นักวิจัย CFR เผยรอยร้าวเศรษฐกิจไทยหลังรัฐประหารปี 2557

นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรความสัมพันธ์ระหว่างประเทศวิเคราะห์ว่าแม้ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติในหลายด้านมาตลอด 15 ปีที่ผ่านมาแต่ก็ยังผยุงเศรษฐกิจอยู่ได้เว้นแต่หลังการรัฐประหารปี 2557 ที่สารเคลือบคุ้มกันเศรษฐกิจไทยเริ่มเกิดรอยร้าวจนทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดหนัก

29 มี.ค. 2558 โจชัวร์ คูร์แลนท์ซิกค์ นักวิจัยอาวุโสจากองค์กรคณะมนตรีความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (CFR) เขียนบทความเกี่ยวกับความตกต่ำของเศรษฐกิจประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 2557

โดยบทความระบุว่าถึงแม้ไทยจะเกิดวิกฤติทางการเมืองและภัยธรรมชาติในตลอดช่วง 15 ปีก่อนหน้านี้แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังคงประคับประคองตัวมาได้ซึ่งคูร์แลนท์ซิกค์เปรียบเทียบว่าราวกับมีสาร "เทฟลอน" คอยเคลื่อบไม่ให้เศรษฐกิจไทยเสื่อมลง แต่ดูเหมือนว่าหลังรัฐประหารปี 2557 สารเคลือบ "เทฟลอน" ที่คอยคุ้มกันเศรษฐกิจไทยมาตลอดก็ยังไม่สามารถป้องกันภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้

แม้ว่าประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีวิกฤติปัญหามากมายเช่น วิกฤติอุทกภัยในช่วงฤดูมรสุมปี 2554 ที่ทำให้อุตสาหกรรมทางตอนบนของกรุงเทพฯ เสียหายจำนวนมาก ในปี 2553 ก็เคยมีเหตุการณ์ทหารปราบปรามประชาชนอย่างโหดเหี้ยมใจกลางย่านธุรกิจ แต่หลังจากหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวก็ยังคงเดินทางเข้าประเทศไทย และอัตราการเติบโตของจีดีพีก็ยังคงเพิ่มขึ้น หลายคนมองว่าหลังรับประหารปี 2557 เศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาฟื้นตัวได้เหมือนเดิมเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ แต่ในบทความในเว็บไซต์ควอทซ์ระบุว่า "ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะสามารถทนทานต่อความวุ่นวายทางการเมืองและเรียกนักท่องเที่ยวและนักลงทุนกลับมาได้นั้นเป็นช่วงเวลาที่จบสิ้นลงแล้ว"

คูร์แลนท์ซิกค์ระบุว่าความวุ่นวายทางการเมืองของไทยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเบี่ยงเบนความสนใจของนักการเมืองจากการดำเนินนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานหรือระบบการศึกษาทำให้ไม่มีการพัฒนาเพื่อตอบรับกับเศรษฐกิจที่ประชาชนมีรายได้ระดับกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชั้นเรียนเรื่องภาษาอังกฤษและเทคโนโลยีสารสนเทศประเทศไทยล้าหลังกว่าคู่แข่งอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างมาก

เมื่อไม่นานมานี้บทความในหนังสือพิมพ์ 'ทูเดย์' ของสิงคโปร์ระบุว่า "ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 60 อันดับในดัชนีความสามารถด้านภาษาอังกฤษซึ่งจัดว่าต่ำที่สุดในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" ถึงแม้ว่าประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่นๆ จะมีทรัพยากรน้อยกว่าในการส่งเสริมด้านภาษาก็ตาม คูร์แลนท์ซิกค์ระบุอีกว่าภาษาอังกฤษจะมีความจำเป็นต่อการดึงดูดนักลงทุนในภูมิภาคและมีความสำคัญต่อแรงงานในหลายสายงานที่ต้องการมองหาโอกาสช่วงที่มีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

คูร์แลนท์ซิกค์ระบุว่าในขณะที่ประเทศไทยมีความดึงดูดนักลงทุนในแง่ทรัพยากรแต่ความวุ่นวายทางการเมืองก็ทำให้นักลงทุนถอยหนีไปในขณะที่ประเทศอย่างฟิลิปปินส์ พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีการส่งเสริมนโยบายดึงดูดนักลงทุนมากกว่า

คูร์แลนท์ซิกค์วิเคราะห์อีกว่าหลังจากเกิดรัฐประหารปี 2557 แล้วดูเหมือนทางการญึ่ปุ่นก็ยังคงให้การสนับสนุนไทยแต่เป็นไปเพราะต้องการขจัดอิทธิพลจากจีนเท่านั้น เช่นกรณีให้กู้ยืมสร้างทางรถไฟ แต่ภาคส่งนเอกชนของญี่ปุ่นซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในไทยเกิดความไม่มั่นใจและเริ่มหันไปลงทุนในประเทศอื่นของภูมิภาคนี้ขณะที่นักลงทุนประเทศอื่นๆ ก็เริ่มระมัดระวังในการทำโครงการใหม่ๆ ในไทย

เมื่อไม่นานนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กวิเคราะห์ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลงราวครึ่งหนึ่งของประเทศเพื่อนบ้านมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย นับตั้งแต่ปี 2553 ทางด้านธนาคารโลกประเมินว่าในปี 2558 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ในระดับต่ำสุด และเมื่อไม่นานมานี้แม้แต่ธนาคารกลางของไทยเองก็ประเมินว่าอัตราการเติบโตจะลดลงในปี 2558

เรียบเรียงจาก

Thailand’s Teflon economy finally seems to be cracking, Quartz, Joshua Kurlantzick, 25-03-2015
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท