มายาคติเกี่ยวกับ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ในระบอบรัฐธรรมนูญไทย (2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

"มาตรา 69 กับแนวความคิดว่าด้วยสิทธิต่อต้านขัดขืนผู้ปกครอง"

 

5. “สิทธิต่อต้านขัดขืนผู้ปกครอง” (Widerstandsrecht) – แม่แบบความคิดของคำว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ”?

หลังจากที่ได้วิเคราะห์บทบัญญัติมาตรา 68 (รัฐธรรมนูญ 50) โดยละเอียดแล้วว่าไม่ได้มีเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการก่อตั้งหรือประกัน “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” แต่อย่างใด เป็นก็แต่เพียงบทบัญญัติที่มีผลเป็นการทั่วไปในการจำกัดหรือตีกรอบการใช้สิทธิเสรีภาพอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญได้รับรองไว้เท่านั้น นอกจากนี้กระบวนการต่าง ๆ ที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 68 ก็มีความไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางความเป็นจริงและในทางกฎหมายหลายประการ ข้อสรุปของการมีอยู่ของบทบัญญัติมาตรา 68 คงเป็นได้แต่เพียงตัวอย่างหนึ่งของการ “ลอก” กฎหมายต่างประเทศเข้ามาอย่างไม่ยึดโยงกับหลักการหรือความคิดที่อยู่เบื้องหลัง แล้วนำมาทำให้เป็น “แบบไทยๆ” (ไม่ว่าจะโดยไม่รู้หรือจงใจ) อันทำให้บทบัญญัตินั้นกลายเป็น “สิ่งแปลกปลอม” ในระบบรัฐธรรมนูญ (และยิ่งตลกขึ้นอีก เมื่อบทบัญญัตินี้ถูกนำมาใช้อย่างจงใจบิดเบือนโดยคณะ “ตลก” รัฐธรรมนูญในห้วงปี 2555-57)

บทบัญญัติอีกมาตราหนึ่งที่บัญญัติไว้ในหมวดว่าด้วย “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ก็คือมาตรา 69 (รัฐธรรมนูญ 50) ที่บัญญัติไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งความคิดของบทบัญญัตินี้สืบเนื่องมาจากมาตรา 65 ของรัฐธรรมนูญ 40 ที่บัญญัติถ้อยคำเช่นเดียวกันไว้เป็นครั้งแรกในระบบรัฐธรรมนูญไทย

บทบัญญัติในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญนานาประเทศ ตัวอย่างหนึ่งที่เป็นแนวทางหรือแม่แบบในการนำไปบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ๆ ก็คือ มาตรา 20 วรรค 4 แห่งกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งบัญญัติไว้ว่า

“ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนบุคคลใดก็ตามที่กระทำการเพื่อล้มล้างระบอบ(รัฐธรรมนูญ)นี้ หากหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นไม่สามารถเป็นไปได้”

แนวความคิดเบื้องหลังของบทบัญญัติมาตรา 20 วรรค 4 ของกฎหมายพื้นฐานนี้เป็นเรื่องของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ซึ่งมีรากฐานความคิดมาจากแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจโดยไม่ชอบธรรม ย่อมเป็นสิทธิอันชอบธรรมตามธรรมชาติของประชาชนที่จะลุกขึ้นขัดขืนการกดขี่ภายใต้การปกครองดังกล่าว เพื่อปฏิเสธอำนาจการปกครองเดิม และสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้นมาหรือย้อนกลับไปสู่ระบอบการปกครองเดิมที่เป็นไปเพื่อประชาชน

ความคิดว่าด้วย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นี้มีปรัชญาเบื้องหลังเชื่อมโยงได้ทั้งจากแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติในยุคสมัยกลางที่มีความเชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับศาสนาคริสต์ และกฎหมายธรรมชาติยุคใหม่ที่เน้นความสำคัญของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล

ในขณะที่แนวความคิดกฎหมายธรรมชาติแบบคริสต์อธิบายว่าผู้ปกครองไม่ใช่องค์รัฏฐาธิปัตย์แต่อยู่ภายใต้ระเบียบการปกครองของพระเจ้า ดังนั้นหากผู้ปกครองใช้อำนาจไปในทางที่ผิด ศาสนจักรและประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะต่อต้านขัดขืนเพื่อสถาปนาระเบียบการปกครองของพระเจ้าขึ้นมาอีกครั้ง แนวความคิดกฎหมายธรรมชาติสมัยใหม่อธิบายความคิดเรื่องสิทธิต่อต้านขัดขืนโดยยึดโยงกับทฤษฎีสัญญาก่อตั้งรัฐ (ทฤษฎีสัญญาประชาคม) กล่าวคือ เมื่อผู้ปกครองละเมิดพันธกรณีที่ตกลงกับประชาชนเพื่อก่อตั้งระบบการปกครองให้คุ้มครองชีวิต เสรีภาพ และกรรมสิทธิ์ ประชาชนย่อมไม่จำเป็นที่จะต้องเชื่อฟังผู้ปกครองอีกต่อไป และอาจนำไปสู่การลุกขึ้นสู้เพื่อสถาปนาระบอบการปกครองที่ชอบธรรมขึ้นมาใหม่

แนวความคิดว่าด้วยสิทธิต่อต้านขัดขืนนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญทั้งในการประกาศอิสรภาพของอเมริกาและการปฏิวัติฝรั่งเศส ใน Virginia Bill of Rights ค.ศ. 1776 มาตรา 3 ได้รับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนของประชาชนในการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มรัฐบาลที่ไม่ได้ปกครองโดยเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ นอกจากนี้ในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ค.ศ. 1776 ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีสัญญาก่อตั้งรัฐตามแนวความคิดกฎหมายธรรมชาติ กล่าวไว้ว่า

“เมื่อใดก็ตามที่รัฐบาลกลายเป็นอุปสรรคทำลายเป้าประสงค์(เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน) ย่อมเป็นสิทธิของประชาชนที่จะเปลี่ยนแปลงหรือล้มล้างรัฐบาลนั้น เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และวางรากฐานหลักการดังกล่าวขึ้นใหม่และจัดระเบียบอำนาจในรูปแบบตามที่จะเห็นสมควรว่าจะเป็นประโยชน์ได้มากที่สุดต่อความปลอดภัยและความสุขของประชาชน”

ในขณะที่คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ. 1789 ในการปฏิวัติฝรั่งเศส ได้รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในมาตรา 2 โดยรับรองให้การธำรงไว้ซึ่งสิทธิต่อต้านขัดขืนการถูกกดขี่ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนตามธรรมชาติที่ไม่อาจถูกพรากไปได้นั้น เป็นวัตถุประสงค์ของทุกสังคมการเมือง

ปัจจุบัน แนวความคิดว่าด้วย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นถูกเปลี่ยนแปลงจากแนวความคิดตามกฎหมายธรรมชาติให้กลายมาเป็นแนวความคิดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

กล่าวคือ จากเดิมการอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนอ้างอิงอยู่กับสิทธิตามธรรมชาติ เพื่อก่อตั้งหรือฟื้นฟูระบอบความเป็นธรรมที่แท้จริงขึ้นมา ในระบอบรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ที่คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและประกันความเป็นนิติรัฐ-ประชาธิปไตยได้รับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนไว้ในฐานะสิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดเป้าหมายของการต่อต้านขัดขืนไม่ใช่เป็นไปเพื่อสถาปนาระบอบการปกครองใหม่ขึ้น แต่เป็นไปเพื่อปกป้องหรือรื้อฟื้นระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ระบอบรัฐธรรมนูญกำลังหรือได้ถูกทำลายลงไป สิทธิต่อต้านผู้ปกครอง(ตามธรรมชาติ) จึงกลายมาเป็น “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ”

การรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” นับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลไกของ “ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตัวเองได้” ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อไม่ให้ระบอบนิติรัฐ-ประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญสถาปนาขึ้นนั้นถูกทำลายลง

อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าการรับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีปัญหาในตัวเอง กล่าวคือ เมื่อเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิดังกล่าวจะมีผลหรือมีความหมายอย่างไรเมื่อรัฐธรรมนูญถูกฉีกหรือทำลาย?

หากรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรถูกยกเลิกหรือทำลายไป เช่นนี้บทบัญญัติที่รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืนการล้มล้างรัฐธรรมนูญ” ก็ย่อมสิ้นผลไปทำให้สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้หลงเหลืออยู่ด้วย เช่นนี้บทบัญญัติดังกล่าวจะมีไว้ทำไม? ในเมื่อไม่มีทางมีผลทางกฎหมายแต่อย่างใด?

ในบทความเรื่อง “When to Overthrow your Government: The Right to Resist in the World’s Constitutions” ของ Tom Ginsburg และคณะ ซึ่งได้ศึกษาเปรียบเทียบบทบัญญัติรัฐธรรมนูญนานาประเทศที่มีลักษณะเป็นการกล่าวถึง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เอาไว้นั้น แยกความมุ่งหมายของผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เอาไว้เป็นสองความมุ่งหมายที่แตกต่างกัน

กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญบางประเทศที่การสถาปนารัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอันเป็นผลมาจากการปฏิวัติ-รัฐประหาร ล้มล้างการปกครองในระบอบเก่า เป้าหมายสำคัญของการรับรองสิทธิดังกล่าวไว้นั้น ก็เพื่อให้มีผลย้อนไปเป็นการรับรองความชอบธรรมในการกระทำของตนในอดีตที่ได้เคยทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อโค่นล้มระบอบเก่า

ในขณะที่ความมุ่งหมายอีกด้านหนึ่งนั้น เป็นไปเพื่อมองไปข้างหน้า กล่าวคือ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการดำรงอยู่ของระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ที่ถูกก่อตั้งขึ้นไม่ให้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองนั้นถูกทำลายลง การรับรองสิทธิต่อต้านขัดขืนจึงเป็นการกระตุ้นความรับรู้ในการมีอำนาจของประชาชนว่าสิทธิต่อต้านขัดขืนที่ตนมีนั้น เป็นพลังอำนาจที่สำคัญในการจำกัดอำนาจผู้ปกครอง

หากพิจารณาจากความมุ่งหมายประการที่สอง สิทธิต่อต้านขัดขืนจึงมีความหมายในเชิงเป็น “สัญลักษณ์” ของการปฏิเสธการล้มล้างรัฐธรรมนูญ โดยลักษณะเฉพาะของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นี้เมื่อเปรียบเทียบกับ “สิทธิ” อื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้น มีความแตกต่างกัน กล่าวคือในขณะที่สิทธิตามรัฐธรรมนูญอื่น ๆ นั้นถูกรับรองและคุ้มครองโดยโครงสร้างของรัฐธรรมนูญ จึงมีผลบังคับใช้ได้เมื่อระบอบรัฐธรรมนูญดำรงอยู่และดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นแม้จะถูกรับรองในรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน แต่การกล่าวอ้างและยกสิทธิต่อต้านขัดขืนขึ้นสู้นั้น จะเกิดขึ้นก็แต่ในสภาวะที่ระบอบรัฐธรรมนูญไม่ทำงานแล้ว นั่นคือ การที่ระบอบรัฐธรรมนูญถูกทำลายหรือล้มล้าง

ผลของการรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นก็แต่ในกรณีที่ว่า การต่อต้านขัดขืนนั้นได้รับชัยชนะ และมีผลเป็นการรื้อฟื้นระบอบรัฐธรรมนูญที่ถูกทำลายลงไปแล้วนั้นขึ้นมาใหม่ เช่นนี้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จึงถือว่าเป็นฐานความชอบธรรมทางกฎหมายในบรรดาการกระทำต่าง ๆ ที่ได้กระทำไปเพื่อการต่อต้านขัดขืน แม้การนั้นจะมีผลเป็นการฝ่าฝืนหรือขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายไม่ว่าจะในทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางมหาชนก็ตาม

เมื่อได้ทราบอุดมการณ์และความมุ่งหมายของการรับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว ต่อไปจะขอยกตัวอย่างคำอธิบายเกี่ยวกับ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ในระบอบรัฐธรรมนูญเยอรมนี ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบของการนำมาบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย

กล่าวคือ มาตรา 20 วรรค 4 แห่งกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีบัญญัติไว้ว่า ““ชาวเยอรมันทุกคนมีสิทธิในการต่อต้านขัดขืนบุคคลใดก็ตามที่กระทำการเพื่อล้มล้างระบอบ(รัฐธรรมนูญ)นี้ หากหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นไม่สามารถเป็นไปได้”

