Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันสิ้นปีที่ผ่านมา กลุ่มนักศึกษา นักกิจกรรมทางสังคม  ทนายความ  นักธุรกิจ  ญาติผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามทางการเมือง ตลอดจนผู้ที่รักในเสรีภาพ จำนวนหนึ่ง ได้จัดงานนับถอยหลังสู่ปีใหม่ ที่ “ร้านลาภ” บริเวณริมถนนใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อเป็นการให้กำลังใจกันและอวยพรแก่ประชาชนทั่วประเทศในโอกาสส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ โดยให้ชื่องานว่า งาน 'เคาท์ดาวน์ เรารุ่ง 2558' (Coup Down People Rise 2015) ระหว่างนั้นก็มีกิจกรรม “สอยดาวน์”  เพื่อให้เข้ากับชื่อกิจกรรม  “เค้าดาวน์” โดยมีของที่ระลึกต่าง ๆ ที่มีผู้ร่วมบริจาคมาสมทบทุนการจัดงาน และมีงานแสดงเล็กๆ เพื่อความสนุกสนานระหว่างกัน

งานนับถอยหลังปีใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งที่สะท้อนความคาดหวังของฝ่ายประชาชน ที่อยากให้ระบอบเผด็จการผ่านพ้นไปโดยเร็ว และให้บ้านเมืองคืนสู่ประชาธิปไตย แต่ก็ยังมีการตั้งคำถามกันว่า เหตุใดสถานการณ์ของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา จึงได้ถอยหลังและเสื่อมโทรมเช่นนี้ ที่ชัดเจนคือเมื่อวันที่ 4 มกราคม ที่ผ่านมา จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้เสนอการตั้งประเด็นสรุปบทเรียน 6 ข้อดังนี้

1. ทำไม รัฐบาล และประชาชนฝ่ายประชาธิปไตยจึงไม่สามารถป้องกันรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้

2. ทำไม นปช.(แนวร่วมประชาชนต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) และคนเสื้อแดงที่ประกาศและตระเตรียมจะต่อต้านรัฐประหารมา 2 ปี และหลายคนชอบพูดอยากให้เกิดเร็วๆ จะได้จบกันแต่เมื่อเกิดรัฐประหาร ทำไมต่อต้านกันน้อย

3. ทำไมผู้นำรัฐบาล พรรคการเมือง และขบวนการประชาชนส่วนใหญ่ไปรายงานตัว

4 . ทำไมในระยะ 7 เดือนของรัฐประหาร คนเสื้อแดงขยับตัวค่อนข้างน้อย

5. สภาพ คสช.และรัฐบาลเผด็จการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แข็งแกร่งขึ้นหรืออ่อนลง

6. ท่าทีของประชาคมโลกต่อสถานการณ์ในประเทศไทย

ทั้ง 6 ข้อถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก จึงอยากเริ่มต้นอธิบายว่า ถ้าย้อนกลับไปในระยะ 7 เดือนที่ผ่านมา มีประชาชนจำนวนไม่น้อยขัดขืน และไม่ยอมรับรัฐประหารอย่างชัดเจน มีการนัดชุมนุมต่อต้านและเผชิญหน้าฝ่ายทหารจนถูกจับกุมควบคุมตัวดำเนินคดีก็หลายคน และต่อมานักศึกษากลายเป็นพลังสำคัญในการสร้างสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการ หรือถ้าพิจารณาโดยภาพรวม ต้องถือว่ารัฐประหารครั้งนี้ ถูกต่อต้านมากที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย และการที่ คสช.ยังคงไม่ยอมเลิกกฎอัยการศึก ก็เพราะความวิตกถึงพลังของฝ่ายประชาชนที่จะต้านรัฐประหารนั่นเอง

แต่กลับกลายเป็นว่าองค์กรที่แสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารน้อยที่สุด คือ พรรคเพื่อไทย เพราะนอกเหนือจาก จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตสมาชิกจำนวนหนึ่งที่ไปตั้งหลักต่อสู้อยู่ต่างประเทศแล้ว จะไม่เห็นเลยว่า พรรคเพื่อไทยเข้าร่วมในขบวนการต่อต้านรัฐประหารอย่างไร แม้กระทั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อยู่ต่างประเทศ และมีอิสระในการเคลื่อนไหว ก็ไม่เคยแสดงท่าทีต่อต้านรัฐประหารเลย

ที่น่าสนใจ คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กรรมการพรรคเพื่อไทยได้อธิบายไว้ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2557 ว่า กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) หรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้ประโยชน์จากการรัฐประหารเลย ผู้ที่ได้กำไรจากการรัฐประหาร คือฝ่ายพรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะรัฐประหารช่วยแก้ปัญหาการเมืองให้พรรคเพื่อไทยหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกำลังเคลื่อนไหวจนกระทบกระทั่งกับรัฐบาลเอง และปัญหาความวุ่นวายหลายอย่างในปลายรัฐบาล ที่ทำอะไรลำบาก ร.ต.อ.เฉลิมยังเสนอด้วยว่า พรรคเพื่อไทยไม่ต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ รอรัฐธรรมนูญใหม่และกระบวนการเลือกตั้ง เมื่อประเทศคืนสู่ภาวะปกติ พรรคเพื่อไทยยังจะชนะเลือกตั้งได้กลับมาเป็นรัฐบาลเหมือนเดิม

