Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ฉันอาศัยอยู่ในชุมชนดินแดง ออกกำลังกายเป็นกิจวัตรด้วยการร่วมโครงการกายบริหารสาธารณะที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นดินแดงทุกเย็นเวลา 18.30น. ยกเว้นวันจันทร์

กิจกรรมนี้ได้รับความนิยมอย่างล้นหลามในหมู่ชาวชุมชนดินแดง ผู้คนจำนวนมากจะมารวมตัวกันทุกเย็น ไม่ว่าจะฝนตกหรือแดดออก ไม่ว่าจะพายุเข้าหรือน้ำท่วม ไฟดับ หรือการเมืองกำลังโกลาหล ที่นี่จึงเป็นเหมือนกับเป็นศาลาประชาคม เราจะเห็นผู้คนหลากหลายที่มา ทั้งแม่บ้านที่มากับลูก ๆ คนขายของริมถนน พนักงานบริษัทที่แวะมาหลังเลิกงาน รวมถึงบรรดานักเรียน...

เราจะพบความแตกต่างหลากหลายในบุคลิกของผู้คนเหล่านี้ หญิงสูงวัยที่มาสายเสมอจะแหวกฝูงชนเข้าไปอยู่ในจุดหนึ่งที่เธอต้องการโดยไม่แยแสว่าใครจะเต้นหรืออยู่ตรงนั้นมาก่อนแล้ว คุณป้าที่มักจะลืมเต้นเมื่อใดก็ตามที่ได้เริ่มบทนินทากับเพื่อนบ้าน คนกลุ่มหนึ่งที่สวมชุดซาวน่าสีเงินดูราวกับนักบินอวกาศนาซ่า และยังมีคู่รักบ้างประปราย ทั้งคู่หนุ่มสาวและคู่คนแก่ ฉันสังเกตว่าเมื่อใดก็ตามคู่รักเหล่านี้เต้นในจังหวะท่าที่ดูเย้ายวน พวกเขาจะหันมาสบตาและยิ้มให้กัน

ผู้คนต่างก็เต้นด้วยท่วงท่าของตัวเอง ในทำนองที่เราควรเรียกว่าเป็น ศิลปะแห่ง “การตีความ” ต่อท่าเต้นของผู้สอน บางครั้งฉันถึงกับทึ่งต่อจินตนาการของผู้คนเหล่านี้ที่สามารถ “ตีความ” ออกมาในแบบที่ช่างเป็นเอกลักษณ์ เมื่อการเต้นแอโรบิกเสร็จสิ้นลง พวกเขาเหล่านั้นจะพากันยิ้มให้กันขณะที่ลมหายใจยังหอบแฮ่ก ดูมีความสุขและสดใสอย่างแท้จริง และดูราวกับว่าพวกเขาจะต้องกลับมาร่วมกิจกรรมอีกครั้งในวันถัดไป

กิจกรรมกายบริหารสาธารณะเริ่มขึ้นเมื่อกว่าสิบปีที่แล้วโดยนายกรัฐมนตรีที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะถูกเกลียดชังจากผู้คนราวครึ่งค่อนประเทศ และโครงการนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายประชานิยม ถึงกับมีการร่วมออกกำลังกายเพื่อทำลายสถิติโลกเพื่อให้บันทึกเป็นหลักฐานอยู่ในกินเนสบุ๊ก 

นับจากนั้นแอโรบิกเพื่อมวลชนก็ดำรงอยู่อย่างมั่นคงผ่านเหตุการณ์ ความความรุนแรงทางการเมือง และปัญหาอื่นๆเรื่อยมา  แถมกิจกรรมนี้ยังขยายกระจายอยู่ตามสวนสาธารณะต่าง ๆ ทั่วเมือง ซึ่งคุณภาพของการเต้นแอโรบิกก็หลากหลายไปตามตำแหน่งแห่งที่ ซึ่งจะมีจำนวนผู้เข้าเข้าร่วมเป็นตัวชี้วัด ส่วนแอโรบิกของสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่นมีระบบระเบียบและเป็นมืออาชีพ ครูสอนเต้นแอโรบิกก็ถูกฝึกฝนมาอย่างดีเพื่อนำการเต้นที่กินเวลาราว 40 นาที  ความกระตือรือร้นของผู้เข้าร่วมจะเป็นตัวชี้วัดความนิยมได้ดี

