Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

                

บทนำ

“การปฏิรูป” เป็นกระแสหลักของภารกิจระดับชาติของประเทศไทยมาเป็นเวลาร่วม 20 ปี ครอบคลุมถึงการพัฒนาการเมืองจนนำไปสู่การสร้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 สมัยนายกบรรหาร ศิลปอาชา  การปฏิรูประบบราชการ พ.ศ. 2545 สมัยนายกทักษิณ ชินวัตร การจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยของประชาชนผ่านกลไกองค์กรที่ชื่อว่า “สำนักงานปฏิรูป (สปร.)” ระหว่าง พ.ศ. 2553-กลาง พ.ศ. 2556 ที่มีสืบเนื่องมาในสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

กระแสปฏิรูปล่าสุดที่กลายเป็นกระแสอันเชี่ยวกรากในขณะนี้นั้น นับได้จากการจัดตั้งสภาปฏิรูปการเมือง เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การปฏิเสธการเข้าร่วมของพรรคประชาธิปัตย์ ตามด้วยการเรียกร้องอย่างคู่ขนานให้มีการปฏิรูปประเทศไทยของขบวนการภาคประชาชน การโต้ตอบรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์นอกสภาต่อกรณี พ.ร.บ. นิรโทษกรรมและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ การโหมกระหน่ำโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.) (ภายใต้การนำของอดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และการสมทบกับแกนนำอดีตพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ องค์กรในเครือข่าย) การยุบสภาของรัฐบาลเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และการเตรียมการเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่สะสมกันๆจนทำให้ภาคส่วนต่างๆในสังคม รวมทั้งพรรคการเมืองที่จะแข่งกันในสนามเลือกตั้ง ร่วมขับขานร้องเพลงการปฏิรูปดังกระหึ่มทั่วประเทศไปด้วยในขณะนี้

ข้อเขียนชิ้นนี้จะนำเสนอวิถีการปฏิรูปผ่านนิยามของการปฏิรูป ประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูปที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐบาลชุดที่แล้ว และนำเสนอข้อเสนอทางเลือกเพื่อการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังเป็นที่เรียกร้องต้องการของสังคมในขณะนี้ ดังต่อไปนี้

วิถีการปฏิรูป

1. การปฏิรูปจำเป็นต้องมีนิยามเพื่อการเข้าใจร่วมกันทั้งสังคมและส่วนย่อยต่างๆ ไม่เช่นนั้นเราอาจขับเคลื่อนกันไป โดยอะไรๆก็เป็นการปฏิรูปไปหมด ในทางทฤษฎี การปฏิรูปควรจะหมายถึง “กระบวนทัศน์ หลักการ แบบแผน การกระทำ และวิธีการของการกระทำที่สมเหตุสมผลอย่างใหม่ การปรับปรุงหรือปรับตัวใหม่ การสร้างความแตกต่าง การกระทำที่เป็น ความก้าวหน้า และเหมาะสมที่สุดสำหรับยุคสมัยนั้นๆ แต่ไม่ใช่แบบฉับพลันทันด่วน ทั้งโดยค่อยๆเป็นไปเอง หรือเร่งเร้าพอสมควรอย่างตั้งใจให้เกิดขึ้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ที่อาจเกิดกับทั้งสังคม ขบวนการ สถาบัน องค์การ และบุคคล และที่มักจะอาศัยปรัชญา ค่านิยม หรืออุดมการณ์ใหม่ หรือค่านิยมเดิมในอดีตที่ยังมีคุณค่าแต่ถูกละเลยมาอ้างอิง รวมทั้งการมีกฎระเบียบใหม่หรือการจัดตั้งองค์การเฉพาะเรื่องๆที่มีภารกิจรองรับกิจกรรมการปฏิรูป ให้เกิดการปฏิรูปตนเองและโดยรวม เพื่อผลหรือเป้าหมายในการแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่และขับเคลื่อนหรือนำพาสังคม สถาบัน องค์การ และผู้คนไปสู่สภาพที่ก้าวหน้ากว่าเดิม”

