Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ
การเปลี่ยนแปลงหลักการและเนื้อหาของร่างพรบ.นิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการและการลงมติวาระ 3 ในสภาผู้แทนราษฎรที่ผ่านมานั้นทำให้ผมกลับมาอ่านงานของนักกฎหมายเยอรมันในยุครัฐธรรมนูญไวมาร์ นามว่า คาร์ล ชมิตต์ (Carl Schmitt) อีกครั้ง ถ้าจะว่าไปแล้วผมไม่ค่อยชื่นชอบความคิดชมิตต์เท่าไหร่ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Sovereign & Exception,  Friend and Enemy (ไม่นับเรื่องส่วนตัวของชมิตต์ที่ไปพัวพันกับนาซีและเขาเองก็ไม่เคยออกมาอธิบายในเรื่องนี้ด้วย) แต่พอเกิดเหตุการณ์การผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่ขัดกับหลักการของร่างพรบ.และลงมติแบบรวบรัดตัดความ ผมก็นึกถึงบทความของชมิตต์ขึ้นมาทันที บทความนี้ชื่อว่า “สภาวะวิกฤตของรัฐสภาประชาธิปไตย” (The Crisis of Parliamentary Democracy)  แม้ว่างานชิ้นนี้จะเขียนขึ้นในบริบทที่ชมิตต์วิจารณ์การทำงานของระบบรัฐสภาของรัฐตะวันตกในยุโรปช่วงเวลาศตวรรษที่ 19-ต้นศตวรรษที่ 20 เป็นหลัก แต่งานชิ้นนี้ก็ยังไม่ล้าสมัยและหากวิจารณ์กระบวนการปรับแก้ร่างพรบ.ผ่านงานข้อวิจารณ์ของชมิตต์แล้วก็น่าจะเปิดมุมมองหรือนำไปสู่ข้อถกเถียงในวงวิชาการมากขึ้น

I.การเปิดเผยและการถกเถียงอภิปรายเป็นหัวใจของระบอบรัฐสภา
ชมิตต์เชื่อว่าการเปิดเผย (Openness) การถกเถียงอภิปราย (Discussion) เป็นหลักการสำคัญของระบอบรัฐสภา  ชมิตต์วิจารณ์การเมืองแบบเก่าหรือการปกครองที่เรียกว่า “Cabinet politics” ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของคนไม่กี่คนที่ปกปิดเป็นความลับว่าเป็นสิ่งที่เลวร้าย ในขณะที่การเปิดเผย (หรือภาษาในปัจจุบันคือความโปร่งใส) เป็นสิ่งที่ดี ชมิตต์สนับสนุนการขจัดการเมืองแบบปกปิดหรือการทูตแบบลับๆเพราะจะเป็นการป้องกันการคอร์รัปชั่น (ในหนังสือของ Kennedy ใช้คำว่า “corruption” แต่ผมไม่อยากแปลว่าการทุจริตคดโกง ผมคิดเองว่าน่าจะหมายถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบคล้ายๆในความหมายของ Lord Actonที่พูดว่า All power corrupts; absolute power corrupts absolutely. มากกว่า)

ส่วนการถกเถียงอภิปรายในสภานั้นเป็นเรื่องของการโต้แย้งแสดงเหตุผลของผู้แทนในสภา ชมิตต์เห็นว่าการถกเถียงอภิปรายคือการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้แสดงความเห็นพยายามโน้มน้าวผู้อื่นด้วยข้อพิสูจน์เกี่ยวกับ “ความจริง” หรือ “ความยุติธรรม” หรือ “ความถูกต้อง”  แต่ชมิตต์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าคุณค่าเหล่านี้ (ซึ่งเป็นรากฐานของรัฐสภาในศตวรรษที่ 19)   ได้ถูกทำลายลงโดยผู้แทนในระบอบรัฐสภาที่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนรวม ผู้แทนเหล่านี้มิได้เป็นอิสระต่อผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง (หรือฐานเสียงของตนเอง) และพรรคการเมืองที่ตนสังกัด การตัดสินใจในสภามิได้เป็นผลมาจากการอภิปรายถกเถียงด้วยเหตุผล (Discussion) หรือการพิจารณาไตรตรองอย่างรอบคอบ (Deliberation) แต่เป็นผลมาจาการคำนึงถึงผลประโยชน์ของพรรคการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ชมิตต์วิจารณ์อีกว่า ระบอบรัฐสภาได้ละทิ้งรากฐานทางปัญญาและเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น การประชุมแลกเปลี่ยนความเห็น รวมทั้งเอกสิทธิ์และความคุ้มกันในสภา ที่ร้ายไปกว่านั้น การตัดสินใจทางการเมืองกลับขึ้นอยู่กับคณะผู้บริหารของพรรคการเมืองที่มีอยู่ไม่กี่คนและการตัดสินใจนี้ได้กระทำขึ้นอย่างปกปิด  Ellen Kennedy เห็นว่า ในสายตาของชมิตต์ รัฐสภาได้สูญเสียสถานะของการเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระและมีเหตุผลของผู้แทน และกลายเป็น “ห้องขนาดเล็ก” (antechamber) สำหรับซ่อนผลประโยชน์และผู้แทนก็มิได้เป็นผู้แทนของประชาชนอีกต่อไป 

