Skip to main content
sharethis

สุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ เสนอตั้งสถาบันวรรณกรรมแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือดูแลนักเขียน และพัฒนาบุคลากรในวงการวรรณกรรม ด้าน ‘เนาวรัตน์’ ห่วงวรรณกรรมไทยตกต่ำ ชี้นักเขียนบางราย มุ่งสนองกิเลส เขียนเรื่องโป๊เปลือย อื้อฉาว คาว โลกีย์

 

16 มิ.ย. 2558 เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ที่ประชุมหาแนวทางดูแลศิลปินแห่งชาติ ศิลปินพื้นบ้าน และศิลปินร่วมสมัย ได้มีการหารือ ถึงกรณีที่ สุกัญญา ชลศึกษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เจ้าของนามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’ และเจ้าของรางวัลซีไรต์ ปี พ.ศ. 2528 กับผลงานนวนิยายเรื่อง 'ปูนปิดทอง' ได้ส่งจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ดูแลช่วยเหลือนักเขียนในวงการวรรณกรรม เพื่อเป็นพลังในการพัฒนาบุคลากร รวมทั้งเสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันวรรณกรรมแห่งชาติขึ้น

สุกัญญา ชลศึกษ์ เจ้าของนามปากกา ‘กฤษณา อโศกสิน’

โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) มาหาแนวทางการช่วยเหลือดังกล่าว ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มีการขยายขอบเขตการช่วยเหลือศิลปินหลากหลายแขนง เพื่อพัฒนาวงการศิลปวัฒนธรรมให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น

เนาวรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งสถาบันวรรณกรรมแห่งชาตินั้น ได้มีข้อเสนอการกำหนดหน้าที่ในการดูแลงานวรรณกรรมทุกประเภท ครอบคลุมทุกด้าน ไม่เฉพาะเรื่องนักเขียนเท่านั้น แต่รวมถึงงานห้องสมุด งานหนังสือ ขณะเดียวกัน กระตุ้นให้คนไทยรักการอ่าน ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้คนรู้หนังสือ แต่ไม่อ่านหนังสือ ก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ไม่รู้หนังสือ ขณะที่คนไม่รู้หนังสือก็มีจำนวนมาก จึงตกเป็นเหยื่อของการโฆษณาชวนเชื่อ จึงเป็นปัญหาที่เราจะมอบให้กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งทำโดดเดี่ยวไม่ได้ ประเทศไทยจึงควรมีการจัดตั้ง สถาบันวรรณกรรมแห่งชาติ ทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีตัวอย่างประเทศที่ประสบผลสำเร็จมาแล้ว คือ มาเลเซีย ซึ่งมีสถาบันภาษาของชาติ แปลวรรณกรรมของดีของต่างชาติ และแปลเรื่องราวดีๆ ของชาติตัวเองให้ต่างชาติได้อ่าน ซึ่งเป็นการสะท้อนการพัฒนาคุณภาพภูมิปัญญาของคนในชาติได้

“ถ้าการจัดตั้งสภาวรรณกรรมแห่งชาติสำเร็จ จะดูแลปัญหาที่เกิดขึ้นกับงานวรรณกรรมของประเทศไทย ซึ่งปัญหาหลักๆ คือ เน้นแต่เรื่องคนอ่านหนังสือออก แต่ไม่เน้นให้คนรักการอ่าน จึงเป็นเพียงวาทกรรมของการรณรงค์คำขวัญวันเด็กแห่งชาติเท่านั้น ส่วนคนรักการอ่านจริงๆ มีอยู่น้อยมาก ซึ่งการอ่านเป็นเรื่องของความคิด หากไม่อ่านหนังสือ ก็จะไม่พัฒนาความคิด แล้วก็ถูกชักนำให้ตามกระแสไปโดยปราศจากความคิด จึงเป็นโอกาสให้ผู้เขียนที่แสวงหาผลประโยชน์ ผลิตงานเอาใจคนอ่านเป็นหลัก มุ่งสนองกิเลสต่ำๆ เขียนเรื่องโป๊เปลือย อื้อฉาว คาว โลกีย์ ทำให้งานวรรณกรรมตกต่ำ และวันนี้เราขาดนักวิจารณ์ จึงทำให้งานไม่พัฒนา และย่ำอยู่กับที่ ส่วนตัวคิดว่าถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนควรจัดทำโครงการที่ชักชวนให้เด็กได้อ่าน หนังสือให้มากๆ ขยายผลไปทั่วประเทศ ปลุกกระแสการรักการอ่าน รวมทั้งปลูกฝังให้เด็กเรียงความ ย่อความให้มากขึ้น” เนาวรัตน์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก : ผู้จัดการออนไลน์ASTV

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net