Skip to main content
sharethis

จอน อึ๊งภากรณ์ เล่าเรื่องในครอบครัวและพูดถึงป๋วยในฐานะที่เป็นพ่อ ย้ำวิจารณ์ป๋วยได้ เผยไม่ชอบการสร้างอนุสาวรีย์พ่อ เพราะเป็นการรำลึกถึงคนตายแบบตายไปแล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ความคิด การทำงานของป๋วย ทำให้ป๋วยมีชีวิตยั่งยืน ถูกมองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ


ที่มา: EconTU Official

11 ม.ค. 2559 จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ครั้งที่ 10 “เรื่องเล่าในบ้านอึ๊งภากรณ์” จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ที่ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. ท่าพระจันทร์ โดยจอนได้กล่าวตั้งแต่ต้นว่า สิ่งที่จะพูดในวันนี้เป็นเรื่องในครอบครัวและพูดถึงป๋วยในฐานะที่เป็นพ่อในความรับรู้ของจอน มากกว่าจะเป็นเรื่องความคิดและตัวตนต่อสาธารณะเพราะนั่นมีบุคคลอื่นที่น่าจะให้ข้อมูลได้ดีกว่า

จากนั้นการพูดคุยเป็นไปโดยมีปกป้อง จันวิทย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. คอยถามคำถาม โดยคำถามแรก ปกป้องถามว่าอาจารย์ป๋วยตัวจริงเป็นคนอย่างไร จอนกล่าวว่า คุณพ่อของเขาเป็นคนไม่ค่อยพูด คุณแม่จะพูดมากกว่า โดยส่วนใหญ่จะเห็นภาพป๋วยนั่งทำงาน เดินเล่นในสวน ส่วนการดูแลหรือตั้งกฎในบ้าน คุณแม่ของเขาเป็นคนตั้งกฎ ข้อที่สำคัญอันหนึ่งคือ เวลาทานข้าวเย็นเป็นเวลาศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนต้องอยู่พร้อมหน้ากันหมด เป็นเวลาพูดคุยในครอบครัว ส่วนใหญ่แม่จะเล่าเรื่องราวของพ่อให้ฟังที่โต๊ะอาหาร แล้วคุณแม่จะถามว่า “ใช่มั้ย” แล้วคุณพ่อก็จะพยักหน้า หน้าที่ในการดูแลลูกทั้งสามคนเป็นหน้าที่หลักของคุณแม่ ซึ่งมีความเข้มงวดในการเลี้ยงลูก เช่น ต้องเข้านอนตรงเวลา ค่าขนมให้จำกัด เรื่องโทรทัศน์ไม่มีเพื่อให้ลูกอ่านหนังสือ แต่แม้จะเข้มงวดในวินัย คุณแม่กลับไม่บังคับเรื่องการศึกษาหรือวิธีคิด และเมื่อโตขึ้นก็ยังอนุญาตให้สูบบุหรี่ได้

“ตั้งแต่สมัยเด็กเขาก็ให้เลือกโรงเรียนเองที่อังกฤษ ผมเลือกโรงเรียนแนวๆ หน่อยที่ไม่มีการตีเด็ก แต่มันอยู่ไกลนอกลอนดอนไป 50 กม. คุณพ่อจึงไปซื้อบ้านที่นั่น เรานั่งรถเมล์สิบนาทีก็ถึงโรงเรียน แต่คุณพ่อต้องนั่งรถชั่วโมงครึ่ง” จอนกล่าว

ปกป้องถามว่าโดยปกติคุยอะไรกับคุณพ่อ จอนกล่าวว่า ช่วงที่คุยกันมากหน่อยเป็นช่วงหลังและก่อนมี 6 ตุลา 2519 เริ่มเป็นการแลกเปลี่ยนทางการเมือง

“ตอนนั้นคุณพ่อรู้สึกว่าผมเป็นฝ่ายซ้ายเกินไป สมัยนั้นมันมีกลุ่มอาจารย์หกสถาบันที่สนับสนุนขบวนการนักศึกษา แล้วผมสังกัดอยู่กลุ่มนี้สนใจแนวคิดมาร์กซิสม์ด้วย ซึ่งคุณพ่อไม่เห็นด้วย สมัยนั้นผมมองพรรคคอมมิวนิสต์ในแง่ดีว่าอาจเป็นทางเลือกถ้าสังคมประชาธิปไตยไปไม่ไหว คุณพ่อจะไม่เห็นด้วย จะแลกเปลี่ยนกัน” จอนกล่าว

