Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 

บ่ายวันหนึ่งหลังการนำเสนอผลงานในกระบวนวิชาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งมีสมาชิกในห้องกลุ่มหนึ่งได้นำเสนอประเด็นเรื่อง โรฮิงญา และสถานะที่ถูกกีดกัน เมื่ออาจารย์ได้เดินออกจากห้องไปแล้ว ภายในห้องก็ได้เกิดข้อเสนอขึ้นจากเพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นคุณครูสอนภาษาจีน ว่า “สิ่งที่เราศึกษา [อาทิ คน สัตว์ สิ่งของ] อาจจะไม่ได้รู้สึก หรือ มีความรับรู้ว่าอะไรเป็นอะไรเลยก็ได้ เพียงแต่การที่เราเกิดความห่วงใย และ อยากช่วยเหลือมันอาจเป็นการนำอคติของตนเองไปใส่ให้แก่สิ่งที่เราศึกษา”

ข้อเสนอดังกล่าว ได้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงกระบวนวิธีการศึกษาชุดหนึ่งในวงการมานุษยวิทยาที่เรียกว่า วิธีแบบ Emic และ Etic ที่เป็นวิธีการศึกษาวิจัยภาคสนามผ่านมุมมองของ “คนใน” (Emic: ยูนิตหรือสิ่งที่กำลังศึกษา ซึ่งรวมถึงการเข้าไปสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมของเหล่านักมานุษยวิทยา) กับ “คนนอก” (Etic: จากมุมมองของคนนอก ทฤษฎี อคติ หรือก็คือตัวผู้ศึกษาเองในฐานะที่เป็น “คนอื่น”) ซึ่งผู้เขียนเคยได้ร่ำเรียนมาช่วงเริ่มต้นศึกษาศาสตร์ทางด้านสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ที่อาจารย์ของผู้เขียนมักจะย้ำคิดย้ำทำให้อยู่เสมอว่า การศึกษาวิจัยภาคสนาม การทำการศึกษาทางสังคม การศึกษาสิ่งต่างๆรอบตัว สิ่งที่ผู้ศึกษาสมควรจะระมัดระวังไว้ให้มากที่สุด ก็คือ การตีความสิ่งที่ศึกษาผ่านการยึดในมุมมอง อคติ และ ทฤษฎีแนวคิดที่มีอิทธิพลอยู่ในกระบวนการรับรู้ของตัวผู้ศึกษา (ซึ่งอาจจะทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ได้) โดยละเลยมุมมองหรือบริบทแวดล้อมที่อยู่ในปริมณฑลของสิ่งที่ตนเองศึกษา ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาสำคัญของการศึกษาและทำให้ผลของการศึกษาอาจจะคลาดเคลื่อนได้ ซึ่งผู้เขียนยังจำคำของอาจารย์ท่านนั้นได้ดีจนถึงทุกวันนี้

ข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นของเพื่อนคนนั้น ผนวกกับคำสอนทางด้านวิธีการศึกษาภาคสนามทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาจากอาจารย์ของผู้เขียน ได้ทำให้ผู้เขียนเกิดคำถามขึ้นมาเกี่ยวกับประเด็นของงานศึกษาและการปฏิบัติงานด้านสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม (Humanitarian Assistances, Humanitarian Works, Humanitarian Intervention) ต่างๆ ที่กำลังเป็นแนวคิดสำคัญหลักของโลกเสรีประชาธิปไตยสมัยใหม่นี้ว่า ในหลายๆครั้งที่ปฏิบัติดังกล่าว [เช่น ด้านการช่วยเหลือทางสิทธิมนุษยชน] เกิดขึ้น กลุ่มผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ ในบางครั้งจนถึงหลายๆครั้ง เป็นกลุ่มที่อยู่ห่างไกลจากองศาของการพัฒนา ผู้ที่พยายามจัดโครงการเข้าไปทำการช่วยเหลือ หรือ ให้ความดูแลนั้น เมื่อยึดเอาตามข้อเสนอของเพื่อนคนนั้นเป็นฐาน แล้วมันก็จะเกิดคำถามตามขึ้นมาว่า ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ภารกิจด้านมนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน นานารูปแบบที่เกิดขึ้นทั่วโลก อันมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ถูกจัดให้เป็นชายขอบนั้น ตัวพวกเขาเองได้รู้สึกจริงๆหรือเปล่าว่าตัวเองคือ ผู้ที่เป็นชายขอบ ที่ต้องการความช่วยเหลือ เอื้ออาทรจริงๆ หรือการช่วยเหลือนั้นเป็นเพียงการนำอคติ หรือ ทัศนะภายใต้บริบทของตนเอง (ตัวผู้ศึกษา/คนนอก/ผู้ที่เข้าไปพยายามช่วยเหลือ) เข้าไปตีความกลุ่มที่ถูกนิยามว่าเป็นชายขอบ จน  “อาจ”ส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการปฏิบัติได้ เราจะเห็นได้จากในหลายๆกรณีที่กลุ่มผู้ได้รับความช่วยเหลือ ยังมิได้รับรู้ หรือรู้สึกถึงสถานะ และ ความเป็นไปของตนเองซึ่งถูกมองว่า ตกอยู่ในสถานะที่น่าสงสาร น่าเวทนา ในสายตาของผู้ที่มองเข้าไป