นอกจาก การพนัน รถซิ่ง ยาเสพติด เครื่องดื่มมึนเมา ที่แพร่ระบาดไปทั่ว การเต้นแอโรบิกอาจเป็นแค่กิจกรรมสันทนาการส่งเสริมสุขภาพหนึ่งในไม่กี่อย่างที่ถูกกฎหมายในย่านที่ผู้คนต้องกินอาหารทอดน้ำมันเยิ้ม แถมผงชูรส และเครื่องดื่มหวานเจี๊ยบ แอโรบิกมีความหมายกับพวกเขาเป็นอย่างน้อยก็เพื่อว่าพวกเขาอาจจะพอได้ใช้คลายความกังวลว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร รวมไปถึงสารพันปัญหาประจำวันด้วยการเต้นออกไปอย่างไม่ต้องรู้สึกเป็นกังวล แม้ว่าเมื่อสิ้นสุดการเต้นแล้ว พวกเขาอาจปิดท้ายด้วยการดื่มน้ำอัดลมหรือน้ำหวานอยู่ดี แต่นั่นก็ไม่เป็นไร เพราะที่จริงพวกเขาก็ไม่ได้มาเพราะเหตุผลเรื่องสุขภาพกายเท่ากับความบันเทิงทางใจ และการรวมกลุ่มกันของชาวชุมชน

ความหลากหลายของครูสอนเต้นแอโรบิกก็น่าสนใจไม่แพ้กลุ่มชาวบ้าน มีทั้งชาย หญิง เพศที่สาม สาวน้อยที่อายุแค่สิบขวบ จนถึงหญิงชราอายุเจ็ดสิบ เด็กชายพิการทางสมองที่ไม่แน่ใจว่าเป็นครูสอนเต้นหรือไม่ แต่เขาก็จะได้รับอนุญาตให้อยู่ตรงตำแหน่งเดียวกับกลุ่มครูฝึก เพราะเด็กชายเองก็อาจเชื่อว่าตนเป็นหนึ่งในผู้นำเต้นนั้น และพวกเขาล้วนดูเป็นธรรมชาติราวกับไม่ได้มีใครสั่งการให้ทำกิจกรรมนี้

เมื่อใดที่ฉันบอกเล่าเรื่องราวทำนองนี้แก่เพื่อนชาวยุโรป พวกเขากลับไม่อยากจะเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริง แถมบอกอีกว่ามันเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมคนชายขอบจากที่ต่าง ๆ ในยุโรป แม้จะเป็นกิจกรรมที่ไร้พิษภัยก็ตามที แม้แต่ชาวตะวันตกที่ถูกเรียกว่าเป็นพวกเสรีนิยมและหัวก้าวหน้ามากกว่ายังทึ่งกับกิจกรรมแอโรบิกสาธารณะของชุมชนชาวดินแดง “พวกเขาทำมันได้อย่างไร?”   คำตอบของฉันก็คือ เหตุผลที่พวกเขาสามารถเห็นตัวละครที่น่าสนใจมากมาย เป็นเพราะนี่มันคือย่านชุมชนของผู้มีรายได้ต่ำ โดยปกติแล้วสังคมที่เริ่มมีชนชั้นกลางมากขึ้นเท่าไหร่ ผู้คนก็จะเริ่มดูเป็นพิมพ์เดียวกันและน่าเบื่อมากขึ้นเท่านั้น

เพื่อนสถาปนิกชาวเช็กของฉันซึ่งตอนนี้ท่องเที่ยวอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บอกว่า การศึกษาที่เจาะลึกลงในพฤติกรรมของชุมชนแออัดกำลังเป็นกระแสหลักของการศึกษาสถาปัตยกรรมในปัจจุบัน เหตุผลก็คือหลังจากความล้มเหลวในหลายทศวรรษของสถาปนิกและนักวางผังเมืองในการคาดคะเนแบบแผนชีวิตของชุมชน เมื่อพวกเขาพยายามออกแบบชุมชนแบบสมัยใหม่ แต่ท้ายสุดกลับถูกเมินเฉยจากผู้คนในชุมชนเอง นักออกแบบเหล่านี้จึงตัดสินใจกลับไปสู่ความสามัญเพื่อเริ่มศึกษาว่าทำอย่างไรชาวชุมชนแออัดจึงสามารถอาศัยร่วมกลุ่มกันเป็นชุมชนได้ในแบบมีชีวิตชีวาและพออยู่พอกิน ฉันคิดอยู่ว่าอยากจะชวนเพื่อนคนนี้มากรุงเทพเผื่อว่าเขาจะสามารถเรียนรู้อะไรจากชุมชนเข้มแข็งที่ต้านทานแผนการรื้อสร้างอาคารเก่าทรุดโทรมเพื่อแทนที่ด้วยตึกสูงมาเป็นเวลาหลายปี

