Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

หนึ่งในข้อกังขาของกลุ่มผู้เรียกร้องให้มีการ"จับตาพลังงาน"และ"ทวงคืนพลังงาน"มีการกล่าวถึง"ราคาผลิตภัณฑ์นำ้มันหน้าโรงกลั่น"กันมาตลอด หลายท่านคิดว่าการที่เราใช้กลไกราคาที่เรียกว่า ราคาทดแทนการนำเข้า (Import Parity) นี้เป็นเรื่องไม่เหมาะสม เป็นราคาที่"มโน"ขึ้นมาเอง ไม่มีพื้นฐาน ไม่ได้ใช้กลไกตลาด และถ้าจะใช้กลไกตลาดก็ย่อมใช้ไม่ได้ เพราะ ปตท.ครอบงำตลาด มีส่วนแบ่งในอุตสาหกรรมกลั่นนำ้มันมากเกินไป

แล้วควรจะใช้อะไรกำหนดดีล่ะครับ ...จะใช้ราคาต้นทุนบวกกำไรตามสมควร(Cost Plus) ก็เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะต้นทุนการกลั่นของโรงกลั่นแต่ละแห่งก็ไม่เท่ากัน แถมการใช้วิธีนี้ก็อาจไม่จูงใจให้มีการลงทุน ให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพ(ซึ่งถ้าใช้ต้นทุนการสร้างโรงกลั่นใหม่ ราคาปัจจุบันนี้ ตำ่กว่าราคา Cost Plus อยู่แล้วครับ)

หลายท่านไพล่ไปขอให้ตั้งราคาตาม Export Parity เพราะเราเป็น Exporter ส่งออกนำ้มันสำเร็จรูปวันละ 150,000-200,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากกำลังการกลั่น มีมากกว่าความต้องการในประเทศ ซึ่งท่านก็คำนวณให้ดูเลยว่า ถ้าทำอย่างนั้น เราจะลดราคานำ้มันทุกชนิดได้ตั้งแต่ 1-2 บาทต่อลิตรเลยทีเดียว ปีนึงเราใช้นำ้มันกันประมาณ 50,000 ล้านลิตร บรรเทาภาระประชาชนไปได้ปีละ 50,000-100,000ล้านบาทเลยทีเดียว ...ซึ่งข้อเสนอนี้ ฟังดูเผินๆเหมือนจะmake sense ...แต่ผมขอยืนยันว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะโรงกลั่นที่เรามีอยู่หกโรง กำลังการกลั่นประมาณ 1,050,000 บาร์เรลต่อวันนั้น มีกำไรรวมกัน ทั้งหมดแค่ 20,000-30,000ล้านบาทต่อปี ถ้าให้ลดราคาอย่างที่เสนอ ก็คงต้องเจ๊งหมด หยุดกลั่น ต้องไปนำเข้าในราคา Singapore Price : Import Parity แถมถ้ากำลังการกลั่นในภูมิภาคหายไปตั้งล้านบาร์เรล/วัน ราคาSingapore Priceก็คงพุ่งสูงขึ้นอีกไม่น้อย ลงท้ายเราคงได้ใช้นำ้มันแพงขึ้นลิตรละหลายบาทเลยทีเดียว

แล้วมันควรจะเป็นอย่างไรล่ะครับ...อย่างไหนถึงจะถูกต้องเหมาะสม

เรื่องนำ้มันเป็นเรื่องซับซ้อน เรามีผลิตภัณฑ์หลายอย่าง มีเกณฑ์คุณภาพต่างๆกัน แถมอุตสาหกรรมก็มีประวัติพัฒนาการมายาวนาน ...ผมจะพยายามอธิบายเรื่องนี้โดยใช้หลักการกว้างๆ ที่ผมเชื่อว่ามีตรรกะเพียงพอ และง่ายต่อการเข้าใจนะครับ

ก่อนอื่นต้องมาเข้าใจคำว่า Singapore Price (SP)กันก่อน SPนี้คือราคานำ้มันที่กำหนดซื้อขายกันที่ Singapore ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของตลาดนำ้มันใหญ่ในโลก ซึ่งอีกสองแห่ง คือ London กับ US Gulf ที่ทำให้ราคานำ้มันมีการซื้อขายกันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ...SPนี้ถือเป็นราคาอ้างอิง นำ้มันที่ซื้อขายโดยใช้ SP ไม่จำเป็นจะต้องส่งไป หรือส่งออก จากSingapore อาจจะซื้อจากไทยไปลาว ไปเขมร เวียตนาม แต่ถ้าซื้อขายในภูมิภาคนี้ ก็จะใช้ SP นี่แหละเป็นเกณฑ์ โดยถ้าลาวซื้อ ก็จะเป็น SP:Import Parity คือบวกค่าขนส่งค่าประกันจาก Sing ไปลาว โรงกลั่นไทยที่ขาย ก็จะได้เงินสุทธิเท่ากับราคานั้น ลบด้วย ค่าขนส่งค่าประกันจากไทยไปลาว