จอนกล่าวอีกว่า ก่อนหน้าเหตุการณ์ 6 ตุลา ป๋วยเครียดมากจากการถูกโจมตีโดยฝ่ายทหาร กอ.รมน. โดยใช้สถานีวิทยุยานเกราะและเครือข่ายจัดตั้ง เช่น กลุ่มนวพล กระทิงแดง แต่ป๋วยเป็นคนที่พูดสนับสนุนระบอบประชาธิปไตยตลอด โดยจอนยกสิ่งที่ป๋วยพูดที่ธรรมศาสตร์ เมื่อ 29 ม.ค. 2519 เป็นการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน อาจารย์ นักศึกษาในมธ.เรื่องถูกโจมตีว่าเป็นคอมมิวนิสต์ โดยตอนหนึ่งกล่าวว่า พ่อบอกว่ามันเป็นไปไม่ได้สิ่งที่เขาทำด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า (การรัฐประหารและยกเลิกรัฐธรรมนูญซึ่งเขามีส่วนร่วมเขียนเนื่องจากเป็นสมาชิกสภาสนามม้า) อย่างไรก็ต้องป้องกันรัฐธรรมนูญนี้ ส่วนจะแก้ไขเพิ่มเติมนั้นเห็นด้วย แต่ให้การปกครองด้วยรัฐธรรมนูญและรัฐสภาเปลี่ยนไปนั้นไม่เห็นชอบด้วยเลย ไม่เห็นด้วยไม่ว่าเผด็จการฝ่ายซ้ายหรือขวา ขอให้รักษาเสรีภาพให้ตลอดไป แม้จะมีความยุ่งยาก และในบรรดา ส.ส.จะมีพวกทำความปั่นป่วนวุ่นวาย แต่ก็ยังเลวน้อยกว่าการปกครองอื่นๆ ขอให้นักศึกษาตระหนักถึงเรื่องภัยที่จะคุกคามเสรีภาพและระบบประชาธิปไตยเพราะถ้าขาดเสรีภาพแล้ว ความยุติธรรมในสังคม การกระจายอำนาจก็จะสลายไป

“พ่อเชื่อในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ไม่เห็นด้วยแบบสังคมนิยมแบบจีน รัสเซีย และระบอบเผด็จการใดๆ” จอนกล่าว

เมื่อถามว่าป๋วยได้รับอิทธิพลทางความคิดจากภรรยาชาวอังกฤษมากน้อยเพียงใด จอนกล่าวว่า เขาเองก็แยกไม่ออกแต่น่าจะได้รับเยอะ เรื่องความเป็นธรรมทางสังคมนั้นคุณพ่อของเขามีแนวคิดนี้มาแต่เดิมแล้ว ประเด็นที่น่าจะมีอิทธิพลมากจากคุณแม่คือเรื่องสันติวิธี การที่คุณพ่อเลือกเป็นเสรีไทยและไปรบช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเชื่อว่าคุณแม่ไม่เห็นด้วย ส่วนคุณแม่ของเขาก็ไปขึ้นศาลเพราะไม่ยอมเป็นกองหลังในสงคราม เพื่อนคุณแม่ซึ่งเป็นกลุ่มนักกิจกรรมก็ไม่เห็นด้วยกับอังกฤษที่เข้าไปทำสงคราม

“เพื่อนแม่ที่เป็นผู้ชายคนหนึ่งเขาติดคุก ศาลไม่เชื่อเขา ในสงครามโลกครั้งที่สองในอังกฤษนั้นถ้าศาลวินิจฉัยว่าเป็นคนเชื่อเรื่องสันติวิธีจริงๆ ก็ยกเว้นโทษ แต่ถ้าศาลไม่เชื่อก็ต้องมีโทษติดคุก แต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งประหารชีวิตก็มีถ้าหนีไม่ไปรบ” จอนกล่าว

ส่วนแนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพนั้น จอนกล่าวว่า พ่อของเขาน่าจะได้รับอิทธิพลจากเพื่อนเสรีไทย ตลอดจนเพื่อนสังคมนิยมประชาธิปไตย

ในตอนท้าย จอนสรุปว่าป๋วยต่อสู้เพื่อสิ่งสำคัญในชีวิต คือ การพยายามสร้างระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ แต่ตลอดเวลาก็มีความตระหนักถึงความไม่เท่าเทียมในสังคมไทย คุณพ่อของเขาเชื่อเรื่องระบบรัฐสวัสดิการ อันนี้อาจได้รับอิทธิพลจากอังกฤษและคุณแม่เองก็เชื่อเรื่องนี้มาก นอกจากนี้ยังมีบทบาทในเรื่องการพัฒนาชนบท การพัฒนาชุมชน ทำมูลนิธิบูรณะชนบท โครงการบัณฑิตอาสาสมัคร โครงการแม่กลองที่พยายามสร้างความเท่าเทียมในชนบท ตอนหลังๆ คุณพ่อของเขาพูดถึงปัญหาเรื่องค่าจ้างกรรมกรด้วยหลังจากที่ทำงานด้านเศรษฐกิจมานานก็มีความคิดอยากเห็ความเท่าเทียมมากขึ้น และน่าจะได้รับอิทธิพลจากขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายเช่นกันในเรื่องความคิดเกี่ยวกับกรรมการชาวนา แม้ว่าจะยืนยันหลักการประชาธิปไตยรัฐสภาก็ตาม เรื่องคอร์รัปชันคุณพ่อของเขาก็มีบทบาทสำคัญ และจุดเด่นที่สุดก็คือ การกล้าพูดตรงไปตรงมากับผู้มีอำนาจ