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมานี้กิจกรรมแอโรบิกได้รับผลกระทบจากการปะทะกันของสองฝ่าย ณ สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ครั้งสุดท้ายที่เรายังสามารถแอโรบิกได้ก่อนกิจกรรมจะถูกพัก พวกเราเต้นอยู่ท่ามกลางตำรวจเป็นร้อยนายที่เริ่มตั้งเต้็นท์ในสนามกีฬาเพื่อรับลงทะเบียนพรรคการเมือง พวกเราเองก็คงไม่ได้เอะใจอะไรจนกระทั่งชาวบ้านไม่สามารถมาชุมนุมกันได้อีกอย่างเคยเป็นเวลาเกือบสองเดือน สนามกีฬาก็ค่อย ๆ จำกัดจำนวนประตูที่จะเปิด ขณะที่เครื่องอำนวยความสะดวกและกิจกรรมต่าง ๆ ปิดทำการไปแล้วนานกว่านั้น คนจำนวนหยิบมือต้องวิ่งจ๊อกกิ้งท่ามกลางความมืดที่ฉายความเศร้าโศกต่อสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้น ขณะที่ฉันวิ่งจ๊อกกิ้งอยู่ก็อดนึกภาพใบหน้าของผู้คนต่าง ๆ ที่เคยอยู่ตรงนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะเด็กชายพิการทางสมอง พร้อมแม่ และคุณยายในรถเข็นที่มาเต้นแอโรบิกอย่างพร้อมเพรียงทุกวันติดต่อเป็นเวลาหลายปี นี่อาจเป็นกิจกรรมสุดพิเศษประจำวันของเด็กชายหรือบางทีสำหรับทั้งสามคนจากสามรุ่นในครอบครัวเดียวกัน “แล้วตอนนี้พวกเขาทำกิจกรรมอะไรแทนนะ?” ฉันแอบสงสัย

แต่หลังจากนั้นราวสามอาทิตย์ที่แล้ว ฉันสังเกตเห็นพัฒนาการที่น่าทึ่ง ชาวบ้านหน่วยกล้าตายเริ่มออกกำลังกายกันเอง ตระเตรียมเครื่องเสียงกันมาเอง เริ่มจากกลุ่มเล็ก ๆ แค่หยิบมือ จนกระทั่งกลายเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ที่น่าประหลาดใจก็คือ หนึ่งในผู้ริเริ่มกิจกรรมนั้นเป็นผู้ชาย ทั้งที่ผู้ชายในกลุ่มแอโรบิกเป็นแค่ส่วนน้อย อาจเป็นเพราะว่าภาพลักษณ์ของกิจกรรมนี้ถูกมองว่าเป็นเรื่องของผู้หญิงมากกว่าเมื่อเทียบกับกีฬาจำพวกศิลปะการต่อสู้ ชกมวย อะไรต่าง ๆ ดังนั้นผู้ชายมักจะดูเขินอายเวลาเข้าร่วมกิจกรรมแอโรบิก แต่ครั้นพอรู้ว่าที่จริงมันไม่ได้ง่าย ๆ พวกเขาก็เริ่มทุ่มเท เมื่อถึงเวลาคับขันเช่นนี้ ชนกลุ่มน้อยอย่างผู้ชายก็ลุกขึ้นริเริ่มฝึกฝนแม้ไม่มีครูสอนเต้นนำ

ชายคนหนึ่งที่นำไอแพดและลำโพงมา วางตัวเป็นครูฝึกจำเป็นที่จะส่งสัญญาณเปลี่ยนท่าอย่างง่าย ๆ เป็นช่วง ๆ แต่เขาเองก็ไม่ได้เจนจัด ดังนั้นทุกคนจะต้องพึ่งพาความทรงจำส่วนตัวเพื่อจะโยกย้ายร่างกายไปตามทิศทางและตำแหน่งที่ถูกต้อง แอโรบิกไม่ได้เป็นกีฬาที่กล้วย ๆ ถ้าเกิดว่าเราเริ่มคิดเรื่องระเบียบของการเคลื่อนไหวแขนขามากไป เราจะเต้นไม่ออก แต่ถ้าเราไม่คิดถึงมันเลยและพึ่งพาแต่ความทรงจำ เราก็จะได้แค่เต้นแร้งเต้นกา ดังนั้นสมดุลระหว่างร่างกายและความคิดจึงเป็นเรื่องจำเป็น นักประสาทวิทยายังบอกว่าการใช้ความคิดขณะออกกำลังกาย ไม่เพียงดีต่อร่างกาย แต่ยังส่งผลเลิศเลอต่อสมองด้วยเช่นกัน

ล่ามชาวโปแลนด์ที่มีความสามารถในการจำได้อย่างน่าเหลือเชื่อเท่าที่ฉันเคยเจอมา เธอไม่จำเป็นต้องจดบันทึกอะไรแม้แต่น้อยขณะที่ฟังผู้พูดสนทนา แล้วเธอก็จะแปลความตาม เธอบอกกับฉันว่า มันเป็นผลมาจากการออกกำลังกายแบบกิจกรรมเข้าจังหวะในขณะที่เธอยังเป็นเด็ก นี่ช่างเป็นข้อพิสูจน์ชัดต่อทฤษฎีของนักประสาทวิทยา ดังนั้น เมื่อชาวชุมชนดินแดงต้องออกกำลังกายโดยไร้ครูฝึก พวกเราก็ต้องใช้สมองอย่างหนักเพื่อรับมือกับกิจกรรม และนี่อาจจะเป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้แก่เราเอง

ฉันยังแอบเห็นความน่าประหลาดใจอีกอย่างเมื่อเรากำลังเต้นท่ายากกันอยู่ การเคลื่อนไหวบางส่วนซับซ้อนมากจนผู้เข้าร่วมส่วนมากไม่สามารถเต้นตามได้อย่างถูกต้อง แม้เวลาที่มีครูนำเต้นก็ตาม แต่เมื่อเราเห็นเด็กหญิงคนหนึ่งกำลังเคลื่อนไหวท่านี้ได้อย่างคล่องแคล่วด้วยตัวของเธอเอง และด้วยจังหวะแบบเธอเอง หรือพูดอีกอย่างก็คือ ออกไปทางคร่อมจังหวะ เธอคือคนหนึ่งที่ดูจะตามไม่ค่อยทันกลับกลายเป็นมีความสามารถมากกว่าคนอื่น ฉันรู้สึกทึ่งกับพัฒนาการทั้งหมดโดยรวม และการได้เห็นผู้คนที่พากันพยายามเพื่อพิสูจน์ว่าพวกเขาสามารถยืนหยัดได้เองโดยไม่ต้องมีผู้นำหรือครูฝึก

กระทั่งวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ในที่สุดฉันก็ได้เจอหน้าเด็กชายพิการทางสมองกำลังกระโดดโลดเต้นอยู่ท่ามกลางฝูงชนอีกครั้ง เด็กผู้พิการทางสมองดูจะเป็นสิ่งมีชีวิตอันสงบสุขที่สุดสำหรับฉัน พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ไม่แยกเหยียดผู้อื่นด้วยเพศสภาพ เชื้อชาติ ชนชั้น หรือศาสนา สำหรับพวกเขาแล้วเหตุแห่งความต่างนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องที่มีสาระ พวกเขาจึงเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิต่อต้านความรุนแรงในโลกของฉัน การมีอยู่ของพวกเขาจึงหยิบยื่นความสงบสุขในใจ ฉันดีใจเมื่อได้เห็นหน้าเด็กชายผู้นี้ ทั้งยังมีความสุขร่วมไปกับเขาด้วย ความร่าเริงของเขาเปรียบเหมือนของขวัญเล็ก ๆ ในวันวาเลนไทน์สำหรับฉัน เมื่อกายบริหารเสร็จสิ้น ฉันเห็นชายคนหนึ่งถอดเสื้อนอกที่ชุ่มเหงื่อออก เสื้อยืดข้างในมีสัญลักษณ์ธงชาติไทย [ฉันแอบคิดว่า อาจไม่เป็นไรที่แอโรบิกสาธารณะนั้นริเริ่มมาจากบุคคลที่เขาจงเกลียดจงชัง แต่ถ้าเป็นกิจกรรมที่ดี ผู้คนจากทุกกลุ่มอุดมการณ์ก็มีสิทธิที่จะชื่นชอบมัน]

เมื่อ 15 กุมภาพันธ์ วันถัดมา กิจกรรมแอโรบิกได้กลับคืนมาอย่างเป็นทางการ ซากรั้วจากการปะทะ ประตูและหน้าต่างที่หักพังยังคงเป็นหลักฐานเพื่อเตือนใจถึงเหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเกิดขึ้น แต่ขาประจำก็รวมอยู่ที่นั่น: ชายคนหนึ่งที่มาพร้อมกับลูกสาวที่นั่งรอกระทั่งเขาเสร็จสิ้นการออกกำลังกาย ส่งน้ำให้ดื่มครั้งแล้วครั้งเล่า, ชายแก่หน้าตาถมึงทึงที่ปรบมือตามบ้างในบางจังหวะ, และชายคนหนึ่งที่ยังกลับมาอยู่เรื่อย ๆ แม้ว่าภรรยาของเขาเลิกเข้าร่วมกิจกรรม

รอยยิ้มบนใบหน้าของพวกเขาทำให้อดหวังมิได้ว่า พวกเขาจะกลับมาที่นี่อีกครั้งในวันต่อๆไป โดยไม่ต้องถูกรบกวนด้วยเหตุการณ์ความรุนแรงใดๆอีก

 

**อ่านบทความภาษาอังกฤษ ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net