Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ในท่ามกลางบริวารซึ่งต่างก็ยกย่องตนเองว่าเชี่ยวชาญเศรษฐศาสตร์นักหนาไม่น่าเชื่อเลยว่าหัวหน้าคณะคสช.จะออกมาเสนอทางแก้ปัญหาค่าครองชีพด้วยวิธีที่ไม่ต่างจากผู้ปกครองไทยเกือบทุกคนนับตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นต้นมา

ประกอบด้วย

1.ขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้เอากำไรน้อยลงเห็นแก่คนมีรายได้น้อยหากลดราคาสินค้าลงได้ก็ทำให้ขายได้ปริมาณสูงขึ้น ชดเชยกำไรที่ขาดหายไป

2.รัฐจะเข้าไปแทรกแซงราคา โดยเฉพาะราคาค่าขนส่ง ให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสม

3.แทรกแซงราคาอีกเหมือนกันนับตั้งแต่ผู้ผลิตต้นทาง ศึกษาต้นทุนให้ละเอียดเพื่อจะดูราคาขายส่ง ศึกษาค่าใช้จ่ายด้านบริการของผู้ค้าปลีกระดับต่างๆ ลงไป เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ในระหว่างนี้จะยืดมาตรการตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคต่อไปก่อน

4.ลดค่าครองชีพด้วยการตั้งแหล่งจำหน่ายสินค้าราคาถูกเช่นร้านอาหาร"หนูณิชย์พาชิม" ศูนย์จำหน่ายสินค้าเกษตรจากผู้ผลิตโดยตรง

ในฐานะที่ทั้งผมและหัวหน้า คสช.มีอะไรเหมือนกันอยู่อย่างหนึ่ง คือไม่เคยขายของอะไรให้ใครได้สักบาทเดียวตลอดชีวิต เลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตลอดมา จึงคิดว่าท่านหัวหน้าก็น่าจะนึกเอะใจเหมือนผมว่า มาตรการทั้งหมดเหล่านี้ถูกใช้โดยรัฐบาลไทยมาตั้งแต่เป็นเด็ก หากประสบความสำเร็จ ก็ไม่น่าจะต้องทำซ้ำแล้วซ้ำอีกทุกครั้งที่มีเสียงบ่นเรื่องค่าครองชีพ

ที่น่าประหลาดขึ้นไปอีกก็คือมาตรการทั้งหมดเหล่านี้ล้วนถูกนักเศรษฐศาสตร์ซึ่งกระเหี้ยนกระหือรือในการล้มประชาธิปไตยต่างโจมตีว่าไม่ได้ผลซ้ำบางมาตรการยังเป็นผลร้ายต่อตลาดเสรี ซึ่งจะนำไปสู่ความจำเริญทางเศรษฐกิจด้วย

อย่างที่ผมเคยพูดในที่อื่นมาแล้วว่า ผู้นำการเมืองไทย ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร ต่างก็คิดอะไรไม่พ้นจากหมู่บ้านเสียที ผู้ประกอบการที่ไหนหรือครับที่จะเอากำไรน้อยลงเพราะคำขอร้อง ไม่ใช่เพราะผู้ประกอบการย่อมเป็นคนหน้าเลือดเสมอนะครับ แต่ในโลกปัจจุบันซึ่งผู้ประกอบการขนาดใหญ่ทั้งหลายย่อมนำกิจการของตนเข้าตลาดหลักทรัพย์หมดแล้ว ดังนั้นภาระหน้าที่หลักของเขาคือรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ผู้บริโภค หากเขาสามารถทำกำไรได้สูงขึ้น เขาย่อมทำอย่างแน่นอน เพื่อทำให้จ่ายเงินปันผลได้สูงขึ้น ซึ่งย่อมดันให้ราคาหุ้นสูงขึ้นตามไปด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน จะเอากำไรอย่างไม่บันยะบันยังไม่ได้ เพราะในตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม ราคาที่สูงเกินไปย่อมทำให้สินค้าขายไม่ได้เพราะคู่แข่งไม่ยอมขึ้นตาม คนขายของแพงจึงเสียสัดส่วนการตลาดไปอย่างรวดเร็ว เศรษฐศาสตร์กระแสหลักเชื่อว่า ตลาดที่เสรีและเป็นธรรมจะเป็นตัวกำหนดราคาที่เป็นธรรมเอง

