Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

การเดินประท้วงของประชาคมมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมบริเวณใจกลางเมืองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม

เป็นเวลามากกว่า 2 สัปดาห์แล้วที่กลุ่มนักศึกษา พนักงานของมหาวิทยาลัย (employed staff) และอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม (Universiteit van Amsterdam-UvA) ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ยึดครองอาคารบริหารกลางชื่อ Maagdenhuis ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อแสดงการต่อต้านการบริหารของมหาวิทยาลัยที่กำลังเดินทางไปสู่ความเป็นเสรีนิยมใหม่ในทางการศึกษา (Neoliberal higher education)  กลุ่มผู้เคลื่อนไหวดังกล่าวพยายามกดดันผู้บริหารอย่างหนักในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องแนวทางประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย คือผู้บริหารมหาวิทยาลัยในระดับสูงควรมาจาการเลือกตั้ง การบริหารการเงินที่โปร่งใส และการยกเลิกแนวทางการพัฒนามหาวิทยาลัยที่จะนำไปสู่แนวทางเสรีนิยมใหม่ในวงการอุดมศึกษาทั่วประเทศ  


แม้เป็นระยะเพียง 2 สัปดาห์ แต่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งการยึดครองพื้นที่ของมหาวิทยาลัยการเปิดพื้นที่สื่อสังคมในการร่วมลงชื่อเรียกร้อง โดยมีนักวิชาการชื่อดังระดับโลกอย่าง นอม ชอมสกี้ (Noam Chomsky) นักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวอเมริกัน และ จูดิธ บัทเลอร์ (Judith Butler) นักวิชาการด้านเพศสภาพและสตรีนิยม เข้าร่วมลงชื่อสนับสนุน การจัดเสวนาหรือบรรยายให้ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดเสรีนิยมใหม่ ประชาธิปไตยในระดับอุดมศึกษา ปัญหาการเงินของประเทศเนเธอร์แลนด์ที่ส่งผลกระทบต่อสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการลดหรือตัดทอนงบประมาณบางส่วนที่รัฐเคยให้การสนับสนุน รวมไปถึงการเปิดเวทีเจรจา ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยเองที่ผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัย (Centraal Veevoederbureau -CvB) ได้เปิดพื้นที่เจรจา (dialogue) เพื่อหารือตามข้อเรียกร้องดังกล่าว


ขณะเดียวกันในระดับประเทศ มหาวิทยาลัยอื่นในเนเธอร์แลนด์ก็แสดงท่าทีเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม และเสนอแนวคิดร่วมในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแนวใหม่ (Nieuwe Universiteit) เช่น มหาวิทยาลัยฟรีอัมสเตอร์ดัม (Vrije Universiteit Amsterdam) มหาวิทยาลัยไลเดิ้น (Universiteit Leiden) มหาวิทยาลัยอูเทรค (Universiteit Utrecht) มหาวิทยาลัยทิลเบิร์ก (Tilburg University) มหาวิทยาลัยโครนิงเกิ้น (Rijksuniversiteit Groningen) มหาวิทยาลัยอิรัสมุส ร็อตเตอร์ดัม (Erasmus Universiteit Rotterdam) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟ์ท (Technische Universiteit Delft) มหาวิทยาลัยมาสทริช (Universiteit Masstricht) และมหาวิทยาลัยราดบาวด์ ไนเมเกิ้น (Radboud Universiteit Nijmegen) เป็นต้น
 


การประท้วงของนักศึกษาและบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์หน้าอาคาร Bungehuis (เครดิต: Daniël Rommens / Folia)

ส่วนในระดับคณะและภาควิชาของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมก็ตื่นตัวในการสร้างพื้นที่ถกเถียงเพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือปฏิรูประบบการศึกษา ว่าหากต้องการเปลี่ยนแปลงสถาบันการศึกษาให้มีทิศทางตามข้อเรียกร้องข้างต้นควรจะมีแนวคิดและแนวทางอย่างไร และเปิดให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยผู้เขียนเองก็เข้าไปสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วม (participant observation) ในภาควิชามานุษยวิทยาที่ตนเองสังกัดด้วยเช่นกัน จึงอยากถ่ายทอดประสบการณ์จากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการประท้วงและเรียกร้องของประชาคมมหาวิทยาลัย และขบวนการที่มีลักษณะ “สังคมประชาคม” (civil society) โดยการรวมตัวอย่างสร้างสรรค์ของผู้คนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบ และนำไปสู่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัย

 

แนวคิด “เสรีนิยมใหม่” ในมหาวิทยาลัย

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ผู้เขียนได้รับอีเมลล์จากนักศึกษาผู้หนึ่งที่ส่งมาด้วยข้อความว่า เมื่อก่อนหน้านั้น 10วัน มีนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ร่วม 40 คนของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม เข้าไปนั่งประท้วง (sit-in) ในตึก Bungehuis ซึ่งเป็นอาคารที่อยู่ในแผนของมหาวิทยาลัยได้ขายให้กับภาคเอกชนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อเปลี่ยนเป็นสำนักงานของบริษัทเอกชน ที่สำคัญคือเป็นการประท้วงต่อทิศทางของการจัดการเรียนการสอนของภาควิชาที่จะยุบรวมการเรียนวิชาภาษาที่คนเรียนไม่มากเข้าด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาเช็ค (Czech) ฮังกาเรียน (Hungarian) และโพลิช (Polish) [1] เพื่อทำให้หลักสูตรกว้างและดึงดูดให้คนมาเรียนมากขึ้น โดยทางผู้บริหารของมหาวิทยาลัยได้ดำเนินการฟ้องร้องการยึดครองพื้นที่ดังกล่าวโดยการปรับเงินเป็นจำนวนสูงถึง 100,000 ยูโร หากยังมีคนเข้าไปในพื้นที่ของตึกดังกล่าวโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต [2] โดยอีเมลล์ฉบับนี้เป็นการชักชวนให้ร่วมลงชื่อต่อต้านการดำเนินการของผู้บริหารมหาวิทยาลัยกับผู้ที่เข้าไปยึดตึกที่ต่อมาถูกเจ้าหน้าตำรวจควบคุมตัวออกไป


นี่คือปัญหาด้านการจัดการของมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะแก้ปัญหาด้านการเงินที่มหาวิทยาลัยกำลังประสบอยู่ นี่ไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่เกิดขึ้น ก่อนหน้านี้ทางมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมได้ย้ายและมีแผนในอนาคตอันใกล้ที่จะย้ายคณะและสถาบันวิจัยต่างๆ มารวมกันที่บริเวณคอมเพล็กซ์ของมหาวิทยาลัยในแต่ละพื้นที่ในเมืองซึ่งมีทั้งหมด 4 จุด (campus-based) ซึ่งต่างโครงสร้างแบบดั้งเดิมของมหาวิทยาลัยที่คณะหรือสถาบันต่างๆจะกระจัดกระจายอยู่ในตัวเมืองอัมสเตอร์ดัม [3] และใช้พื้นที่ของอาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมือง เช่น ที่ตั้งสถาบันวิจัยทางสังคมคือตึก Oost-Indisch Huis หรือ East Indian House อาคารในศตวรรษที่ 17 ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัทดัชต์อีสอินเดีย (Dutch East India Company  หรือในภาษาดัตช์ Vereenigde Oostindische Compagnie-VOC) หรือตึก Spinhuis อาคารของพนักงานและอาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษวิทยา ก็เป็นตึกเก่าสร้างตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 16 ที่ก่อนหน้านี้เป็นโรงเรียนดัดสันดานของผู้หญิง จนช่วงในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ถึงต้นศตวรรษที่ 19 ตึกนี้ได้เปลี่ยนเป็นสำนักงานตำรวจ ก่อนที่จะเป็นอสังหาริมทรัพย์ของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมในเวลาต่อมา [4]
 