มาตรานี้รับรอง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” แก่ชาวเยอรมันทุกคนว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ โดยรับรองแก่ชาวเยอรมันเฉพาะในฐานะที่เป็นพลเมือง (ไม่รวมถึงการกล่าวอ้างในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หากบุคคลใดมีสองสถานะ) โดยการใช้สิทธินี้อาจใช้โดยลำพังหรือใช้แบบรวมกลุ่มก็ได้ โดยเป็นการต่อต้าน “ผู้ใดก็ตาม” ที่ต้องการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นต่อตัวบุคคล หรือต่อองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้น และไม่ว่าจะเป็นการกระทำของเอกชนหรือว่าโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

โดยกรณีที่จะใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนได้นั้นอยู่ภายใต้เงื่อนไขสามประการที่ว่า (1.) มีอันตรายต่อหลักการพื้นฐานที่กฎหมายพื้นฐานรับรอง นั่นก็คือ หลักการของระเบียบพื้นฐานทางเสรีประชาธิปไตย ได้แก่ หลักประชาธิปไตย, หลักนิติรัฐ การคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ากรณีใด ๆ ที่มีการละเมิดหลักการดังกล่าวนี้แล้วทุกกรณี จะก่อให้เกิดสิทธิต่อต้านขัดขืนทั้งสิ้น แต่จะต้องถึงขนาดว่าการละเมิดหลักการดังกล่าวกระทบต่อโครงสร้างของรัฐที่รัฐธรรมนูญมุ่งคุ้มครอง ทั้งนี้ “อันตราย” ที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องปรากฏให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน (2) มี “การกระทำ” ไม่ใช่เพียงแค่ขั้นตอนการตระเตรียม โดยอย่างน้อยจะต้องถึงขนาดอยู่ในขั้นของการพยายามกระทำแล้ว ทั้งนี้สิทธิต่อต้านขัดขืนนี้ยังมีผลอยู่ แม้ว่าการล้มล้างระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นผลสำเร็จแล้ว (ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า ภายหลังระบอบรัฐธรรมนูญได้ถูกฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกครั้ง) และ (3) ไม่มีหนทางในการปัดป้องด้วยวิธีการอื่นแล้ว กล่าวคือ กลไกอื่น ๆ ที่รัฐธรรมนูญและระบอบกฎหมายรับรองไว้ไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป โดยการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นเป็นเครื่องมือท้ายที่สุดในการรักษาไว้ซึ่งระบอบรัฐธรรมนูญ หากปรากฏว่ายังมีช่องทางดำเนินการด้วยวิธีอื่นได้อยู่ เช่น ด้วยกลไกกระบวนการทางกฎหมายผ่านองค์กรตุลาการ เช่นนี้ก็ยังไม่สามารถอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนนี้ได้

อย่างไรก็ตามกฎหมายพื้นฐานไม่ได้กำหนดเอาไว้แต่อย่างใดว่าการต่อต้านขัดขืนนั้นเป็น “หน้าที่” แต่เป็นเจตจำนงเสรีของประชาชนในการตัดสินใจที่จะใช้ “สิทธิ” ปกป้องระบอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้รูปแบบของการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นอาจเป็นได้ทั้งการแสดงออกในเชิงปฏิเสธ คือ ไม่เชื่อฟังผู้มีอำนาจที่ได้อำนาจมาโดยทำลายระบอบรัฐธรรมนูญ หรือการแสดงออกในเชิงรุก โดยการใช้กำลังต่อวัตถุหรือบุคคล

แม้กฎหมายพื้นฐานจะไม่ได้กำหนดขอบเขตการใช้สิทธิต่อต้านขัดขืนไว้ (เมื่อเทียบกับของไทยที่จำกัดว่า “โดยสันติวิธี”) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการอ้างสิทธิต่อต้านขัดขืนนั้นจะเป็นไปอย่างไร้ขอบเขต กล่าวคือ การต่อต้านขัดขืนเพื่อป้องกันระบอบรัฐธรรมนูญนั้นต้องเป็นไปภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุ โดยพิจารณาทั้งความเหมาะสม ความจำเป็น และการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่มหาชนได้รับกับประโยชน์ที่เอกชนต้องเสียหาย