ส่วนคำแนะนำให้ขายของถูกเพื่อจะขายได้มากๆนั้นพ่อค้าทำมานานแล้วล่ะครับและต่างก็ประสบความสำเร็จในการขายได้มากๆ ทุกเจ้า แต่ก็สุดตัวอยู่แค่นั้น เช่น บะหมี่สำเร็จรูปนั้น ตัดโน่นตัดนี่รวมทั้งปริมาณออกไป จนไม่รู้จะตัดอะไรต่อไปอีกได้แล้ว จึงสามารถขายได้ในราคาที่ขายกันอยู่ทุกวันนี้ และเป็นอาหารคนจนที่บริโภคกันแพร่หลายมาก เพราะต้องยอมรับว่าถูกที่สุดเท่าที่จะนับได้ว่าเป็นอาหาร

และที่พ่อค้าทำมานานก็เพราะมันเป็นหญ้าปากคอกที่มองเห็นได้ง่ายๆถึงมองไม่ออกทันทีก็ต้องมองออกเพราะการแข่งขันในตลาด

การแทรกแซงราคานั้นเป็นบาปมหันต์ทางเศรษฐศาสตร์กระแสที่ล้อมรอบตัวท่านหัวหน้าคสช.ทีเดียวแต่การแทรกแซงตลาดเป็นเรื่องที่เถียงกันได้ท่านต้องชัดแก่ตนเองว่าจะแทรกแซงราคาหรือแทรกแซงตลาดกันแน่

รัฐบาลไทยใช้วิธีแทรกแซงราคาตลอดมาแต่ต้องเป็นพวกสินค้าอุปโภคบริโภคนะครับอย่าได้ไปแทรกแซงราคาข้าวอย่างจริงจังอย่างรัฐบาลก่อนเพราะบรรดานักเศรษฐศาสตร์ผู้รังเกียจประชาธิปไตยจะช่วยกับอันธพาลทุกกลุ่มในการล้มรัฐบาล สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เคยคุมแม้แต่ราคาโอเลี้ยง ราคาอาหารจานด่วน เช่น ข้าวแกงและก๋วยเตี๋ยว ก็ถูกรัฐบาลหลายชุดคุมราคามาแล้ว น้ำตาล, น้ำปลา, น้ำมันพืช, กระดาษชำระ ฯลฯ จิปาถะ กลายเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์หลายต่อหลายรัฐบาลต้องทำเป็นงานหลัก คือตรึงราคาไว้ และในที่สุดก็ต้องขึ้นราคาไปตามต้นทุนการผลิตซึ่งคุมไม่อยู่ และค่าครองชีพก็สูงขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

อันที่จริงเงินเฟ้อ (ในระดับที่พอรับได้) กับการเติบโตของรายได้ประชาชาติ เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน หากคนมีเงินซื้อมากขึ้น ก็ย่อมต้องแย่งกันซื้อเป็นธรรมดา แต่เงินเฟ้อประเภทนี้ไม่คงทน เพราะในไม่ช้า ผู้ผลิตย่อมเร่งผลิตเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้คนอื่นมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของตน

รู้กันในเมืองไทยมานานแล้วอย่างที่คุณคึกฤทธิ์ ปราโมช เคยกล่าวว่า วิธีเผชิญกับค่าครองชีพสูงที่ดีที่สุดคือ ทำให้รายได้ของ ประชาชนเพิ่มขึ้น แต่นี่กลับเป็นส่วนที่ท่านหัวหน้า คสช.ไม่ค่อยได้พูดถึงเลย

มาตรการที่น่าจะได้ผลมากกว่าคือแทรกแซงตลาด รัฐบาลก่อน 2500 เคยแทรกแซงตลาดอย่างไม่สู้จะสุจริตนัก คือรัฐเข้ามาประกอบการเสียเอง เช่นตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นเป็นผู้ผลิตหรือรวบรวมสินค้า ในขณะที่บางรัฐวิสาหกิจผูกขาดหรือพยายามจะผูกขาดการขนส่งสินค้า และการขายปลีก หลัง 2490 ให้ตำรวจ, ทหาร และนักการเมืองซึ่งทำรัฐประหารเข้าไปคุมรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ ผลคือขาดทุนยับเยินแทบจะทุกรัฐวิสาหกิจเลย เพราะต่างตั้งตัวเป็นเสือนอนกินมากกว่าผลิตจริง ขายสินค้าหรือบริการจริง

