Skip to main content
sharethis
กรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ AREA ทำการสำรวจความคิดเห็นประชาชนใน จ.นครสวรรค์ ระบุคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว แนะการแก้ไขปัญหาคือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูล
 
วันนี้ (3 ต.ค.56) ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ต.ค.56 จากรณีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ระบุคนจำนวนมากเห็นด้วยกับการก่อสร้างโครงการดังกล่าว
 
รายละเอียด ดังนี้
 
AREA แถลง ฉบับที่ 133/2556: วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2556
ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่หนุนเขื่อนแม่วงก์
 
ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
 บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA)
 
กรณีการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ คาดว่าประชากรในจังหวัดนครสวรรค์ส่วนใหญ่ส่วนใหญ่ถึง 2:1 สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
 
ตามที่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในระหว่างวันที่ 2-3 ตุลาคม 2556 โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ได้ร่วมออกสำรวจเอง ได้ผลสรุปสำคัญดังต่อไปนี้:
 
1. การสำรวจนี้ครอบคลุมอำเภอเมือง เทศบาลนครนครสวรรค์ อำเภอโกรกพระ อำเภอลาดยาว เทศบาลตำบลลาดยาว อำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน และอำเภอชุมตาบง รวมประชากรทั้งหมด 458, 834 คน โดยประมาณว่ามีประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไปจำนวน 344,736 คน หรือ 75% ของประชากรทั้งหมด ผลการสำรวจพบว่าประชาชน 57% ต้องการให้สร้างเขื่อนแม่วงก์ 16% ยังไม่ได้ตัดสินใจ และ 27% ไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามหากไม่รวมกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจ สัดส่วนระหว่างผู้สนับสนุนกับผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน จัดเป็น 69% และ 31%ตามลำดับ หากประมาณการเป็นจำนวนประชากรจะมีผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อนจำนวน 238,486 คน และผู้คัดค้าน 106,250 คน จากทั้งหมด 344,736 คน
 
2. กลุ่มประชาชนที่คัดค้านการสร้างเขื่อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ และในเขตเทศบาลตำบลลาดยาว แต่ในเขตอื่น ๆ ประชาชนทั่วไปส่วนมากจะสนับสนุนการสร้างเขื่อน โดยท้องที่ที่สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนอย่างล้นหลาม ได้แก่ประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ในเขตอำเภอเมือง และอำเภอลาดยาว
 
3. ผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนให้เหตุผลสำคัญเกี่ยวกับความสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ ความไม่เหมาะสมของสถานที่ก่อสร้างเขื่อน ความรักและสงสารสัตย์ป่า และความไร้ประสิทธิผลของเขื่อนที่คาดว่าจะก่อสร้างขึ้น อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าที่คาดว่าจะสูญเสียก็มีพื้นที่ขนาดเล็ก คือใหญ่กว่าประมาณ 2 เท่าของเขตสาทร กรุงเทพมหานครเท่านั้น
 
4. สำหรับผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนให้เหตุผลถึงการป้องกันปัญหาน้ำท่วม และการมีน้ำใช้เพื่อเกษตรกรรมในฤดูแล้ง โดยได้วิงวอนให้สังคมเห็นแก่ความทุกข์ยากของเกษตรกรมากกว่าสัตย์ป่า แต่ทั้งนี้หากไม่มีการบริหารและจัดการน้ำที่ดี ก็อาจไม่ได้ประสิทธิผลตามที่คาดหวัง
 
5. จะสังเกตได้ว่าผู้สนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนจะเป็นเกษตรกรเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตามเกษตรกรในบางพื้นที่ที่ไม่ได้ผลกระทบก็ไม่เห็นควรให้มีการก่อสร้างเขื่อนเช่นกัน สำหรับผู้คัดค้านส่วนมากเป็นผู้ไม่ได้มีอาชีพเกี่ยวกับเกษตรกรรมหรืออยู่ในเขตเมือง เห็นว่าตัวเองไม่เดือดร้อนและเกรงกลัวการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และสัตย์ป่าอย่างไม่มีวันกลับมา
 
สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหานี้ก็คือให้ทุกฝ่ายนำเสนอข้อมูลเพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ใช่ต่างคนต่างให้ข้อมูล นอกจากนี้ควรให้มีการลงประชามติในหมู่ประชาชนในจังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดใกล้เคียงที่การก่อสร้างเขื่อนจะส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านี้
 
นอกจากจะสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนถึงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของเขื่อนที่คิดจะจัดสร้าง ทางราชการยังควรพัฒนาคลองชลประทาน คลองส่งน้ำขนาดใหญ่ รวมการทั้งขยายและขุดลอกคูคลองในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพในการระบายน้ำ รวมทั้งการก่อสร้างฝาย หรืออ่างเก็บน้ำที่มีประสิทธิผลเพิ่มเติม
 
สำหรับรายละเอียดของผลการสำรวจนี้จะได้นำเสนอในโอกาสต่อไป
 
ผลการสำรวจความเห็นของประชาชนนครสวรรค์เกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ 2-3 ตุลาคม 2556
ท้องที่ จำนวนประชากร (คน) ประชากร 20 ปีขึ้นไปเห็นอย่างไรกับเขื่อนแม่วงก์ % ของความเห็น
  รวม 20 ปีขึ้นไป ควรสร้าง ไม่ตอบ ไม่ควร ควรสร้าง* ไม่ควร* ควร ไม่ตอบ ไม่ควร ควร* ไม่ควร*
เมืองนครสวรรค์ 145,278 109,152 84,138 20,466 4,548 103,554 5,598 77% 19% 4% 95% 5%
เทศบาลนครนครสวรรค์ 95,237 71,555 16,398 4,472 49,194 17,889 53,666 23% 6% 69% 25% 75%
โกรกพระ 35,966 27,022 12,888 3,742 5,820 18,615 8,407 48% 14% 22% 69% 31%
ลาดยาว 81,492 61,228 44,529 8,349 8,349 51,560 9,668 73% 14% 14% 84% 16%
เทศบาลตำบลลาดยาว 8,296 6,233 1,438 1,247 3,548 1,798 4,435 23% 20% 57% 29% 71%
แม่วงก์ 53,132 39,920 17,696 11,112 11,112 24,522 15,398 44% 28% 28% 61% 39%
แม่เปิน 20,515 15,414 8,596 2,668 4,150 10,395 5,018 56% 17% 27% 67% 33%
ชุมตาบง 18,918 14,214 8,577 2,573 3,431 10,153 4,061 60% 18% 24% 71% 29%
รวม 458,834 344,736 194,261 54,629 90,151 238,486 106,251 57% 16% 27% 69% 31%
สัดส่วน 100% 75.1%                    
 
* ตัดกลุ่มไม่มีความเห็นออกเพื่อให้เห็นชัดเจนระหว่างกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
จำนวนประชากรนครสวรรค์ 2555 http://61.19.192.247/webnkw/nsinfo/economic/index.php?tagpage=edata1
จำนวนประชากรเทศบาลตำบลโกรกพระ http://www.krokphra.go.th/frontend/theme-1/citizen.php
จำนวนประชากรเทศบาลตำบลลาดยาว 2553 http://www.ladyaocity.go.th/content/content/pdf/pop.pdf
จำนวนประชากรในเขตเทศบาลทั่วประเทศ 2554 http://www.dla.go.th/upload/service/2011/9/156.pdf
     
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net