Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
อนุสนธิจากการเดินทางไปดูงานที่แคปิตัลฮิล ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาคองเกรสอเมริกันทำให้ทราบ ถึงกลไกและวิธีการทำงานของสมาชิกสภาคองเกรส (คองเกรสแมน /คองเกรสวูแมน - สส.)  รวมกระทั่งถึง การทำงานของสมาชิก วุฒิสภา(ซีเนเตอร์- สว.) ซึ่งผมใคร่ตั้งข้อสังเกตต่อวิธีการทำงานของนักการเมือง ระดับชาติอเมริกันจากที่เห็น ดังนี้
 
1.การทำงานของนักการเมืองอเมริกัน มีลักษณะการทำงานเป็นทีม สส.หรือสว.หนึ่งคนมีสำนัก งาน หรือออฟฟิศเป็นของตนเองอยู่ที่ตึกคองเกรส ในออฟฟิศดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ประจำแบ่งงานกันทำ เช่น งานด้านนโยบาย  งานด้านกฎหมาย งานด้านสังคม งานด้านต่างด้าว(อิมมิเกรชั่น) เป็นต้น นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานท้องถิ่นที่เรียกว่า Local office  ในเขตที่มาของนักการเมืองแต่ละคน  เช่น  สส. Dina Titus(เดโมแครต) นอกเหนือไปจากการมีสำนักงานที่ดี.ซี.แล้ว เธอยังมีสำนักงานที่เมืองลาสเวกัส เขตเลือก ตั้งที่ 1ของรัฐเนวดาอีกด้วย โดยสำนักงานในเขตเลือกตั้งก็มีการแบ่งงานแบบเดียวกันกับสำนัก งานที่ดี.ซี.หรือแคปิตัลฮิล มีเจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานตลอด
 
2. มีเจ้าหน้าที่(ทีม)ที่ทำงานด้านข้อมูลข่าวสารโดยเฉพาะ แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับ การติดตามสถานการณ์ข่าวสารในประเด็นต่างๆ ของสมาชิกคองเกรส เนื่องจากการออกกฎหมายซึ่งเป็น หน้าที่ของสมาชิกคองเกรสโดยตรงนั้น สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับข่าวสารและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในและ ต่างประเทศ นอกเหนือไปจากผลต่อกระแสตอบรับหรือความนิยมจากประชาชน โดยเจ้าหน้าที่ด้าน ข้อมูลข่าวสารที่ทำงานให้กับสมาชิกคองเกรสทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎ หมาย และการวางท่าทีในการแสดงความเห็นหรืออภิปรายของสมาชิกคองเกรสต่อประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ  ทำให้สมาชิกคองเกรสสามารถวางตัวอย่างถูกต้อง ส่งผลต่อคะแนนนิยมของ ประชาชน และภาพลักษณ์ของสมาชิกคองเกรสคนนั้นๆ
 
3. งานด้านวิจัย เป็นการทำงานด้านข้อมูลเชิงลึกของสมาชิกคองเกรส และเป็นส่วนหนึ่งของการ แสวงหาข้อมูลเพื่อการอภิปรายและนำเสนอปัญหาหรือข้อเท็จจริง สมาชิกสภาคองเกรสจำนวนไม่น้อยอา ศัยนักวิชาการเพื่อดำเนินการวิจัยประเด็นปัญหาก่อนที่จะนำไปสู่การอภิปรายในสภา หรือก่อนที่จะมีการ โหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับต่างๆ  โดยหลายครั้งที่ผู้ดำเนินการวิจัยจากสำนักงาน ของสมาชิกคองเกรสต้องลงพื้นที่จริงทั้งในและต่างประเทศเพื่อหาข้อมูลและสรุปผลการวิจัยนั้นเสนอต่อผู้ ว่าจ้างคือ สมาชิกคองเกรส นั่นเอง ดังมีอยู่หลายครั้งที่ผู้วิจัยอเมริกันลงพื้นที่ในเมืองไทย  เพื่อหาข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานในต่างประเทศของอเมริกัน เช่น สถานทูตสหรัฐฯ  หน่วยงานสันติภาพอเมริกัน (US Peace Corps)ในไทย เป็นต้น
 