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ....พอจะอธิบายได้คร่าวๆดังนี้

- สิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีเปรียบในการกลั่นนำ้มันมากที่สุดในภูมิภาคนี้ มีท่าเรือนำ้ลึก มีfacilitiesชั้นยอด มีคลังนำ้มันครบ มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง (ที่Jurong Industry Park) กล่าวได้ว่ามีประสิทธิภาพสูงมาก ในภูมิภาคนี้ไม่มีใครสามารถมีต้นทุนการกลั่นนำ้มันเทียบเท่าได้ สิงคโปร์มีกำลังการกลั่นวันละ 1,300,000 บาร์เรล แต่บริโภคเพียงไม่เกิน 300,00brrl/วัน ที่เหลือส่งออก

- ถึงกระนั้นก็ตาม ในระยะหลัง อุตสาหกรรมการกลั่นนำ้มันของสิงคโปร์ ก็ไม่นับว่ามีกำไรดีอะไร ยิ่งประเทศต่างๆขยายกำลังการผลิตกันเยอะเพื่อพึ่งตนเอง(เช่น อินเดีย ขยายหลายล้านบาร์เรลต่อวัน) กดดันให้ค่าการกลั่น (Gross Refinery Margin) อยู่ในระหว่าง 4-6 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นอัตราที่ไม่คุ้มกับการที่จะลงทุนใหม่ ลงทุนเพิ่มด้วยซำ้ จึงแทบไม่มีการขยายการผลิตเลยในระยะสิบปีที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทย...การกำหนดราคาขายนำ้มันสำเร็จรูป จากโรงกลั่นทั้งหกโรง เป็นการใช้ราคา SP Import Parity (ต่อไปจะขอเรียกว่า SPIPนะครับ) เป็นราคาอ้างอิงหลัก ซึ่งก็คือราคาSP บวกด้วยค่าขนส่ง บวกด้วยค่าประกันภัย บวกด้วยค่าประกันสูญเสีย ซึ่งบางท่านเรียกว่าเป็น"ต้นทุนเทียม"ที่มโนขึ้นมาเอง ...แต่ผมขอเรียนว่าจริงๆแล้วเป็น"ต้นทุนจริง"ที่ต้องจ่าย หากต้องมีการนำเข้า หรือพูดง่ายๆว่า เป็นราคาตลาดของสินค้าทดแทน ...ซึ่งเป็นราคาที่มีความหมายมาก

ที่พวกท่านโวยวายว่า... การใช้SPIP มากำหนดราคานั้น ทำให้เราใช้นำ้มันแพง ไม่เป็นธรรมนั้น ...จริงๆแล้วเป็นการกลับข้างกัน ...การที่มีนำ้มันจากสิงคโปร์ให้เรานำเข้าในราคา SPIP นี่ต่างหาก ที่กลับทำให้เราได้ใช้นำ้มันตำ่กว่าราคาที่ควรจะเป็นถ้าใช้แต่กลไกตลาดในประเทศเป็นหลัก หรือแม้จะใช้ราคาCost Plus ด้วยซำ้

ตรงนี้ซับซ้อนหน่อยนะครับ...ผมจะค่อยๆอธิบายให้ฟัง

1. ถ้าจะสร้างโรงกลั่นนำ้มันในปัจจุบัน (Replacement Cost) จะตกประมาณ US$ 12,500 ต่อ 1 barrel of CDU หรือต้องใช้เงิน US$ 1,875 ล้าน เพื่อสร้างโรงกลั่นขนาด 150,000 บาร์เรล ซึ่งเป็นขนาดที่เหมาะสม(Optimal Size)

2. เพื่อที่จะให้ได้ผลตอบแทนการลงทุนที่คุ้มค่า คือมีอัตราผลตอบแทนต่อทุน(Equity IRR)ที่ 15 % ต่อปี จะต้องได้ค่าการกลั่น(GRM)เฉลี่ย US$ 7 ต่อบาร์เรล ตลอดอายุ 25 ปี ถ้า GRM 6 เหรียญ จะได้ IRR 12.7% GRM 5 เหรียญ จะมีIRR เหลือเพียง 8.6% ซึ่งไม่คุ้มลงทุนอย่างมาก

3. โรงกลั่น Thai Oil ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพสูงสุด ควรจะมีGRMสูงสุดในประเทศไทย ได้ GRM เฉลี่ยแค่ US$ 5.27/bbl ในช่วงสามปีที่ผ่านมา ทั้งๆที่ขายได้ในราคาSPIP โรงกลั่นอื่นๆได้GRMตำ่กว่านี้อีก โดยเฉพาะ RPIC แทบจะไม่มีกำไรเลย

4. ถ้าเป็นไปตามกลไกตลาดเสรี ถ้าไม่มีนำ้มันสิงคโปร์ที่สามารถทดแทนการนำเข้าได้ ราคาหน้าโรงกลั่นจะปรับเพิ่มกว่านี้แน่นอนครับ (ใครเรียนศศ.ย่อมเข้าใจดี ยิ่งเป็นอาจารย์ศศ.ยิ่งต้องเข้าใจใหญ่)