2. การปฏิรูปอาจมีได้หลายกลยุทธ์หรือวิธีการ เช่น การจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูป ดังที่เคยมีการจัดตั้งสมัยรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิรูป พ.ศ.๒๕๕๓ รองรับ ระหว่าง พ.ศ. 2553 – 2555 (จบงานจริงโดยสมัชชาปฏิรูปในกลาง พ.ศ. 2556) หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของพรรคการเมืองขับเคลื่อนตามนโยบายของตน คือ พรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลก็ย่อมปฏิรูปไปตามแนวนโยบายของพรรคนั้น หรือ ให้องค์กรประชาชนดำเนินการเคลื่อนไหวกันเองเพื่อเรียกร้องต่อรัฐให้ปฏิรูป หรือ การกระตุ้นให้องคาพยพต่างๆในสังคมสร้างกระแสการปฏิรูปตนเองขึ้นอย่างขนานใหญ่ ไม่ใช่การรวมศูนย์การปฏิรูปไว้ที่รัฐบาล หรือ การจัดตั้งคณะกรรมการพิเศษของรัฐสภาคล้ายการร่างรัฐธรรมนูญแต่เพื่อการปฏิรูปประเทศ หรือ การตั้งคณะกรรมการพิเศษของรัฐสภา รัฐบาล และ ศาล ร่วมกัน หรือ การจัดตั้งเป็นองค์กรกลางเพื่อประมวลข้อความเห็นต่างๆ จากองค์การและสถาบันทั้งหลายทั้งปวง ทั้งของทางราชการ องค์การอิสระ องค์การประชาชน องค์การธุรกิจ สถาบันวิชาการ หรือ อื่นๆ ที่เสนอกันไว้มากมายแล้วมาคัดสรร วิเคราะห์และสังเคราะห์ ประเมินคุณค่า และจัดลำดับความสำคัญ แล้วทำเป็นข้อเสนอประกอบเหตุผลต่อไปยังรัฐบาลหรือองค์การต่างๆ โดยสภาปฏิรูปมีเพียงหน้าที่เสนอความเห็นว่าควรหรือจะต้องทำอะไร อย่างไร และทำไมจึงต้องทำเช่นนั้น แต่ไม่มีหน้าที่ขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูป หรือหากให้มีทั้งหน้าที่เสนอความเห็นและขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิรูปไปพร้อมกันด้วยก็จะเป็นงานที่ท้าทายอย่างมาก


