Skip to main content
sharethis

วันสิทธิเด็กสากล ขอโอกาสอันเท่าเทียมกัน ยูนิเซฟระบุเด็ก 250 ล้านคนอยู่ในพื้นที่สู้รบ ‘วันสิทธิเด็กปาตานี’ ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็ก สถานการณ์เด็กชายแดนใต้ในวังวนความรุนแรง พบ 2 ตัวอย่างความรุนแรงทำร้ายเด็กปาตานี ‘สุไฮมี ดอเลาะ’ กับ 7 ปีแล้วที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แม้แต่หายใจ และความสุขในโลกมืดของ ‘มุคตาร์ มะมิง’?

 

เด็ก 250 ล้านคนอยู่ในพื้นที่สู้รบ

20 พฤศจิกายน วันสิทธิเด็กสากล องค์กรยูนิเซฟรายงานสถานการณ์เด็กในปีนี้ว่า โลกยังไร้ความยุติธรรมสำหรับกลุ่มเด็กยากจนและด้อยโอกาสที่สุด ซึ่งมีหลากหลายประเด็น โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในสถานการณ์สู้รบ ซึ่งนายแอนโทนีเลค ผู้อำนวยการใหญ่องค์การยูนิเซฟ ระบุว่ามีเด็กเกือบ 250 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่มีการสู้รบ และในปีนี้มีเด็กกว่า 200,000 คนต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อขอลี้ภัยในทวีปยุโรป

รายงานที่ชื่อว่า ขอโอกาสอันเท่าเทียมสำหรับเด็กทุกคน: คำมั่นสัญญาต่อความเท่าเทียม แสดงให้เห็นสถิติที่เด็กที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งว่า เกือบครึ่งของเด็กที่เสียชีวิตก่อนอายุครบ5 ขวบและร้อยละ 43 ของเด็กที่ไม่ได้เข้าโรงเรียนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ

“เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเมื่อคิดว่า เด็กหนึ่งในเก้าคนอาศัยอยู่ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบ ต้องเผชิญความรุนแรงโหดร้าย และขาดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดและมีสุขภาพอนามัยที่ดี และไม่ได้รับการศึกษา” ออร์แลนโด บลูม นักแสดงชาวอังกฤษและทูตสันถวไมตรียูนิเซฟกล่าว

“...โลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤตผู้ลี้ภัยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ทุกประเทศที่สามารถช่วยได้ควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กๆ กับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบนี้"

 

‘วันสิทธิเด็กปาตานี’ ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็ก

ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้หรือปาตานีตามคำเรียกของคนมลายูในพื้นที่วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2558) มีหลายองค์กรร่วมกันจัดงาน “วันสิทธิเด็กปาตานี” ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลังในการร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัยเด็ก ซึ่งจัดขึ้นในวันถัดจากวันสิทธิเด็กสากล (A DAY FOR CHILDREN RIGHTS) เพียงวันเดียว

งานนี้จัดโดยกลุ่มด้วยใจร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ 14 องค์กรณ สนามกีฬาองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) ปัตตานี โดยจะมีเด็กเข้าร่วมงานกว่า 700 คน

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะหัวหน้ากลุ่มด้วยใจ บอกว่างานนี้มี 3 เป้าหมาย คือ 1.เพื่อสร้างการตระหนักรู้ด้านสิทธิเด็กให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องในการปกป้องและคุ้มครองเด็ก 2.เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชนในการปกป้องและคุ้มครองเด็กในสถานการณ์ความไม่สงบ 3.เพื่อสร้างพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการปกป้องตนเองและเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกระบวนการสันติภาพ

นางสาวอัญชนา บอกว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเด็กในพื้นที่นั้น เกิดจากการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กโดยเฉพาะในการปกป้องคุ้มครองเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child) ซึ่งประเทศไทยได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้เมื่อปี 2535

อนุสัญญาฉบับนี้ได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ ที่ทุกประเทศต้องรับประกันสิทธิของเด็กในประเทศของตนเอง ได้แก่

1. สิทธิที่จะมีชีวิตรอด ต้องได้รับการดูแลสุขภาพขั้นพื้นฐาน มีสันติภาพ และความปลอดภัย

2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา มีครอบครัวที่อบอุ่น ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และมีภาวะโภชนาการที่เหมาะสม

