Skip to main content
sharethis

ยก 'ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง' - 'ประชารัฐ' โชว์กลางเวที พร้อมเสนอกรอบจำกัดอุณหภูมิโลกโดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมระดับสูงของประมุขของรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 (COP21) ณ ห้อง Plénière Seine ศูนย์การประชุม Parc des Expositions Paris du Bourget  กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเริ่มจากกล่าวแสดงความเสียใจอย่างยิ่งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ความรุนแรงในกรุงปารีสเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยให้กำลังใจกับทุกประเทศที่เผชิญเหตุรุนแรง และแสดงความเป็นหนึ่งเดียวที่จะร่วมประณามการกระทำไร้มนุษยธรรมเช่นนี้

ดูคลิปได้ที่

พร้อมกล่าวว่า

“วันนี้ผมมาแสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของประเทศไทยในการร่วมผลักดันให้การเจรจาความตกลงด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่บรรลุผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะก่อให้เกิดภัยพิบัติ ภาวะโลกร้อน ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น กระทบต่อประเทศหมู่เกาะ และประเทศที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่มากนัก อีกทั้งอาจจะเกิดภัยแล้งจะทำให้เกิดการขาดน้ำเพื่อการเกษตร น้ำอุปโภคและบริโภคอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและรายได้ของเกษตรกร กระทบต่อแหล่งผลิตอาหารของโลก ตลอดจนทำให้เกิดความขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ เกิดความยากจน ความขัดแย้ง จนอาจเป็นสาเหตุของการทำสงครามแย่งน้ำในโอกาสต่อไปได้ เป็นการเพิ่มภาระให้กับประเทศกำลังพัฒนาที่รายได้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับผลิตผลทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงต้องพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศที่กำลังพัฒนา เพื่อส่งเสริมรายได้ และลดผลกระทบจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปพร้อมๆ กันด้วย ผมอยากให้ทุกกลุ่มประเทศคำนึงถึงเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกและพัฒนาประเทศอย่างสมดุล

ทรัพยากรธรรมชาติเป็นสมบัติของโลกและมวลมนุษยชาติ ไม่ใช่ของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ประชาคมโลกมีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันดูแลรักษาไม่ให้หมดสิ้นไป โดยเฉพาะความพยายามจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศา โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความรับผิดชอบร่วมกันในระดับการพัฒนาที่แตกต่าง โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละประเทศด้วย

ผมขอเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมมือกัน ในกรอบเหนือ-ใต้ และใต้-ใต้ ทั้งในด้านเงินทุน การวิจัยและพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ไทยได้จัดทำแอคชั่นแพลนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20 ถึง 25 ภายในปี ค.ศ. 2030 มุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล โดยใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิเช่น การใช้รถเครื่องยนต์เครื่องยนต์ไฮบริด เครื่องยนต์ไฟฟ้าให้มากยิ่งขึ้น การลดการขนส่งทางถนนเป็นการเพิ่มการขนส่งทางราง การเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในแผน PDP ของไทยให้มากขึ้น ขจัดการบุกรุกป่า รณรงค์ปลูกป่าอาเซียน ทำแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ จัดทำ Roadmap การลดหมอกควันให้เหลือร้อยละ 0

และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ทรงพระราชทานมากว่า 50 ปี ในรูปแบบประชารัฐ ด้วยความร่วมมือของภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม NGO และประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของไทย ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ของสหประชาชาติ

ท่านประธานที่เคารพในฐานะประธานกลุ่ม G77 ในปี 2559 ประเทศไทยจะมุ่งมั่นอย่างเต็มความสามารถในการเป็น สะพานเชื่อมความแตกต่างทั้งภายในและภายนอกกลุ่ม เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันของโลกใบนี้ ขอบคุณครับ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net