Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฉบับที่ 24 พ.ศ. 2558 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อผล 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งก็คือวันที่ 8 ธันวาคม 2558 นั้น มีเนื้อหาที่เป็นการกำหนดฐานความผิดอาญาขึ้นใหม่รวม 3 ฐานความผิดด้วยกัน กล่าวคือ ความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก (มาตรา 287/1 วรรคแรก) ความผิดฐานส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กให้แก่ผู้อื่น (มาตรา 287/1 วรรค 2) และความผิดฐานเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็ก (มาตรา 287/2)

การบัญญัติฐานความผิดขึ้นใหม่ทั้ง 3 ฐานดังกล่าวข้างต้นนั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ค.ศ. 1989 ข้อ 34 ซึ่งประเทศไทยให้สัตยาบันไปเมื่อ พ.ศ. 2535  และเป็นไปตามแนวทางของกฎหมายต่างประเทศหลายหลายประเทศเช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษแคนาดา สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ญี่ปุ่น เป็นต้น

ในบรรดาความผิดอาญาทั้ง 3 ฐานนี้ ความผิดฐานเผยแพร่สื่อลามกอนาจารเด็กตามมาตรา 287 / 2 ดูจะเป็นความผิดที่น่าจะมีปัญหาน้อยที่สุด สำหรับบรรดาชาวบ้านร้านตลาดอย่างเรา ๆ  เพราะโดยตัวเนื้อหาของความผิดซึ่งต้องถือว่าเป็นความผิดอาญาในตัวเอง (mala in se) ที่ปุถุชนคนธรรมดาทั่วไปย่อมเข้าใจได้ว่า การไปทำอะไรทำนองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทั้งในแง่หลักศาสนาและศีลธรรม เช่น การทำ ผลิต มีไว้ นำเข้ามา ในประเทศไทยหรือส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็ก ไม่ว่าจะด้วยความประสงค์เพื่อ ทางการค้าหรือเพื่อการแจกจ่ายหรือแสดงอวดแก่ประชาชนก็ตาม หรือการเปิดร้านให้เช่าสื่อลามกอนาจารเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ การกระทำในลักษณะดังกล่าว ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้วแต่เดิม กล่าวคือ เป็นความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 287 ตามกฎหมายที่เพิ่มเติมเข้ามาในมาตรา 287 / 2 นี้ก็เป็นแต่เพียงเปลี่ยนตัวสิ่งที่ถูกกระทำ (หรือที่นักกฎหมายเรียกกันว่า กรรมของการกระทำหรือวัตถุแห่งการกระทำ) จากสื่อลามกอนาจารทั่วไปเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก เท่านั้น