3.สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง ให้รอดพ้นจากการทำร้าย การถูกล่วงละเมิด การถูกทอดทิ้ง และการแสวงประโยชน์ในทุกรูปแบบ

4.สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม ในการแสดงความคิดเห็น แสดงออก การมีผู้รับฟัง และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องที่มีผลกระทบกับตนเอง

เธอบอกว่า “สันติภาพที่ทุกฝ่ายอยากเห็นคือไม่มีเด็กเป็นเหยื่อของความรุนแรง”

 

เด็กชายแดนใต้ในวังวนความรุนแรง

ในชายแดนใต้/ปาตานี เป็นพื้นที่หนึ่งที่มีเด็กได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและการสู้รบ ซึ่งคณะทำงานฐานข้อมูลเหตุการณ์ชายแดนใต้ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSID) ได้รายงานสถานการณ์เด็กในพื้นที่นี้ในช่วง 11 ปีของความขัดแย้งที่มีการใช้ความรุนแรงเมื่อต้นปีโดยใช้ชื่อรายงานว่า “...11 ปี ของเด็กและเยาวชนในวังวนแห่งความรุนแรง”

รายงานระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อกลุ่มเด็กและเยาวชน ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ถูกดำเนินคดีและคุมขัง ถูกพลัดพรากจากครอบครัวอันเนื่องมาจากคนในครอบครัวถูกดำเนินคดี ถูกวิสามัญฆาตกรรม หายสาบสูญหรือหลบหนี และเด็กที่กลายเป็นเด็กกำพร้า

ความรุนแรงยังส่งผลให้เด็กที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรง มีผลกระทบทางจิตใจที่อาจจะนำไปสู่ภาวะความซึมเศร้า ภาวะวิตกกังวล หรือทำให้ชอบใช้ความรุนแรงเสียเอง ยังไม่นับรวมที่ต้องย้ายถิ่นที่อยู่

จากสถิติเหตุไม่สงบระหว่างมกราคม 2547 – ธันวาคม 2557 พบว่า มีเด็กและเยาวชน(อายุต่ำกว่า 15 ปี) เสียชีวิต 81 คน แยกเป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ 20 คน ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม

ส่วนเด็กที่ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้น 445 คน เป็นกลุ่มเด็กที่นับถือศาสนาพุทธ 156 คน และนับถือศาสนาอิสลาม 287 คน โดยปีที่มีเด็กเสียชีวิตสูงสุด คือ ปี 2550 จำนวน 21 คน และในปีเดียวกันมีเด็กที่ได้รับบาดเจ็บสูงสุดด้วยเช่นกัน คือ 55 คน

รายงานฉบับเดียวกันนี้ ยังได้ยกตัวอย่างผลกระทบทางอ้อมต่อเด็กและเยาวชนในสถานการณ์ชายแดนใต้ด้วย เช่น 1.กรณีที่มีครูถูกยิงเสียชีวิตทางโรงเรียนก็จะปิดเรียน 2 วัน ซึ่งทำให้การเรียนของเด็กหยุดชะงักไปด้วย (ในช่วง 11 ปีมีครูเสียชีวิตจากเหตุรุนแรงไปแล้ว 179 ราย) และ 2.กรณีโรงเรียนถูกเผาและทำลาย (รวม 204 แห่ง) ส่งผลกระทบให้เด็กขาดโอกาสทางการศึกษา ไม่มีที่เรียนหรือต้องใช้สถานที่ที่ไม่เอื้อต่อการเรียน เป็นต้น

 

2 ตัวอย่างความรุนแรงทำร้ายเด็กปาตานี

อย่างไรก็ตาม สถิติไม่ได้บอกว่า เด็กที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้น ใครเป็นผู้กระทำ แต่หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็พอจะมองเห็นได้ว่า ผู้ก่อเหตุรุนแรงอาจจะมาจากหลายฝ่าย ที่มีอาวุธและและมีแนวความคิดที่จะใช้ความรุนแรง ซึ่งต่อไปนี้เป็น 2ตัวอย่างเรื่องราวของเด็กที่ได้รับผลกระทบจากการใช้ความรุนแรงในช่วงปีที่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ส่งผลกระทบต่อเด็กในพื้นที่มากที่สุด แม้ว่าผลกระทบต่อร่างกายอาจผ่านพ้นไปแล้ว แต่ผลกระทบทางด้านจิตใจและการดำเนินชีวิตก้ยังคงอยู่ นั่นคือกรณีของสุไฮมี ดอเลาะ และมุคตาร์ มะมิง

