Skip to main content
sharethis

สกว.ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวไต้หวัน ไม่ฟันธง “ปี๊บ” เป็นสาเหตุของตึกถล่มหรือไม่ แต่อยากให้มุ่งที่การออกแบบอาจไม่ถูกต้องตามมาตรฐานและใช้วัสดุที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งประเทศไทยต้องนำมาเป็นบทเรียนและปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยสอดคล้องกับสภาวการณ์ อีกทั้งเพิ่มอำนาจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นหากมีความจำเป็น


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รายงานว่า นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว “ถอดบทเรียนแผ่นดินไหวไต้หวัน: การปรับปรุงมาตรฐานโครงสร้างอาคาร” จัดโดยฝ่ายสวัสดิภาพสาธารณะ สกว. เพื่อเรียนรู้บทเรียนจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมไทยในการเตรียมการด้านการป้องกัน รวมถึงการสร้างขีดความสามารถทางด้านวิชาการของนักวิชาการไทยในการปรับตัวและลดผลกระทบมิให้ภัยพิบัติและความสูญเสียเกิดขึ้น

เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าโครงการลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในประเทศไทย สกว. จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไต้หวัน “มีนอง” (The Meinong) ขนาด 6.4 ริกเตอร์ ความลึก 16.7 กิโลเมตร จัดเป็นแผ่นดินไหวระดับตื้นและค่อนข้างอันตรายเพราะอยู่ใกล้ผิวดิน เมืองไถ่หนานอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว 30-50 เมตร มีความรุนแรงของการสั่นสะเทือนสูงเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับบริเวณอื่นๆ และเชื่อว่าเกิดจากการขยายความรุนแรงของคลื่นแผ่นดินไหวโดยแอ่งดินตะกอนใต้เมืองไถ่หนาน ซึ่งเป็นคลื่นที่ส่งผลให้อาคารขนาดกลางและอาคารสูงสั่นรุนแรงเป็นพิเศษ เมืองอื่นๆ ที่ตั้งอยู่บนแอ่งดินตะกอนและมีอาคารสูงเป็นจำนวนมากอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวในลักษณะเดียวกัน เช่นเดียวกับที่เคยเกิดในเม็กซิโกซิตี้ซึ่งอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลาง 400 กิโลเมตร แต่มีอาคารพังเสียหายจำนวนมาก เป็นหลักฐานว่าแอ่งดินอ่อนเป็นจุดอันตรายโดยเฉพาะตึกสูง เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงในภาคเหนือ ซึ่งขณะนี้กำลังปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

ด้าน อมร พิมานมาศ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร กล่าวถึงหลักการออกแบบโครงสร้างบนพื้นที่แผ่นดินไหว ว่าต้องพิจารณาจากกำลัง ความเหนียว และเสถียรภาพ การพลิกคว่ำส่วนใหญ่เกิดจากฐานราก แต่กรณีนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากฐานรากหรือไม่ ทั้งนี้อาคารที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากก่อสร้างในปี 2540 ก่อนจะมีการปรับปรุงมาตรฐานใหม่ในปี 2542 จึงมีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหวล่าสุด จากภาพข่าวที่พบว่ามีการใช้ “ปี๊บ” เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้าง กำแพง หรือพื้น ทำให้เกิดคำถามว่าการใช้ปี๊บเป็นสาเหตุของการวิบัติหรือไม่นั้น คณะวิจัยมองว่าประเด็นที่เป็นสาเหตุหลักแห่งความเสียหายซึ่งวิเคราะห์จากรูปถ่าย คือ 1. ความไม่ต่อเนื่องของโครงสร้างหลัก หรือการยึดระหว่างโครงสร้างส่วนบนและส่วนล่าง 2. ไม่มีรายละเอียดการเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหว 3. การออกแบบหรือการก่อสร้างไม่ถูกต้องตามมาตรฐาน 4. การใช้วัสดุที่ไม่ได้มาตรฐานในการก่อสร้าง 5. การวิบัติของโครงสร้างบางส่วนอาจมีสาเหตุจากการวิบัติของฐานรากบนชั้นดินอ่อน และ 6. อาจเกิดการสั่นพ้อง (เรโซแนนซ์) ระหว่างอาคารและพื้นดิน

นักวิจัยกล่าวว่า อยากให้เรื่องปี๊บเป็นประเด็นรอง และต้องวิเคราะห์ว่าเป็นชิ้นส่วนใด กำแพงหรือพื้นหรือคาน เป็นส่วนที่รับน้ำหนักหรือไม่ อย่างไรก็ตามพบว่าแทบไม่มีเหล็กเสริมในส่วนที่มีปี๊บ ถ้าเป็นกำแพงรับแรงเฉือนถือว่าผิดหลักทางวิศวกรรมอย่างชัดเจน แต่ถ้าเป็นผนังกั้นก็ไม่มีผล จากภาพสังเกตว่าตึกล้มคว่ำลงจึงตั้งข้อสังเกตว่าเป็นชิ้นส่วนพื้นหรือไม่ ซึ่งระยะเรียงของปี๊บมีความถี่มากอาจเป็นพื้นไส้กลวง (void slab) ซึ่งความหนาของผิวด้านบนต้องมากพอที่จะให้คอนกรีตรับแรงและด้านล่างต้องมากพอที่จะเสริมเหล็กที่แน่น โดยจากภาพถ่ายพบว่าการเรียงของปี๊บด้านบนมีความหนาเพียงพอ แต่ด้านล่างมีการเสริมเหล็กน้อยมาก ปริมาณเหล็กเสริมค่อนข้างน้อย หากใช้เป็นโครงสร้างพื้นอาจไม่เหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าเสาถูกบดอัด อาคารวิบัติแบบชั้นที่อ่อนแอ (soft-story) เหล็กเสริมตามขวางหายไปและไม่เพียงพอ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการออกแบบอาคาร การงอเหล็กที่ปลายไม่เหมาะสม เหล็กเสริมจะง้างออก ทำให้กำลังขององค์อาคารลดลงอย่างมาก

