Skip to main content
sharethis

1 ธ.ค. 2558 จากกรณีเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ที่ผ่านมา นายกลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ได้แสดงความคิดเห็นต่อสถานการณ์ที่การดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพุ่งสูงขึ้น ภายใต้ปกครองของคณะรัฐประหาร ณ เวทีเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในกรุงเทพฯ โดยนายกลิน ที. เดวีส์ ย้ำว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีความเคารพอย่างยิ่งและรู้สึกชื่นชมพระมหากษัตริย์ไทย แต่ก็กล่าวถึงสิทธิการแสดงความคิดเห็นว่า “เราเชื่อว่าไม่ควรมีใครควรถูกจำคุกต่อการแสดงมุมมองอย่างสันติ และเราสนับสนุนอย่างหนักแน่นต่อความสามารถของบุคคลหรือองค์กรอิสระใดๆ ในการค้นคว้าวิจัยและรายงานประเด็นสำคัญๆ โดยปราศจากความกลัวว่าจะถูกแก้แค้น” (อ่านรายละเอียด)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่ผ่านมา ชมรมคนรักในหลวง ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมผ่านเว็บไซต์ Welovethaiking.com ระบุว่ามีสมาชิกชมรมหลายจังหวัดเข้ายื่นแถลงการณ์ตอบโต้เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ จากกรณีแสดงความเห็นดังกล่าว ที่วิจารณ์กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทย ผ่านยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเพื่อส่งถึงกระทรวงการต่างประเทศ

โดยจังหวัดที่มีการรายงานกิจกรรมดังกล่าวเช่น เลย อุบลราชธานี สุรินทร์ หนองบัวลำภู ร้อยเอ็ด ยโสธร ชัยภูมิ มหาสารคาม ขอนแก่น นครราชสีมา ศรีสะเกษ มุกดาหาร บุรีรัมย์ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง ตาก อยุธยา อ่างทอง อุทัยธานี อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร ราชบุรี ระนอง กระบี่ สุราษฎรธานี สงขลา ตรัง พัทลุง ภูเก็ต พังงา ประจวบคีรีขันธ์ จันทบุรี ตราด

ตัวอย่างแถลงการณ์

พัฒนาการการเพิ่มโทษของ ม.112

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การเพิ่มโทษในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นี้ ถูกแก้ไขหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จากนั้นมีการรัฐประหารและต่อมาได้ออกคำสั่งให้แก้ไขประมวลกฎหมายดังกล่าวเป็นเพื่อเพิ่มโทษและมีการกำหนดโทษขั้นต่ำดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ว่า “มาตรา 112 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

โดยที่ก่อนหน้านั้นมีโทษที่ต่ำกว่าที่เป็นอยู่ ในสมัยรัชกาลที่ 5 มีพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดหรือเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ รศ. 118 มาตรา 4 ซึ่งระบุโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับเป็นเงินไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ ต่อมาได้มีการจัดทำประมวลกฎหมายอาญาขึ้น ชื่อ "กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127" มาตรา 98 ระบุโทษไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) และปรับไม่เกิน 5,000 บาทด้วย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในปี 2500 ได้จัดทำประมวลกฎหมายขึ้นใหม่ ชื่อ "ประมวลกฎหมายอาญา" ในมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี (ไม่มีโทษปรับ) และล่าสุดที่มีการแก้ภายหลังเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 จนกระทั่งมีการกำหนดโทษขั้นต่ำและเพิ่มโทษดังที่เป็นอยู่

ล่าสุดมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กและถูกตัดสินว่ามีเนื้อหาที่ผิดตามกฎหมายมาตรานี้ ถูกตัดสินจำคุก 60 ปี (6 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 30 ปี อ่านรายละเอียด) และ คุก 56 ปี (7 กรรม, สารภาพลดโทษเหลือ 28 ปี อ่านรายละเอียด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net