 

“สุไฮมี ดอเลาะ” 7 ปีแล้วที่ช่วยตัวเองไม่ได้ แม้แต่หายใจ

ปีนี้ “สุไฮมี ดอเลาะ” มีอายุ 15 ปีแล้ว แต่เขายังคงต้องนอนอยู่บนเตียงมา 7 ปีแล้ว โดยไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้กระทั่งหายใจ

ย้อนกลับไปในช่วงสายๆ ของวันที่ 17 มีนาคม 2551 วันนั้นสุไฮมีขออนุญาตแม่ออกไปเก็บกระป๋องน้ำอัดลมหน้าบ้านไปขายให้คนรับซื้อของเก่าในตลาดตือบิงติงงี ต.ตลิงชัน อ.บันนังสตา จ.ยะลา จู่ๆรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งเกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว และเป็นโชคร้ายของเด็ก 9 คนที่เล่นอยู่แถวนั้น

หนึ่งในนั้นคือ ด.ช.สุไฮมี วัย 8 ปี เขาถูกสะเก็ดระเบิดที่กระดูกไขสันหลังบริเวณต้นคอ ส่งผลให้เขาไม่สามารถขยับร่างกายเองได้ แขนขาจึงลีบลงอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถแม้กระทั่งหายใจด้วยตัวเองได้ ทำให้ต้องดำรงอยู่ด้วยเครื่องช่วยหายใจตลอดเวลา

อังณา วาเต๊ะแม่ของเขาบอกว่า สุไฮมีไม่สามารถพูดออกเสียงได้ แต่ประสาทการรับรู้และการได้ยินยังทำงานปกติ

ปัจจุบันครอบครัวของสุไฮมีอาศัยอยู่ในบ้านหลังใหม่ใกล้ตัวเมืองยะลา ที่ซื้อมาด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องการอยู่ไกลจากโรงพยาบาลศูนย์ยะลา เนื่องจากต้องไปเปลี่ยนท่อออกซิเจนทุก 2 เดือน โดยมีเครื่องช่วยหายใจและเครื่องผลิตออกซิเจนติดตัวตลอด ซึ่งหน้าบ้านมีป้ายชื่อ “สุไฮมี ดอเลาะ” ที่นายอำเภอบันนังสตาทำให้เพื่อให้คนทั่วไปทราบ

อังณา เล่าว่า หลังเกิดเหตุสุไฮมีต้องใช้เครื่องช่วยหายใจติดตัวตลอดเวลา ราคาเครื่องละ300,000 บาท ถ้าชำรุดก็ต้องเสียค่าซ่อมครั้งละ 16,000 บาท และยังต้องใช้เครื่องสำรองไฟไฟป้องกันไฟตกหรือไฟดับด้วย มีราคา 50,000 บาท แต่เครื่องนี้ทางอำเภอบันนังสตามอบให้

“ก่อนหน้านี้จะมีค่าออกซิเจนวันละถัง ถังละ 220 บาท แต่ได้ใช้ประมาณ 2 ปี ทางวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนียะลมอบเครื่องผลิตออกซิเจนมาใช้ก็เลยไม่ต้องซื้อก๊าซออกซิเจนเหมือนเดิม ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายลงไปได้เยอะ

เธอบอกว่า เหตุที่ต้องพาสุไฮมีไปเปลี่ยนท่อช่วยหายใจที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลาทุก 2 เดือนก็เพื่อไม่ให้ท่ออุดตันหรือติดกับเนื้อลำคอ

“ทุกครั้งที่เปลี่ยนท่อฉันเหมือนใจจะขาด เพราะหมอต้องให้ยาสลบแล้วก็รีบเปลี่ยน หากช้าไปอาจส่งผลต่อเสียชีวิตได้ การเปลี่ยนท่อช่วยหายใจแต่ละครั้งมีความเสี่ยง 50-50”

ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ ผ้าอ้อมสำเร็จรูปแผ่นละประมาณ 15 บาทซึ่งต้องใช้วันละ 4 แผ่น และค่าอาหารในแต่ละมื้ออีก รวมแล้วเดือนละประมาณ 16,000 บาท

