Skip to main content
sharethis

8 ม.ค.2557 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ออกแถลงการณ์เรื่อง ข้อกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุมวันที่ 13 ม.ค.นี้ ซึ่งที่ผ่านมามีความสูญเสียเกิดขึ้นแล้วในหลายกรณี รวมผู้เสียชีวิต 8 ราย บาดเจ็บ 461 ราย จึงเรียกร้องผู้ชุมนุมชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธหรือสิ่งเทียมอาวุธในที่ชุมนุม เรียกร้องรัฐบาลให้ดูแลการชุมนุม ป้องกันมือที่สามสร้างความรุนแรง รวมถึงความรุนแรงในลักษณะที่เกิดมาแล้วที่ย่านรามคำแหง สะพานชมัยมรุเชษฐ์ และสนาทกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบหรือพบเห็นความรุนแรงสามารถส่งหลักฐานต่างๆ มาได้ที่สายด่วน 1377

 

รายละเอียดของแถลงการณ์มีดังนี้

แถลงการณ์คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

เรื่อง ข้อกังวลต่อสถานการณ์การชุมนุม ในวันที่ 13 มกราคม 2557

 

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวกรณีคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ได้ประกาศนัดเชิญชวนประชาชน มาร่วมแสดงพลังยกระดับการชุมนุมตามพื้นที่ต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร โดยจะมีการเดินรณรงค์ทั่วกรุงเทพมหานครต่อเนื่อง เพื่อชักชวนให้ประชาชนมาร่วมการชุมนุมใหญ่ ในวันที่ 13 มกราคม 2557 นั้น

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ติดตามข้อมูลสถานการณ์การชุมนุมมาอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง จึงมีความวิตกกังวล และห่วงใยต่อสถานการณ์ความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น และอาจเกิดความสูญเสียขึ้นอีก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีบทเรียนความสูญเสียที่เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2556 ณ บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสนามราชมังคลากีฬาสถาน ในวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2556 ณ บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ และในวันที่ 26 ธันวาคม 2556 ณ ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) จนกระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวน 461 ราย และเสียชีวิต จำนวน 8 ราย อีกทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายโดยที่ผ่านมา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายยึดแนวทางสันติในการแก้ปัญหา เคารพสิทธิซึ่งกันและกันมาโดยตลอด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ให้บทเรียนแก่ทุกฝ่ายเกี่ยวกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม และการใช้อำนาจของรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในอันที่จะส่งเสริมการเคารพและปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้เหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความสงบและเรียบร้อยอยู่ร่วมกันด้วยความสันติสุข จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนคำนึงและสมควรดำเนินการตามข้อที่ควรปฏิบัติ ดังนี้

1. ผู้จัดการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุมจะต้องมีหน้าที่ร่วมกัน ทำให้เกิดการชุมนุมเป็นไปโดยความสงบ สันติ และปราศจากอาวุธ หรือสิ่งเทียมอาวุธทุกชนิดในพื้นที่การชุมนุม โดยยึดแนวทางสันติวิธี หลักนิติธรรม ภายใต้หลักการสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550          

 2. รัฐบาลต้องดูแลการชุมนุม ให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย และป้องกันมิให้เกิดความรุนแรงจากบุคคลผู้ไม่หวังดี ภายใต้กรอบแห่งกฎหมาย และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล โดยจะต้องหลีกเลี่ยงและป้องกันมิให้เกิดสถานการณ์ความรุนแรงที่ไม่พึงประสงค์ ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้ว ณ บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสนามราชมังคลากีฬาสถาน บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐ์ และศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น)

3. รัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง และร่วมมือประสานงานการข่าวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ศูนย์รักษาความปลอดภัย เป็นต้น เพื่อให้การข่าวมีประสิทธิภาพ ไม่ให้กลุ่มที่มีอุดมการณ์ที่ต่าง และความเห็นต่าง เผชิญหน้ากัน อันจะช่วยป้องปรามและยับยั้งไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้

4. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเร่งสืบสวน สอบสวน หาผู้กระทำความผิดจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ได้แก่ บริเวณมหาวิทยาลัยรามคำแหงและสนามราชมังคลากีฬาสถาน บริเวณสะพาน     ชมัยมรุเชษฐ์  ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น) มาดำเนินการตามกฎหมาย และรายงานให้สาธารณชนทราบเป็นระยะๆ โดยเร็ว

5. รัฐบาลจะต้องให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ การเยียวยาผู้เสียหาย ผู้บาดเจ็บ และ          ผู้ที่เสียชีวิตจากกรณีเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้เป็นมาตรฐานเพื่อให้เป็นไป     ตามหลักมนุษยธรรม โดยการให้หลักประกันว่าจะให้ความเป็นธรรมและเยียวยาทุกฝ่าย ทั้งในรูปเงินช่วยเหลือ การฟื้นฟู การช่วยเหลืออื่น ๆ และการเยียวยาด้านจิตใจโดยไม่เลือกปฏิบัติ

6. สื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวที่เป็นข้อเท็จจริง เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ และต้องเป็นการสร้างสรรค์ ช่วยให้สังคมเกิดความสันติ

7. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ใคร่ขอความอนุเคราะห์จากทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบหรือพบเห็นเหตุการณ์ความรุนแรง ให้เก็บรวบรวมหลักฐานต่างๆ เช่น บันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเก็บวัตถุพยานไว้เป็นหลักฐาน และนำส่งสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือแจ้งข้อมูลผ่านสายด่วน 1377 หรือทางอีเมล์ help@nhrc.or.th โดยให้ระบุสถานที่สำหรับติดต่อกลับ เช่น หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อเพื่อประโยชน์ในการรวบรวมหลักฐานข้อมูลต่างๆ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ขอให้ผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกภาคส่วนต้องอดทน อดกลั้น ยึดมั่นในหลักสันติวิธี เคารพในสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน เพื่อมิให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงจนเกิดความสูญเสียขึ้นอีก โดยคำนึงถึงประโยชน์และความสงบของประเทศชาติเป็นสำคัญ

 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

8 มกราคม 2557

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net