ปกป้องถามถึงความสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการทหาร ผู้คนจะมองอาจารย์ป๋วยหลากหลาย มีคนตั้งคำถามว่าอาจารย์ป๋วยพูดเรื่องประชาธิปไตยแต่ทำงานกับระบอบเผด็จการได้อย่างไร จอนตอบว่า

“ผมคิดว่าตอนนั้นมันไม่มีทางเลือก เป็นระบอบเผด็จการตลอด ผมคิดว่าคุณพ่อมองแยกแยะอย่างที่ผมบอก แต่รู้ว่าต้องอยู่กับมันและพยายามวิพากษ์วิจารณ์มัน คุณพ่อจะเกลียดคนที่ใช้อำนาจแบบป่าเถื่อนมาก ฉะนั้น ที่รับกับสมัยจอมพล ป.ไม่ค่อยได้ ที่ร้ายคือ พล.ต.อ.เผ่า ที่ว่า ฆ่าคนเยอะ นี่เป็นภาพง่ายๆ ที่ผมได้ตอนเด็ก”

“อาจเป็นเพราะคุณพ่อใกล้ชิดกับพล.อ.เนตร เขมะโยธิน ซึ่งสนิทกับสฤษดิ์ เหมือนพ่อมองจอมพลสฤษดิ์สองด้าน ถ้าจะพูดเรื่องการพัฒนาสังคม พัฒนาเศรษฐกิจ จอมพลสฤษดิ์ก็ฟังและทำ แต่ขณะเดียวกันก็รู้ว่าเขาคอร์รัปชัน เขาก็ไปพูดตรงไปตรงมา” จอนกล่าว

ปกป้องถามว่า ยุคปัจจุบันมีคนไปรับใช้เผด็จการโดยชอบอ้างอาจาย์ป๋วย อาจารย์จอนคิดว่าบริบทมันเหมือนหรือต่างกันอย่างไร จอนกล่าวว่า “อันนี้มันเริ่มเข้าความเห็นของผม ถ้าคุยเรื่องพ่อก็ไม่อยากเอาความคิดตัวเองไปสวม แต่ถ้าถามผม ถ้าใครถามว่าเป็นยุคปัจจุบันพ่อจะรับตำแหน่งรัฐมนตรีคลังไหม ผมเชื่อหัวชนฝาว่าไม่มีทางเลย ผมคิดว่าความคิดความเชื่อคุณพ่อที่มีมาตลอดคือ ไม่ยอมรับหรือสนับสนุนระบอบเผด็จการ แต่ถ้าถามว่าถ้าคุณพ่อเป็นข้าราชการในระบอบเผด็จการจะลาออกไหม ก็อาจจะไม่ใช่ เพียงแต่ไม่รับตำแหน่งทางการเมือง อีกอย่างคือ คนที่รับใช้ คสช.นั้นไม่เคยออกมาบอกว่าได้วิพากษ์วิจารณ์ คสช.อย่างไร ข้ออ้างส่วนใหญ่คือบอกว่าไปอยู่ตรงนั้นแล้วจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซึ่งไม่เห็นมันดีขึ้นและไม่ปกป้องการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นด้วย” จอนกล่าว

ปกป้องถามว่า อาจารย์จอนเคยบอกว่าโกรธที่เอาป๋วยไปอ้างในการรับใช้เผด็จการ แต่ไม่โกรธที่ป๋วยโดนวิพากษ์วิจารณ์ เช่น กรณีสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ทำไมเป็นเช่นนั้น จอนตอบกว่า

“คุณพ่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และมีความชอบธรรมที่จะทำ ผมไม่ชอบการสร้างอนุสาวรีย์คุณพ่อ ซึ่งมันเป็นการรำลึกถึงคนตายแบบตายไปแล้ว แต่อ่านหนังสือคุณพ่อ วิพากษ์วิจารณ์ความคิด การทำงานของพ่อ นั่นทำให้คุณพ่อมีชีวิตอยู่ยั่งยืน ถูกมองเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่น่าสนใจ อาจจะทำดีเยอะ ทำเลวบ้าง มีข้อดีข้ออ่อน อันนี้คือความจริงของมนุษย์” จอนกล่าว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net