สิ่งเหล่านี้ที่ถูกเหล่าคนนอกมองว่าเป็นการช่วยเหลือ ในอีกทางหนึ่งก็สามารถที่จะมองได้ว่า เหล่าคนนอกนั้นได้ทำการดูแคลนกลุ่มคนชายขอบหรือคนใน ว่าไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยเหลือ และดูแลตัวเองได้ อันจำเป็นที่จะต้องให้คนนอกยื่นมือ หรือหยิบยื่นความช่วยเหลือเข้าไปให้ด้วยความอาทร และการใช้ แนวคิด อคติ และบริบทของผู้ศึกษา/คนนอกในการตีความสถานการณ์ภายใน (ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า สถานการณ์ภายใน ‘อาจ’ ไม่ได้เป็นไปตามการคาดการณ์ หรือตีความโดยเหล่าคนนอก หรือผู้ที่มองจากข้างนอกเข้าไปข้างใน เสียด้วยซ้ำ)

ด้วยคำถามอันที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางข้อย้ำเตือนของอาจารย์และข้อเสนอของเพื่อนของผู้เขียนนี้ ที่มีความประสงค์จะตั้งเสนอไว้สำหรับการพิจารณา กลุ่มประเด็นการศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน ภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอันมีหลากรูปแบบในปัจจุบัน ว่า พวกเราทุกคนกำลังเข้าใจสิ่งใดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงผ่านการใช้บริบท หรือ อคติของตัวเราไปตีความสิ่งที่เรากำลังศึกษา กำลังมองอยู่ ณ ปริมณฑลภายนอกหรือไม่
        
มากไปกว่านั้น หากลองย้อนกลับไปพิจารณากันที่ตัวกระบวนวิชาต่างๆที่เกิดขึ้นมานั้น ผู้เขียนเอง เห็นว่า ทฤษฎีหรือแนวคิดที่เกิดขึ้นมามากมาย ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ในแต่ละกระบวนวิชานั้น ล้วนต่างก็เกิดขึ้นจากการประกอบสร้างของตัวนักคิดกับบริบทแวดล้อมรอบตัวของพวกเขาทั้งสิ้น เช่น วิชาสิทธิมนุษยชน ก็ล้วนเกิดขึ้นมาพร้อมกับบริบทแวดล้อมของตัวนักคิดทางด้านกลุ่มสัญญาประชาคม (Social Contract) ในสมัยยุครู้แจ้ง (The Enlightenment) ไม่ใช่เกิดขึ้นมาลอยๆ โดยปราศจากอิทธิพลหรือเหตุที่ก่อให้เกิดผล (Causal Relation) ซึ่งสำหรับตัวผู้เขียนแล้ว มีความเห็นว่า การที่เราจะคิดหรือ ตีความสิ่งใดในปัจจุบัน โดยเฉพาะภายในการศึกษากระบวนวิชาใดวิชาหนึ่ง พวกเราแทบจะไม่สามารถคิดหรือตีความโดยปราศจากการรับอคติจากบริบทแวดล้อมใดๆได้เลย เพราะ เมื่อเราหลีกเลี่ยง หรือหลีกหนีการตีความผ่านบริบทแวดล้อมของตนเอง เราก็อาจจะเข้าไปสู่อิทธิพลของบริบทแวดล้อม อคติ ที่อยู่ในปริมณฑลของอื่นหรือของผู้อื่น (เช่น นักคิด หรือ บทเรียนที่เคยศึกษา) ในอดีตที่อยู่ในระบบกระบวนการรับรู้เราโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้ (จากสาเหตุสำคัญ คือ การศึกษาในแต่ละสิ่งนั้น มันย่อมจำเป็นที่จะต้องมีการเข้ารหัสและถอดรหัส (Encoding/Decoding) อะไรบางอย่างให้แก่สิ่งที่กำลังถูกศึกษาอยู่ ซึ่งลักษณาการดังกล่าวก็เป็นรูปแบบของการคิดแทนกันอย่างหนึ่ง ภายใต้บริบทของการศึกษา ฉะนั้นแล้ว การศึกษาทั้งหมดที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ก็ไม่ต่างอันใดจากการใช้อคติ หรือ บริบทแวดล้อมของมนุษย์มาประกอบในการตีความ แทรกแซง หรือคิดแทนยูนิตที่เราศึกษาเสมอๆ)

ท้ายที่สุดแล้วการจะศึกษากระบวนวิชาใดๆ โดยปราศจากอคติของ “คนนอก” ที่เข้ามามีอิทธิพลในการศึกษา จึงเป็นไปได้ยากมาก หากยึด พิจารณาเอาโดยอยู่บนฐานของข้อเสนอและคำย้ำเตือนดังที่ผู้เขียนได้หยิบยกมาอ้างไว้ข้างต้น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net