อย่างไรก็ตาม สุไฮมีก็ได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐ500,000 บาท เบี้ยคนพิการเดือนละ 3,000 บาท และเบี้ยทุพลภาพจากองค์การบริหารส่วนตำบลสะเตงนอก อ.เมืองยะลาอีกเดือนละ 500 บาท

อังคณา บอกว่า เธอต้องทำหน้าที่ดูแลสุไฮมีตลอดเวลา เพราะเข้าใจสภาพของสุไฮมีมากที่สุด โดยมีลูกสาวคนโตคอยช่วยเหลือ ส่วนลูกคนอื่นๆ ต้องไปเรียนหนังสือ

สิ่งที่เกิดขึ้นกับสุไฮมีทำให้เธอไม่สามารถหางานทำได้และจะไปไหนก็ไม่ได้ รายไดส่วนหนึ่งจากมาจากเงินช่วย ซึ่ง“เมื่อก่อนมีคนมาเยี่ยมสุไฮมีไม่ขาดสายทำให้ได้รับเงินช่วยเหลือมาก แต่ช่วงหลังลดลง” ขณะที่มะตอเฮร์ดอเลาะ พ่อของสุไฮก็มีอาชีพขายส่งสินค้ากิ๊ฟช็อปตามหมู่บ้านหารายได้เลี้ยงภรรยาและลูกๆอีก 9 คน

 

ความสุขในโลกมืดของ“มุคตาร์ มะมิง”?

วันนี้ “มุคตาร์ มะมิง” อายุ 23 ปี กำลังเติบโตเข้าสู่วัยฉกรรจ์ ใครผ่านไปผ่านมาแถวหน้าโรงเรียนบ้านบานา อ.เมืองปัตตานี มักจะได้ยินเสียงสรวลเสเฮฮาของเขาเสมอ มุคตาร์เป็นเด็กหนุ่มอารมณ์ดี ช่างพูดช่างจาก ดูเหมือนว่าเขาเป็นคนมีความสุขอยู่ในโลกมืด แต่ทว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเขาเมื่อ 8 ปีที่แล้วมันไม่มีความสุขเอาเสียเลย เขายังจำได้ดี

มุคตาร์ เล่าว่า คืนนั้นเป็นช่วงค่ำของวันที่ 13 เมษายน 2550 เขากับเพื่อนอีก 9 คนซึ่งเป็นวัยรุ่นในหมู่บ้านอายุราว13- 14 ปี กำลังเดินกลับจากตลาดนัดกลางคืนริมถนนใหญ่ทางไปนราธิวาส ตอนนั้นมีเหตุการณ์ลอบเผาตู้โทรศัพท์ที่บ้านบราโหมห่างไปประมาณ 1 กิโมเมตร

“ตอนนั้นมีรถทหารคันหนึ่งขับจอดแล้วก็มี4 คนลงจากรถ แล้วมีเสียงตะโกนว่าจับตาย เมื่อได้ยินอย่างนั้นพวกผมก็วิงหนีคนละทิศคนละทาง 4คนวิ่งข้ามไปเลนซ้าย อีก 5 คนวิ่งหนีมาทางเลนขวาซึ่งโชคร้าย เพราะทหารตามมาไล่ยิงทำให้จนเสียชีวิต 2 คน และบาดเจ็บ 3 คนรวมทั้งผม”

มุคตาร์ถูกยิงเข้าที่ขมับขวาทะลุขมับซ้าย ตัวเขากระเด็นตกลงไปในพงหญ้าน้ำขัง กระทั่งเสียงปืนสงบและมีคนมายกเขาขึ้นไปในสภาพที่เลือดโชกบริเวณใบหน้าและเปียกชุ่มไปทั้งตัว ภาพที่ชาวบ้านอุ้มเขาขึ้นมานั้นถูกนำเสนอในสื่อประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นข่าวชิ้นหนึ่ง และตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงของชาวบ้านหลายชั่วโมงในวันต่อมา และต่อมาทหารชุดดังกล่าวยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือ

เจะมะ มะมิง พ่อของมุคตาร์ เล่าว่า มุคตาร์บาดเจ็บสาหัสมากและรอยแผลส่งผลให้ตาทั้ง 2 ข้างบอดสนิท เขารักษาตัวที่โรงพยาบาลนาน8 เดือน ในช่วง 3 เดือนแรกรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา จากนั้นได้ขอกลับมารักษาที่โรงพยาบาลปัตตานี โดยต้องผ่าตัดสมอง 2 ครั้งและทำให้เขาไม่รู้สึกตัวอะไรและไม่เคลื่อนไหวเลยประมาณ 20 วัน นอกจากนี้ศีรษะยังบวมโตเหมือนลูกมะพร้าว

เมื่อได้กลับมาอยู่บ้าน ก็ยังต้องไปตรวจสมองและดวงตาทุก 1 เดือนที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ จ.สงขลา เนื่องจากมีขี้ตาออกมาตลอดเวลา แต่สุดท้ายแพทย์โรงพยาบาลสงขลานครินทร์รักษาไม่หาย แต่แนะนำให้ไปรักษาที่กรุงเทพมหานคร แต่เจะมะไม่ได้พาไปเพราะรู้สึกลำบากที่พูดภาษาไทยไม่ค่อยชัด

“หากพาไปรักษาที่กรุงเทพฯโดยไม่มีผมไปด้วย ผมรู้สึกไม่สบายใจ จึงตัดสินใจหยุดรักษาเพียงเท่านี้” เจะมะ กล่าว

เจะมะ บอกว่า ปัจจุบัน มุคตาร์ยังมาอาการอยู่เวลาเครียดมากๆ จะเกิดอาการช็อกจนต้องพาไปโรงพยาบาล ส่วนใหญ่เครียดจากเรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเขา แม้เวลาผ่านมานานแล้วก็ตาม

ไม่เพียงแต่ตาบอดเท่านั้น แต่ภายใต้โพรงจมูกของเขาไม่เหลือระบบประสาทรับกลิ่นด้วยจากคมกระสุน ขณะที่มุคตาร์เองก็บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นสิ่งพระเจ้ากำหนดไว้แล้ว

อย่างไรก็ตาม มุคตาร์ได้เงินช่วยเหลือเยียวยาจารัฐ 850,000 บาท แต่ส่วนใหญ่ก็หมดไปกับการรักษา ระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลปัตตานีมีชาวบ้านมาเยี่ยมจำนวนมากชาวบ้านบางคนบริจาคเงินให้บ้างคนละ100 บาท 50 บาท ทำให้ตอนนั้นครอบครัวพอมีรายได้บ้างวันละ 1,000 – 2,000 บาท

ปัจจุบันยังได้รับเบี้ยพิการเดือนละ 800 บาทด้วย ซึ่งไม่พอแน่นอน เจะมะต้องการเงินช่วยเหลือเยียวยารายเดือนตลอดชีพมากกว่า เพราะมุคตาร์ไม่สามารถประกอบอาชีพเหมือนคนอื่นได้

เจะมะ บอกว่า ทุกวันนี้เขาเป็นดูแลมุคตาร์ให้เงินมุคตาร์ซื้อขนมกินบ้างหรือบางครั้งให้ไปออกกินนอกบ้านบ้าง เช่น ไปกินก๋วยเตี๋ยว อย่างน้อยวันละ 100 บาท เพราะต้องเลี้ยงคนที่พาไปด้วยหรือต้องใส่น้ำมันรถให้ด้วย

“ผมพาเขาไปไหนไม่ได้หรือผมไม่ไหวแล้ว ไม่มีแรงตอนนี้อายุ 71 ปีแล้ว ตอนนี้ผมก็ไม่สามารถทำงานเหมือนคนทั่วไปได้อีกแล้วเพราะอายุเยอะ มีรายได้บ้างก็มาจากลูกๆแต่ผมสัญญาว่า ตราบเท่าที่ผมยังมีชีวิตอยู่ ผมได้กินอะไรมุคตาร์ก็ต้องได้กินอย่างนั้น แต่ผมกลัวว่าหากผมไม่อยู่แล้วเขาจะอยู่อย่างไร ใครจะดูแลเขา” เจะมะทิ้งท้าย

 

ข้อมูลอ้างอิง

สถานการณ์เด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้: 11 ปี ของเด็กและเยาวชนในวังวนแห่งความรุนแรง

วันเด็กสากล: ยูนิเซฟชี้เหตุใดความเท่าเทียมจึงเป็นเรื่องสำคัญ เด็กกว่า 2 แสนเสี่ยงชีวิตขอลี้ภัยในยุโรป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net