Skip to main content
sharethis

29 มิ.ย.2558 สำนักงานกองสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดเวทีนำเสนอข้อมูลวิชาการการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นป่าไม้-ที่ดิน ครั้งที่ 1 เพื่อจัดทำข้อเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนวันที่ 23 ก.ค.นี้

ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์ ผู้ประสานงานศูนย์ประสานการศึกษานโยบายที่ดิน สกว.กล่าวว่า ปัญหาเกี่ยวกับป่าไม้ที่สำคัญ คือ แนวเขตป่าไม้ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดความขัดแย้งกับประชาชนซึ่งส่วนหนึ่งได้รับการผ่อนผัน ให้อยู่อาศัยในเขตป่า มีการจับกุมประชาชนที่บุกรุกป่าและใช้แบบจำลองป่าไม้เรียกร้องค่าเสียหายในอัตราสูง ในคดีโลกร้อน นอกจากนั้น บทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบต่างๆ ไม่เหมาะสมกับปัจจุบัน ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับที่ดิน ได้แก่ ประชาชนจำนวนมากไร้ที่ทำกิน การบุกรุกที่ดินของรัฐทุกประเภท รวมถึงดินเสื่อมโทรม มีปัญหาระบบข้อมูลและการบริหารจัดการที่ดิน สิทธิในที่ดินและเอกสารสิทธิในที่ดิน ที่ดินถูกทิ้งร้างและเก็งกำไร  และระบบภาษีที่ดินขาดประสิทธิภาพ

ผศ.อิทธิพล กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาของภาครัฐ เช่น นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน พบว่ามีประชาชนมาขอขึ้นทะเบียนรับความช่วยเหลือเกือบ 5 แสนราย แต่มีที่ดินเป็นแปลงรับรองสิทธิจำนวน 18 ไร่เศษ และมีแปลงว่างเพียง 1.85 แสนไร่ ทั้งยังมีการใช้ประโยชน์ที่ดินไม่ถึงครึ่งประมาณร้อยละ 11-18 ของพื้นที่ประเทศ ทำให้ไทยต้องสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยการประเมินขั้นต่ำกว่า 127 ล้านบาทต่อปี

ส่วนการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ โดยจัดให้มีแผนที่แสดงขอบเขตที่ดินทุกประเภทที่ชัดเจนไม่ซับซ้อน เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งแนวเขตที่ดิน บูรณาการใช้แผนที่ฐานในการกำหนดแนวเขตการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ที่ดิน พบว่ามีเพียงแนวเดียวโดยการตกลงร่วมกันของผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากมีการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ก็ให้พิจารณาดำเนินการโดยมิให้กระทบสิทธิของประชาชน หรือบางกรณีให้มีการพิสูจน์การได้มา ขณะที่ปัญหาที่ดินกระจุกตัว พบว่ามีความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินโดยผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดมีจำนวน 6.31 แสนไร่ และน้อยที่สุด 1 ตารางวา

ผศ.อิทธิพล ศรีเสาวลักษณ์

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าไม้โดยจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐ จะต้องสอดคล้องกับประกาศของกฎหมายต่างๆ และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากฐานข้อมูลแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ ด้านนโยบายโฉนดชุมชนซึ่ง 467 ชุมชนในพื้นที่ 47 จังหวัดยื่นขอ มีข้อดีคือ ชุมชนสามารถบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์ต่อสมาชิกภายใต้ข้อตกลงกับภาครัฐ ป้องกันการใช้ที่ดินที่อาจส่งผลกระทบกับชุมชนทำให้ที่ดินของรัฐข้างเคียงได้รับการดูแล ขณะที่รัฐจะได้รับความร่วมมือจากชุมชนในการดูแลที่ดินและลดภาระในการป้องกันการบุกรุกที่ดินของรัฐอีกทางหนึ่ง ล่าสุดในรัฐบาลนี้ได้มีการสรุปเนื้อที่ที่จะนำไปจัดให้ชุมชนตั้งแต่ปี 2558-2564 รวม 9,769,811ไร่

ผศ.อิทธิพล เสนอแนวทางการแก้ปัญหาไว้ 8 ประการ คือ
1. ปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ให้เหมาะสมกับสภาพของทรัพยากรและบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน หรือรวมกฎหมายยกร่างใหม่เป็นประมวลกฎหมาย
2. ให้มีคณะกรรมการนโยบายที่ดิน
3. ปรับปรุงการจัดการที่ดินทั้งระบบ โดยพิจารณาปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดินว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อประชาชนและที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือรวมกฎหมายที่เกี่ยวข้องยกร่างใหม่เพียงฉบับเดียว เพื่อช่วยเหลือผู้ไร้ที่ทำกินให้การจัดที่ดินเป็นเอกภาพทั้งการจัดที่ดินและเงื่อนไขการทำประโยชน์และสิทธิในที่ดิน
4. การผังเมือง ให้สามารถวางแผนและกำกับดูแลการใช้ที่ดินสำหรับกิจกรรมต่างๆ ของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น รวมถึงมาตรการต่างๆ สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ
5. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กำหนดให้เจ้าของที่ดินที่ให้เช่าเพื่อเกษตรกรรมโดยไม่ทำสัญญาเช่าจะผูกพันผู้เช่า 6 ปี แต่ถ้าให้เช่าโดยมีการทำสัญญาเช่าเป็นหลักฐานอาจน้อยกว่า 6 ปี แต่จะน้อยกว่าที่ คชก.ตำบลประกาศกำหนดไม่ได้
6. ออกฎหมายภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ตามขนาดการถือครองที่ดินและภาษีผลได้จากทุนเพื่อลดการเก็งกำไรที่ดินและการถือครองที่ดินขนาดใหญ่โดยทิ้งว่างเปล่า
7. ตั้งธนาคารที่ดิน ให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดิน บริหารจัดการที่ดินของรัฐและเอกชน พัฒนาตลาดที่ดินและใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม รวมถึงสนับสนุนการเงินแก่การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปรับโครงสร้างหนี้ให้เหมาะสม เป็นกลไกของรัฐในการสำรองที่ดินเพื่อสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจหรือช่วยเหลือสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายการพัฒนาชนบทหรือเมือง หรือพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ
8. สนับสนุนการยกร่าง พ.ร.บ.โดยตัดคำว่าโฉนดชุมชนออกไป เพื่อลดความสงสัยเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินที่อาจโยงถึงการให้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยที่ดินยังเป็นของรัฐและสามารถยกเลิกได้หากปฏิบัติผิดจากเงื่อนไขการอนุญาต

ผศ.อิทธิพลทิ้งท้ายว่าควรยกระดับคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจากระเบียบสำนักนายกให้มีกฎหมายรองรับ เพื่อทำหน้าที่ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย เพราะเป็นผู้ดูแลที่ดินของทั้งประเทศ เพื่อให้การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนาศักยภาพการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องการมีการจัดการอย่างมีเอกภาพและกระจายสู่พื้นที่อย่างเหมาะสม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net