Skip to main content
sharethis

หลังจาก 9 ปีของการยุติความรุนแรงและการสถาปนาเขตปกครองพิเศษของอาเจะห์ในปี 2548 ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เดินทางไปท่องแดนสันติภาพแห่งนี้และเล่าสู่กันฟังว่าวันนี้อาเจะห์มีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าที่เคยเป็นดินแดนของความขัดแย้ง ดินแดนของการต่อสู้ที่มีภูมิหลังเป็นความขัดแย้งทางการเมือง การเรียกร้องเพื่อแบ่งแยกดินแดนเพื่อเป็นเอกราชจากการปกครองของอินโดนีเซียโดยมีกลุ่มติดอาวุธคือขบวนการอาเจะห์เสรี (Gerakan Aceh Merdeka; GAM) ต่อสู้กับรัฐบาลมาตั้งแต่ปี 2519

การท่องแดนอาเจะห์ครั้งนี้ ฐปณีย์ได้ฉายภาพให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของอาเจะห์หลังมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองโดยการจัดตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษหลังการเจรจาสันติภาพ มีระบอบการปกครองตนเอง มีพรรคการเมืองท้องถิ่น มีการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรงของชาวอาเจะห์โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายอิสลามหรือกฎหมายชารีอะห์ในอาเจะห์ที่เป็นที่สนใจของคนไทยเพราะเกี่ยวเนื่องกับข้อเรียกร้องของขบวนการต่อต้านรัฐไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ทั้งนี้ในการจัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง “การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ : ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (International Conference on Communication, Conflicts and Peace Processes: Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP ในวันที่ 21-22 สิงหาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะเป็นเวทีหนึ่งที่จะสะท้อนภาพอนาคตจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด จะเป็นเหมือนอาเจะห์ที่ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้ไปเห็นมาหรือไม่

อาเจะห์ที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อน

 

 

ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กล่าวถึงการเดินทางไปอาเจะห์และพบว่าอาเจะห์พัฒนาไปในทิศทางที่คนไทยไม่เคยเห็นมาก่อนคือ อาเจะห์พยายามพัฒนาเมืองสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยวโดยการเปิดอนุสรณ์สถานสึนามิที่มีเรือบนหลังคาหรือที่รู้จักกันในชื่อ Boat on the roof ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ดีมาก นอกจากนี้ได้มีการเตรียมการเพื่อเปิดสายการบินพานิชระหว่างกระบี่ ภูเก็ต สู่เกาะซาบังซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังที่มีชื่อเสียงของอาเจะห์เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวยุโรปซึ่งสามารถเดินทางมาที่นี่ได้ในเวลาเพียง 45 นาทีเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรมที่เห็นได้ชัดเจนอีกประการหนึ่งคือ จะเห็นว่าผู้หญิงอาเจะห์ปัจจุบันพัฒนาตามแฟชั่นมากขึ้น จะเห็นผู้หญิงใส่กางเกงแบบสมัยใหม่แต่ยังเคร่งครัดในเรื่องการคลุมผมตามแบบมุสลิมเช่นเดิม ซึ่งแม้ว่าอาเจะห์หลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเขตปกครองพิเศษแล้วจะมีการประกาศใช้กฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัด แต่จากการพูดคุยกับหัวหน้าสำนักงานกฎหมายชารีอะห์ของอาเจะห์ซึ่งเล่าให้ฟังว่ากฎหมายอิสลามจะบังคับใช้กับคนที่นับถือศาสนาอิสลามเท่านั้น ซึ่งจะไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติหรือคนอาเจะห์ที่นับถือศาสนาอื่นๆ เพราะที่นี่มีทั้งคนจีนและคนที่นับถือศาสนาคริสต์

คนอาเจะห์มีความสุขกับการเป็นเขตปกครองพิเศษ

ฐปณีย์บอกว่าปัจจุบันเห็นคนอาเจะห์มีความสุขมากขึ้น เห็นได้ว่าคนที่นี่พอใจกับการเป็นเขตปกครองพิเศษหรือ Special Autonomy ที่เกิดขึ้นหลังการเจรจาสันติภาพแม้ว่าขณะนี้จะอยู่ในขั้นตอนเฟสแรกของข้อตกลงเฮลซิงกิซึ่งมี 6 ข้อที่แม้ว่าจะยังไม่ได้ทำตามข้อตกลงทั้งหมด แต่ซาเรีย ซามาน อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของ GAM ผู้ซึ่งเคยเป็นผู้นำกองกำลังต่อต้านรัฐบาลที่ปัจจุบันมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาลท้องถิ่นกล่าวว่าตอนนี้คนอาเจะห์เริ่มเปลี่ยน เพราะมีความสุขมากขึ้น เศรษฐกิจดีขึ้น ปัญหาด้านการศึกษา ปัญหาด้านสุขภาพได้รับการแก้ไข สภาพสังคมมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีหลังการสู้รบ และเป็นการเปิดโอกาสให้คนที่เคยอยู่ในขบวนการต่อต้านรัฐบาลกลับมาใช้ชีวิตปกติ