อนึ่ง มีข้อควรระลึกว่า ชมิตต์วิจารณ์การทำงานของสภาพร้อมๆไปกับวิจารณ์แนวคิดเรื่อง “เสรีนิยม” (Liberalism) และ “ประชาธิปไตย” (Democracy) ซึ่งชมิตต์เห็นว่าสองเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน  แต่เรื่องทั้งสองอยู่นอกขอบเขตของข้อเขียนนี้

ที่น่าสนใจก็คือ รัฐธรรมนูญไวมาร์มาตรา 21 ได้บัญญัติว่า “สมาชิกของรัฐสภาเป็นผู้แทนทั้งประเทศ สมาชิกเหล่านี้ต้องปฎิบัติตามมโนธรรมสำนึกของตนเองและไม่ตกอยู่ภายใต้ (หรือผูกพัน) คำสั่งใดๆ”  ระบบรัฐสภาเรียกร้องให้ผู้แทนจะต้องมีความเป็นอิสระและต้องมองข้ามความต้องการที่คับแคบของพรรคการเมือง  แต่การที่รัฐธรรมนูญไวมาร์บัญญัติหลักการให้เป็นผู้แทนเป็นอิสระและฟังเสียงมโนธรรมสำนึกของตนยิ่งกว่าคำสั่งของพรรคการเมืองนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงทำไม่ได้ เพราะนักการเมืองกลับเชื่อฟังพรรคการเมืองที่ตนสังกัดมากกว่ามโนธรรมสำนึกของตนเอง ประเด็นนี้ได้ถูกวิจารณ์มากไม่เฉพาะแต่ชมิตต์ Gustav Radbruch ก็วิจารณ์ประเด็นนี้ รวมทั้งนัก เศรษฐศาสตร์อย่าง Joseph Schumpeter ก็เรียกสภาว่าเป็น “หุ่นเชิด” (Puppet)

กล่าวโดยสรุปแล้ว งานเรื่อง The Crisis of Parliamentary Democracy สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบอบรัฐสภาที่มิได้ตั้งอยู่บนหลักการของการถกเถียงอภิปรายโต้แย้งอย่างมีเหตุผลของผู้แทน แต่เป็นเพียงเวทีการตัดสินใจทางการเมืองบนพื้นฐานของผลประโยชน์แต่เพียงอย่างเดียว

II.การแก้เนื้อหาในชั้นกรรมาธิการและการลงมติวาระ 3
หากมองผ่านความคิดของชมิตต์ การเปลี่ยน “หลักการ” และ “เนื้อหา” ของร่าง พรบ.นิรโทษกรรมนั้นเห็นได้ชัดว่าเป็นการกระทำที่มีลักษณะปกปิดไม่โปร่งใส เพราะประชาชนไม่ได้มีโอกาสรับรู้มาตั้งแต่แรก ส่วนการลงมติในวาระ3 นั้นก็รีบเร่งเสียจนไม่มีการถกเถียงอภิปรายโต้แย้งแสดงเหตุผลกันอย่างรอบด้านเต็มที่ ยิ่งกว่านั้นยังมีการนำมติพรรคมาขู่ให้ สส.ทำตามมติพรรค ประเด็นที่น่าคิดก็คือ รัฐธรรมนูญของไทยก็มีบทบัญญัติคล้ายกับมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญไวมาร์ซึ่งผู้เขียนคิดว่าคนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 น่าจะเอามาจากมาตรา 21 นั่นเอง รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 122 บัญญัติว่า “สมาชิกผู้แทนราษฎร….ย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฎิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์” คำถามมีว่า การลงมติวาระ 3 ที่ผ่านมา สส.เพื่อไทยได้คำนึงถึงมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญมากน้อยเพียงใด

บทส่งท้าย
ไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์การลงมติผ่านวาระ 3 ของร่าง พรบ.นิรโทษกรรมจะมีผลกระทบให้ผู้คนได้ย้อนกลับไปดูเหตุการณ์ในอดีตช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายนที่มีสารพัดข้อกล่าวหาหรือเกิดวาทกรรมจากฝ่ายตรงข้าม (อย่าง “เผด็จการรัฐสภา” “เสียงข้างมากลากไป” “การเลือกตั้งเป็นเพียงพิธีกรรม” “รัฐบาลหุ่นเชิด” ลฯล) แล้วอาจรำพึงในใจว่า “อืมม… จริงของมันแฮะ”

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net