Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านพ้นมาวันนี้ 40 ปีให้หลัง ขบวนการนักศึกษาประชาชนต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง“ประชาธิปไตยทางการเมือง” คุณูประการจากการต่อสู้กับเผด็จการทหาร ทำให้ทุกวันนี้เรามีสิทธิเสรีภาพทางการเมืองมากขึ้น ทำให้กองทัพไม่สามารถปกครองประเทศไทยแบบเก่าได้อีกต่อไป แต่สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม ในความหมายของ“ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ” ประชาชนไทยยังไม่ได้รับความเป็นธรรม

ยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟูในปี 2516-2519 ขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งมีมิติกว้างไปกว่าสิทธิทางการเมือง เกิดศูนย์ประสานงานกรรมกรขึ้นเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานและความเป็นธรรมในการจ้างงาน   และมีการก่อตั้งสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยขึ้น เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขเศรษฐกิจชาวนา โดยเฉพาะปัญหาที่ดินที่มีการรณรงค์ให้ ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ ชาวนาไทยต้องไร้หนี้สิน ซึ่งทั้งหมดไปกระทบโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ชนชั้นนำไทยยึดกุมโดยตรง

โดยหลักการแล้ว สิ่งที่มนุษย์ไม่สามารถสร้างสรรค์ขึ้นเองได้ ไม่ควรนำเข้าซื้อขายในระบบกลไกตลาด มันควรเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนร่วมของสังคม แต่ที่ผ่านมาภายหลังจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้เดินตามนโยบายทุนนิยมเสรีเต็มที่ ชนชั้นนำของสังคมไทยได้กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพย์สมบัติส่วมร่วมของสังคมไทยอย่างมากมาย ดังนั้น การลุกขึ้นจับมือกันของขบวนการนักศึกษา กรรมกรและชาวนา ตามคำขวัญ “สามประสาน” ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมทางสังคม จึงถือเป็นภัยต่อความมั่นคงของชนชั้นนำไทยอย่างยิ่ง ต่อมาพวกเขาจึงตามไล่ล่าและลอบสังหารแกนนำเหล่านั้นจนเสียชีวิตมากกว่า 34 คน อาทิ  แสง รุ่งนิรันดรกุล,  นายนิสิต จิรโสภณ, อินถา ศรีบุญเรือง, อมเรศ ไชยสะอาด, บุญสนอง บุญโยทยาน เป็นต้น ก่อนเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาในวันฆ่านกพิราบ 6 ตุลาคม 2519

การทดลองประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของชนชั้นนำเพียงแค่ 3 ปี ทำให้การเมืองไทยไม่มีเสถียรภาพ พวกเขาเรียกคืนอำนาจเผด็จการเดิมแต่ก็ได้รับการกดดันจากนานาอารยะประเทศ จนนำมาสู่การรัฐประหารครั้งต่อมาเพื่อนิรโทษกรรมผู้ต้องหา 6 ตุลา และนำพาประเทศไปสู่ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” มากขึ้น เพื่อลบคำครหาและความน่าเชื่อถือต่อต่างชาติ

ผ่านมา 40 ปี วันนี้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำอันดับหนึ่งของเอเชีย ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยกลับห่างกันมากขึ้นจนติดอันดับต้นๆ ของโลก โครงสร้างทางอำนาจที่ถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ ทั้งสถาบันทางการเมืองและเศรษฐกิจ ทำให้โครงสร้างและความสัมพันธ์ทางสังคมเสียสมดุล การพัฒนาและนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจึงมักเอื้อประโยชน์ให้ชนชั้นนำทางสังคมเท่านั้น ช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยห่างกันถึง 15 เท่า สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าในปี 2553 จำนวนคนจนในประเทศไทย ยังมีอยู่ถึง 5,076,700 คน หรือคิดเป็นสัดส่วน 7.5 % ซึ่งเป็นผู้มีรายได้ต่ำจากเส้นความยากจนที่ 1,678บาทต่อคนต่อเดือน ขณะที่คนรวยที่สุด 10% แรกของประเทศ มีรายได้รวมกันมากถึง 38.41% ของรายได้รวมทั้งประเทศ กลุ่มคนจนที่สุด 10% แรกของประเทศมีรายได้เพียง 1.69% ของรายได้รวมเท่านั้น ความขัดแย้งจากปัญหาการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ คือความขัดแย้งหลักของสังคมที่รอวันปะทุความรุนแรง รวมถึงความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาที่นำมาสู่ค่าจ้างแรงงานที่แตกต่างกันอีกด้วย

