Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ผมในฐานะ “ละอ่อน” ในวงวิชาการปกครองท้องถิ่น ซึ่งเฝ้าศึกษาและติดตามประเด็นเกี่ยวกับการปกครองท้องถิ่นมาสักระยะหนึ่งแล้ว มีความเชื่อและศรัทธาการปกครองท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจทางปกครองของรัฐเสรีประชาธิปไตย ผมอยากเห็นการปกครองท้องถิ่นไทยก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ จึงขออนุญาตแสดงความคิดเห็น (-ปัจจุบันการแสดงความคิดเห็นต้องขออนุญาต ถึงจะปลอดภัยนะครับ !) ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญในรัฐที่มุสาว่าเป็นประชาธิปไตย (-โปรดดู รธน. ชั่วคราว 2557 มาตรา ๒  บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ) ดังนี้

ประการแรก: เดิมที รธน. ในอดีตหลายต่อหลายฉบับรับรอง “หลักการปกครองตนเองของท้องถิ่น” ไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นหมวดเอกเทศในชื่อหมวดว่า “หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น” โดยรับรองไว้เป็นครั้งแรกใน รธน. 2517  ซึ่งหลักการในมาตราแรกของหมวดนี้จะบัญญัติรับรอง “หลักความเป็นอิสระขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น” และ “สิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่นในรูปแบบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ” (ใน รธน.2517 ผู้ร่างให้ความสำคัญกับหลักการนี้โดยแยกเป็นอีกมาตราหนึ่ง )

แต่มีข้อสังเกตว่าเมื่อพิจารณาจากคำแถลงข่าวผลการประชุม กมธ. ยกร่าง รธน. ฉบับที่ 41 วันพฤหัสบดีที่ 5กุมภาพันธ์ 2558 และ ฉบับที่ 42 วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558 แล้วพบว่า ชื่อหมวดถูกเปลี่ยนชื่อจาก “หมวดการปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นหมวด “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” และเมื่อตรวจสอบอย่างละเอียดแล้วพบว่าหลักการเพื่อรับรอง “สิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่นในรูปแบบองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ” ที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ ว่า ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิจัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ นั้น ถูกตัดออกไป! ซึ่งในความเห็นของผมถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพราะหลักการดังกล่าวเคยถูกรับรองไว้ในฐานะที่เป็นหลักการในระดับรัฐธรรมนูญ แต่ปรากฏว่าในร่าง รธน. ฉบับนี้ ถูกตัดออกไป นี่ยังมิพักต้องวิเคราะห์เหตุผลของผู้ร่างที่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำจากคำว่า “การปกครองท้องถิ่น” เป็น “การบริหารท้องถิ่น”  ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการ “ลดทอนคุณค่าสิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่น” ลงไปอย่างมาก  การที่ผู้ร่างอ้างเหตุผลที่เปลี่ยนแปลงถ้อยคำ ๆ นี้ว่าเพื่อให้สอดคล้องกับ คำว่า “ผู้บริหารท้องถิ่น” “องค์การบริหารส่วนตำบล” “องค์การบริหารส่วนจังหวัด” ฯลฯ นั้น ด้วยความเคารพผมเห็นว่า “ไม่สมเหตุสมผล” เพราะเท่ากับว่าผู้ร่างมีมุมมองต่อการปกครองท้องถิ่นในฐานะที่เป็น “การบริหารรัฐกิจ” มากกว่า “สิทธิในการปกครองตนเองของท้องถิ่น” ตามหลักการกระจายอำนาจ ซึ่งเป็นมุมมองคนละมิติกัน  นี่ยังไม่รวมถึง “ฝันร้าย” ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับการปกครองท้องถิ่น คือ การปกครองท้องถิ่นอาจจะเปลี่ยนไปเป็น “การบริหาร (จัดการ) ท้องถิ่นโดยรัฐส่วนกลาง” ( เหมือนลักษณะที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในยุคสมัยหนึ่งในชื่อว่า “สุขาภิบาลท่าฉลอม” ที่ผู้คนจำนวนมากสมาทานว่าเป็น “ปฐมบทแห่งการปกครองท้องถิ่น” ! )  ซึ่งในความเห็นของผมแล้วไม่นับว่าเป็นการปกครองท้องถิ่นตามหลักการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง (จะได้กล่าวถึงในโอกาสต่อไป)