5. ราคา SPIP จึงเป็นราคาเพดานที่ทำให้ราคานำ้มันในไทยไม่แพงเกินไป และเป็นเหตุผลที่ทำให้ อุตสาหกรรมกลั่นนำ้มันในประเทศไทย ไม่ใช่เป็นอุตสาหกรรมที่ดีเลย ไม่มีใครอยากขยาย หลายคนที่ทำอยู่ต้องดิ้นรนไปหากำไรจากด้านอื่นๆ

6. คิดง่ายๆว่า เรามีกำลังการกลั่น 1,050,000 bbl/day เอกชนลงทุนไป(replacement value) US$ 13,125 ล้าน หรือประมาณ 420,000ล้านบาท ให้เค้ามีกำไรปีละ 30,000ล้านบาท นับว่าเป็นกำไรที่ตำ่มากๆ แค่ 7.1% ต่อปี จริงๆแล้วไม่คุ้มเสี่ยงเลย ไหนจะต้องมาเจอกลุ่มคนไม่รู้เรื่องคอยกดดันขู่จะยึดคืนอีก ลองไปดูหุ้น ESSO ในตลาดก็ได้ ว่ากำไรดีไหม(นี่ขนาดเก่งที่สุดในโลกแล้วนะครับ เจอตลาดไทยยังแป๊กเลย)

7. ถ้าบ้าจี้ ทำตามกลุ่มจับตา.. กลุ่มยึดคืน... มันก็เท่ากับยึดแนวทางสังคมนิยม ละทิ้งเสรีนิยม นักลงทุนทั้งหลาย(รวมอุตสาหกรรมอื่นด้วย)ก็คงต้องโบกมือลา ละทิ้งไทยแลนด์ รัฐก็เลยต้องลงทุนเองหมด ทั้งคมนาคม ทั้งพลังงาน ทั้งสวัสดิการทั้งหลาย กลายเป็นรัฐสังคมนิยม ถอยหลังสวนทางกับเวียตนาม พม่า ลาว เขมร ที่เค้าพยายามเชิญชวนเอกชนทั่วโลกมาลงทุนแทนรัฐ

8. ผมขอยืนยันว่า แนวทางใหญ่ของทั้งสองกลุ่ม(จับตา...กับ ทวงคืน...) เป็นแนวทาง"สังคมนิยม"ชัดๆ ถึงได้ยึดเอาท่านชาเวซ แห่งเวเนซูเอล่า เป็นแม่แบบ นี่ก็หันไปเชิดชูฮังการี(ที่กำลังจะพังในไม่ช้าเช่นกัน)อีก ที่ได้รับแรงเชียร์มากก็เพราะ บวก"ประชานิยม"สุดขั้วเข้าไป ถ้าขืนทำตามทุกอย่าง เราจะเจอปัญหาอนาคตที่ร้ายแรงกว่า"จำนำข้าว"อีกนะครับ (ส่วนข้อเสนอหลายอย่างที่เป็นประโยชน์ เช่น การปรับโครงสร้างราคานำ้มัน ราคาLPG ก็นำมาพิจารณาได้ครับ ...แต่โดยรวม เป็น"สังคมนิยม")

9. สรุปได้ว่า SPIP จึงเป็นราคาที่สมควรใช้เป็นเพดานราคานำ้มันในเมืองไทย เพราะมันคือราคาตลาดของนำ้มันไทย ที่กำหนดโดย อุปสงค์ อุปทานของนำ้มันในภูมิภาคนี้ ...ถ้าบังเอิญGRM ขึ้นสูงเกินติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ไม่ต้องกลัวครับ จะมีคนขยายกำลังการผลิต คนลงทุนใหม่ จนเราอาจได้ใช้นำ้มันราคาตำ่กว่า SPIPก็ได้

ทั้งหมดนี้ยังไม่นับรวม ปริมาณนำ้มันสำรอง 6% ที่โรงกลั่นไทยต้องคงไว้ตามกฎ ในขณะที่โรงกลั่นสิงคโปร์และผู้นำเข้าไม่ต้องมี

ถ้าเข้าใจตามนี้ ก็จะเข้าใจกลไกตลาดของสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่ซื้อขายกันในภูมิภาคได้ครับ และจะเข้าใจด้วยว่า ราคาExport Parity ที่มีการพูดถึงต่างหากล่ะ เป็นราคาที่"มโน"ขึ้นมา โดยที่ไม่มีเหตุผล ไม่มีตรรกะใดๆมารองรับเลย

ความจริงเรื่องการกลั่นนำมันยังมีเรื่องซับซ้อนอื่นๆอีกเยอะครับ เช่น เรื่องของคุณภาพของแต่ละชนิด เรื่องของความต้องการใช้ที่บิดเบือนเพราะการอุดหนุน ทำให้ต้องมีเหลือส่งออกในนำ้มันบางชนิด ไว้โอกาสหน้าจะขยายให้ฟังนะครับ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net