ฐานความผิดที่น่าจะเป็นปัญหาที่สุด น่าจะเป็นความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็ก ตามมาตรา 287 / 1 วรรคแรก ปัญหาว่า ทำอย่างไรจึงจะถือว่าเป็นการกระทำความผิดฐานนี้นั้น ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่ายสุด ก็น่าจะ เทียบเคียงได้กับความผิดฐานครอบครองยาเสพติด ใครก็ตามที่รู้ว่า ตนเองมียาเสพติดไว้ในความครอบครอง ไม่ว่าจะมีเจตนามีไว้เพื่อเสพหรือเพื่อจำหน่ายแล้วเป็นความผิดฐานครอบครองยาเสพติดฉันใด ใครก็ตามที่รู้ว่าตนเองมีสื่อลามกอนาจารเด็กไว้ในความครอบครองเพื่อสนองความใคร่ในทางเพศของตนเองหรือผู้อื่น ก็เป็นความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กฉันนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ว่า ผู้กระทำรู้หรือไม่ว่าสิ่งที่ตนเองมีไว้ในความครอบครองเป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ถ้ารู้ก็ผิด ถ้าไม่รู้ก็ไม่ผิด สื่อลามกอนาจารเด็กที่อยู่ในรูปของรูปภาพ วิดีโอ แผ่นซีดี หากผู้กระทำรู้ว่าตนเองครอบครองสิ่งดังกล่าวไว้ก็คงเป็นความผิดฐานนี้ได้อย่างไม่มีปัญหา ปัญหามีเฉพาะในกรณีที่อยู่ ๆ ก็มีสื่อลามกอนาจารเด็กเข้ามาอยู่ในความครอบครองของตน อย่างในกรณีที่มีการส่งคลิปทางไลน์ ทางอีเมล์เข้ามาในมือถือสมาร์ทโฟนแล้วอย่างนี้ จะถือว่าเจ้าของสมาร์ทโฟน มีความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กหรือไม่นั้นในปัญหานี้คงตอบได้ว่าเจ้าของสมาร์ทโฟนไม่มีความผิดครับเพราะหลักในเรื่องนี้ก็เหมือนกับหลักตามกฎหมายอาญาทั่วไปที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาคือรู้ว่าตนเองครอบครองอะไรอยู่แล้ว และตนเองต้องการครอบครองสิ่งนั้น ก็เหมือนกับมีใครมาโยนยาบ้าเข้ามาในสนามหญ้าหน้าบ้านของเราไงครับ ถ้าเจ้าของบ้านไม่รู้แล้วจะบอกว่าเจ้าของบ้านครอบครองยาบ้าได้อย่างไร แต่ถ้าเจ้าของสมาร์ทโฟนรู้แล้วว่า มีสื่อลามกอนาจารเด็กอยู่ในเครื่องสมาร์ทโฟน ของตนเองแล้วลบข้อมูลดังกล่าวเสียก็คงไม่มีปัญหาอะไร ก็เหมือนกับเมื่อเจ้าของบ้านรู้ว่า มียาบ้ามาทิ้งไว้ที่สนามหญ้าหน้าบ้านของตนแล้ว แจ้งเจ้าพนักงานตำรวจเสีย เรื่องก็จบ หรือรู้ว่ามีสื่อลามกอนาจารเด็กอยู่ในสมาร์ทโฟนของตนแล้วก็ทำการบันทึกข้อมูลดังกล่าวไว้ ก็ไม่มีปัญหาเหมือนกัน แต่อย่างนี้เป็นความผิดครับ เรื่องไม่จบเพราะการบันทึกข้อมูลที่เป็นสื่อลามกอนาจารเด็ก ย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะมีสื่อลามกอนาจารเด็กดังกล่าวไว้ในความครอบครองของตนเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางเพศ ตามหลักกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา แต่ที่ยุ่งขึ้นมาก็คือว่า เมื่อเจ้าของสมาร์ทโฟนรู้ว่ามีสื่อลามกอนาจารเด็กอยู่ในสมาร์ทโฟนของตนแล้วไม่ได้ทำการลบข้อมูล แถมยังเปิดดูอีก ดูเสร็จแล้วค่อยลบ อย่างนี้จะเป็นความผิดฐานครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กหรือไม่นั้นคงต้องรอฟังคำพิพากษาศาลฎีกาต่อไป แต่ที่ปลอดภัยที่สุดก็คือ อย่าไปดูเลยครับ แล้วก็ทำการลบข้อมูลดังกล่าวเสียจะได้ไม่ต้องมีเรื่องมีราวเป็นคดีฟ้องร้องให้ปวดหัวเปล่าๆ

ในส่วนของความผิดฐานส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กไปยังผู้อื่นตามมาตรา 287 / 1 วรรคสอง บุคคลที่จะกระทำความผิดฐานนี้ได้มีเฉพาะบุคคลที่ได้กระทำความผิดตามมาตรา 287 / 1 วรรคแรกมาแล้วเท่านั้น เหตุที่กฎหมายลงโทษ หนักขึ้นตามวรรคสองนี้ก็เพราะผู้กระทำไม่ได้ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศของตนเองหรือผู้อื่นเท่านั้นแต่ยังส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กไปยังผู้อื่นด้วยจึงทำให้สื่อลามกอนาจารเด็กดังกล่าวได้รับการแพร่กระจายออกไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงมากกว่ากรณีตามวรรคแรก ปัญหาว่าการส่งต่อซึ่งสื่อลามกอนาจารเด็กไปยังผู้อื่นนั้นหมายถึงเฉพาะบุคคลในวงจำกัดกล่าวคือในกลุ่มของบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ เช่น พวกที่มีจิตผิดปกติชอบเด็กหรือรวมถึงบุคคลทั่วไปด้วยนั้น ตรงนี้เป็นปัญหาที่นักกฎหมายจะต้องไปนั่งตีความกันแต่ที่แน่ ๆ ถ้ารู้ว่าเป็นสื่อลามกอนาจารเด็กแล้วยังส่งต่อไปยังบุคคลอื่นผ่านระบบคอมพิวเตอร์แล้วย่อมเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (4), (5) ฉะนั้นดีที่สุดคือ ไม่ครอบครองสื่อลามกอนาจารเด็กและไม่ส่งต่อครับ…

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: ปัจจุบัน ดร.สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์ ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net