 

6. สิทธิต่อต้านขัดขืน กับ Civil Disobedience

ก่อนที่จะวิเคราะห์บทบัญญัติเกี่ยวกับ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ในระบบรัฐธรรมนูญไทย มีประเด็นทั่วไปที่ต้องกล่าวถึงอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือ ความแตกต่างระหว่าง “สิทธิต่อต้านขัดขืน” กับกรณี Civil Disobedience ที่ถูกแปลเป็นไทยว่า “การดื้อแพ่ง” หรือ “อารยะขัดขืน”

กรณีการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้น ไม่ใช่ Civil Disobedience เนื่องจากมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในเรื่องขอบเขตทางกฎหมายและการเมือง รวมไปถึงเป้าหมายและวิธีการ

กล่าวคือ Civil Disobedience นั้นหากถือตามนิยามของ John Rawl หมายถึงการกระทำโดยปราศจากการใช้กำลังและเปิดเผย ที่เป็นไปตามมโนธรรมสำนึก แต่มีผลเป็นการขัดต่อกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ ทั้งนี้โดยมีเป้าประสงค์เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือแนวนโยบายของรัฐ โดยเป็นการดำเนินอยู่ในกรอบของระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย

ในขณะที่ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นจะถูกใช้ในสถานการณ์ที่ระบอบรัฐธรรมนูญถูกทำลายลง ไม่ใช่เพียงกรณีที่มีการฝ่าฝืนหรือไม่เคารพรัฐธรรมนูญเป็นรายประเด็นหรือรายกรณี Civil Disobedience นั้นเกิดขึ้นในบริบทภายใต้รัฐเสรีประชาธิปไตย โดยเป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องความเห็นร่วมจากสาธารณะ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็โดยอาศัยกรอบที่รัฐธรรมนูญนิติรัฐ-ประชาธิปไตยรับรองไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านทางเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพในการชุมนุม

ทั้งนี้ “เป้าหมาย” ของการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นเพื่อฟื้นฟูหรือสถาปนาระเบียบรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่อีกครั้ง แต่ Civil Disobedience มีเป้าหมายเพื่อลดทอนความชอบธรรมหรือเพื่อให้นำไปสู่การยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายหรือการตัดสินใจทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่ง

สุดท้ายแล้วการใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” และ Civil Disobedience นั้นแตกต่างกันในแง่ของวิธีการ โดยเงื่อนไขของ Civil Disobedience นั้นจะต้องเป็นไปโดยปราศจากการใช้กำลังใด ๆ แต่การใช้ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” นั้นภายใต้หลักความพอสมควรแก่เหตุแล้ว สามารถดำเนินการใด ๆ ก็ได้ที่จำเป็น รวมไปถึงการใช้กำลังไม่ว่าต่อทรัพย์สินหรือต่อบุคคลอื่น

ด้วยเหตุนี้ การอ้าง Civil Disobedience นั้นไม่ได้อยู่บนฐานของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” และไม่สามารถอาศัยเป็นเหตุให้มีอำนาจกระทำได้ การอ้าง Civil Disobedience อาศัยฐานของเสรีภาพในโครงสร้างรัฐธรรมนูญโดยเป็นหนึ่งในการสร้างความเห็นร่วมในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเสรีภาพดังกล่าวผูกพันบรรดาองค์กรของรัฐที่ต้องเคารพ อย่างไรก็ตามหากนำไปสู่การละเมิดกฎหมาย ลำพังการอ้าง Civil Disobedience ไม่ถือเป็นเหตุให้ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายได้ แต่หากการกระตุ้นความเห็นร่วมของสังคมเป็นผลสำเร็จ ก็ย่อมมีผลต่อการลงโทษอาญา ไม่ว่าจะเป็นการลดโทษหรือนิรโทษกรรม เพราะว่าการกระทำความผิดเพราะเหตุ Civil Disobedience ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการกระทำของผู้ที่เป็นอาชญากร

 

7. “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50

สำหรับรัฐธรรมนูญไทยนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 69 ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้”