ประการที่สอง: ผมได้ทราบข้อเท็จจริงว่าในร่างแรกของหมวด “การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น” ที่เสนอเข้าในการพิจารณาของ กมธ. นั้น ไม่มีบทบัญญัติเพื่อรับรองหลักการที่ว่า “การปกครองท้องถิ่นต้องมีองค์กรมาจากการเลือกตั้ง” เพราะผู้ร่างอ้างว่าหลักการนี้ถูกกำหนดไว้เป็นหลักการกฎหมายระดับพระราชบัญญัติแล้ว (ด้วยความเคารพ ! ผมไม่แน่ใจว่าผู้ร่างหมวดนี้ไม่เข้าใจ หรือแกล้งไม่เข้าใจว่า หลักการที่ถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญกับหลักการที่ถูกรับรองไว้ในฐานะหลักการในระดับพระราชบัญญัตินั้นมี “ค่าบังคับ” ที่แตกต่างกัน)  รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น (ที่ชนชาติอื่นร่างให้) ในหมวด “LOCAL SELF-GOVERNMENT” มาตรา 93 ให้ความสำคัญกับหลักการนี้มาก (หลักการนี้ถือเป็นหัวใจของการปกครองตนเองที่สำคัญประการหนึ่ง) โดยกำหนดว่า “ให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีสภาเพื่อเป็นองค์กรสำหรับประชุมเรื่องต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยหัวหน้าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นร่วมทั้งเจ้าพนักงานอื่น ๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ให้ประชาชนในเขตท้องถิ่นนั้น ๆ เป็นผู้เลือกตั้งโดยตรง”  /กลับมาถึงร่าง รธน. ฉบับนี้ของไทย ในการอภิปรายเรื่องนี้ผมทราบข้อเท็จจริงว่ามีกรรมาธิการคนหนึ่งอภิปรายขอแปรญัตติอย่างแข็งขันคัดค้านหัวชนฝา โดยท่านผู้นี้เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติเพื่อรับรองให้ “ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง” จนเกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยกรรมาธิการผู้ยกร่างให้เหตุผลว่าเหตุที่ไม่กำหนดไว้เช่นนั้นเนื่องจากเกรงว่าจะทำให้หลักการใหม่ที่เสนอให้รัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่า “ให้มีรูปแบบองค์กรบริหารท้องถิ่น ที่หลากหลาย เหมาะสมกับการบริหารจัดการตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่” นั้นจะแคบลง / ด้วยความเคารพในประเด็นนี้ผมไม่เห็นด้วย (อีกแล้ว) !เพราะผมเห็นว่าต่อให้ อปท. จะมีรูปแบบที่หลากหลายเพียงใดก็ตาม หากผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน ก็หาใช่ “การปกครองตนเองของท้องถิ่น” แต่การเป็น “การปกครอง (หรือบริหารท้องถิ่น)” โดยรัฐ หรือโดยก็ไม่รู้ ! เพราะประชาชนไม่ได้เลือกตั้งมากับมือ! เพราะฉะนั้นถ้าจะเรียกว่า “การปกครองตนเองของท้องถิ่น” ก็จะเรียกได้ไม่เต็มปากนัก ท้ายที่สุดเมื่อมีการอภิปรายกันอย่างหนัก จึงปรากฏถ้อคำในร่าง รธน .ว่า “องค์กรบริหารท้องถิ่นต้องมีคณะผู้บริหารท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือ สภาท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้งหรือความเห็นชอบของประชาชนโดยวิธีอื่น”  ขอตั้งข้อสังเกตไว้ ณ ที่นี้ก่อนว่า ต่อจากนี้ไปการปกครองท้องถิ่นอาจได้ (หรือ “การบริหารท้องถิ่น” ตามชื่อที่ กมธ.ร่าง รธน. ชุดนี้เรียก) ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นมาโดย “วิธีอื่น” ซึ่งไม่ใช่การเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วย!  (ติดตามตอนต่อไปครับ J )

 

 

โปรดดู http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/ewt_dl_link.php?nid=303&filename=index2557

http://www.parliament.go.th/ewtcommittee/ewt/draftconstitution/ewt_dl_link.php?nid=305&filename=index2557

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net