 
ป้ายประท้วงและการประท้วงหลังการจับกุมนักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์: “ใครจะเป็นรายต่อไป, คณะสังคมศาสตร์ไม่ยอม”

ในด้านโครงสร้างการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะเรื่องการที่เน้นแนวคิดเสรีนิยมคือการมุ่งเน้นให้นักศึกษา นักวิจัย และอาจารย์ทำงานเพื่อมุ่งประสบความสำเร็จในระดับปัจเจกมากกว่าที่สร้างสถาบันการศึกษาให้ผู้เรียนมีความคิดต่อโลกและสังคม นั่นคือการที่ผู้เรียนต้องได้เกรดดี ขณะที่นักวิจัยและอาจารย์ต้องมีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์จำนวนมาก ขณะเดียวกันก็ต้องทำตัวไม่ต่างกับการเป็นพนักงานบริษัท (corporate company) ที่ต้องทำให้อาจารย์หรือผู้บริหารพอใจกับผลงาน และสร้างสถาบันการศึกษาให้เป็น “บริษัทผลิตความรู้ (knowledge company) [5]

เนื่องจากโครงสร้างการรับคนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในระดับปริญญาเอก แนวคิดของสถาบันอุดมศึกษาในเนเธอร์แลนด์ยังผูกติดกับความคิดเกี่ยวกับสวัสดิการทางการศึกษาคือไม่มีการเรียกเก็บค่าเล่าเรียนจากผู้เรียนที่มีสัญชาติดัตช์ รวมถึงจากประเทศอื่นๆ โดยที่สถานนะนักศึกษาปริญญาเอก (PhD student) จะไม่ปรากฏในหลักสูตร แต่จะพิจารณาว่านักศึกษาปริญญาเอกเป็นนักวิจัยระดับปริญญาเอก โดยใช้คำว่า PhD candidate หรือ PhD researcher ขณะเดียวกัน ผู้ทำวิจัยในระดับปริญญาเอกส่วนใหญ่ก็ถือว่าเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย (university employees) ซึ่งอาจจะได้รับเงินเดือนที่จัดสรรผ่านทุนโครงการวิจัยที่เจ้าของโครงการวิจัยเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยได้รับทุนจากองค์กรการศึกษาที่ให้ทุน นักศึกษาบางคนอาจได้รับการว่าจ้างแบบไม่เต็มจำนวนในฐานะอื่นๆ เช่น ผู้ช่วยหัวหน้าภาควิชาหรือภาควิชาเป็นต้น โดยมีสัญญาเงินเดือนที่ได้รับร้อยละ 40 หรือ 50 ของจำนวนเงินเดือนขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาปริญญาเอกคนได้รับหากเป็นสัญญาเต็มจำนวน บางคนมีหน้าที่ต้องสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโท หรือให้คำปรึกษาการทำโครงงานหรือวิทยานิพนธ์โดยได้ค่าตอนแทนเป็นรายชั่วโมง



ตึก Bungehuis และป้ายประท้วง (เครดิต: https://hansfoto.wordpress.com/category/protest/)