ถึงวันนี้ ขบวนการนักศึกษายังต่อสู้เพื่อการศึกษาที่เป็นรัฐสวัสดิการ หยุดนโยบายการศึกษาเพื่อการค้าและการลงทุน และมหาวิทยาลัยในกำกับซึ่งเป็นเหมือนการลอยแพการศึกษาของรัฐ, ขบวนการชาวไร่ชาวนายังต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ในขณะที่ระบบทุนนิยมได้ทำให้พวกเขากลายเป็นชาวนารับจ้างในที่ดินที่เคยเป็นของตนเอง กลุ่มทุนได้ใช้กลไกตลาดเป็นเครื่องมือในการฮุบเอากรรมสิทธิ์ส่วนร่วมของสังคมไปกอบโกยผลประโยชน์และหารายได้ จนไม่มีทางออกใดนอกจากการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างจริงจัง เหมือนยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มีการออกพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จำกัดการถือครองที่ดินไม่เกิน 50 ไร่ แต่มายกเลิกในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 19 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2503 ให้มีการยกเลิกการจำกัดการถือครองที่ดิน เพื่อส่งเสริมให้เอกชนได้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรโดยไม่มีมาตรการรองรับ

ในขณะที่ขบวนการกรรมกรยังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในการจ้างงานที่เหมาะสม สิทธิแรงงานที่พึงได้รับ แม้ว่าจะมีการก่อตั้ง“กระทรวงแรงงาน” ขึ้นแต่ก็เหมือนเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเสียมากกว่า ในภาวะที่กรรมกรต้องแบกรับความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน และการแก้ไขกฎหมายเพื่อแยกสลายแรงงานทั้งหลายออกจากกัน ล้วนแต่เป็นอุปสรรคและเหตุผลที่ทำให้การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ และความเป็นธรรมทางสังคมยังไม่บรรลุ

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมคือ  การออกกฎหมายให้มีการปฏิรูประบบภาษีทั้งระบบ โดยให้มีการเก็บภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดกอัตราก้าวหน้า ทั้งนี้ ปัจจุบันเราเสียภาษีทางอ้อมกว่า 70% และเสียภาษีทางตรงเพียง 30% ภาษีทางอ้อมนั้นเก็บผ่านฐานการบริโภค คือ ภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มต่างๆ ซึ่งเป็นการเก็บภาษีทางอ้อมที่ผลักภาระให้คนจนส่วนใหญ่เป็นผู้แบกรับภาษี แต่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐ ทรัพย์สินและรายได้ของบุคคลที่สั่งสมเพิ่มขึ้นจากการรีดมูลค่าจากคนสังคม สมควรแบ่งปันคืนสู่สังคม โดยให้รัฐจัดการในส่วนหนึ่งเพื่อการพัฒนาสังคม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ความสะดวกปลอดภัยของชีวิตตลอดจนคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่ดีจากรัฐ พลเมืองในยุโรป โดยเฉพาะประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยินดีจ่ายภาษีส่วนเกินนี้คืนให้รัฐในอัตราที่สูงในอัตราก้าวหน้าจากทรัพย์สินและรายได้ที่งอกเงย เพราะแต่ละคนก็เอาประโยชน์ที่งอกเงยนั้นมาจากสังคมไม่เท่ากัน ความเป็นธรรมจึงเกิดขึ้นจากโครงสร้างภาษีที่เป็นธรรมนี้ และรัฐบาลก็นำภาษีที่เก็บได้มาพัฒนาสังคม จนผลิตผลของทรัพย์สิน ที่ดินและมูลค่าของการลงทุนต่างๆ งอกเงยขึ้นมาเป็นดอกผลตอบแทนคืนสู่พลเมืองอีกระลอกหนึ่ง ภาษีทรัพย์สิน คือภาษีทางตรงที่เราจ่ายให้แก่รัฐและสังคมระหว่างที่มีชีวิตอยู่ และภาษีมรดกคือการจ่ายส่วนเกินที่ปลายทาง

40 ปี 14 ตุลา เราได้มาซึ่งประชาธิปไตยทางการเมืองที่ล้มลุกคลุกคลาน แต่ถึงเวลาสืบสานอุดมการณ์สามประสานเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมที่แท้จริงทางโครงสร้าง นั่นคือการสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ!.

 

หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แทบลอยด์ 13 ตุลาคม 2556)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net