช้สร้างผลงานจิตรกรรมอยู่พักหนึ่ง มันทำให้ Zhang Huan มีความลึกซึ้งในเรื่องเถ้าของธูปมากยิ่งขึ้นทั้งในทางเทคนิควิธีการและเนื้อหา เขาต้องทำการคัดแยกเถ้าของธูปและจัดกลุ่มของพวกมันอย่างเป็นระบบสำหรับการนำมาใช้สอย ทั้งความสว่าง-มืดและสีของเถ้าธูปไปจนถึงชนิดของธูปซึ่งมีตั้งแต่ธูปที่ใช้เฉพาะสำหรับจุดบูชาวิญญานบรรพบุรุษและธูปสำหรับจุดบูชาพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จนในท้ายที่สุด Zhang Huan ได้นำมันมาใช้สำหรับการสร้างประติมากรรมภาพเหมือนของตัวเองและพระพุทธรูปขนาดใหญ่ ซึ่งในแต่ละครั้งจะมีวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกัน เช่น การจุดธูปให้เกิดควันล่องลอยออกมาจากภายในของประติมากรรมหรือการปล่อยให้บางส่วนของเถ้าธูปร่วงหล่นลงสู่พื้น เป็นต้น Berlin Buddha เป็นการใช้เถ้าของธูปในการสื่อความหมายถึงความเสื่อมสลายหรือความเป็นอนิจจังโดยตรงเป็นครั้งแรก

“แรกสุดนั้น ผมนำเถ้าของธูปมาจาก Shanghai Jing An Temple มาเก็บไว้ในสตูดิโอของผม ผมไม่รู้ว่าจะอธิบายความรู้สึกในตอนนั้นอย่างไร ทั้งบรรดาผู้ช่วยและตัวผมเองถึงกับต้องคุกเข่าลงเบื้องหน้าให้แก่เถ้าธูปดังกล่าวนั้น สำหรับผม เถ้าของธูปเหล่านั้นไม่ใช่เป็นทั้งวัสดุหรือสื่อ แต่เป็นบางสิ่งที่แสดงความหมายถึงวิญญานของผู้คนจำนวนมาก มันคือความทรงจำร่วมของผู้คน เป็นการสวดภาวนาขอพรให้มีโชคดีของคนจำนวนมหาศาล และเป็นความตายและการจบสิ้นลงของคนจำนวนมากเช่นกัน Berlin Buddha นั้นถูกสร้างขึ้นจากเถ้าธูปที่ถูกจุดขึ้นและผ่านการอธิษฐานภาวนา บางครั้งผมก็ใช้เถ้าของสิ่งอื่น เช่น เถ้าที่เกิดจากการเผากระดาษเงินซึ่งถูกเผาเพื่อส่งไปให้แก่ผู้ตายในปรภพด้วยความเคารพนับถือ และกับ Berlin Buddha ผมพยายามที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความเปราะบางของชีวิตมนุษย์ การเกิด เวลาและอายุที่ล่วงไป ความตายและสภาวะของวัฏสงสาร”


