Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในครอบครัวชินวัตรได้สร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านในหลายๆอย่าง ในส่วนของคุณทักษิณได้สร้างปรากฏการณ์การดำรงตำแหน่งครบวาระ 4 ปี คนแรกและคนเดียวในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และในส่วนของคุณยิ่งลักษณ์ก็ได้สร้างปรากฏการณ์นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย แต่การใช้นิยามว่าเป็นความมหัศจรรย์ทั้ง 2 อย่าง มันแลดูไม่น่าชื่นชมนัก เพราะ นายกรัฐมนตรีท่านอื่นๆทำไมถึงอยู่ได้ไม่ครบวาระเสียเลย เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่มาขัดขวางการพัฒนาการทางประชาธิปไตยหลากหลายครั้ง ผ่านการรัฐประหารนับสิบครั้ง  เป็นต้น  และการก้าวขึ้นมาของการเป็นผู้นำหญิงมันต้องเป็นเรื่องที่แลดูปกติ ถ้าเรามองว่าผู้หญิงและผู้ชายเท่าเทียมกันในพื้นที่ทางการเมือง แต่การกล่าวว่าในลักษณะเป็นเรื่องใหม่หรือมหัศจรรย์(คนแรก) การกล่าวว่าผู้ชายและผู้หญิงในพื้นที่ทางการเมืองนั้นยังต้องนำมาขบคิดอีกมาก แต่ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดีในการสร้างพื้นที่ความเท่าเทียมนี้ขึ้น เพราะ จำนวนผู้หญิงก็มีจำนวนมากขึ้นในพื้นที่ที่เคยถูกผูกขาดด้วยผู้ชาย ทั้ง 2 ท่านนี้มาจากครอบครัวเดียวกันมีหลายหลายความคิดที่อาจคล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน  เราไม่สามารถปฏิเสธการเป็นพี่ชายและน้องสาวของทั้งสองท่านได้ แต่เราสามารถแลกเปลี่ยนในกระบวนการคิดของทั้งสองท่านได้

คุณทักษิณมาพร้อมกับ ความ Aggressive สังเกตได้จากการสอบชิงทุนของกรมตำรวจได้เป็นที่หนึ่ง เพื่อศึกษาต่อปริญญาเอก จากนั้นก็ได้กลับมาทำงานทางราชการและลาออกมาทำธุรกิจส่วนตัวแต่วัยหนุ่ม เขาประสบความสำเร็จในธุรกิจที่เขาสร้างขึ้น สิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานมาจากเขามีภาวะผู้นำที่สูง สูงในแง่ของการสั่งการและเข้มงวด เมื่อลงสมัครรับเลือกตั้งก็สามารถครองคะแนนเสียงเป็นรัฐบาลพรรคเดียวได้ มีกำลังอำนาจนำเหนือองค์กรอิสระ(รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540) การเป็นที่นิยมของประชาชนที่เป็นฐานมวลชนเมื่อออกปฏิบัติภารกิจนอกพื้นที่ก็มีมวลชนมาต้อนรับจำนวนมาก และเขาเองก็นำวิธีการบริหารงานรูปแบบภาคเอกชนเข้าปรับใช้ในการบริหารราชการ (CEO)

คุณยิ่งลักษณ์มาพร้อมกับ ความอ่อนน้อมถ่อมตน (เธอมีเท่านี้ เธอก็ใช้เท่านี้สู้กับสิ่งที่เผชิญหน้า และบังเอิญสิ่งที่เธอมีเท่านี้ มันไม่ล้ำหน้าใครหลายคนในสังคม กล่าวคือ มันไม่เป็นแสงแยงตาใครเสียเกินไปหรือการพร้อมที่จะประนีประนอม เพราะ ใครในที่นี้ คือ คนที่ขั้วตรงข้ามของพี่ชายของเธอ)

