Skip to main content
sharethis

นพ.ธีระ ห่วงการอ้างอิงงานวิจัยไม่สมบูรณ์ แปรผิดทิศสุดโต่ง หวั่นเกิดความวุ่นวาย ขับเคลื่อนระบบสุขภาพที่ส่งผลกระทบยากแก้ไข ชี้หลักการวิจัยเปรียบเทียบ ต้องควบคุมตัวแปรจำนวนมาก แนะทีดีอาร์ไอต่อยอดวิจัยศึกษาคุณภาพระบบระยะยาว

25 มิ.ย. 2558 นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเผยแพร่ผลการวิจัย “ผลลัพธ์ทางสุขภาพและความเป็นธรรมทางสุขภาพ” จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) ซึ่งระบุว่าผู้ป่วยเข้ารักษาในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีอัตราเสียชีวิตมากกว่าผู้ป่วยระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการว่า สถานการณ์ระบบสุขภาพขณะนี้มีปัญหาปั่นป่วน เนื่องจากมีนักวิชาการมหาวิทยาลัยกลุ่มหนึ่งพยายามนำเสนอความแตกต่างในผลการรักษาระหว่างสิทธิรักษาพยาบาลโดยอ้างอิงผลการวิจัยเพื่อทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นผลโดยตรงจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในขณะที่นักวิชาการอีกกลุ่มหนึ่ง อาทิ ดร.นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญสเถียร ที่ปรึกษาสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนให้ระวังการตีความงานวิจัยอย่างผิดทิศผิดทางเกินกว่าที่ควรจะเป็น เพราะผู้ที่เรียนมาทางด้านระเบียบการวิจัยจะทราบดีว่าไม่มีงานวิจัยชิ้นไหนสมบูรณ์แบบที่จะฟันธงได้ และงานวิจัยชิ้นนี้ของทีดีอาร์ไอก็เหมือนกับงานวิจัยทั่วไปคือการใช้ผลการวิจัยจะต้องแปรอย่างระมัดระวัง หมายความว่ายังไม่สามารถระบุโดยตรงๆ ได้ว่าการรักษาในระบบบัตรทองแย่กว่าระบบสวัสดิการข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นด้านการรักษาและยา

ทั้งนี้เนื่องจากยังมีปัจจัยพื้นฐานที่ส่งผลต่อการรักษา อย่างลักษณะประชากรมีความแตกต่างกัน ระหว่างผู้มีสิทธิในระบบบัตรทองและสวัสดิการข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐานะ ระดับการศึกษา ที่อยู่อาศัย การดำเนินชีวิตและการเข้าถึงบริการ หากจะทำวิจัยเปรียบเทียบจะต้องควบคุมตัวแปรที่เกี่ยวข้องต่างๆ เหล่านี้ให้อยู่ในระดับเดียวกันก่อน ยิ่งตัวแปรเสริมยิ่งมากจะต้องอาศัยกลุ่มตัวอย่างวิจัยที่ใหญ่มาก โดยงานวิจัยทีดีอาร์ไอไม่ได้ควบคุมตัวแปรเหล่านี้อย่างครบถ้วน ดังนั้นการจะไปฟันธงแบบนั้นจึงมองว่าเป็นตลกร้าย เนื่องจากเป็นการชี้นำว่าระบบบัตรทองมันแย่มาก ทั้งที่ผู้คลุกคลีในระบบสาธารณสุขจะทราบดีว่าอะไรเป็นอะไรและจะไม่สุดโต่งอย่างที่มีความพยายามจะสรุป นอกจากนี้ต้องเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่า แต่ละระบบรักษาพยาบาลโตมาจากพื้นฐานที่แตกต่าง มีกลุ่มเป้าหมายพื้นฐานที่ต่างกัน ส่งผลให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แตกต่างกันไปด้วย