ขณะเดียวกันทางภาควิชาต่างๆอาจว่าจ้างคนมาสอนหรือทำโครงการจ้างคนสอนหรือทำงานวิจัยในรูปแบบแบบพนักงานสัญญาชั่วคราวหรือถาวร เพื่อให้ผู้ที่ได้รับว่าจ้างเหล่านี้จำนวนหนึ่งไปรับภาระหน้าที่การสอน ขณะที่อาจารย์ที่ได้รับตำแหน่งทางวิชาการแล้วจะได้มีเวลาไปทำวิจัยเพื่อที่จะผลิตผลงานวิชาการตีพิมพ์ และนำไปสู่การเลื่อนขั้นในลำดับที่สูงขึ้นในการจัดลำดับมหาวิทยาลัยโลกตามมา และเกิดวงจรที่มหาวิทยาลัยจะสนับสนุนให้อาจารย์เหล่านี้เขียนโครงการขอทุนจากหน่วยงาน เพราะหน่วยงานที่ให้ทุนเองก็พิจารณาให้ทุนกับคนที่มีผลงานทางวิชาการในระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้การสอนซึ่งควรจะเป็นภารกิจหลักกลายเป็นภารกิจรองสำหรับอาจารย์ในมหาวิทยาลัย สภาพที่เป็นอยู่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนหรือมั่นคงในอาชีพของพนักงานมหาวิทยาลัยที่มีสัญญาจ้างชั่วคราวหรือระยะสั้น [6]


นอกจากนี้ แนวโน้มที่เกิดขึ้นในช่วงของมหาวิทยาลัยในเนเธอร์แลนด์คือการรับจำนวนนักศึกษาชาวต่างชาติที่มีทุนส่วนตัวหรือจากรัฐบาลของประเทศอื่นมาแล้วมากขึ้น เพื่อลดภาระในการลงทุนด้านการศึกษาและวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษากับนักศึกษาชาวต่างชาติ โดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป ซึ่งไม่ใช่ระบบแนวคิดดั้งเดิมของระบบการศึกษาของเนเธอร์แลนด์ ขณะที่มหาวิทยาลัยไม่ได้ลงทุนในการศึกษามากขึ้น แต่กลับได้ผลงานของนักศึกษาชาวต่างชาติเหล่านี้สะสมไว้เป็นฐานความสามารถและความโดดเด่นของมหาวิทยาลัยเพื่อการจัดลำดับ

 

การยึดครองพื้นที่

สถานการณ์การยึดตึกของนักศึกษาและบุคลากรคณะมนุษยศาสตร์และข่มขู่เรียกร้องค่าเสียหายด้วยจำนวนเงินที่พวกเขาจะรับผิดชอบได้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ประชาคมมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมจำนวนประมาณ 1,500 คนรู้สึกว่าหมดความอดทน และขึ้นมาต่อต้านการดำเนินการของผู้บริหารโดยการเดินขบวนประท้วงในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ [7] ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่เข้าทำการยึดตึก Maagdenhuis (Maagdenhuis besetting) ซึ่งเป็นอาคารที่สร้างในช่วงกลางศตวรรษที่ 18 ให้เป็นสถานเลี้ยงเด็กกำพร้าผู้หญิงของเมืองอัมสเตอร์ดัม ก่อนที่จะถูกขายให้กับธนาคารแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ในปี 1957 และในปี 1962 มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมได้ซื้อกรรมสิทธิ์ต่อจากนั้นเป็นต้นมา

 

 


หน้าอาคาร
Maagdenhuis และป้าย “มหาวิทยาลัยแนวใหม่”

การยึดตึก Maagdenhuis ของผู้ร่วมประท้วงในปี 2015 นี้มีนัยยะสำคัญที่ไม่ใช่แค่การยึดศูนย์บริหารงานกลางของมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังเป็นการแสดงสัญลักษณ์ของการประท้วงที่เคยเกิดขึ้นหลายครั้งเมื่อนักศึกษาไม่พอใจต่อการดำเนินการหรือการจัดการของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในปี 1969 ที่อาคารแห่งนี้ถูกยึดไป 5 วัน จากวันที่ 16-21 พฤษภาคม เพื่อเรียกร้องขอเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของมหาวิทยาลัย หรือในปี 1978 ที่มีการประท้วงการแก้กฎหมายโครงสร้างของมหาวิทยาลัย ในปี 1980 ประท้วงต่อการการไม่รับอาจารย์ผู้หญิงสองคนเข้าทำงาน ในปี 1986 ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในส่วนของนักศึกษา และต่อมาซึ่งไม่ปรากฏในรายละเอียดในปี 1990 1993 และ 1996 [8] การยึดตึกในปัจจุบันที่ผู้ประท้วงตั้งชื่อใหม่ว่า “ปรับเปลี่ยน Maagdenhuis” หรือ Maagdenhuis Appropriation สร้างความไม่พอใจกับทางผู้บริหารบางส่วนและประกาศให้ออกจากตัวตึก ถึงกระนั้น นักศึกษาประมาณ 30 คน และส่วนใหญ่อยูในระดับปริญญาตรี ก็ยังไม่ยอมสลายตัว ยังนอนค้างคืน และได้จัดมุมบางส่วนไว้กินอาหารอีกด้วย
 