“เหตุการณ์ที่ไต้หวันเป็นสิ่งพิสูจน์ว่าอาคารเก่าไม่ได้มาตรฐานถล่มได้ นำมาซึ่งการสูญเสีย จึงมีข้อเสนอว่าควรมีการปรับปรุงกฎหมาย โดยบังคับอาคารที่มีความสูงไม่ถึง 15 เมตรในบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย และเสนอให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องว่าควรเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแก้ไขกฎหมายได้ตามความเหมาะสมเท่าที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเช่นเดียวกับการป้องกันอัคคีภัย รวมถึงการจัดหาแบบมาตรฐานสำหรับอาคารหลังเล็กในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว ทั้งนี้อาคารโรงเรียนส่วนใหญ่มีแบบเดียวใช้กันทั่วประเทศ ต่างจากอาคารของเอกชนหรือคอนโดมิเนียม ซึ่งหากผู้บริโภคที่ไม่ทราบเรื่องการเสริมแรงหรือการเสริมเหล็ก แต่ต้องการความมั่นใจก็จะต้องพิจารณาจากโครงสร้างมาตรฐานว่ามีใครเป็นผู้ออกแบบและก่อสร้าง มีใบอนุญาตจากสภาวิศวกรหรือไม่ ใช้วัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพหรือไม่ ปัจจุบันอาคารสูงในกรุงเทพฯหลายพันแห่ง และบ้านเรือนหลายหมื่นหลังคาเรือน เชื่อว่าส่วนใหญ่จะไม่ได้มาตรฐานเพราะก่อสร้างก่อนการบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารปี 2550 แต่แผ่นดินไหวในประเทศไทยไม่เกิดขึ้นบ่อยและไม่รุนแรง จึงต้องอาศัยวิธีตรวจสอบและเสริมกำลังเพื่อต้านทานแผ่นดินไหว”

ขณะที่ ภาสกร ปนานนท์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่าการเกิดแผ่นดินไหวมีความสัมพันธ์กับการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลก โดยแผ่นดินไหวในไต้หวันครั้งใหญ่สุดมีขนาด 8.2 ริกเตอร์ แต่เกิดนอกชายฝั่ง ส่วนครั้งสำคัญที่สร้างความเสียหายเกิดในปี 2542 ขนาด 7.7 มีอาคารเสียหายจำนวนมาก และในปี 2553 ขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน จึงมีสมมติฐานว่ามีโอกาสสะสมพลังงานบนแนวรอยเลื่อนที่อยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว และสะสมพลังงานมากพอที่จะทำให้เกิดแผ่นดินไหวในอนาคตซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องศึกษาต่อไป และมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อคได้นานถึง 2 ปี ทั้งนี้นักธรณีวิทยาได้ประเมินว่าบริเวณที่เกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจเกิดขนาดมากกว่า 7 ในไต้หวันในอนาคต ส่วนประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาดมากกว่า 6 ริกเตอร์ได้จากสถิติ ต้องคิดกันต่อไปว่าหากเกิดใกล้ตัวเมืองความเสียหายจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น

นคร ภู่วโรดม หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คระวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการปรับปรุงมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานแผ่นดินไหวว่า หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองประกาศมาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เมื่อปี 2552 มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้นหลายครั้ง ก่อให้เกิดความเสียหายและกระทบกับความรู้สึกของประชาชน ปัจจุบันกรมฯ กำลังปรับปรุงให้มีความทันสมัยมากขึ้นโดยอาศัยข้อมูลจากคณะวิจัยของ สกว. เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวการณ์และข้อมูลเกี่ยวกับแผ่นดินไหวในปัจจุบัน ทั้งนี้แนวทางการดำเนินงานได้มีการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการปฏิบัติตามมาตรฐานเดิม การทบทวนมาตรฐานให้เหมาะสมกับมาตรฐานสากล การปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดการคำนวณตามมาตรฐาน ข้อมูลเกี่ยวกับระดับความรุนแรงเพื่อปรับปรุงฐานข้อมูลแผ่นดินไหว การปรับปรุงระดับค่าความรุนแรงของแผ่นดินไหวที่รวมผลเนื่องจากสภาพชั้นดินอ่อนในกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานต้องดำเนินการต่อเนื่อง ทั้งเรื่องความเสี่ยงของพื้นที่ย่อยที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องมีการจัดทำแผนที่ความเสี่ยงภัยแบบแบ่งเขตย่อยของแต่ละเมือง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net