Skip to main content
sharethis

“ขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เข้ามาร่วมมือกันในการกดดันให้แต่ละฝ่ายยอมรับในหลักการสำคัญที่ว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้มุ่งออกกฎหมายเพื่อมวลชน โปร่งใส และ ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน” มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนแถลง

14 ส.ค.56 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์นิรโทษกรรมต้องเพื่อมวลชน ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนและโปร่งใส โดยเรียกร้องว่าเป้าหมายของการนิรโทษกรรมต้องอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นหลัก ส่วนผู้มีบทบาทโดยตรงในการสร้างความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แกนนำของทุกสี ชายชุดดำ นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ ไม่สมควรได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้ ส่วนคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรุนแรงโดยตรง โดยเฉพาะนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีในขณะเกิดเหตุ พร้อมทั้งเรียกร้องให้มีการเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถรายงานข้อถกเถียงและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ได้อย่างเสรี เพื่อให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ 

0000
แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง นิรโทษกรรมต้องเพื่อมวลชน ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อนและโปร่งใส
 
 
กฎหมายนิรโทษกรรมซึ่งขณะนี้อยู่ในการพิจารณาของรัฐสภาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเยียวยาความเสียหายและการสร้างความเป็นธรรมให้คนกลุ่มต่างๆ ในสังคมการเมืองไทย อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าวนี้ยังเผชิญกับอุปสรรคสำคัญหลายประการที่มีผลให้การพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวอาจไม่สามารถคืบหน้าต่อไปได้
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีข้อเสนอต่อการพิจารณากฎหมายนิรโทษกรรมให้ห้วงเวลานี้ดังต่อไปนี้
 
ประการแรก เป้าหมายของการนิรโทษกรรมต้องอยู่ที่ประชาชนซึ่งเป็นผู้เข้าร่วมการชุมนุมเป็นหลัก
 
เนื่องจากในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมามีประชาชนที่มีทัศนะทางการเมืองแตกต่างกันเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับฝ่ายต่างๆ อย่างกว้างขวาง ซึ่งในการเคลื่อนไหวก็ได้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยกระทำการที่เป็นการละเมิดกฎหมาย หากมีการดำเนินคดีกับบุคคลเหล่านี้ก็อาจทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองไม่อาจบรรเทาลงได้ ดังนั้น ประชาชนหรือมวลชนที่เข้าร่วมในการชุมนุมจึงต้องเป็นเป้าหมายหลักของการนิรโทษกรรมในครั้งนี้
 
ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ในความขัดแย้งทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายที่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องและมีบทบาทโดยตรงกับการสร้างความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แกนนำของทุกสี ชายชุดดำ นักการเมืองที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบ จึงต้องไม่ใช่ผู้ที่สมควรได้รับประโยชน์จากการนิรโทษกรรมครั้งนี้
 
ประการที่สอง ในส่วนของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมต้องไม่มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความรุนแรงโดยตรง
 
กฎหมายนิรโทษกรรมจะมีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงบุคคลหลายฝ่ายที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา ฉะนั้น บุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงเหล่านี้จึงต้องไม่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการนี้ เพราะจะเป็นการบัญญัติกฎหมายโดยที่ตนเองมีผลประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องอยู่ การปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในกระบวนการนี้อาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งในเรื่องความชอบธรรมและความเป็นกลางของการปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมทั้งมีผลในทางสร้างความไม่ไว้วางใจกับฝ่ายที่อยู่ตรงกันข้ามว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยยึดมั่นในหลักการและผลประโยชน์ของส่วนรวม ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตนเข้าไปเกี่ยวข้อง
 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้เหตุการณ์การเสียชีวิตของประชาชนจำนวน 6 รายในวัดปทุมวนารามว่าเป็นผลมาจากการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่รัฐ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าวเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐในขณะนั้นจึงเป็นผู้มีบทบาทเกี่ยวข้องโดยตรง แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ได้มีการดำเนินคดีเพื่อเรียกร้องความรับผิดหรือความเสียหายแก่บุคคลผู้เสียชีวิตไปก็ตาม แต่ในฐานะของนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นย่อมไม่อาจปฏิเสธความรับผิดของตนเองได้ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ จึงไม่อยู่ในสถานะที่มีความชอบธรรมต่อการดำรงตำแหน่งในกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวนี้
 
ประการที่สาม ต้องเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสามารถรายงานข้อถกเถียงและการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการฯ ได้อย่างเสรี เพื่อให้สาธารณชนสามารถมองเห็นจุดยืน บทบาท และการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลที่เข้ามาทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ว่ากำลังปฏิบัติหน้าที่โดยมีเป้าหมายหรือผลประโยชน์อื่นใดแอบแฝงหรือซ่อนเร้นอยู่เบื้องหลังหรือไม่
 
การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมที่บังเกิดขึ้นยังคงมีข้อถกเถียงที่ต้องทำความเข้าใจระหว่างแต่ละฝ่ายที่อาจมีความเห็นแตกต่างอย่างมากในแต่ละประเด็น ไม่ว่าจะเป็นขอบเขตของความผิดที่บุคคลได้กระทำลงไป ควรรวมเอาความผิดในมาตรา 112 หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งการถกเถียงทั้งหมดนี้จะสามารถบังเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันในหลักการพื้นฐานที่สำคัญเสียก่อน
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนจึงขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่ต้องการให้กฎหมายนิรโทษกรรมสามารถเดินหน้าต่อไปได้ เข้ามาร่วมมือกันในการกดดันให้แต่ละฝ่ายยอมรับในหลักการสำคัญที่ว่าการนิรโทษกรรมครั้งนี้มุ่งออกกฎหมาย “เพื่อมวลชน” “โปร่งใส” และ “ไร้ผลประโยชน์ทับซ้อน”
 
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
 
14 สิงหาคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net