จากงานวิจัยนี้ นพ.ธีระ กล่าวว่า หากทีดีอาร์ไอต้องการต่อยอด มองว่าส่วนที่ต้องทำเพิ่มคือการติดตามเพื่อดูว่าอะไรเป็นเหตุ อะไรเป็นผล ที่ส่งผลให้ผลการรักษานั้นแตกต่างกัน โดยเป็นการศึกษาระยะยาวเพื่อวัดคุณภาพ แต่ทั้งนี้จะต้องทำการควบคุมตัวแปรที่นำมาเปรียบเทียบ รวมทั้งตัวกวนที่เป็นปัจจัยแทรกที่อาจส่งผลลัพธ์ในการวิจัยได้ และเพื่อให้งานวิจัยเป็นที่ยอมรับควรจะดึงตัวแทนแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการวิจัย อย่างผู้แทนกองทุนรักษาพยาบาลในแต่ละระบบ แต่ต้องไม่ทำให้เกิดความอคติในกระบวนการดำเนินงานวิจัย โดยอาจร่วมในการออกแบบวิจัยและให้การเก็บข้อมูลเป็นหน้าที่ของนักวิชาการ

“ส่วนตัวยอมรับว่าอ่านข่าวนี้และได้ติดตามด้วยความเป็นห่วง เพราะว่าส่วนตัวหากนำเสนอจะเสนอว่าจุดแข็ง และจุดอ่อนงานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างไร แต่ตอนนี้เท่าที่ดูขณะนี้เป็นความพยายามนำเสนอเพื่อจับผิดและไม่ได้สรุปชัดเจนว่าควรพัฒนาต่อยอดอย่างไร สังคมนั้นจะพัฒนาได้ต้องยอมรับซึ่งกันและกันในการร่วมกันแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ยังเป็นห่วงสาธารณชนในการเสพข่าวจากการช่วงชิงพื้นที่สื่อ การนำเสนอข่าวที่แปรงานวิจัยผิดทิศผิดทางโดยไม่มีการเยียวยา อาจส่งผลให้สาธารณชนเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย เกิดการผลักดันการขับเคลื่อนระบบสุขภาพจนส่งผลกระทบที่แก้ไขได้ยาก” นพ.ธีระ กล่าว และว่า อย่างไรก็ตามที่มีการนำเสนองานวิจัยต่อคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เชื่อว่ากรรมาธิการทุกท่านมีความรู้ความสามารถและเคารพในการพิจารณา

ต่อข้อซักถามว่า ความขัดแย้งในระบบสุขภาพขณะนี้จะมีทางออกอย่างไร นพ.ธีระ กล่าวว่า ตอนนี้มีวงจรที่พยายามพูดคุยและพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศร่วมกัน อย่างคณะกรรมการประสาน 3 กองทุนสุขภาพที่มีความพยายามปรับสิทธิประโยชน์ในระบบต่างๆ รวมไปถึงการผลักดัน พ.ร.บ.เพื่อให้เกิดการดูแลร่วมกันของ 3 กองทุนรักษาพยาบาล ซึ่งเชื่อว่าภายหลังจากมีการออกเป็นกฎหมายแล้ว จะเกิดการมีส่วนร่วมกันใน 3 กองทุนรักษาพยาบาลในการพัฒนาระบบร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้มีสิทธิการรักษาพยาบาลเท่าเทียมกัน โดยแต่ละกองทุนสามารถปรับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเองได้ จะเห็นได้ว่ากลไกต่างๆ เหล่านี้ได้ค่อยๆ ขยับไป และสุดท้ายสังคมไทยเราอยู่แบบพี่น้อง เช่นเดียวกับระบบสาธารณสุขที่ทุกคนเป็นพี่น้องกัน หากเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ อะไรดีงามก็ชม อะไรที่น่าปรับปรุงก็ช่วยคิดช่วยพัฒนา ไม่แสดงออกแบบมุ่งประหัตประหาร สังคมก็จะเดินไปด้วยดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net