ประสบการณ์และการเรียนรู้เพื่อการขับเคลื่อนการปฏิรูป

1. ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เรื้อรัง รวมทั้งปัญหาสำคัญๆที่สะสมของประเทศในด้านต่างๆ มาถึงปัจจุบันนั้น เราทั้งหลายย่อมเห็นว่าในเรื่องส่วนรวม รัฐบาลย่อมต้องเป็นภาระต่อการปฏิรูป แต่ผู้เขียนก็สนับสนุนการกระตุ้นให้องคาพยพต่างๆ ในสังคมสร้างการปฏิรูปตนเองขึ้นอย่างขนานใหญ่ด้วย คือ ปฏิรูปทั้งส่วนย่อยและส่วนรวมกันทั้งประเทศ เพราะทุกส่วนนั่นแหละที่เกี่ยวโยงถึงกันและพึ่งพาอาศัยกัน (Connectivity and dependency) เป็นสิ่งแวดล้อมต่อกันและกัน และกลายเป็นสังคมส่วนรวม แต่ละส่วนจึงต้องเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อให้มีผลต่อส่วนรวมด้วย ไม่ใช่การรวมศูนย์หรือมอบภาระการปฏิรูปไว้ที่รัฐบาลเท่านั้น รัฐบาลแม้จะอยู่ในฐานะที่ต้องรับผิดชอบบ้านเมืองในภาพรวม แต่ก็สามารถจุดประกายและเสริมสร้างหรือส่งเสริมด้วยการจัดตั้งกลไกที่เป็นองค์กรกลางมาเอื้อให้เกิดความก้าวหน้าของการเปลี่ยนแปลงในส่วนย่อยๆของสังคมได้  การใช้แนวทางเช่นนี้จะทำให้เกิดภาพประชาชนร่วมรัฐเพื่อการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง ซึ่งต่างจากการปฏิรูปก่อนหน้าครั้งนี้ ที่ดำเนินงานภายใต้องค์กรชื่อว่า “สำนักงานปฏิรูป (สปร.)” แต่ไม่มีลักษณะที่ชัดเจนว่าเป็นองค์กรของส่วนรวมหรือส่วนกลางจริงๆ โดยที่มาของคณะกรรมการปฏิรูปไม่สะท้อนการเป็นตัวแทนขององค์การตามกฎหมายและไม่มีกฎหมายรองรับที่มีบทบาทสำคัญๆในสังคมไทยมากนัก ผู้เข้าร่วมการขับเคลื่อนการปฏิรูปเป็นคนดีมีฝีมือทั้งจากฝ่ายอนุรักษ์และฝ่ายก้าวหน้าในระดับแนวหน้าของประเทศ แต่ส่วนใหญ่ค่อนไปในทางเครือข่ายของปัญญาชนอนุรักษ์มากกว่าฝ่ายก้าวหน้า อันประกอบด้วย อดีตข้าราชการ นักวิชาชีพ นักวิชาการ นักวิพากษ์สังคม ผู้นำแรงงาน ผู้นำชุมชน และนักกิจกรรมภาคประชาชน รวมทั้งหน้าที่ของคณะกรรมการก็ยังจำกัดที่จะส่งเสริมให้องคาพยพต่างๆในสังคมสร้างการปฏิรูปตนเอง พร้อมกับการปฏิรูปของรัฐบาลขึ้นอย่างขนานใหญ่ร่วมกัน  แต่โน้มไปในทางรวบรวมข้อเสนอเพื่อปฏิรูปและสร้างมติหรือให้ได้ข้อยุติเพื่อการปฏิรูปตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการส่วนกลางแล้วส่งต่อไปยังรัฐบาล (และพรรคการเมือง) ที่จะรับไปเป็นภาระการปฏิรูป โดยอาศัยการผลักดันและขับเคลื่อนของสาธารณชนเพื่อหวังจะให้การปฏิรูปเป็นจริง

ดังที่ปรากฏว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยที่มีในสมัยนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีโครงสร้างสองส่วน คือ คณะกรรมการปฏิรูป และคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป  โดยหน้าที่ดังนี้[2]

คณะกรรมการปฏิรูป มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

· กำหนดยุทธศาสตร์ แนวทาง มาตรการ และกระบวนการต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูป

· จัดทำข้อยุติและข้อเสนอแนะต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปเสนอต่อสาธารณชนและภาครัฐเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง

· ประสานงานกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปในการได้มาซึ่งข้อมูล ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสาธารณชนเกี่ยวกับการปฏิรูป

· ประสานงานกับคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปในการสนับสนุน ติดตาม ผลักดัน การขับเคลื่อนของสาธารณชนและภาครัฐต่อการปฏิรูปให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

· แต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะประเด็นหรือเฉพาะด้าน คณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานเพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่คณะกรรมการปฏิรูปมอบหมาย

คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป มีอำนาจหน้าที่

· ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปตลอดจนสนับสนุนการสื่อสารทางสังคมเพื่อให้ทุกภาคส่วน ได้รับรู้ เข้าใจ และเข้าร่วมในการปฏิรูปอย่างกว้างขวาง

· ดำเนินการให้ได้มาซึ่งข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของสาธารณชนเกี่ยวกับการปฏิรูป

· จัดให้มีสมัชชาปฏิรูประดับชาติ และสนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาปฏิรูปเฉพาะพื้นที่เฉพาะประเด็นเพื่อให้ได้มา ซึ่งข้อเสนอเชิงนโยบายสำหรับการปฏิรูป

· ประสานงานกับคณะกรรมการปฏิรูป ในการสนับสนุน ติดตามผลักดันการขับเคลื่อนของสาธารณชนและภาครัฐต่อการปฏิรูป ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ผลงานสำคัญชิ้นหนึ่งของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย คือ รายงานเรื่อง “แนวทางปฏิรูปประเทศไทย : ข้อเสนอต่อพรรคการเมืองและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง” (2554) ในรายงานเล่มนี้นำเสนอแก่นของความจำเป็นและแนวทางในการปฏิรูปคือ ความล้มเหลวเชิงโครงสร้างของประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำ  และนำเสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทยผ่านการอธิบายด้วยภาษาของการบริหารจัดการทรัพยากร โดยในการบริหารจัดการทรัพยากร ซึ่งถือเป็นแกนหลักของข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปนั้น ได้แบ่งออกเป็น 4 ด้านดังนี้

1) ทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วย 1.1) ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร 1.2) ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ 1.3) ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรป่า 1.4) ปฏิรูปการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 1.5) ปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 1.6) ปฏิรูปสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ

2) ทรัพยากรเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 2.1) ปฏิรูปทุน 2.2) ปฏิรูปด้านแรงงาน 2.3) ปฏิรูปการเกษตรเพื่อสังคมที่เป็นธรรม 2.4) ปฏิรูประบบภาษี 2.5) ปฏิรูประบบตลาด 2.6) ปฏิรูปด้านพาณิชย์และอุตสาหกรรม 2.7) ปฏิรูประบบพลังงาน

3) ทรัพยากรสังคม ประกอบด้วย 3.1) ปฏิรูปการศึกษา 3.2) ศาสนธรรมและจิตวิญาณ 3.3) การเปิดพื้นที่ทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ 3.4) ปฏิรูปด้านการสื่อสาร 3.5) ปฏิรูประบบสาธารณสุข 3.6) ปฏิรูปเมืองเพื่อคุณภาพชีวิต 3.7) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

4) ทรัพยากรทางการเมือง ประกอบด้วย 4.1) ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ 4.2) ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 4.3) ปฏิรูปการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 4.4) ปฏิรูปกองทัพ

ข้อเสนอเหล่านี้ มีทั้งที่นำเสนอเนื้อหาสาระไว้พอสมควร โดยระดับคณะอนุกรรมการบางชุด แต่หลายรายการ คณะกรรมการปฏิรูปได้ยอมรับเองว่ายังมิได้ทำการศึกษาจนได้ข้อสรุปที่ชัดเจน แต่เสนอเป็นข้อสังเกตและหลักการเบื้องต้นเท่านั้น จึงจำเป็นที่องค์กรเพื่อการปฏิรูปรอบใหม่ต้องนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบร่วมกับข้อเสนอจากองค์การอื่นๆ[3]เพื่อตัดสินใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เลยหรือยังไม่ได้มากน้อยเพียงใด หากข้อเสนอสามารถนำไปใช้ได้เลยก็นับว่าโชคดีเพราะทำให้ไม่ต้องทำงานใหม่หรือเกิดความล่าช้าต่อประโยชน์ที่ประชาชนผู้รอคอยจะได้รับ นอกจากนี้ การปฏิรูปที่กำลังจะเป็นไปของรัฐบาลปัจจุบันจะเดินตามรอยคณะกรรมการปฏิรูปก่อนหน้าและข้อเสนอเหล่านั้น หรือ สร้างความแตกต่างอย่างไรก็เป็นเรื่องที่ควรด้องรับฟังคนชุดเก่าเขาในระดับหนึ่งด้วย ทั้งนี้เพราะปัญหาของชาติย่อมเหมือนกัน แต่สถานการณ์ของประเทศไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แนวทางแก้ไขจึงอาจมองต่างกัน รวมทั้งปรัชญาหรือทฤษฎีการปฏิรูปและการจัดองค์กรเพื่อการปฏิรูปก็ย่อมมีผลต่อทิศทาง สาระข้อเสนอ และกระบวนการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปด้วย แต่ผู้เขียนก็หวังแบบคนชอบจินตนาการว่าการปฏิรูปรอบใหม่นี้ควรก้าวหน้าหรือสร้างสรรค์ไม่ด้อยกว่ารอบแรก และควรทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นจริงอย่างมีเป้าหมายเชิงระยะเวลาด้วย ทว่าการปฏิรูปประเทศจะเป็นจริงก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกลไกหรือองค์การที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปในเรื่องนั้นๆ ที่ผนวกขึ้นเป็นปัญหาส่วนรวมด้วย ฉะนั้นสถาบันและองค์การทั้งหลายจึงย่อมหนีไม่พ้นต่อการปฏิรูปตนเอง ทั้งในทางความคิดและการกระทำให้แตกต่างจากเดิมเพื่อรับใช้แนวคิดการปฏิรูปประเทศที่กำหนดขึ้นหรือจะสามารถตกลงร่วมกันได้นั้น

