Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ย้อนกลับไปในปี พ.ศ.2552 หน้าคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผมไปนั่งรอเพื่อที่จะทำอะไรบางอย่าง นั่งอยู่นานจนมีคุณป้าท่านหนึ่งซึ่งมาส่งลูกสอบเรียนต่อ ป.โท ระหว่างที่แกรอลูกสอบอยู่นั้น ก็ไม่มีอะไรทำเลยมานั่งคุยกับผม คุยกันถึงขั้นที่แกบอกว่าตัวเองเป็นข้าราชการแต่ตอนนี้กินบำนาญแล้ว ภาพก็ตัดไปถึงตอนที่แกเล่าถึง “โครงการเช็คช่วยชาติ 2,000 บาท” แกบอกว่าตอนแรกก็ไม่คิดอะไรกับโครงการนี้แต่พอได้เงินมาแกรู้สึกว่า “มันก็ดีนะ” แต่เมื่อมองดูสีหน้าแววตาของแกก็พอจะรู้สึกได้ว่าแกค่อนข้างพอใจ อย่างไรก็ตามช่วงเวลานั้นผมไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก

เมื่อลองกลับมาพิจารณาถึงอารมณ์ความรู้สึกของคุณป้าท่านนั้นตามหลักเศรษฐศาสตร์แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่สมเหตุสมผลดี หากคิดตามหลักอรรถประโยชน์สูงสุด (maximize utility) แล้ว โดยเปรียบเทียบระหว่างการให้ของขวัญกับเงิน การให้ของขวัญแก่ผู้รับมีโอกาสที่จะทำให้ผู้รับผิดหวังซึ่งของขวัญดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้รับอย่างแท้จริง ตรงกันข้ามกับการให้เงิน ซึ่งผู้รับสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าที่ผู้รับต้องการมากที่สุดได้ ในกรณีนี้การให้เงินจึงก่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดแก่ผู้รับมากกว่า หรือจะมองในแง่ศักยภาพในการใช้จ่าย (purchasing power) ก็ได้ ซึ่งการได้รับเงินสดเพิ่มเข้ามาในกระเป๋าทำให้เรามีศักยภาพในการใช้จ่ายมากขึ้น ถึงแม้คำอธิบายเชิงเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจะมีเหตุผลมากแต่กระนั้นมันก็ไม่ได้สะท้อนอะไรมากนักโดยเฉพาะในเชิงโครงสร้าง

หลังจากโครงการ “เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท” ปี พ.ศ.2552 ก็มีโครงการ “รถคันแรก” ปี พ.ศ.2554 และล่าสุดก็มีโครงการ “ช็อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 25-31 ธันวาคมปีพ.ศ.2558 โดยสามารถนำใบกำกับภาษีหลังการซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในรายการที่กำหนดไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมได้ โครงการที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นโครงการที่กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศระยะสั้นทั้งสิ้น แต่ในบทความนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะสืบหาความสัมฤทธิ์ผลของนโยบายในเชิงเศรษฐกิจเพราะผมเชื่อโดยพื้นฐานว่ามันมีผลต่อตัวเลข GDP ในทางบวกไม่มากก็น้อย หากแต่เป็นนโยบายที่ไม่ค่อยเห็นผลในการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างเท่าใดนัก กระนั้นแล้วคำถามคือ ทำไมนโยบายที่ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างลักษณะนี้จึงยังได้รับความนิยมจากบรรดาเทคโนแครต มือฉมังของเมืองไทยหยิบมาใช้เรื่อยๆ ในช่วงทศวรรษ 2550 อย่างต่อเนื่อง

หากลองหาคำตอบในเบื้องต้น ผมเดาว่ากลุ่มชนชั้นกลางนี่แหละที่เป็นฐานสำคัญให้นโยบายจำพวกนี้ออกมาอยู่เรื่อยๆ แล้วโครงสร้างทางเศรษฐกิจแบบไหนกันที่ก่อรูปอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขาให้ยอมรับและตอบสนองต่อนโยบายเหล่านี้

 