แต่การแทรกแซงตลาดอีกชนิดหนึ่งซึ่งน่าจะช่วยลดค่าครองชีพได้ รัฐบาลไทยกลับไม่ทำ นั่นคือแทรกแซงให้ตลาดเสรีจริงและเป็นธรรมจริง

แม้ว่าในปัจจุบันเรามีกฎหมายห้ามผูกขาดและการมีอำนาจเหนือตลาดแต่รัฐบาลทุกชุดไม่เคยบังคับใช้อย่างจริงจังการมีอำนาจเหนือตลาดและการผูกขาดในทางปฏิบัติเกิดขึ้นในการประกอบการของไทยโดยเฉพาะที่ใหญ่ๆ ตลอดมา นับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น จ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ หรือสังกัดในเครือข่ายของคนมีสี เพื่อเปิดสถานบันเทิงเกินเวลาได้ ทำให้คู่แข่งที่ปิดตามเวลาไม่สามารถแข่งขันได้ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น ส่วยทางหลวงซึ่งทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้นโดยไม่จำเป็น รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตสาธารณูปโภคไม่ยอมกระจายการผลิตให้เอกชนที่ไม่ได้อยู่ในเครือข่ายผลประโยชน์ของตนเอง ฉะนั้นสินบนและค่าใช้จ่ายในการสังกัดอยู่ในเครือข่ายของคนใหญ่คนโต (ไม่ใช่นักการเมืองอย่างเดียว แต่รวมข้าราชการประจำ ทั้งพลเรือนและทหาร ตลอดจนถึงกลุ่มคนมีอำนาจอื่นๆ ด้วย) จึงเป็นต้นทุนการผลิตก้อนใหญ่ ที่ทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ฯลฯ

แทนที่จะเข้าไปแทรกแซงราคา การทำให้ตลาดเสรีพอจะแข่งกันจริงและมีความเป็นธรรมย่อมช่วยลดค่าครองชีพได้อย่างเป็นผลกว่ากันมาก แต่แน่นอนว่าทำได้ไม่ง่าย เพราะจะขัดใจกับพรรคพวกของตนเอง หรือคนที่สนับสนุนการรัฐประหารจำนวนมากทีเดียว แต่หากทำได้สำเร็จ ก็จะมีผลมากกว่าลดค่าครองชีพด้วย เพราะจะบังคับให้ผู้ประกอบการไทยพยายามสร้างความสามารถในการแข่งขัน มากกว่าพยายามสร้างเส้นสาย

เรื่องที่ต้องเชื่ออำนาจของตลาดก็ต้องเชื่อ แต่เรื่องที่ตลาดคุยโวว่าสามารถกำกับควบคุมตัวเองได้หมดนั้น อย่าไปเชื่อ ถึงอย่างไรรัฐก็ยังมีความจำเป็นในการควบคุมให้ตลาดมีความเสรีและเป็นธรรมอยู่นั่นเอง (ไม่ใช่เป็นธรรมระหว่างคู่แข่งทางธุรกิจอย่างเดียว ต้องรวมถึงความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค, ประชาชนทั่วไปและแรงงานด้วย)

หาก คสช.คิดว่าตัวแตกต่างจากรัฐบาลไทยชุดอื่นๆ ที่ผ่านมา ต้องคิดถึงเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาทำไปแล้วและล้มเหลวไปแล้วด้วย

ส่วนการตั้งแหล่งขายสินค้าราคาถูกนั้นบอกได้เลยว่ารัฐไม่มีกำลังจะทำได้หรอกครับธงฟ้าไม่เคยลดค่าครองชีพได้จริงสักรัฐบาลเดียวเพราะปริมาณของสินค้าที่ผ่านธงฟ้านั้นน้อยเสียจนไม่เกิดผลอะไร จะเห็นได้ว่าไม่มีผู้ประกอบการรายใดลดราคาสินค้าที่ธงฟ้าขายสักรายเดียว คุณประโยชน์ของธงฟ้าอยู่ที่การเมืองครับ ไม่ใช่ค่าครองชีพ คือบอกให้ประชาชนรู้ผ่านทีวีว่า รัฐบาลได้พยายามลดค่าครองชีพแล้ว พอจะลดแรงกดดันของประชาชนลงได้บ้าง