แม้ว่าผลการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปข้างต้นจะมีความน่าสนใจไม่น้อย แต่หนึ่งในผู้นำการทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูป (อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน) ได้เคยแสดงความเสียใจว่ารัฐบาลปัจจุบัน (ซึ่งมาทีหลังการจัดตั้งและการผลิตผลงานคณะกรรมการปฏิรูป) รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งเป็นเจ้าของรัฐบาลและผู้แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป) เองก็มิได้นำข้อเสนอไปดำเนินการ[4]และก็เป็นความจริงว่ารัฐบาลที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลางหลังจากที่นายกรัฐมนตรีตั้งคณะกรรมการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและสื่อถึงความปรองดองได้ไม่นาน ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปกลางปี 2554 และพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศใช้นโยบายประชาภิวัตน์ ในขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยังยืนยันนโยบายประชานิยมต่อไป เมื่อชนะการเลือกตั้งและเข้ามาเป็นรัฐบาลจึงไม่ได้สนใจหรือรับรองผลงานของคณะกรรมการปฏิรูปที่รัฐบาลคู่แข่งตั้งขึ้น ฉะนั้นการจะดำเนินการปฏิรูปประเทศต่อไปอย่างไรในคราวนี้ของรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยเป็นใหญ่ในปัจจุบัน อันเป็นผลผลิตที่ต่อเนื่องของความขัดแย้งทางการเมืองเรื้อรังและเจตนาที่จะสร้างความปรองดองในประเทศให้สำเร็จนั้น จึงสมควรเรียนรู้บทเรียนในอดีต และองค์กรและกระบวนการปฏิรูปครั้งใหม่สมควรได้รับการออกแบบอย่างเหมาะสมด้วย

ทางเลือกการปฏิรูปประเทศไทย: ภารกิจและโครงสร้างของสภาปฏิรูป

อย่างไรก็ตาม หากหวังผลในทางรูปธรรมอย่างแท้จริง มิใช่เกมการเมือง  องค์กรกลางดังกล่าว สมควรรองรับโดยออกเป็นพระราชกำหนดหรือพระราชบัญญัติ พร้อมกับกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการ โครงสร้าง (องค์ประกอบ) และที่มาของคณะกรรมการจากองค์การต่างๆในสังคมที่มาจากพหุภาคีผู้มีพลังอำนาจหลักๆในสังคมให้ชัดเจน ทั้งนี้การออกเป็นกฎหมายจะทำให้สภาการปฏิรูปมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการทำงานที่เกิดความชอบธรรม และในห้วงแห่งวิกฤตของประเทศขณะนี้ ประกอบกับงานการฟื้นฟูประเทศเป็นงานในอำนาจของรัฐบาลโดยทั่วไปอยู่แล้ว และแม้ว่าเราควรมีองค์กรกลางเพื่อเป็นกลไกเสริมแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหม่ให้กับสังคมก็ตาม ฉะนั้นการปฏิรูปประเทศก็ไม่ควรเป็นการเคลื่อนไหวที่เป็นอิสระเกินไปหรือไปแข่งกับรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด รัฐสภา รัฐบาล และฝ่ายค้านจึงควรส่งเสริมขบวนการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูป โดยอาจจะประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวที่ชื่อว่า “พระราชกำหนดว่าด้วยการเสริมสร้างการปฏิรูปประเทศและสันติธรรมในทางประชาธิปไตยและการบริหารบ้านเมือง” ตามประเด็นสมควรพิจารณาดังนี้

