Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

<--break- />

 

อันเนื่องมาจากกรณีการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.กริชสุดา คุณะเสน ที่บอกเล่าว่าเธอถูกทรมานในระหว่างที่ถูกคุมตัวในค่ายทหาร ซึ่งทางโฆษกกองทัพบกและคสช. พ.อ.วินธัย สุวารี ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่น่าจะเป็นความจริง อย่างไรก็ดี ข้อมูลวิธีการทรมานจากปากคำของกริชสุดานั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นถูกมัดมือ ถูกปิดตาด้วยผ้าและเทปพันทับตลอดเวลาเจ็ดวัน ถูกตบ-เตะ มีถุงคลุมศรีษะไม่ให้มีอากาศหายใจจนหมดสติ ถูกล่วงละเมิดทางเพศด้วยการมีผู้เปลื้องผ้าอาบน้ำให้ ถอดกางเกงให้หากต้องการขับถ่าย ถูกบังคับให้พูดในสิ่งที่ผู้ทรมานอยากฟัง ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ผู้เขียนนึกถึงงานเขียนว่าด้วยเป้าหมายของวิธีการทรมานที่เจ้าหน้าที่รัฐหลายประเทศกระทำกับเหยื่อ

***********

การทรมาน (Torture) เป็นวิธีการที่มนุษยใช้กันมาแต่โบราณ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคของเหตุผล  การทรมานก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งป่าเถื่อน  ผิดกฎหมาย  ไร้ศีลธรรม และขัดต่อหลักการสิทธิมนุษยชน แต่กระนั้น การทรมานก็ยังดำเนินต่อไปในหลายประเทศทั่วโลก และบ่อยครั้งเมื่อถูกเปิดโปง มักถูกอธิบายด้วยข้ออ้างว่าเป็นการทำเพื่อประชาธิปไตย เสรีภาพ และความมั่นคง

ในสังคมไทย  กรณีผู้ต้องขังถูกเจ้าหน้าที่ของรัฐทำร้ายร่างกายเกิดขึ้นอยู่เสมอ โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนในสังคมนี้มากนัก สื่อมวลชนจะให้ความสนใจก็เฉพาะกรณีที่เหยื่อเป็นบุคคลสำคัญ เช่น กรณีผู้นำศาสนาอิสลามในภาคใต้ถูกทำร้ายร่างกายจนเสียชีวิต แต่เรื่องราวส่วนใหญ่ก็มักเงียบหายไป ไม่เคยนำไปสู่ความตระหนักถึงภัยคุกคามต่อสิทธิของประชาชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

การทรมานกับประชาธิปไตย

วิธีการทรมานที่เจ้าหน้าที่รัฐทั่วโลกนิยมใช้กัน รวมทั้งทหารอเมริกันที่กระทำกับผู้ต้องขังในคุกเอบูเกรอิบ และค่ายกวนตานาโม คือ ทำให้ขาดอากาศหายใจชั่วขณะ เช่น กดหัวให้จมน้ำซ้ำหลาย ๆ ครั้ง  (water boarding) (กรณีกริชสุดา เอาถุงพลาสติคคลุม), บังคับให้อดนอน, ขังไว้ในห้องที่เย็นจัดในสภาพเปลือยเปล่า รบกวนโสตประสาท (sensory deprivation) (เช่น ใช้แสงจ้า เสียงดัง ความมืด เป็นต้น)  ล่วงละเมิดทางเพศ เช่น สอดไม้กระบองเข้าไปทางทวารของนักโทษ ผูกเชือกไว้ที่ขาหรืออวัยวะเพศของนักโทษแล้วลากไปตามพื้นห้อง  บังคับให้เปลื้องผ้า ยืนเรียงแถว ถูกคลุมหัว แล้วให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเอง ถูกบังคับให้แสดงการร่วมเพศกับเพศเดียวกัน ผู้คุมปัสสาวะใส่ตัวนักโทษ บังคับให้กลิ้งเกลือกในกองอุจจาระ เป็นต้น  

นักประวัติศาสตร์ด้านอุษาคเนย์ เช่น นายอัลเฟรด แมคคอย[1] ชี้ว่าสหรัฐฯมีประวัติการทรมานเหยื่อของตนมาโดยตลอด โดยเฉพาะวิธีการทารุณกรรมทางจิตใจ หรือวิธีการด้านจิตวิทยา ถือเป็นความสามารถเฉพาะของซีไอเอ ซึ่งได้มาจากการวิจัยลับในช่วงสงครามเย็น ที่มุ่งหาทางเปิดรหัสจิตสำนึกของมนุษย์ให้ได้ (the code of human consciousness) ในคู่มือ “Human Resources Exploitation Manual ที่ซีไอเอใช้ฝึกทหารในฮอนดูรัส (และน่าจะส่งผ่านไปยังประเทศอื่นๆ ด้วย) ระบุว่าหลักการทรมานทางจิตใจนั้น ผู้ดำเนินการทรมานจักต้อง “จัดการ (Manipulate) สภาแวดล้อมรอบตัวเหยื่อเพื่อให้เหยื่ออยู่ใต้สถานการณ์ที่ย่ำแย่อย่างยิ่ง หรือในระดับที่ยากจะทนทานได้ ต้องรบกวนทำลายระบบโสตประสาทจนเหยื่อสับสนว่าตนอยู่ในเวลาและสถานที่ใด แมคคอยชี้ว่าวิธีการการทรมานทางจิตใจของซีไอเอประกอบด้วยหลักใหญ่ ๆ ดังนี้

1. สร้างความเจ็บปวดที่ไม่ได้เกิดจากน้ำมือของคนอื่น (self-inflicting pain) การบังคับให้เหยื่ออยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น ยืนกางแขน ไม่ให้นั่ง ห้ามขยับเขยื้อน 

2. ทำให้ระบบประสาทสัมผัสผิดเพี้ยน เช่น ปิดตา ใช้ผ้าคลุมหัว ไม่ให้นอนเป็นเวลาติดต่อกันนาน ๆ ขังเดี่ยว อยู่ในอุณหภูมิร้อนจัดหรือหนาวจัด แสงจ้าหรือมืดมิด เสียงดังมากหรือเงียบสงัด เป็นต้น 

3.  ทำลายอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมของเหยื่อ เช่น ทำให้อับอายด้วยการล่วงละเมิดทางเพศ บังคับให้ร่วมเพศเดียวกัน บังคับให้มุสลิมกินเนื้อหมู ใช้สุนัข เป็นต้น

4.  การทำให้เหยื่อกลัวและหวาดผวา

5. วิธีลูกผสมอื่น ๆ เช่น ทำให้ขาดอากาศหายใจติดต่อกันนาน ๆ จนเหยื่อรู้สึกเหมือนเส้นแบ่งระหว่างชีวิตกับความตายนั้นบางนิดเดียว เช่น กดหัวในน้ำนานๆ จนเหยื่อรู้สึกว่าเข้าใกล้ความตายอย่างยิ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือ การทรมานยุคใหม่เข้าข่าย “การทรมานแบบใสสะอาด” (Clean torture) คือ จะไม่ทิ้งร่องรอยของการทำทารุณกรรมไว้บนร่างกายของเหยื่อ หรือให้มีน้อยที่สุด เพื่อไม่ให้มีหลักฐานมาเอาผิดกับผู้กระทำทารุณกรรมในภายหลังได้ Rejali ชี้ว่าการทรมานแบบใสสะอาดนี้ ผู้กระทำการทรมานในสังคมประชาธิปไตยยุคใหม่เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในการทำร้ายเหยื่อจนหมดสติโดยไม่ทิ้งร่องรอยอะไรไว้ โดยที่ไม่ได้ทำให้เหยื่อเจ็บปวดน้อยกว่าการทรมานที่มีบาดแผลเลย เมื่อไม่มีบาดแผลให้เห็น ข้อกล่าวหาย่อมไม่มีน้ำหนัก มิหนำซ้ำยังทำให้เหยื่อได้รับความเห็นใจจากสาธารณชนน้อยลงไปด้วย

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะรัฐสมัยใหม่ ที่ชอบอ้างอิงประชาธิปไตย ตระหนักว่าสิทธิมนุษยชนคือหลักการที่สำคัญของสังคม รัฐเรียนรู้ที่จะปิดซ่อนความรุนแรงของตนด้วยการคิดค้นเทคนิควิธีการทรมานแบบใสสะอาดขึ้นมา  

การทรมานคือหนทางแสวงหาความจริงหรือ?