โลกที่แวดล้อมชนชั้นกลาง

โลกในปัจจุบันคือโลกของระบบทุนนิยมซึ่งไม่ต้องอธิบายลึกมากมายว่าเป็นอย่างไรถึงเรียกว่าทุนนิยม แต่ที่แน่ๆ ทุนนิยมคือปรากฏการณ์ในระดับโลกที่เริ่มต้นจากซีกโลกตะวันตกแล้วแผ่ขยายไปทั่วโลกในศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษ 21 ดังในหนังสือเล่มโตชื่อว่า Capital in The Twenty-First Century เขียนโดย Thomas Piketty1 ที่มีเนื้อหาบางส่วนอธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของทุนตั้งแต่ศตวรรษที่ 18-ต้นศตวรรษที่ 21 จากกรณีตัวอย่างประเทศร่ำรวยอย่างโลกตะวันตก ที่การสะสมทรัพย์สินเพื่อลงทุนในภาคเกษตรลดลงอย่างมากในทางกลับกันทรัพย์สินเพื่อลงทุนด้านอื่นๆ กลับเพื่อขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังช่วงทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา นอกจากนั้นแล้วยังมีปรากฏการณ์คู่ขนาดที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1930 รัฐเริ่มเปลี่ยนรูปตัวเองโดยการถ่ายโอนทรัพย์สินบางส่วนไปสู่ภาคเอกชนด้วยการออกพันธบัตรเพื่อเพิ่มรายจ่ายของภาครัฐส่งผลให้ทรัพย์สินส่วนใหญ่ตกอยู่ในมือของเอกชนตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นมา2

ในงานของ Piketty จึงชี้ให้เราเห็นว่าโลกตกอยู่ในกำมือของเอกชนเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งถูกแรงส่งของระเบียบโลกเสรีนิยมใหม่ที่รัฐและทุนเอกชนทำงานใกล้ชิดกันมากลุกลามไปทั่วโลกในนามของ “กระบวนการทำให้เป็นภูมิภาค” การส่งเสริมให้มีการลดเงื่อนไขเพื่อให้ทุนเอกชนทำงานได้สะดวกเป็นวิธีคิดในเรื่องการพัฒนาแบบใหม่ของโลกทศวรรษ 1970 และสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดคือวิธีคิดว่าต้องผลักภาระด้านสวัสดิการไปให้คนงานซึ่งก็หนีไม่พ้นกลุ่มชนชั้นกลางขนาดใหญ่ที่ต้องน้อมรับวิธีคิดแบบนี้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้3

ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทยที่เริ่มเห็นผลชัดว่าถูกกระทบอย่างไรตั้งแต่ทศวรรษ 1970 ดังปรากฏในงานของ เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน ชื่อ “บ้านเมืองเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม”4 ที่พยายามหาต้นสายปลายเหตุความหว้าวุ่นไร้หลักยึดของ “ชนชั้นกลาง” ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในของยุคแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประกอบด้วยเงินจากสหรัฐอเมริกาที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยช่วงสงครามเวียดนาม

ชนชั้นกลางไทยที่อยู่ในโครงสร้างเศรษฐกิจสังคมหรือจะเรียกอีกอย่างว่าพวกเขาอยู่ในเบ้าหลอมที่ทำให้พวกเขาฝันถึงความมั่นคงในโลกที่ไม่มีความมั่นคงเอาเสียเลย พวกเขาต้องรับผิดชอบจัดการทุกอย่างในชีวิตด้วยเงินเดือนเพียงก้อนเดียวรวมโบนัสท้ายปีนิดหน่อย (ที่ทุนเอกชนหักส่วนเกินเก็บไว้ให้) ในโลกที่กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอยู่ในมือของมหาเศรษฐีกลุ่มเล็กๆ ดังนั้นพวกเขา (ชนชั้นกลาง) จึงเป็นได้แค่เพียงคนงานตัวเล็กๆ ที่มีกำหนดเวลาเข้าออกงานและวันหยุดที่แน่นอน ระบบแบบนี้แหละที่มันช่วยเพิ่มความซับซ้อนให้แก่ระบบเศรษฐกิจทุนนิยมมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดขึ้นของภาคบริการอย่างเช่นภาคการท่องเที่ยวรวมถึงภาคบริการอื่นๆ ซึ่งกลับมาเป็นแหล่งจ้างงานให้กลุ่มชนชั้นกลางใหม่อีกทอดหนึ่ง

วัฒนธรรมการท่องเที่ยวของชนชั้นกลางที่เกิดขึ้นเพราะระบบทุนนิยมเป็นอุปสงค์ชั้นเลิศให้เกิดการแผ่ขยายของลัทธิบริโภคนิยมภายใต้วิถีชีวิตในห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และขยายตัวสู่ต่างจังหวัดหลังวิกฤติเศรษฐกิจการเงินหรือวิกฤติต้มยำกุ้งหลังปี 1997 ซึ่งก็เป็นการเปิดช่องให้ทุนของบรรษัทต่างชาติเข้ามาเป็นตัวเร่งอีกปัจจัยหนึ่ง ส่งผลให้วัฒนธรรมการจับจ่ายใช้สอยแบบชนชั้นกลางขยายตัวไปทั่วประเทศ5 นอกจากห้างร้านแล้วระบบการเงินการธนาคารก็ขยายตัวเช่นกันและมันก็เชื่อมต่อกับเครือข่ายห้างสรรพสินค้าที่เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 11.00 – 21.00 น. ในวันธรรมดา และ 10.00 – 21.00 น. ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ (เว้นแต่ช่วงรัฐประหารใหม่ที่บังคับให้ต้องปิดเวลา 20.00 น.)