สิ่งที่ควรแปลกใจกลับไม่น่าแปลกใจนักก็คือ อำนาจที่มาจากการรัฐประหารไม่อาจทำให้รัฐบาลทำอะไรเพื่อลดค่าครองชีพได้มากไปกว่า หรือแตกต่างจากรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารทำสักอย่างเดียว เอาเข้าจริงรัฐบาลจากการรัฐประหารไม่เคยแตกต่างจากรัฐบาลจากการเลือกตั้งสักรัฐบาลเดียว นอกจากบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเท่านั้น

ผมได้ยินเสมอว่า เพราะเป็นรัฐบาลจากคณะรัฐประหาร จึงสามารถทำอะไรดีๆ ได้มากกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งย่อมเกรงจะเป็นปฏิปักษ์กับฐานเสียงของตนเอง จึงเลือกที่จะไม่ทำเสียเลยดีกว่า

ในชีวิตที่ผ่านการรัฐประหารมา 11 ครั้งแล้วของผม ทำให้รู้แน่ว่านั่นเป็นความไร้เดียงสาเท่านั้น เพราะไปเข้าใจผิดว่ารัฐประหารเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของกองทัพเพียงอย่างเดียว ไม่มีหรอกครับ กองทัพเพียงอย่างเดียวที่ปราศจากเครือข่ายที่สลับซับซ้อนนอกกองทัพอีกมากมาย จะสามารถยึดอำนาจบ้านเมืองได้ด้วยอาวุธล้วนๆ (และเครือข่ายอันสลับซับซ้อนนี้แหละครับที่เรียกว่า "ฐานเสียง")

กองทัพก็เหมือนกับพรรคการเมืองนั่นแหละ จะต่างก็ตรงที่มีอาวุธเท่านั้น พรรคการเมืองไหนๆ ก็มีเครือข่ายนอกพรรคทั้งสิ้น ซ้ำเป็นเครือข่ายที่เกาะเข้าหากันเพื่อผลประโยชน์ด้วย ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรที่จะดึงคนเข้ามาร่วมด้วยได้ คิดหรือว่ากองทัพมีอุดมการณ์อะไรที่สามารถดึงคนเข้ามาร่วมได้ ด้วยความเชื่อว่าอุดมการณ์นั้นๆ จะเปลี่ยนสังคมและชีวิตของตัวเขาเองไปสู่หนทางที่งดงามและมีพลังได้ กองทัพหรือพรรคการเมือง เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้วย่อมต้องดำเนินการเพื่อผลประโยชน์ของเครือข่ายของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ด้วยเหตุดังนั้นผมจึงไม่ได้มีความหวังอะไรกับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารของกองทัพอย่างเดียวกับที่ไม่คาดหวังอะไรมากนักกับรัฐบาลของพรรคการเมืองสิ่งเดียวที่เป็นความหวังได้จริงจังกว่าคือการเคลื่อนไหวของประชาชน ในการผลักดันนโยบายสาธารณะด้วยรูปแบบต่างๆ แต่ภายใต้อำนาจรัฐประหาร การเคลื่อนไหวเหล่านั้นกลับถูกมองข้ามหรือปราบปรามอย่างรุนแรง เช่น การต่อต้านเหมืองทอง หากทำได้สำเร็จก็จะเป็นผลให้ต้องทบทวนการทำเหมืองกันใหม่ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายได้จริง แต่ประชาชนที่เคลื่อนไหวคัดค้านการทำเหมืองทองกลับเคลื่อนไหวไม่ได้ภายใต้รัฐบาลจากการรัฐประหาร

ในที่สุดก็จะเกิดมาตรการแบบเดียวกับที่ทำกับค่าครองชีพออกมาและก็จะได้ผลเหมือนกันคือไม่ได้อะไรนอกจากเป็นสัญญาณว่ารัฐไม่ได้นิ่งดูดายกับผลกระทบของการทำเหมือง
 

 

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนรายวัน 6 ตุลาคม 2557
ที่มา: มติชนออนไลน์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net