คำถามที่ฝ่ายที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ มักถามผู้คนก็คือ หากคุณรู้ว่ามีระเบิดเวลาถูกวางไว้ในที่ชุมชนและกำลังจะระเบิดขึ้นในไม่ช้า คุณจะเห็นด้วยกับการทรมานเพื่อรีดเค้นเอาความลับจากผู้ก่อการร้ายว่าระเบิดอยู่ที่ไหนหรือไม่ ผู้คนส่วนใหญ่ที่เจอกับคำถามนี้ มักตอบว่า เห็นด้วย  David Luban เห็นว่าการตั้งคำถามเรื่องระเบิดเวลาคือกลวิธีล่อลวงเพื่อให้ความชอบธรรมกับการทรมาน ว่าคือหนทางแสวงหาความจริงเพื่อปกป้องคนบริสุทธิ์จากการก่อการร้าย แต่สิ่งที่ผู้คนลืมถามไปก็คือ คำถามนี้มีความชอบธรรมเพียงใด  เจ้าหน้าที่รู้ได้อย่างไรว่ามีระเบิดเวลา แล้วรู้ได้อย่างไรว่าเหยื่อมีข้อมูลที่ตนเองต้องการ ประการสำคัญ การทรมานที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศมิได้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระเบิดเวลา แต่เป็นวิธีที่ใช้จัดการกับฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ  

Luban เห็นว่าการทรมานเป็นปฏิปักษ์ต่อแนวคิดเสรีนิยมอย่างถึงราก เพราะการทรมานมุ่งไปที่ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเหยื่ออย่างสิ้นเชิง ขณะที่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์คือคุณค่าของเสรีนิยม การพยายาม “หัก” เหยื่อด้วยวิธีการที่รุนแรง ก็คือ การ “หักทำลาย (break)” จิตวิญญาณของเหยื่อให้จำยอมอยู่ใต้อาณัติของผู้ที่ทรมานตน[2]

นักจิตวิทยาเช่น Lindsey Williams ชี้ว่าคนส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการทรมาน ประการแรก เข้าใจว่าเพื่อสร้างความเจ็บปวดทางกายให้กับเหยื่อ ประการที่สอง ความเจ็บปวดนั้นมีเป้าหมายเพื่อเค้นเอาข้อมูลหรือความลับ แต่ในความเป็นจริง มีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ความรุนแรงกลับมีเป้าประสงค์อื่น นั้นคือ การทำลายเหยื่อในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง (Destruction of the individual as a person) การทรมานมักมุ่งไปที่การสร้างความอับอาย ดูถูกเหยียดหยาม และความเหนือกว่าของผู้กระทำต่อเหยื่อ ข้อมูลที่ได้จากการทรมาน ถ้ามี ก็มักเป็นผลพลอยได้ บ่อยครั้งเหยื่อมักไม่มีข้อมูลอะไรจะให้[3] บ่อยครั้งเป็นการจับคนบริสุทธิ์ และบ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่รู้ว่าเหยื่อคือใครกันแน่ มีสถานะใดในองค์กร และรู้อะไรบ้าง

สุดท้าย จิตแพทย์และนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอิสราเอล รุชามา มาร์ตัน (Ruchama Marton) ชี้ว่าข้อมูลที่ได้จากการทรมานนั้นไร้ความหมาย ไม่มีประโยชน์ ซึ่งผู้กระทำการทรมานก็รู้ดี เพราะเหยื่อพร้อมจะพูดอะไรก็ได้ที่ผู้คุมต้องการฟังเพื่อให้ตัวเองต้องเจ็บปวดน้อยที่สุด มาร์ตันเห็นว่าเป้าประสงค์ที่แท้จริงของการทรมานก็คือ ความเงียบ ความเงียบที่เกิดจากความกลัว เพราะความกลัวจะแพร่ระบาดไปในกลุ่มของเหยื่อ จนสมาชิกในกลุ่มไม่กล้าที่จะต่อต้านอำนาจของอีกฝ่าย พวกเขาจึงเลือกที่จะเงียบและยุติการต่อต้านในที่สุด[4]

ก็ต้องถามต่อว่าการกดปราบ สร้างความกลัว ทำให้เงียบในหมู่ผู้ต่อต้าน คือเป้าหมายของรัฐไทยในขณะนี้หรือไม่?

 




[1] Alfred McCoy, “The U.S. Has a History of Using Torture,” April 12, 2006. from www.hrw.org/doc/?t=usa_gitmo

[2] David Luban, “Liberalism, Torture, and the Ticking Bomb,” in Karen J. Greenberg, The Torture Debate: 35-83.

[3] Darren J. O’Byrne, Human Rights An Introduction. Essex: Pearson Education, 2003 : 165

[4] Ibid, 166.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net