1. สภาปฏิรูปประเทศไทยควรมีภารกิจหรือหน้าที่ใดบ้าง เช่น

1.1 การส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆของรัฐ รัฐสภา และศาล รวมทั้งองค์การของภาคเอกชน และภาคประชาชนจัดทำข้อเสนอการปฏิรูปตนเอง และข้อเสนออื่นๆ เพื่อการปฏิรูปประเทศไทย พร้อมๆกับรับเอาความเห็นเพื่อการปฏิรูปตามความเห็นของสภาการปฏิรูปประเทศไทยที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปพิจารณาดำเนินการ

1.2 รวบรวม ศึกษาวิจัย รับฟัง หรือขอความเห็นจากบุคคล คณะบุคคล และ องค์การในภาคส่วนต่างๆ อย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประมวล กลั่นกรอง และจัดทำเป็นความเห็นโดยเฉพาะความเห็นที่สร้างสรรค์และมีลักษณะเป็นนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของประเทศไทยในทางการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม เพื่อเสนอต่อรัฐบาล รัฐสภา ศาล องค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และองค์การต่างๆ ของประชาชนในสังคมให้พิจารณาดำเนินการ

1.3 ส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูปตนเองของสถาบัน องค์การ และส่วนต่างๆในสังคมพร้อมกับการขับเคลื่อนสาธารณะในการร่วมมือเพื่อการปฏิรูปกับรัฐบาล และรายงานผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อรัฐบาลและสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ

1.4 ให้คำแนะนำ ติดตาม ประเมินผล ตอบสนอง และสนับสนุน หน่วยงานของรัฐ เอกชน และ ประชาชนเพื่อการบรรลุการปฏิรูปตนเองและปฏิรูปประเทศในทางการเมือง เศรษฐกิจ และ สังคม และสันติธรรมในทางประชาธิปไตยและการบริหารบ้านเมือง

1.5 การเป็นสื่อกลางหรือเป็นคนกลางในการระงับข้อขัดแย้งหรือเสริมสร้างสันติธรรมในทางการเมืองการปกครองของประเทศไทยและการมีสัมพันธ์กับนานาประเทศ

1.6  ดำเนินการอื่นๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

1.7 จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนการบรรลุหน้าที่ต่างๆ ข้างต้น

2. โครงสร้างหรือองค์ประกอบของสภาปฏิรูปหรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย อาจมีองค์ประกอบดังต่อไปนี้

2.1 สภาหรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยมีจำนวน 100 คน

2.1.1 คณะกรรมการโดยตำแหน่งมาจากประธานหรือผู้แทนองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญโดยมีจำนวน (ประมาณ) 10 คน

2.1.2 คณะกรรมการโดยการแต่งตั้งของคณะรัฐมนตรี โดยมีจำนวน 60 คน จากสถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการสำคัญๆ และองค์การประชาชน และเอกชน ที่มีประสบการณ์ ความรู้และความสามารถเป็นที่ประจักษ์ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งในทางกฎหมาย วิชาการและเทคโนโลยี และรวมถึงการคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเพศด้วย