คุณยิ่งลักษณ์จึงสามารถสร้างบรรยากาศแห่งความปรองดองได้ผ่าน “ความอดทน อดกลั้น” หรือ การเป็น Soft Leader สิ่งนี้ คือ สิ่งที่เธอแตกต่างจากพี่ชายของเธอ เธอก็ยังคงมีอิสระทางความคิดของเธอ ไม่ได้ถูกพี่ชายของเธอครอบงำไปเสียหมดตามที่ผู้ต่อต้านเธอมักกล่าวถึง การที่เธอมักถูกกล่าวว่าเป็นร่างโคลนนิ่งพี่ชาย ได้ผ่านการมองที่ว่า “ผู้นำสตรี ขึ้นมามีอำนาจได้เพราะมีสายสัมพันธ์จากผู้ชายเป็นแรงผลักดัน มากกว่าความสามารถของตัวเธอเอง ; ผู้หญิงมักถูกวิจารณ์ว่า “ลำพังตัวเธอเองมาไม่ได้ไกลขนาดนี้หรอก ถ้าเธอไม่มีสายสัมพันธ์จากพี่ชายที่ดีพอ เช่น กรณีคุณยิ่งลักษณ์ ถ้าเธอไม่ได้เป็นน้องสาวของคุณทักษิณ เธอก็ไม่ได้มีโอกาสที่จะได้เป็นนายกฯหรอก” ทั้งที่ผู้คนไม่เคยมองและใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ตั้งคำถามต่อผู้ชาย เช่น ลำพังคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เองคงไม่ได้เป็นนายกฯหรอก ถ้าไม่ได้เป็นสามีของคุณเยาวภา” มายาคติเช่นนี้พูดเหมือนการขึ้นสู่อำนาจของผู้หญิงเป็นเรื่องแปลกประหลาดกว่าการขึ้นสู่อำนาจของผู้ชาย ผู้คนไม่เห็นว่า Connection เป็นเรื่องปกติที่ผู้นำทุกคนต้องมีเมื่อจะขึ้นสู่อำนาจ ผู้คนมองไม่เห็น Political Capital (ต้นทุนทางการเมือง) ของ Political Dynasty (การเมืองของวงศาคณาญาติ) ทายาททางการเมืองนั้น เป็นไปได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ผ่านการขึ้นสู่อำนาจด้วยแรงผลักดันจากสายสัมพันธ์ทั้งสิ้น[1]

การเป็น Soft Leader ของเธอ มันทำให้ลดการเผชิญหน้ากับกลุ่มผู้ชุมนุม เธอถอยหนีการปะทะกัน เธอถอยหนีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อหลีกหนีภาพความเจ็บปวดทางการเมืองที่มีมาในอดีตไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดที่ได้รับความสูญเสีย และการประกาศยุบสภาของเธอ ก็คือการแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ในการกระทำที่ผิดพลาดของเธอและคณะรัฐบาลทั้งหมด เป็นการแสดงความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย และการลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้งเพื่อให้ประชาชนตัดสินตัวเธอจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งประเทศ เป็นการต่อสู้กันในระบบ ประชาธิปไตยที่เข้มแข็งดูได้จากการที่ให้ประชาชนเดินเข้าหาระบบ มีข้อเรียกร้องใดๆเราก็ต้องเดินเข้าระบบ เพราะ ณ  เวลานี้ระบบยังคงทำงานได้ ไม่ใช่สร้างเงื่อนไขเพื่อเดินหนีระบบ ผ่านการออกมาริมถนนหรือการเดินหาอำนาจใดๆที่ไม่ได้มาจากประชาชน เป็นการถอยที่ทรงพลังทั้งทางการเมืองและทางมนุษยธรรม ตามที่เธอได้กล่าวว่า

“ดิฉันไม่ใช่ไม่มีความรู้สึก ดิฉันได้ฟังมาตลอดกับการร้องขอกับผู้ชุมนุม การที่กล่าวถึงทั้งตระกูลนั้น ดิฉันก็ถือว่าเราเป็นคนไทยด้วยกัน จะถึงขนาดไม่ให้เหยียบอยู่ในแผ่นดินไทยเลยหรือ เราจะเป็นกันอย่างนี้หรือ ดิฉันถอยไม่รู้ว่าจะถอยอย่างไรแล้ว ก็ขอความเป็นธรรมด้วยค่ะ” นาวสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวแถลงข่าวและตอบคำถามสื่อ 10 ธันวาคม 2556

แต่หลังการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามมาตรา 180 (2) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ซึ่งกำหนดไว้ด้วยว่า คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็น ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว เธอจึงยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อไป ทั้งการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือประชาชนภาคใต้ที่ประสบปัญหาอุทกภัย การลงพื้นที่ตรวจงานการซ่อมแซมทางรถไฟสายเหนือ การเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดทางภาคเหนือ เป็นต้น  สถานการณ์ ณ เวลานี้ เธอจึงยังคงทำงานได้ตามปกติ  ทุกคนจึงยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ด้วยความประนีประนอมของเธอ และการจัดงานรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆในการปฏิรูปประเทศและร่วมแก้ไขปัญหาอย่างสันติ ในวันที่ 15 ธันวาคม นี้ ก็ทำให้อุณหภูมิทางการเมืองลดลง การเปิดพื้นที่นี้ เป็นพื้นที่ที่ระบอบประชาธิปไตยมอบให้ เพื่อรองรับให้ทุกความต้องการของทุกๆคนได้แสดงออกมา ระบอบประชาธิปไตยมันสร้างพื้นที่ให้ผู้คนมาต่อรอง ไปสู่การหาจุดดุลยภาพร่วมกันเพื่อเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย เพื่อหลีกหนีการปะทะกันที่ต้องสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินในอนาคต

อุณหภูมิทางการเมืองที่ลดลงก็ทำให้อำนาจอื่นๆที่ไม่ได้มาจากประชาชน เช่น กองทัพ ไม่มีความชอบธรรมที่จะเข้ามาจัดการปัญหาทางการเมือง ผ่านการรัฐประหารเช่นในอดีต ที่หลังรัฐประหารก็ยิ่งกลับมีความปะทุทางการเมือง ถือเป็นนิมิตรหมายที่ดีในการสร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง กองทัพจะยิ่งเป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน เป็นกองทัพของประชาชน รักษาเกียรติของตนไว้อย่าสง่างาม เพราะ ทหาร คือ พลเมืองในเครื่องแบบ ทหารจึงไม่มีอำนาจในการใช้อำนาจแทนประชาชนทั้งประเทศ โดยทหารก็จะเป็นที่ยกย่องของประชาชนในฐานะผู้เสียสละในการปกป้องประเทศด้านความมั่นคงกับภายนอกประเทศ เป็นสังคมแห่งการให้เกียรติซึ่งกันและกัน  และด้วยพลังจาก “การควบตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของคุณยิ่งลักษณ์ มีการมองในเรื่องการเป็นนักการเมืองพลเรือนและเป็นผู้หญิง แต่ประเด็นที่ถูกมองเป็นหมุดหมายสำคัญคือ 1. การโยกย้ายตำแหน่งทางทหารที่จะตามมา 2.อาจมีรัฐมนตรีช่วย ที่เป็นนายทหารเก่าช่วยงาน แสดงให้เห็นว่าไม่ค่อยมีใครมองไปที่เรื่องความเป็นผู้หญิง เวลาที่เรามองกระทรวงกลาโหม ก็จะเป็นด้านความมั่นคงทางการทหาร นักการเมือง/นักเลือกตั้ง ไม่ค่อยมีความรู้ด้านนี้ กองทัพก็จะดูแลความมั่นคงกันเอง และมีการโทษกันไปมาของ 2 ทั้งสองฝ่ายในด้านทิศทาง.....

...... กองทัพและการเมืองไทย มันกำลังบอกตำแหน่งแห่งพื้นที่ เช่น เรื่องงบประมาณ แนวนโยบาย กองทัพหรือกระทรวงกลาโหมก็จะดูแลกันเองมากกว่าให้นักการเมืองพลเรือนมาดูแล แต่กรณีการควบของคุณยิ่งลักษณ์ก็เป็นการส่งสัญญาณว่าเป็นการเริ่มต้นของการควบคุมผ่านนักการเมืองพลเรือน ก็ต้องรอดูว่าจะส่งผลต่อภาพรวมอย่างไรทางการเมืองไทย ซึ่งนายกรัฐมนตรีเองก็ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เพื่อการประสานงานและพูดคุยที่ง่ายขึ้น ประกอบกับด้วยความอ่อนน้อมของนายกรัฐมนตรีก็จะทำให้ง่ายยิ่งขึ้นด้วย”[2] ยิ่งทำให้กองทัพเป็นที่น่าเชื่อถือมากขึ้นในสายตาประชาชน เพราะ มีรัฐบาลจากประชาชนมากำกับดูแลและทำงานร่วมกันได้เพื่อประชาชนทุกคน

 

ด้วยความ Aggressiveของพี่ชายเธอมันนำมาสู่การเพิ่มพลังอุณหภูมิทางการเมืองดั่งเช่นในอดีต

ความเป็นผู้นำที่เด็ดขาด ที่แข็งกร้าว ที่ประชาชนนิยมมองว่าเข้มแข็ง ก็ย่อมเป็นภัยแก่ตัวผู้นำและสังคมเสียเอง

ความอ่อนน้อมถ่อมตน ถ้าใช้ได้ไม่ทรงพลังก็ถูกมองว่าไม่เข้มแข็งได้ ประชาชนก็จะขาดความเชื่อมั่นได้

แต่เธอเลือกใช้ความแข็งแกร่งที่จะนำความอ่อนน้อมถ่อมตนของเธอมาดับร้อนการเมือง

ด้านมืดของพี่ชาย จึงเป็น ทางสว่างของน้องสาว

 

 

 


1] รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์,จากหลังบ้าน ถึงนายกรัฐมนตรีหญิงฯ, http://prachatai.com/journal/2012/01/38617,5 มกราคม 2555

[2] รายการคิดยกกำลัง 2 กับ COMMENTATORS ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, http://clip.thaipbs.or.th/home.php?vid=6832&ap=flase,วันที่ 2 กรกฎาคม 2556

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net