ด้วยท่าทีและวิธีการมองเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าวิธีการต่อสู้ของพรรคเพื่อไทย ไม่ค่อยสอดคล้องกับขบวนการต้านรัฐประหาร ทั้งที่พรรคเพื่อไทยจะเป็นกลุ่มการเมืองที่ฉวยประโยชน์มากที่สุดจากการล่มสลายของเผด็จการ

สำหรับ นปช. ในระยะ 5 ปีที่ผ่านมา มีข้ออ่อนสำคัญ คือ การสรุปบทเรียนความผิดพลาดเพื่อแก้ไขในเชิงยุทธวิธีมีน้อยมาก วิธีการต่อสู้จึงตายตัวและกลายเป็นจุดอ่อนให้ฝ่าย คสช.สามารถควบคุมได้อย่างง่ายดาย แต่ปัญหาสำคัญยังมาจากเรื่องในทางยุทธศาสตร์ที่จะต้องอ้างอิงการต่อสู้แบบสันติในกรอบของกฎหมาย ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดอันจำเป็น เพราะ นปช.ย่อมไม่อาจประกาศใช้วิธีการต่อสู้ด้วยการใช้ความรุนแรงหรือติดอาวุธได้ การที่นักปราศรัยของ นปช.ประกาศว่าจะต่อต้านรัฐประหารอยู่เสมอ แต่เมื่อรัฐประหารเกิดขึ้นแล้วไม่มีพลังในการต่อต้าน สะท้อนให้เห็นว่า นปช.ขาดการตระเตรียมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่มีมาตรการดำเนินการอันชัดเจนพอ หรือจำนนด้วยรูปแบบการต่อสู้ไม่สามารถคิดหาวิธีการในการต่อสู้ที่บรรลุผลได้

ปัญหาเรื่องการไม่มีขบวนการที่นำต่อสู้ และไม่มีรูปแบบการต่อสู้ที่เหมาะสมนี่เอง ที่เป็นประเด็นสำคัญทำให้การป้องกันรัฐประหารไม่บรรลุผล และทำให้ประชาชนคนเสื้อแดงมีการเคลื่อนไหวต่อต้านเผด็จการน้อยกว่าที่เคยคาดหมาย ทั้งที่ประชาชนคนเสื้อแดงทั้งหมดไม่ยอมรับการรัฐประหาร แต่ไม่รู้ว่าจะสู้อย่างไรจึงจะมีประสิทธิผล การต่อสู้โดยเอาชีวิตไปแลกกับกระสุนปืนของฝ่ายทหารย่อมเป็นวิธีการอันไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ ก็คือ ความได้เปรียบของฝ่าย คสช.ที่มีกลไกรัฐ และได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นนำ และชนชั้นกลางฝ่ายสลิ่มจำนวนมาก ความสำเร็จที่เป็นจริงของ คสช. คือ การใช้กลไก ทหาร ตำรวจ และศาลทหาร ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่สิ่งที่ คสช.เสียเปรียบและเป็นปัญหาสำคัญของ คสช. มาตั้งแต่ต้นคือเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง เพราะวิธีการรัฐประหารคือวิธีการอันล้าหลัง และไม่ได้รับการยอมรับจากโลกนานาชาติ ทำให้การคว่ำบาตรจากโลกนานาชาติก็ยังกลายเป็นปัญหาสำคัญที่ชนชั้นนำไทยแก้ไขไม่ได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ ความหมายของงาน “เค้าดาวน์ เรารุ่ง” ก็คือการชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของฝ่ายชนชั้นนำอนุรักษ์นิยมที่ใช้มาตรการถอยหลัง พยายามหยุดยั้งเวลาให้ย้อนไปสู่ยุคก่อนประชาธิปไตย จะเป็นไปได้ก็เพียงชั่วครั้งคราว แต่ในที่สุดก็จะต้อง “ดาวน์” คือ ล่มสลายลง เพราะอนาคตอยู่ในมือของประชาชน ประชาธิปไตยในสังคมไทยจะต้อง “รุ่ง” นี่เป็นกฎแห่งการพัฒนาสังคม และเป็นกฎของกาลเวลาที่ไม่อาจหยุดยั้งได้

บทความนี้จึงขอจบด้วยโคลงกระทู้ “เค้าดาวน์ เรารุ่ง” ดังนี้

 

เค้า ลางปรากฏชัด                               ถนัดตา

ดาวน์   หล่นจากเวหา                          เคลื่อนแล้ว

เรา   พี่น้องผองประชา                          ร้องเล่น

รุ่ง   อรุณปีใหม่แพร้ว                            เพริศพริ้งอิสรา

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน โลกวันนี้วันสุข ฉบับที่ 497 วันที่ 10 มกราคม 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net