แม่พิมพ์อลูมิเนียมที่ถูกประกอบขึ้นใหม่หลังถอดพิมพ์
 


พระพุทธรูปกับความเป็นอนิจจัง

การพิจารณาความหมายอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อเรามองย้อนกลับไปที่การติดตั้งของ Berlin Buddha และครุ่นคิดถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างภาพจำลองของพระพุทธรูปสององค์ องค์หนึ่งนั้นเป็นโลหะและแข็งแกร่งคงทนที่กำลังจ้องมองไปที่พระพุทธรูปอีกองค์หนึ่งที่กำลังอยู่ในสภาวะของการเปลี่ยนแปลงในกฏของความเป็นอนิจจังที่กำลังเกิดขึ้นต่อหน้า มันซ่อนความหมายที่ชวนให้เราคิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ความหมายที่ Zhang Huan ต้องการสื่อสารนั้นแตกต่างจากความเคยชินในการตีความหมายของชาวพุทธในเมืองไทยอย่างเราๆ เพราะศาสนาพุทธของเขานั้นเป็นแบบมหายานซึ่งเน้นถึงการผสมผสานหลักธรรมเข้ากับชีวิตประจำวัน สำหรับ Zhang Huan พระพุทธรูปใน Berlin Buddha ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราต้องเคารพบูชาในระดับที่ถูกยกให้สูงเกินกว่าการเข้าให้ถึงความหมายของพุทธธรรมจริงๆ พระพุทธรูปของเขาคือมนุษย์ พระพุทธเจ้าคือมนุษย์ ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด พระพุทธเจ้าเป็นคนเช่นเดียวกับเราทุกคน เพราะตามกรอบคิดแบบมหายาน “พุทธะก็คือมนุษย์, มนุษย์ก็คือพุทธะ” พระพุทธรูปสององค์ที่เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงความไม่คงทนถาวรของชีวิตและการพิจารณาถึงความจริงของความเป็นอนิจจังนั้นจึงเป็นการจำลองหลักธรรมคำสอนเรื่องความเป็นอนัตตาที่นำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ เขาไม่ได้ต้องการแสดงภาพของพระพุทธเจ้าสำหรับการกราบกรานบูชา แต่เป็นการนำภาพจำลองของพระพุทธรูปมาเพื่อสื่อถึงหลักธรรมคำสอน นอกจากนี้ นิพพานของวิธีคิดแบบมหายานก็ไม่ใช่การหลุดพ้นไปจากชีวิต แต่เป็นนิพพานที่เกิดจากความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงกฏและสภาวะของสรรพสิ่งและการดำเนินชีวิตอย่างมีความเข้าใจในหลักธรรมนั้นอย่างมีสติ มันคือการผสมผสานหลักธรรมเข้ากับชีวิตจริง มีจริง เป็นจริง และเกิดขึ้นจริงได้ในชีวิตประจำวันของคนทุกคนโดยที่เขาไม่จำเป็นต้องออกบวชและถือครองเพศบรรพชิตแต่อย่างใด

“ชีวิตนั้นคือความแตกต่าง ในโรงพยาบาล เราได้เห็นและเป็นประจักษ์พยานถึงการต่อสู้กับความเจ็บป่วยและความตาย เมื่อคุณเห็นแม่ที่ยังสาวสัมผัสกับเท้าของพระพุทธรูปหินและสวดพร่ำภาวนายาวนานเป็นโมงยาม เมื่อคุณมองเห็นแมวแก่ที่พยายามอย่างที่สุดที่จะดื่มเลียน้ำจากท่อประปาเพื่อดับกระหาย เมื่อคุณเดินผ่านตรอกแคบๆ ในยามค่ำคืนและเห็นคนจรจัดกำลังนอนหลับ เหล่านั้นคือขณะวินาทีที่ซึ่งคุณจะได้เห็นชีวิตอย่างเป็นจริงจนถึงที่สุด”

ในท้ายที่สุด Zhang Huan ได้พูดถึงผลงานประติมากรรมในชุดเถ้าธูปของเขาว่า

“ผมเพียงแค่คิดถึงว่าสาระที่แสดงออกมาในตัวผลงานนั้นตรงกับสิ่งที่อยู่ภายในตัวผมหรือไม่ ผมเชื่อว่างานของผมจะพัฒนาไปเช่นเดียวกับที่ตัวผมเองได้พัฒนาไป… ผลงานแต่ละชิ้นของผมที่สร้างขึ้นด้วยขี้เถ้าล้วนมีกระบวนการของการเปลี่ยนผ่าน (transformation) ของตัวมันเอง เราไม่สามารถรู้ล่วงหน้าและควบคุมการเปลี่ยนแปลงของมันได้ มันคือปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวผลงานและสภาพแวดล้อม จะเป็นผลของการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิหรือความชื้น ทำให้ตัวผลงานขยายใหญ่ขึ้นหรือหดเล็กลง หลังจากนั้น บางส่วนอาจปริแตกออกและร่วงหล่น และในท้ายที่สุดก็จะสูญหายลับไป เมื่อเวลาแต่ละวินาทีผ่านไป มันก็จะเปลี่ยนแปลงไปวินาทีต่อวินาที”

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook น้ำอ้อย อ่าวสินธุ์ศิริ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net