แม้มาตรา 69 นี้จะมีรากเหง้ามาจากบทบัญญัติมาตรา 20 วรรค 4 ของกฎหมายพื้นฐานสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเจตนารมณ์ในการบัญญัติครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ 40 จะเป็นไปเพื่อต่อต้านการรัฐประหารยึดอำนาจ แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบันความเข้าใจและการนำไปใช้มาตรา 69 ในฐานะสิทธิประการหนึ่งตามหมวด “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ดูจะต่างไปราวเหมือนเป็นคนละเรื่อง

ในชั้นยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 มีความพยายามอธิบายการใช้ “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” (ทั้งกรณีมาตรา 68 และ 69) ให้รวมไปถึงการต่อต้านการทุจริตการเลือกตั้ง

นอกจากนี้ในทางปฏิบัติมีการกล่าวอ้าง “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ตามมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50 หลายกรณี โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา (อย่างไรก็ตาม จากข้อเท็จจริงดูเหมือนว่าบรรดาบุคคลที่อ้าง “สิทธิ” ดังกล่าวนั้น ไม่ได้ต้องการ “ต่อต้านขัดขืน” เพื่อ “พิทักษ์” แต่กลับเป็นไปเพื่อมุ่ง “ทำลาย” รัฐธรรมนูญ)

คณะ “ตลก” รัฐธรรมนูญ เคยยกมาตรา 69 ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการรับคำร้องกรณีตามมาตรา 68 มาขยายเขตอำนาจในการรับฟ้องตรง โดยยกคำว่า “สิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ขึ้นมาส่งเสริม

ขณะเดียวกัน บทบัญญัติเช่นเดียวกันในรัฐธรรมนูญ 40 มาตรา 65 (ซึ่งมีถ้อยคำทุกอย่างเหมือนมาตรา 69 รัฐธรรมนูญ 50) เคยถูกยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อเป็นเหตุในการกระทำฉีกบัตรเลือกตั้งเมื่อ 2 เมษายน 2549

ในคดีฉีกบัตรเลือกตั้งนั้น ได้มีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11850/2554 ว่าสิทธิตามมาตรา 65 นั้น “ต้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย” โดยเป็นสิทธิประการหนึ่งตามรัฐธรรมนูญเรียกว่า “การใช้สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี” ซึ่งจะอ้างได้ “เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน” ด้วยเหตุนี้การฉีกบัตรเลือกตั้งอันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามพรป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้นจึงไม่สามารถอ้าง “สิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี” (ตามคำของศาลฎีกา) กรณีตามมาตรา 65 ได้

หากเจตนารมณ์ดั้งเดิมของการนำเข้า “สิทธิต่อต้านขัดขืน” เข้ามาในระบอบรัฐธรรมนูญไทย เพื่อให้เกิด “ระบอบประชาธิปไตยที่ปกป้องตนเองได้” ตามแบบของระบอบรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่จากคำพิพากษาของศาลฎีกานี้ ศาลฎีกาได้ “ทำลาย” หลักการ, อุดมการณ์ และคุณค่าของ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ลงโดยสิ้นเชิง ด้วยการจำกัดให้เป็นเพียงสิทธิประการหนึ่งภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ได้มีสถานะใดเป็นพิเศษ

นอกจากนี้ก็แทบจะไม่เคยมีการให้คำอธิบาย “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ใน “ความหมาย” และ “คุณค่า” แบบที่ควรจะเป็นดังที่ถูกอธิบายในระบอบรัฐธรรมนูญต่างประเทศ

จึงไม่ต้องแปลกใจที่ “สิทธิต่อต้านขัดขืน” ไทยจึงไม่ได้มีค่าใด ๆ ในเรื่องการสร้างความมั่นคงให้ระบอบรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย และจะสิ้นไปพร้อมกับรัฐธรรมนูญแบบไร้ความหมาย

 

 

หมายเหตุ: เรียบเรียงจากบทความของผู้เขียนซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์โลกวันนี้วันสุข คอลัมน์สนามรบกฎหมาย ฉบับวันที่ 21-27 กุมภาพันธ์ 2558, 28 กุมภาพันธ์- 6 มีนาคม 2558 และ 7-13 มีนาคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท