Skip to main content
sharethis

หลังจากการประท้วงเรียกร้องให้การเลือกตั้งปี 2560 เป็นอย่างอิสระไม่เป็นผล รวมถึงความไม่พอใจจากหลายประเด็นที่มาจากรัฐบาลจีน ชาวฮ่องกงเริ่มแสดงออกแบบหนุนท้องถิ่นนิยมและต่อต้านทางการกลางมากขึ้น จนทำให้ทางการจีนกลัวฮ่องกงแยกตัวเอง แม้ว่าจะมีกลุ่มที่ถึงขั้นต้องการแยกตัวเป็นอิสระอยู่น้อยมาก


ในวันที่ 4 มิ.ย. ของทุกปี จะมีประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันที่ลานวิกเตอเรียพาร์คของฮ่องกงเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 2532 เนื่องจากในฮ่องกงต่างจากในจีนแผ่นดินใหญ่ตรงที่อนุญาตให้ชุมนุมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ได้ และในปีนี้ก็จะมีการจัดรำลึกอีกเช่นกันแต่ก็มีคนวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ว่า ฮ่องกงควรต่อสู้เพื่อตนเองมากกว่า ดิอิโคโนมิสต์มองปรากฎการณ์นี้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความรู้สึกอยากแยกตัวเองออกจากจีนของชาวฮ่องกงซึ่งเป็นสิ่งที่ทางการจีนและฮ่องกงกำลังจับตามอง

ดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าหลังจากที่ฮ่องกงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2540 ทางการจีนก็พยายามส่งเสริมด้านเศรษฐกิจลดความเหลื่อมล้ำในแผ่นดินใหญ่เพื่อทำให้ชาวฮ่องกงไว้วางใจ ถึงแม้ว่าจะประสบผลสำเร็จทางเศรษฐกิจดูจากนักท่องเที่ยวจีนที่มีความมั่งคั่งพากันเข้าไปเที่ยวในฮ่องกงแต่ฮ่องกงและจีนก็ดูต่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งด้านวัฒนธรรม การเมือง และ ลักษณะนิสัย

นอกจากผลการสำรวจโพลล์ที่ระบุว่าชาวฮ่องกงเริ่มมองว่าพวกมีอัตลักษณ์ของตัวเองและไม่ใข่ "ชาวจีน" มากขึ้นแล้ว การเคลื่อนไหวที่ไม่สำเร็จจากขบวนการเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งโดยเสรีในปี 2560 ในฮ่องกงก็เป็นชนวนทำให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวแบบท้องถิ่นนิยมมาแทน จากเหตุการณ์เมื่อช่วงปลายปี 2557 ที่หลังจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษาในฮ่องกงเรียกร้องในประเด็นทางการเมืองไม่สำเร็จ แต่ก็ยังคงมีประชาชนทั่วไปที่ปักหลักประท้วงในเรื่องความไม่พอใจอิทธิพลของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงความไม่พอใจนโยบายต่างๆ ในฮ่องกง ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย สวัสดิการสุขภาพ การศึกษา หรือแม้กระทั่งการขนส่งมวลชน ทำให้นักกิจกรรมประเมินว่าเรื่องความไม่พอใจจีนกลายเป็นแรงจูงใจสำคัญในการเคลื่อนไหว

ดิอิโคโนมิสต์ระบุอีกว่า ทางการจีนก็ดูจะระมัดระวังในเรื่องนโยบายที่อาจสร้างความไม่พอใจต่อชาวฮ่องกงในแง่การดำเนินชีวิตประจำวันถึงแม้ว่าจะยังมีเป้าหมายต้องการหลอมรวมอัตลักษณ์ของชาวฮ่องกงให้เป็นส่วนหนึ่งของจีนอยู่ เช่นจากกรณีการประท้วงเมื่อเดือน เม.ย. เรื่องที่ชาวจีนแผ่นดินใหญ่กว้านซื้อของจากฮ่องกงเพื่อนำไปขายจนทำให้สินค้าฮ่องกงขาดตลาด ทำให้เมืองเซินเจิ้นที่อยู่ใกล้กับฮ่องกงระงับการอนุญาตให้คนเข้าเมืองได้ไม่จำกัด ในปี 2555 รัฐบาลฮ่องกงก็เคยยกเลิกแผนการเสนอให้มีการศึกษาในเชิงสนับสนุนจีนหลังถูกประท้วงโดยกลุ่ม 'สกอลลาริซึม' (Scholarism)

ทางการจีนเริ่มกังวลว่าความรู้สึกแบบท้องถิ่นนิยมของชาวฮ่องกงที่เริ่มแพร่หลายเข้าไปในมหาวิทยาลัยอาจจะกลายเป็นแนวคิดแบบต้องการแบ่งแยกตัวเองออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ได้ ซึ่งนักการเมืองที่ภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสื่อของพรรคต่างก็แสดงออกกล่าวหาอย่างเกินจริงต่อกลุ่มที่ต่อต้านจีน และแม้ว่าประเทศจีนจะเคยส่งเสริมให้ฮ่องกง "มีอำนาจปกครองตนเองสูง" ในสมัยรวมประเทศยุคแรกๆ แต่ในวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลจีนเริ่มเผยแพร่ร่างกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติที่อ้างการปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนรวมถึงดินแดนฮ่องกงด้วย

อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมินสต์ระบุว่าในฮ่องกงเองมีผู้ต้องการเรียกร้องเป็นอิสระน้อยมากและมักจะถูกมองว่าเป็น "พวกสุดโต่งตกขอบ" พวกเขารวมตัวกันในนามพรรคการเมืองเล็กๆ ที่ชื่อพรรคฮ่องกงอิสระ ในปี 2557 การที่จีนกล่าวหาว่าผู้ประท้วงเป็นพวกแบ่งแยกดินแดนเป็นไปเพื่อดิสเครดิตคนที่มีแนวคิดกลางๆ ในสายคนคนฮ่องกงอีกทั้งยังพยายามแสดงให้เห็นในเชิงว่าความวุ่นวายในฮ่องกงเป็นภัยต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติซึ่งเป็นความพยายามยับยั้งไม่ให้ประชาชนในแผ่นดินใหญ่ได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงในฮ่องกงซึ่งดิอิโคโนมิสต์มองว่าเป็นการประท้วงที่เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยโดยส่วนใหญ่

นอกจากนี้นักกิจกรรมบางส่วนยังกังวลว่าการที่จีนกลัวการแบ่งแยกดินแดนจะทำให้พวกเขายิ่งกดดันรัฐบาลฮ่องกงมากขึ้นและอาจจะออกกฎหมายในเชิงลิดรอนเสรีภาพจนทำให้ส.ส.ที่สนับสนุนประชาธิปไตยเกรงว่าถ้าพวกเขาออกกฎหมายอย่างกฎหมายว่าด้วยการยุยงปลุกปั่น ก็อาจจะทำให้เกิดข้ออ้างกล่าวหาว่าคนที่พูดถึงการแยกตัวเป็นอิสระของฮ่องกงเป็นพวกยุยงปลุกปั่นได้ อย่างไรก็ตามดิอิโคโนมิสต์ระบุว่าการกล่าวหาในเรื่องการแบ่งแยกดินแดนอาจจะส่งผลเสียต่อจีนเองได้ เพราะแม้ว่าชาวฮ่องกงน้อยคนจะสนับสนุนให้แยกตัวเป็นอิสระแต่ก็มีจำนวนมากที่รู้สึกโกรธถ้าหากถูกบอกห้ามไม่ให้สนับสนุน


เรียบเรียงจาก

Hong Kong politics : Determined, The Economist ฉบับ China, 30-05-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net