 


อาหารการกินของผู้ร่วมประท้วง

ในช่วงรอบปีที่ผ่านมา การเข้ายึดพื้นที่อาคารของมหาวิทยาลัยในอาคารอื่นก็เคยเกิดขึ้น และแสดงให้เห็นถึงความไม่พอใจของนักศึกษาและประชาคมของมหาวิทยาลัย เช่น การยึดตึก Spinhuis ในช่วงเดือนกันยายน 2014 ที่อาคารนี้ได้เล่าไปแล้วว่าเป็นที่ทำงานของอาจารย์และพนักงานของภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เพื่อเป็นการต่อต้านการปิดตัวลงของคอมมอนรูมนักศึกษา (common room) ซึ่งอยู่ชั้นล่างสุดของตึก เพราะพวกเขาเห็นว่าคอมมูนรูมเป็นพื้นที่ที่จัดการโดยนักศึกษาเอง เพื่อให้นักศึกษามีพื้นที่พูดคุย จัดกิจกรรมบรรยาย ฉายหนัง และสามารถเข้าถึงอาหารและเครื่องดื่มในราคาที่เป็นกันเอง และที่สำคัญคือเป็นพื้นที่สลายเส้นแบ่งหรือระยะห่างระหว่างอาจารย์และนักศึกษา [9]

 

มหาวิทยาลัย “แนวใหม่” และการคิดใหม่

การประท้วงและยึดตึกดำเนินไปพร้อมกับกลุ่มผุ้เคลื่อนไหวที่เรียกว่า “มหาวิทยาลัยแนวใหม่” (Nieuwe Universiteit) ที่เป็นพื้นที่ให้ต่างมหาวิทยาลัยประชาคมมหาวิทยาลัยร่วมเป็นภาคี โดยมีข้อเสนอหลักทั้งหมด 6 ข้อ 1.การสร้างระบบที่เป็นประชาธิปไตยและการกระจายอำนาจในการจัดการและบริหารมหาวิทยาลัย 2. ยกเลิกการบริการการเงินที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยให้เน้นที่คุณภาพการจัดการไม่ใช่เพื่อเป้าหมายด้านปริมาณ 3. ยกเลิกแนวทางการบริหารทิศทางของมหาวิทยาลัยในปี 2558 อย่างเร่งด่วน 4.ควรจัดทำประชาพิจารณ์ในแผนการบริหารของมหาวิทยาลัย 5. สร้างโอกาสทางอาชีพที่ยั่งยืนให้กับเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย และ 6.ห้ามมิให้มีการเก็งกำไรจากกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เอกชนต่อทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย [10]



การประท้วงของนักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมเพื่อกดดันผู้บริหารมหาวิทยาลัย