2,1.3 คณะกรรมการที่มาจากการเสนอชื่อขององค์การของประชาชน ประเภทองค์การละ 1 คน โดยให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีจำนวน 15 คน โดยองค์การเหล่านี้ เป็นองค์การระดับชาติที่มีกฎหมายรองรับ อาทิ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมนายธนาคาร สภาเกษตรกร สภาแรงงาน สันนิบาตสหกรณ์ สันนิบาตเทศบาล สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัด สันนิบาตองค์การบริหารส่วนตำบล สภาองค์กรชุมชน สภาวิชาชีพต่างๆ (เช่น สภาทนายความ แพทยสภา สภาวิชาชีพนักสังคมสงเคราะห์) และ สภาพัฒนาการเมือง เป็นต้น 

2.1.4 คณะกรรมการที่มาจากการเสนอชื่อของที่ประชุมร่วมของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีจำนวน 10 คน

2.1.5 คณะกรรมการที่มาจากการเสนอชื่อขององค์การกลางขององค์การพัฒนาเอกชน และนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง มีจำนวน 5 คน

2.2 ให้แบ่งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยออกเป็นสามด้านหลัก คือ คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ และคณะกรรมการปฏิรูปสังคม

2.3 คณะกรรมการปฏิรูปการเมือง คณะกรรมการปฏิรูปเศรษฐกิจ และคณะกรรมการปฏิรูป สังคม สามารถตั้งคณะทำงานเฉพาะเรื่องได้ตามจำเป็น

2.4  ให้มีสำนักงานของคณะกรรมการปฏิรูปเป็นองค์การกลางเพื่อการประสานการปฏิรูป

2.5 คณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านหรือโดยร่วมกันสามารถจัดองค์กรหรือระบบงานภายใน หรือระบบการประชุมระดับชาติ ภูมิภาค หรือตามสาขา และดำเนินงานอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม

2.6 สภาหรือคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยสามารถแต่งตั้งคณะบุคคลเป็นที่ปรึกษาเพื่อการบรรลุภารกิจได้

2.7 คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยมีวาระการทำงานในช่วงระยะเวลาหนึ่ง (เช่น 5 ปี และอาจต่ออายุได้)

2.8 ให้นายกรัฐมนตรีหรือบุคคลที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ

2.9 ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนที่มาร่วมงานของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยให้ถือว่าเป็นการทำงานให้กับทางราชการและให้ผู้บังคับบัญชาสนับสนุน

2.10  คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยจะต้องรับฟังความเห็นจากประชาชนและองค์การต่างๆ ในสังคม อย่างกว้างขวางและไม่เลือกปฏิบัติ

สรุปและบทส่งท้าย

วิถีการปฏิรูปเป็นวิถีแห่งการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างสันติ แต่เราควรมีความชัดเจนในเชิงหลักคิดกันพอสมควรตั้งแต่นิยาม กลยุทธ์ และทางเลือกการจัดการ ข้อเสนอของข้าพเจ้าข้างต้นนั้นเป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง โดยเน้นที่การออกแบบและกำหนดหน้าที่ขององค์กรการปฏิรูปเพื่อส่งเสริมการปฏิรูปตนเองและส่วนรวมพร้อมกันไป[5] ส่วนใครจะเข้ามาบ้างก็จะเป็นเรื่องที่ควรจะตามมา และเรายังควรนำเอาประสบการณ์ของการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศในคราวรัฐบาลชุดก่อนมาเรียนรู้ด้วย ทั้งในเชิงลักษณะองค์กร การจัดการ จุดอ่อนและจุดแข็ง ความสำเร็จและไม่สำเร็จผล รวมทั้งปัญหาและอุปสรรคต่างๆ อาทิ ทำไมการปฏิรูปไม่เกิดขึ้นจริง

