Skip to main content
sharethis

ท่ามกลางกระแสการล้อเลียนเสียดสีกลุ่มขวาจัดติดอาวุธที่บุกยึดสถานที่ราชการในรัฐโอเรกอน สหรัฐฯ ว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายแบบคนผิวขาว สื่อนอกกระแสของอเมริกันก็มองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นการสะท้อนในเรื่องความไม่พอใจจากการเลือกปฏิบัติของรัฐบาล ขณะเดียวกันก็ชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับนิยามของคำว่า 'การก่อการร้าย'

ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ผู้ประท้วงพกอาวุธซึ่งเข้ายึดอาคารสำนักงานสัตว์ป่าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในรัฐโอเรกอนเพื่อประท้วงที่ทางการสั่งจำคุกชาวไร่โอเรกอนสองคนคือ ดไวท์ และสตีฟ แฮมมอนด์ ในข้อหาลอบวางเพลิง อย่างไรก็ตามการประกาศตนแบบกลุ่มติดอาวุธ (Militia) ที่เป็นคนผิวขาวและมีแนวคิดแบบฝ่ายขวา ทำให้เกิดกระแสการตั้งคำถามเรื่องการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐและกระแสการล้อเลียนเสียดสีคนกลุ่มนี้

สิ่งหนึ่งที่ทำให้ถูกตั้งคำถามคือตั้งแต่วันเกิดเหตุจนถึงวันที่ 4 ม.ค. คือทำไมถึงยังไม่มีปฏิบัติการใดๆ จากเจ้าหน้าที่เพื่อทำให้คนกลุ่มนี้ออกจากพื้นที่ ถึงแม้ว่าจากรายงานข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งในวันที่ 5 ม.ค. จะระบุว่าฝ่ายรัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนการตัดไฟท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นเพื่อบีบให้กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ออกจากพื้นที่ และมีความเป็นไปได้ที่เอฟบีไอจะสั่งฟ้องผู้ชุมนุมกรณีบุกรุกสถานที่ราชการ แต่ก็ไม่อาจลบล้างได้ในเรื่องที่มีคนตั้งคำถามเรื่องความนิ่งเฉยของรัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ยังมีปฏิกิริยาทั้งจากความคิดเห็นในอินเทอร์เน็ตและจากที่อื่นๆ ที่มองว่าถ้าหากคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ชาวอเมริกันผิวขาวพวกเขาคงถูกโต้ตอบด้วยความรุนแรงไปแล้ว เช่น ฮารี คอนดาโบลู ตลกชาวอเมริกันกล่าวประชดเสียดสีว่าคนกลุ่มนี้เป็นคนผิวขาวที่มีอาวุธซึ่งไม่สามารถพบเจอได้จากการตรวจตรามัสยิด

แอมมอน บันดี ผู้อ้างว่าได้รับสารจากพระผู้เป็นเจ้า จึงนำกำลังบุกยึดอาคารสำนักงานสัตว์ป่าของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ในรัฐโอเรกอน เพื่อประท้วงกรณีจำคุกชาวไร่สองคนในข้อหาลอบวางเพลิง สำหรับภาพนี้ถ่ายในปี 2557 ในงานสัมมนาของ  American Academy for Constitutional Education ที่รัฐแอริโซนา (ที่มาของภาพ: แฟ้มภาพ/Gage Skidmore/Wikipedia)

กลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้นำโดยแอมมอน บันดี ผู้ที่อ้างว่าเขาได้รับ "สารจากพระผู้เป็นเจ้า" ให้กระทำการดังกล่าว มีบางคนในกลุ่มนี้อ้างวาพวกเขาพร้อมสู้จนตัวตายถ้าหากมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น พวกเขาอ้างว่าต้องการประท้วงการสั่งจำคุกดไวท์ และสตีฟ แฮมมอนด์ แต่ทางครอบครัวแฮมมอนด์เองปฏิเสธว่ากลุ่มติดอาวุธกลุ่มนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับพวกเขาเลย ภรรยาของ ดไวท์ แฮมมอนด์ บอกว่าเธอไม่รู้ว่าคนกลุ่มนี้ออกมาเพราะต้องการอะไร

ในอินเทอร์เน็ตมีกระแสเสียดสีในเรื่องนี้ เช่นมีการทำแฮชแท็กล้อเลียนอย่าง #YallQaeda #Yeehawd #VanillaISIS ซึ่งเป็นการล้อเลียนสำเนียง ความเป็นคนผิวขาวบ้านๆ ผสมกับชื่อของกลุ่มก่อการร้าย รวมถึงมีการล้อเลียนเมื่อคนกลุ่มนี้เรียกร้องให้ส่งขนมและถุงเท้าเข้าไปช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงเสียดสีจากสื่อและนักสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ

ตัวอย่างผู้ที่เสียดสีในเรื่องนี้คือ คลิฟฟ์ เชชเตอร์ คอลัมนิสต์ส่อเดลี่บีสต์ที่ระบุในเชิงเสียดสีว่าถ้าคนกลุ่มนี้เป็น "เด็กผิวดำอายุ 12 ปีที่กำลังถือปืนของเล่น" เจ้าหน้าที่อาจจะถึงขั้นตอบโต้ด้วยระเบิดนาปาล์ม ทางด้านเควิน กอสซ์โตลา บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวชาโดว์พรูฟก็ระบุในเชิงเสียดสีไว้ในบทความของตนว่า ถ้าหากคนกลุ่มนี้อยู่ในแถบตะวันออกกลางอย่างเขตวาซิริสถานเหนือ (เป็นพื้นที่ในปากีสถานที่ติดต่อกับอัฟกานิสถาน) พวกเขาคงตกอยู่ในรายชื่อสังหารของปฏิบัติการโดรนสหรัฐฯ ไปแล้ว

อย่างไรก็ตามมีเรื่องที่น่าคิดเกี่ยวกับการเล่นมุขเสียดสีกลุ่มคนผิวขาวติดอาวุธกลุ่มนี้คือเรื่องเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติทางอัตลักษณ์ ซึ่งกอสต์โตลาระบุว่ามุขตลกเหล่านี้มาจากความคับข้องใจและความไม่ไว้ใจต่อรัฐบาลที่ปฏิบัติไม่เหมือนกันเมื่อเกิดเหตุการณ์กับคนต่างสีผิวหรือต่างศาสนา และมาจากความรู้สึกไร้พลังอำนาจในการที่จะเปิดโปงระบบที่อยุติธรรมนี้

กอสต์โตลาระบุอีกว่าผู้คนส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ โดยเฉพาะคนที่มีส่วนร่วมทางการเมืองมองว่าพวกหน่วยงานความมั่นคงเริ่มมีการใช้การสอดแนมมากขึ้น ปราบปรามประชาชนด้วยหน่วยปราบจาจล ใช้การปิดล้อมเพื่อสลายกลุ่มต่อต้าน หรือใช้กระบวนการปราบปรามที่ละเมิดสิทธิในกระบวนการตามกฎหมาย รวมถึงเรื่องการขาดความสามารถในการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐในปฏิบัติการเหล่านั้น แต่กลับไม่มีการใช้เครื่องมือเหล่านี้กับกลุ่มคนที่ต่อต้านเสรีภาพของพลเมืองอย่างโจ่งแจ้ง ทำให้ผู้คนรู้สึกไม่พอใจรัฐบาล

"ถ้าหากบันดี (แอมมอน บันดี) และพรรคพวกของเขาเป็นเหมือนกับชาวอเมริกันร้อยละ 38 ที่ไม่ใช่คนผิวขาว ผู้คนทั่วอเมริกาคงไม่ได้เห็นฉากอันตรายที่ดูเซอร์เรียลเช่นนี้แล้วก็สงสัยว่าพวกนี้ทำอะไรถึงได้ถูกเรียกว่าเป็นกลุ่มติดอาวุธ (militia) ในขณะที่ยึดครองพื้นที่ราชการด้วยปืนแทนที่จะถูกเรียกว่าเป็น 'ผู้ก่อการร้าย' 'อันธพาล' 'กลุ่มหัวรุนแรง' หรือ 'กลุ่มแก็งค์' " วายาฮัต อาลี ระบุในบทความของเขาที่เผยแพร่ทางสำนักข่าวเดอะการ์เดียน

บทความของอาลียังวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องวิธีการแก้ไขปัญหากลุ่มขวาจัดสุดโต่งที่นิยมความรุนแรง โดยวิพากษ์วิจารณ์รวมไปถึงการรวบรวมประวัติแบบมีอคติทางเชื้อชาติ (Racial profiling) อาลีสรุปว่า "มีความเป็นพวกสุดโต่งอยู่ในคนทุกสีผิว ทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะไว้หนวดเคราหรือโพกหัวหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ทำให้การรวบรวมประวัติแบบมีอคติทางเชื้อชาติไม่สามารถปกป้องพวกเราจะความรุนแรงของกลุ่มสุดโต่งได้ ดังนั้นมันถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองและผู้บังคับกฎหมายจะต้องรับรู้ความจริงที่ชวนให้ลำบากใจนี้"

กอสต์โตลาระบุในบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์คอมมอนดรีมส์ว่ากลุ่มคนที่ออกมาล้อเลียนเสียดสีรวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้หลายคนมีพื้นเพเป็นคนกลุ่มที่มัจะถูกแปะป้ายเหมารวม เช่นคนมุสลิม ชาวซิกข์ หรือชาวอเมริกันผู้มีเชื้อสายอาหรับ ในขณะที่หนึ่งในผู้ก่อเหตุยึดสถานที่ราชการในครั้งนี้คือ จอน ริตซ์ไชเมอร์ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธที่เคยประท้วงต่อต้านชาวมุสลิมโดยตั้งเป้าหมายเป็นมัสยิดในสหรัฐฯ

กอสต์โตลาระบุต่อไปว่าคนแบบริตซ์ไซเมอร์ได้รับอิทธิพลความหวาดกลัวมุสลิมและคนต่างเชื้อชาติสีผิวมาจากนโยบายต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ และในทำนองเดียวกันอุปาทานหมู่ของคนกลุ่มนี้ก็หล่อเลี้ยงนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน ทำให้กอสต์โตลามองว่ารัฐบาลต้องการคนอย่างริตซ์ไชเมอร์ในการยุยงต่อต้านชาวมุสลิมและชาวอาหรับอันจะทำให้พวกเขาขยายอิทธิพลจักรวรรดิ์นิยมกับขยายอำนาจโดยอ้างความมั่นคงแห่งรัฐต่อไปได้

แต่ถ้าถามว่า คนชายขอบที่รู้สึกถูกกระทำจากความลำเอียงเช่นนี้ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐมีปฏิบัติการกับกลุ่มติดอาวุธขวาจัดเหล่านี้แบบเดียวกับทีเคยกระทำกับคนอัตลักษณ์เดียวกับพวกเขาหรือไม่ สำหรับกอสต์โตลาคงต้องหันมามองเรื่องการตีความหมายของคำว่า "การก่อการร้าย" (terrorism) ถึงแม้ว่าบางคนจะเสียดสีคนกลุ่มนี้ว่าเป็น "ไอซิสในแบบของคนผิวขาว" หรือแสดงออกในเชิงสนับสนุนให้ใช้เครื่องมือแบบเดียวกันจัดการกับกลุ่มติดอาวุธขวาจัดกลุ่มนี้ แต่กอสต์โตลาเกรงว่าการใช้เครื่องมือแบบเดียวกับที่มาจากนโยบายสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ จะยิ่งสร้างปัญหายุ่งยากแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น

อย่างไรก็ตามกอสต์โตลาย้ำว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้แสดงให้เห็นถึงการต้องตั้งคำถามกับมุมมองในเรื่อง "การก่อการร้าย" อย่างจริงจัง คำว่า "การก่อการร้าย" ไม่มีความหมายตายตัว มันเป็นคำทางการเมืองที่ถุกนำมาใช้เพื่อสร้างคุณค่าในการโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อมีการถกเถียงว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือว่าเป็น "การก่อการร้าย" หรือไม่การถกเถียงมักจะจบลงโดยไม่สามารถหาข้อสรุป โดยตัวกอสต์โตลาเองมองว่าแทนที่จะแปะป้ายกลุ่มหัวรุนแรงผิวขาวว่าเป็น "ผู้ก่อการร้าย" ควรจะทำให้กรอบความคิดในเรื่อง "การก่อการร้าย" ทั้งหมดทั้งมวลนี้กลายเป็นเรื่องล้าสมัยไปเสียดีกว่า

 

เรียบเรียงจาก

What’s Wrong With Laughing & Labeling Oregon Militants "Terrorists", Kevin Gosztola, Common Dreams, 05-01-2016 http://www.commondreams.org/views/2016/01/05/whats-wrong-laughing-labeling-oregon-militants-terrorists

Authorities plan to cut off power to militia at occupied Oregon refuge, The Guardian, 05-01-2016 http://www.theguardian.com/us-news/2016/jan/05/oregon-wildlife-militia-standoff-power-cut-off

Tension grows as militia prepares for fourth night in Oregon standoff, The Guardian, 06-01-2016 http://www.theguardian.com/us-news/2016/jan/05/tension-grows-as-militia-prepares-for-fourth-night-in-oregon-standoff

Oregon 'militia' mocked in the name of #YallQaeda, Aljazeera, 04-01-2016 http://www.aljazeera.com/news/2016/01/oregon-militia-mocked-yallqaeda-160104110233552.html

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://en.wikipedia.org/wiki/Militia_occupation_of_the_Malheur_National_Wildlife_Refuge

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net