ขณะเดียวกันทางกลุ่มภาคี “มหาวิทยาลัยใหม่” ก็จัดกิจกรรมในทางวิชาการไปพร้อมๆกัน โดยเฉพาะการจัดบรรยายทางวิชาการโดยอาจารย์ของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมหรือรับเชิญจากนอกมหาวิทยาลัยมาให้ความรู้และตระหนักว่า “เราประท้วงกันทำไม” ตามหัวข้อที่เป็นข้อเรียกร้องข้างต้น เช่น การบรรยายเรื่อง “ฮอบบิทและการเมือง: อำนาจและการต่อต้านในสังคมของความตื่นตาตื่นใจ” (Hobbits and Politics: Power and Resistance in the Society of the Spectacle) โดยแดน แฮสเลอร์ ฟอร์เรส (Dan Hassler-Forest) อาจารย์ด้านภาษาและวัฒนธรรมอังกฤษ [11] เรื่อง “การจัดการด้านการเงินของอุดมศึกษา (The financialization of higher education) โดยเอวัลด์ เองเกเลน (Ewald Engelen) นักภูมิศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม[12] หรือเชิญเดวิด เกรเบอร์ (David Graeber) นักมานุษยวิทยาและนักเคลื่อนไหวในกระบวนการยึดพื้นที่วอล สตรีท (Occupy Wall Street) ในหัวข้อ “การต่อต้านในห้วงยามของการกลายเป็นระบบอมาตยาธิปไตย” (Resistance in a Time of Total Bureaucratization) [13] นอกจากนี้ ที่น่าสนใจคือการเปิดพื้นที่ให้กับคนชายขอบของสังคมในประเด็นต่างๆ เพื่อให้ก้าวผ่านความไม่เป็นธรรมและการกีดกันด้านเพศสภาวะ ชาติพันธุ์ชายขอบ และชนชั้น ที่เห็นได้ชัดคือการที่พยายามใช้พื้นที่นี้พูดถึงประเด็นเรื่อง “การเหยียดผิว” ที่ยังคงมีอยู่ในสังคมดัตช์ เช่น เวที “ความหลากหลายในมหาวิทยาลัยใหม่”  (Diversity in New University) [14] และอภิปราย“ปัญหากับเชื้อชาติ” (Trouble with Race) ในระบบอุดมศึกษาดัตช์ โดยอมาเดอ เอ็มชาเร็ก (Amade M'charek) นักมานุษยวิทยาที่เปิดสอนวิชา “เผ่าพันธุ์และมานุษวิทยากายภาพ” (Race and Physical Anthropology) และคณะ เป็นต้น



การบรรยายของเดวิด เกรเบอร์ เรื่อง “การต่อต้านในห้วงยามของการกลายเป็นระบบอมาตยาธิปไตย”

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มที่รวมตัวกันในแนวระนาบเรียกว่า “การคิดใหม่” (Rethink UvA) ซึ่งเป็นรวมตัวกันทั้งนักศึกษา พนักงาน และอาจารย์ผู้สอนของมหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัมในการคิดหาแนวทางเพื่อเสนอแนะการปฏิรูปให้สอดคล้องกับทางมหาวิทยาลัยใหม่ ซึ่งทั้งหมด 10 กลุ่มตามหัวข้อและสภาพปัญหาคือ กระบวนการประชาธิปไตย การสร้างความเป็นนานาชาติ (internationalization) การบริหารการเงิน นักวิจัยระดับปริญญาเอก นักศึกษา พนักงานมหาวิทยาลัยชั่วคราว การวิจัย การศึกษาโดยรวม การสร้างเครือข่าย และสื่อ โดยกลุ่มคิดใหม่ทั้ง 10 หัวข้อนี้จะมีการนัดหารือกันและนำความเห็นมานำเสนอร่วมกับกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ประมาณ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นการรวมตัวและสอบถามความเห็นร่วมกันในลักษณะสมัชชาทั่วไป (general assembly)

         
จากการสังเกตการณ์อย่างมีส่วนร่วมของผู้เขียนถึงวันที่ 13 มีนาคม ซึ่งเป็นการนัดชุมนุมใหญ่และขบวนได้เดินไปทั่วใจกลางเมืองอัมสเตอร์ดัม โดยเฉพาะการเดินผ่านเส้นทางที่เป็นอาคารสถานที่ที่เคยเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยและได้ขายให้กับบริษัทเอกชนเพื่อต่อต้านการศึกษาที่มุ่งผลทางกำไรของผู้บริหาร และขบวนได้หยุดที่บริเวณจตุรัสดัม (Dam Square) เพื่อการเป็นส่งสารดังกล่าวให้กับคนทั่วไปให้ตระหนักถึงการครอบงำของลัทธิเสรีนิยมใหม่ในวงการอุดมศึกษา ซึ่งผู้การประท้วงที่เกิดขึ้นนี้จะยังคงมีต่อไป รวมไปถึงการยึดครองตึก และการพูดคุยหารือทั้งในวงย่อยและวงรวมเกิดขึ้นไปพร้อมกันเพื่อให้เกิดกระแสและความเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่อง และกดดันผู้บริหารให้เปิดพื้นที่เจรจาและข้อตกลงให้ได้ในที่สุด ซึ่งทำให้เห็นถึงการต่อสู้สวนกระแสเสรีนิยมใหม่ในมหาวิทยาลัย ที่พอเป็นความหวังอยู่บ้าง ท่ามกลางระบบการศึกษาที่ถูกทำให้กลายเป็นการค้าไปแล้วเกือบทั่วโลก ขณะที่การเดินทางไปสู่เป้าหมายของการสร้าง “มหาวิทยาลัยแนวใหม่” และ กระบวนการ “คิดใหม่” เริ่มจากการทำงานของกลุ่มคนเล็กๆที่ต้องอดทน เพราะแต่ละคนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดชั่วข้ามคืน หากต้องใช้เวลาที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นในทศวรรษหรือช่วงเวลาที่พวกเขาทำงานอยู่ แต่การเข้าร่วมก็คือกระบวนการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
 

 


การอภิปรายปัญหากับเชื้อชาติในอุดมศึกษาของเนแธอร์แลนด์

 

 

อ้างอิง

[1] http://www.advalvas.vu.nl/nieuws/niet-erg-als-kleine-talen-uit-amsterdam-verdwijnen

[2] ดูรายละเอียดในเว็บไซต์ต่อไปนี้ http://humanitiesrally.com/2015/02/19/open-letter-from-academic-staff-against-legal-threats-on-occupiers/; http://www.dutchnews.nl/news/archives/2015/02/police-evict-protesting-students-from-amsterdam-university-building/; http://www.dutchnews.nl/news/archives/2015/02/protesting-students-released-on-wednesday-after-night-in-jail/

[3] http://www.uva.nl/over-de-uva/de-uva-in-amsterdam/stad-als-campus

[4] http://nl.wikipedia.org/wiki/Spinhuis_%28Amsterdam%29

[5] ดู Bal, Ellen; Grassiani, Erella and Kirk, Kate. 2014. “Neoliberal Individualism in Dutch Universities: Teaching and Learning Anthropology in an Insecure Environment ‘. Learning and Teaching 7 (3): 46-72.

[6] อ้างแล้ว

[7] ดูคลิปวีดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=Z6aeXmd6RUk

[8] http://nl.wikipedia.org/wiki/Maagdenhuis_%28Amsterdam%29

[9] http://www.parool.nl/parool/nl/4/AMSTERDAM/article/detail/3743209/2014/09/08/Studenten-kraken-het-Spinhuis-van-de-UvA.dhtml

[10] http://newuni.nl/eisen/

[11] ดูคลิปวีดีโอได้ที่https://www.youtube.com/watch?v=ISiFieoaLMU&list=PLsCu8IpPNoM5eh8BdNeMwJLOCPrXjz7-E&index=20

[12] ดูคลิปวีดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=uxB_zqddMBM&t=542

[13] ดูคลิปวีดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=3ruS17ivinU

[14] ดูคลิปวีดีโอบางส่วนได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=rN3QsBVLxwI, https://www.youtube.com/watch?v=gkzxJBtOW90

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net