ซาเรีย ซามาน สะท้อนว่า 9 ปี ผ่านไปคนอาเจะห์มีความสุขและพอใจกับรูปแบบการปกครองพิเศษที่มีการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง คนอาเจะห์สามารถมีพรรคการเมืองท้องถิ่นของตัวเองและทุกคนสามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่อาเจะห์ได้ประกาศใช้กฎหมายชารีอะห์ซึ่งเป็นสิ่งที่คนอาเจะห์เรียกร้องมาตลอด

ในด้านการบริหารนั้นแม้ว่าเขตปกครองพิเศษยังอยู่ใต้รัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ได้มีข้อตกลงในรายละเอียดที่คนอาเจะห์พอใจเช่น สามารถจัดตั้งพรรคการเมืองของคนท้องถิ่นในการแข่งขันในกระบวนการเลอกตั้ง หรือในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ใช้คณะกรรมการการเลือกตั้งอิสระเฉพาะของเขตปกครองพิเศษอาเจะห์ ไม่ได้ใช้ กกต.กลางของอินโดนีเซียเป็นต้น

การเมืองใหม่และการตรวจสอบจากประชาชน

ในอีกด้านหนึ่ง คณะบริหารที่มีอำนาจปกครองอาเจะห์ปัจจุบันต่างเป็นอดีตกองกำลังของ GAM ที่เคยต่อสู้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย แต่ได้สลัดภาพนักต่อสู่มาเป็นผู้บริหารรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งการเข้าสู่อำนาจโดยผ่านการเลือกตั้งทำให้คณะผู้บริหารต้องถูกตรวจสอบ โดยขณะนี้ประชาชนมีการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น รวมทั้งองค์กรประชาสังคมในอาเจะห์มีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลท้องถิ่นในเรื่องความโปร่งใสในด้านต่างๆ และคนอาเจะห์มองว่าควรจะมีการผลัดเปลี่ยนกันบ้าง เนื่องจากผู้ว่าที่มาจากการเลือกตั้ง 2 คนแรกล้วนเป็นอดีตผู้นำกองกำลังของ GAM จึงมีกระแสว่าการเลือกตั้งผู้ว่าการครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในปี 2017 น่าจะมีการผลัดเปลี่ยนเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่อดีตผู้นำกองกำลังบ้าง

ฐปณีย์สะท้อนทัศนะจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่อยู่ในคณะผู้บริหารอาเจะห์ปัจจุบันว่า รูปแบบการปกครองพิเศษที่อาเจะห์เป็นอยู่ในวันนี้แม้ว่ายังอยู่ในระหว่างพัฒนาการของการบริหารการปกครอง แต่ถือได้ว่าได้ตอบโจทก์ความต้องการของคนอาเจะห์ระดับหนึ่งที่ได้ต่อสู่มาเป็นเวลายาวนาน เพราะดูเหมือนประชาชนชาวอาเจะห์มีความสุขในการใช้ชีวิตและสามารถดำรงอัตตลักษณ์ของตัวเองได้ ซึ่งหากพัฒนาการด้านการเมืองการปกครองเป็นไปตามที่ได้ระบุในข้อตกลงตามสัญญาสันติภาพที่มีอยู่เชื่อว่าโอกาสที่จะเกิดการจับอาวุธต่อต้านรัฐบาลหรือการเรียกร้องเอกราชในอีก 10-20 ปีข้างหน้าเป็นไปได้ยากแล้ว

พร้อมเป็นคนกลางดับไฟใต้

ในการเดินทางครั้งนี้ ฐปณีย์ เอียดศรีไชย มีโอกาสพูดคุยกับบุคคลระดับสูงในรัฐบาลท้องถิ่นของอาเจะห์และเป็นอดีตผู้นำกองกำลังของ GAM ที่บอกว่าอาเจะห์มีความพร้อมที่จะประสานงานเพื่อเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือ Facilitator การเจรจาสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยทั้งนี้เนื่องจากพวกเขาเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีมาก่อนกับกลุ่มขบวนการต่อต้านรัฐไทยทุกกลุ่มทั้งในระหว่างการต่อสู้ต่อต้านรัฐบาลในอดีตหรือระหว่างร่วมลี้ภัยในต่างประเทศในทวีปยุโรป

ในอีกด้านหนึ่งคณะผู้บริหารอาเจะห์กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์อันดีและใกล้ชิดกับนายยูซุฟ คัลลาร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นรองประธานาธิบดีอินโดนีเซียและเป็นผู้ที่เคยมีบทบาทสำคัญในกระบวนการเจรจาสันติภาพในอาเจะห์และกล่าวว่ารัฐบาลอินโดนีเซียพร้อมให้การสนับสนุนในการเป็นตัวกลางเพื่อการแก้ปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net