การขยายเวลาทำการของธนาคารในห้างสรรพสินค้าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เข้ามาส่งเสริมวิถีชีวิตของชนชั้นกลางที่ต้องทำงานตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ในกรณีที่เป็นข้าราชการ พนักงานของรัฐและวันจันทร์-เสาร์ในกรณีที่เป็นพนักงานเอกชนอย่างดีเยี่ยม

ในรอบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมามีงานศึกษาจำนวนมากที่ศึกษากระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทซึ่งชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทอย่างไพศาล จนคนชนบทใหม่ไม่อาจจะกลับไปฝันถึงชีวิตในอดีตอีกต่อไป แต่กลับมีงานน้อยชิ้นมากที่จะศึกษาถึงชนชั้นกลางในทศวรรษ 2550 อย่างจริงจัง

อีกทั้งงานศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทเป็นสิ่งที่ชี้ให้เรามองเห็นว่าชนชั้นกลางไทยต้องอยู่ในโครงสร้างทางสังคมที่สับสนเพียงไร เพราะต้องอยู่ร่วมกับคนชนบทใหม่ที่พวกเขาไม่เข้าใจ อีกทั้งพวกเขายังต้องเผชิญกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป คือแนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ ชนชั้นกลางวัยทำงานหนึ่งคนจะต้องดูแลผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้น

ความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคมมันได้สร้างชนชั้นกลางขึ้นมาและบีบรัดตัวพวกเขา (รวมถึงผมด้วย) ให้อยู่ในโครงสร้างที่มองไม่เห็นหนทางปลดแอก รวมถึงอารมณ์ความรู้สึกแบบใหม่ที่เกิดขึ้น ดังจะพยายามหาคำตอบต่อไป

 

อารมณ์ความรู้สึกในโครงสร้างทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางในทศวรรษ 25506

หลังเหตุการณ์ที่คนต่างจังหวัดเข้ามาเคลื่อนไหวเรียกร้องทางการเมืองในกรุงเทพฯ ช่วงปีพ.ศ.2552-2553 และหลังจากที่คำอธิบายการเมืองชนบทด้วยงานคลาสสิคอย่าง “สองนคราประชาธิปไตย” ได้อ่อนแรงลง แสดงให้เห็นว่าอารมณ์ความรู้สึกของคนต่างจังหวัดต่อการเมืองและนโยบายรัฐที่กระทบพวกเขาบนฐานของการเมืองในระบบเลือกตั้งนั้นเป็นอย่างไร บ้างก็ว่าเพราะพวกเขาเป็นคนกลุ่มใหม่ที่อยู่ในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการหรือ informal sector ที่ชีวิตพวกเขามีแต่ความเสี่ยงไร้หลักประกันในระบบเหมือนกับที่ชนชั้นกลางในภาคการผลิตที่เป็นทางการมี

แต่ก็มีงานศึกษาบางชิ้นที่ชี้ให้เห็นพลังของคนที่อยู่ในภาคการผลิตที่ไม่เป็นทางการมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนอาชีพล้อไปตามวัฏจักรเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน พวกเขาแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีพลังมากขนาดไหนที่จะอยู่รอดถึงแม้ว่าบางครั้งก็ต้องการระบบการเมืองที่เป็นหลังพิงและเอื้อให้พวกเขาปรับตัวได้สะดวกมากขึ้น ต่างกันกับชนชั้นกลางที่เปราะบางอยู่ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจหลังทศวรรษ 1970

หากเราเชื่อสิ่งที่ David Harvey บอกเราใน A Brief History of Neoliberalism ที่ว่าการลดขนาดรัฐครอบคลุมเรื่องสวัสดิการ หรือการผลักภาระด้านสวัสดิการให้เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ประกอบกับจังหวะแห่งยุคสมัยที่กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนใหญ่อยู่ในมือของทุนเอกชนรวมถึงในประเทศไทยก็แบบนั้นเช่นกัน ชนชั้นกลางในโลกนี้จึงอยู่บนความเสี่ยงที่จะเสียงานได้ง่ายมาก อีกทั้งไม่มีหลังพิงใดๆ นอกจากน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง การจะเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่นก็เป็นเรื่องยากมากเพราะมันอาจไม่เข้ากับวัฒนธรรมที่พวกเขาถูกหล่อหลอมมาจากระบบการศึกษาสมัยใหม่

การยอมจำนนต่อระบบอย่างเชื่องๆ น่าจะเป็นสิ่งที่ปลอดภัยสำหรับชนชั้นกลางทั่วไป อารมณ์โหยหาความปลอดภัยจึงเกิดขึ้น การเมืองแบบไหนก็ได้ที่ทำให้พวกเขาปลอดภัยเป็นดีที่สุด ด้วยรายได้ที่จำกัดและคงที่ ประกอบกับอยู่ในโครงสร้างประชากรที่ทำให้พวกเขาจะต้องคิดถึงการเลี้ยงดูคนชราในครอบครัว การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคหรือซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ๆ จำต้องพักไว้ก่อนในช่วงเวลาปกติ ด้วยอารมณ์ความรู้สึกแบบนี้จึงทำให้พวกเขายอมตอบรับต่อโครงการอะไรก็ตามที่จะทำให้พวกเขากล้าที่จะใช้จ่ายโดยไม่กระทบต่อชีวิตในโครงสร้างของพวกเขามากเกินไป

ถึงแม้ว่าโครงการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเช่น “เช็คช่วยชาติ 2,000 บาท” “โครงการรถคันแรก” และ “ช็อปช่วยชาติ” ตั้งแต่วันที่ 25-31 ธันวาคมปีพ.ศ.2558 โดยสามารถนำใบกำกับภาษีหลังการซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในรายการที่กำหนดไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เหล่านี้จะเป็นโครงการที่มีผลระยะสั้นๆ แต่มันจะติดตรึงในความทรงจำของชนชั้นกลางไทยยาวนานกว่าผลของมันที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่สำคัญว่ารัฐบาลในยุคดังกล่าวจะมีที่มาแบบไหน

ในอนาคตจะมีโครงการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้อีกหรือไม่ หากให้เดาภายใต้โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ก่อรูปอารมณ์ความรู้สึกของชนชั้นกลางแบบนี้ ก็ต้องตอบว่ามีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่จะมีโครงการลักษณะนี้ โดยเฉพาะโครงการที่เล่นกับเรื่องลดภาษี เพราะว่า “ภาษีคือ DNA ของชนชั้นกลาง”

 

เชิงอรรถ

1 ดูเพิ่มเติมใน Piketty, Thomas. “Capital in The Twenty-First Century”. Belknap Harvard. USA. 2014

2 ที่จริงแล้วงานชิ้นนี้ของ Piketty ยังมีรายละเอียดอีกมากมายที่อธิบายถึงโครงสร้างเศรษฐกิจทุนนิยมที่ปรับตัวอย่างมหาศาลแต่ยังไม่ขอพูดถึงในบทความนี้

3 สังเคราะห์จาก Harvey, David. “A Brief History of Neoliberalism”. Oxford University Press. USA. 2005

4 สังเคราะห์จาก เบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน. บ้านเมืองเราลงแดง: แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม ใน “ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา”. สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน กรุงเทพฯ. 2558, หน้า 57-107

5 ดูเพิ่มเติมใน Gen, Endo. “Diversifying Retail and Distribution in Thailand”. Silkwarm. Chiang Mai. 2013 นอกจากเป็นงานเชิงประวัติศาสตร์ธุรกิจที่เสนอให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกแล้ว ยังเสนอให้เห็นกระบวนการผูกขาดตลาดค้าปลีก แต่อย่างไรก็ตามงานชิ้นนี้อธิบายถึงช่วง 2006 ซึ่งหลังจากนั้นมีความเปลี่ยนแปลงมากมายในภาคเศรษฐกิจค้าปลีกซึ่งทำให้เราสามารถคิดต่อได้

6 คิดต่อจากอรรถจักร สัตยานุรักษ์. “ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงผ่านจินตนาการประเทศไทยต่อชนบท “ประชาธิปไตยบนความเคลื่อนไหว-unfinished project””[ระบบออนไลน์] แหล่งที่มา http://thaipublica.org/2015/12/attajak-settayanurak-1/ (เข้าสู่ระบบเมื่อ 31/12/2558) ในหัวข้อ “ความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด (structure of feeling)”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net