การปฏิรูปเพื่อส่วนรวมจริงๆ คงไปไม่ได้ไกล หากขาดเสียซึ่งการสารภาพและวิพากษ์วิจารณ์ตนเองหรือต่อกันและกัน เพื่อประโยชน์ในการปรับปรุงการเปลี่ยนแปลงมิติต่างๆของตนเองและของประเทศให้เหมาะสมที่สุด กล่าวคือ การวิพากษ์วิจารณ์ตนเองเพื่อการปฏิรูปส่วนตนขององคาพยพทั้งหลาย หรือสถาบันต่างๆที่มีผลผลิตและผลกระทบต่อกันและกันจนเป็นสภาพร่วมของสังคมนั้นควรจะมีอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นสถาบันหรือองค์การสำคัญๆของชาติทั้งหลายก็จะล้าสมัยและอาจเป็นตัวถ่วงรั้งความก้าวหน้าของสังคมโดยรวมไปด้วย (ดังเช่นที่พรรคประชาธิปัตย์กำลังเริ่มต้นปฏิรูปตนเองแล้วในขณะนี้ และย่อมส่งผลกระทบถึงการเมืองไทยและเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมไปด้วย นับเป็นการกระทำที่สมควรให้รางวัล) และการจัดตั้งขบวนการปฏิรูปของภาคประชาชนกันเองเพื่อวิพากษ์วิจารณ์และนำเสนอทางเลือกการปฏิรูปต่างๆต่อสาธารณะหรือต่อรัฐบาลที่มีในขณะนี้ คงจะช่วยให้การปฏิรูปอย่างเป็นทางการของรัฐบาลได้ประโยชน์ไม่น้อย

 

 

 




[1] โปรดดูเพิ่มในบทความของผู้เขียน เรื่อง “กระบวนทัศน์การปฏิรูปประเทศไทย : ข้อพิจารณาเพื่อการปฏิรูปส่วนรวมและการปฏิรูปตนเอง” รัฐสภาสาร ประจำเดือนธันวาคม 2556 หน้า 11-38. ใน www.parliament.go.th/ewtadmin/ewt/.../article_20131129134954.pdf‎.

 

 

[2] อ้างจาก http://www.reform.or.th/about-us, วันสืบค้น  14 ตุลาคม 2556 และคณะกรรมการชุดแรก คือคณะกรรมการปฏิรูปทำงานได้ 10 เดือน ก็ยุติบทบาทเพราะมีการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ แต่ชุดที่สอง คือคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปยังทำงานต่อไปจนครบสมัย

[3]ดังที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำเปรียบเทียบประเด็นหัวข้อไว้บ้างแล้วจากรายงานหลายชิ้น เช่น รายงานของ คอป.  รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สถาบันพระปกเกล้า แผนพัฒนาการเมือง สภาพัฒนาการเมือง รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร มติสมัชชาปฏิรูปประเทศไทย คสป. สรุปรายงานผลการดำเนินการพูดจาหาทางออกประเทศไทย 108 เวที ปคอป. ร่วมกับที่องค์การอิสระอื่นๆ ทำไว้ เช่น สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คณะกรรามการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องการและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบแห่งชาติ และ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

[4] การสัมภาษณ์ตามเนื้อหาดังกล่าวปรากฏในปี 2556 ในสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตหลายสำนัก

[5] การปฏิรูปตนเองเพื่อความเจริญก้าวหน้าทั้งส่วนตนและผลต่อส่วนรวมควรเกิดขึ้นอย่างน้อยกับสถาบันและองค์การของชาติต่อไปนี้ คือ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันการศึกษา สถาบันสื่อมวลชน สถาบันทางการเมือง (เช่น สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และพรรคการเมือง) องค์การศาล หน่วยงานราชการและกองทัพ องค์การอิสระที่รัฐธรรมนูญกำหนดและนอกเหนือจากนั้น องค์การของนายทุนและนักธุรกิจ (เช่น สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมนายธนาคารแห่งประเทศไทย และ สภาองค์การนายจ้าง) สภาแรงงาน (องค์การระดับชาติของสหภาพแรงงาน) สภาองค์กรมชุมชน คณะกรรมการประสานงานองค์การพัฒนาเอกชน (องค์การระดับชาติขององค์การพัฒนาเอกชน)  สภาองค์การวิชาชีพต่างๆ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย สันนิบาตหรือสมาคมขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ องค์การของนักศึกษา และสมาคมของประชาชน นักวิชาการ และ นักธุรกิจทั้งหลาย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net