น่าสังเกตว่าในช่วงหลังการแสวงหาข้อมูลของคองเกรสเพื่อการวิจัยของผู้วิจัยคองเกรส เป็นไปแบบคู่ขนาน หรือมี 2 ลักษณะ ได้แก่  หนึ่ง การแสวงหาข้อมูลจากหน่วยงานวิเคราะห์ข้อมูลของรัฐบาลอเมริกันที่มีอยู่แล้ว เช่น หน่วยงาน  Bureau of East Asian and Pacific Affairs ของกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น และสอง การส่งผู้วิจัยลงพื้นที่โดยตรงเพื่อเจาะปัญหาเชิงลึก ขณะเดียวกันบางครั้ง สมาชิกคองเกรสก็ลงพื้นที่ด้วยตัวเองอีกด้วย เช่น การลงพื้นที่ของสส. และสว.อเมริกันหลายในพื้นที่เขต แดนระหว่างสหรัฐฯกับเม็กซิโก เพื่อทราบปัญหาแรงงานผิดกฎหมายข้ามพรมแดน และปัญหายาเสพติด ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างสหรัฐฯกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโก
 
ในด้านงบประมาณสำหรับวิจัย  สมาชิกคองเกรสผู้ประสงค์ทำการวิจัยข้อมูลเชิงลึก สามารถดำเนินการได้ใน 3 ระดับ คือ
 
1. ดำเนินการในนามส่วนตัวของสมาชิกคองเกรสผู้นั้น โดยอาศัยงบประมาณจากสภาคองเกรสต่อหนึ่งสมาชิก ที่ได้รับตามปกติ
 
2. สมาชิกสภาคองเกรสทำเรื่องขออนุมัติงบประมาณพิเศษจากสภาคองเกรสในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นที่จะต้องดำเนินการวิจัยเพื่อให้มาซึ่งข้อเท็จจริงในบางประเด็น บางปัญหา
 
3. สมาชิกสภาคองเกรส ดำเนินการวิจัยภายใต้ความเห็นชอบของคณะกรรมาธิการชุดต่างๆของ สภา (คองเกรส) ซึ่งก็จะต้องนำเสนอโครงการการวิจัยต่อสภาคองเกรสเพื่ออนุมัติงบประมาณ ก่อนการวิจัยจะเกิดขึ้น
 
ประเด็นสำคัญ คือ อเมริกันคองเกรสให้ความสำคัญต่อการวิจัย เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็น “ข้อเท็จจริง” จากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆก่อนนำไปอภิปรายหรือลงมติในสภา นอกเหนือไปจากการใช้หลัก เหตุผลเชิงตรรกะ ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากในบรรดานักอภิปรายในสภา หรือในบรรดานักการเมืองระบบสภา โดยทั่วไป
 
การวิจัย จึงเป็นการบ้านชิ้นใหญ่ของนักการเมืองอเมริกันที่เลยไปจากการพ่นน้ำลายฉายเหตุผล ทางปากเพียงอย่างเดียว หากมันคือ การนำเสนอข้อเท็จจริงเพื่อยืนยันความเชื่อหรือความเห็นของนักการ เมืองว่าเป็นความจริง พร้อมผลดีผลเสียว่าเป็นอย่างไร เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจต่อประเด็นของเพื่อนสมาชิกคองเกรส
 
ประเด็นที่วิจัยกันส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่แหลมคม ส่งผลต่อการจัดสรรงบประมาณและลงมติร่าง กฎหมายของคองเกรส เช่น ประเด็นความมั่นคง  ประเด็นเศรษฐกิจ ประเด็นสังคม เป็นต้น การวิจัยจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการชี้นำเพื่อการตัดสินใจของสมาชิกคองเกรส โดยเฉพาะการตัดสินใจ ลงมติโดยไม่คำนึงความเป็นพรรคแต่คำนึงถึงผลประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่า แม้ภาพลักษณ์นักการเมือง อเมริกันเองจะไม่ได้ต่างไปจากภาพลักษณ์ของนักการเมืองของประเทศอื่นมากนักก็ตาม แต่บางครั้ง “ข้อเท็จจริง”จากงานวิจัยที่ถูกนำเสนอ ก็เป็นส่วนหนึ่งของกระแสการรับรู้ของมวลชนหรือประชาชน ซึ่งเสียงของประชาชนเหล่านี้ มีผลต่อท่าทีของนักการเมือง
 
นอกจากนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องการแสวงหาข้อเท็จจริงหรือความจริงในด้านต่างๆ คองเกรสได้จัดตั้งหน่วยงานบริการด้านการวิจัย คือ Congressional Research Service -CRS  เพื่อเป็นหน่วยงานกลางทำหน้าที่ในการวิจัยงานในส่วนของคองเกรสโดยเฉพาะขึ้น ซึ่งตามปกติแล้วหน่วยงานวิจัยแห่งนี้ เป็นหน่วยงานของคองเกรสโดยไม่สังกัดพรรค (ขึ้นกับ The Library of Congress) ทำหน้าที่ในการวิจัยตามปกติอยู่แล้ว แต่หากสมาชิกคองเกรสคนใดต้องการให้วิจัยประเด็น(เรื่อง)ใดเป็นพิเศษก็สามารถทำได้ โดยการเสนอเรื่องไปยังหน่วยงาน CRS  ได้
 
หมายความว่า สมาชิกคองเกรส สามารถทำการวิจัยได้ 2 ทาง  คือ ใช้บริการหน่วยงานวิจัยกลางอย่าง CRS และดำเนินการวิจัยโดยสำนักงานและคณะ(กรรมาธิการ/ทีม)ของตนเอง  เพราะหน่วยงานวิจัย CRS มีข้อจำกัดบางประการ เช่น กระบวนการอนุมัติประเด็นวิจัย กระบวนการเปิดเผยข้อมูล เป็นต้น
 
ปัจจุบัน CRS  มีเจ้าหน้าที่ทำงานประมาณ 600 คน จากหลากหลายผู้เชี่ยวชาญ เช่น นักกฎหมาย นักเศรษฐศาสตร์   นักวิทยาศาสตร์ด้านต่างๆ ในปี 2012 คองเกรสอนุมัติเงินพื่อหน่วยงานแห่งนี้ จำนวน 106.8 ล้านเหรียญ โดย CRS ยังทำงานร่วมกับ สำนักงบประมาณของคองเกรส (The Congressional Budget Office) และ  สำนักงานพิจารณาการงบประมาณของรัฐ(Government Accountability Office)  ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับสมาชิกคองเกรสทางด้านการเงิน หรือการงบประมาณของรัฐ ตรวจสอบระบบบัญชีของรัฐจากโครงการใช้จ่ายในด้านต่างๆ หากรวม 3 หน่วยงานของคองเกรส ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ร่วมทำงานมากกว่า 4,000  คน
 
บทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่งของ CRS คือ การวิเคราะห์สถานการณ์และประเด็นปัญหาด้าน นโยบายสาธารณะให้กับสมาชิกคองเกรสได้รับทราบเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการอภิปรายในสภา และเพื่อการตัดสินใจในการโหวตแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากข้อมูลที่ CRS มี อย่างตรงไปตรงมา เพราะอย่างที่บอก คือ หน่วยงานนี้เป็นหน่วยงานวิจัยกลางของคองเกรส ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด
 
การวิเคราะห์ของ CRS เองก็ไม่พร่ำเพรื่อ คือ จะให้คำปรึกษาด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจของ สมาชิกคองเกรสกรณีที่ได้รับการร้องขอ ส่วนใหญ่การให้ข้อมูลและคำปรึกษาจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวน การด้านกฎหมาย กระบวนการด้านงบประมาณ และการทำงานเชื่อมกันระหว่าง 2 สถานที่ของสมาชิกคองเกรส คือ ที่ดี.ซี.และในแต่ละเขตเลือกตั้งของสมาชิกคองเกรส , CRS ยังทำหน้าที่สัมนาสมาชิกคองเกรสหน้าใหม่ เพื่อให้ทราบกฎหมายและเบียบต่างๆของคองเกรสอีกด้วย
 
การจัดตั้งหน่วยงาน CRS ชี้ให้เห็นว่า คองเกรสถืองานวิจัย เป็นเรื่องสำคัญ จึงนำมาสู่กระบวน การแสวงหาข้อมูล ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจการของคองเกรส ไม่ใช่สักแต่เป็นสส.และสว. แล้ว อภิปรายหรือ ตัดสินใจลงมติแต่เพียงชุ่ยๆเท่านั้น แต่คนเป็นนักการเมืองต้องทำการบ้านด้านข้อมูล ข้อเท็จจริงมาอย่างดิบดี
 
ไม่ใช่มัวแต่ลอกข้อมูล ลอกข่าว จากหนังสือพิมพ์  ตัดคลิปจากอินเตอร์เน็ต หรือจากสื่อต่างๆ ที่นิยมทำกันในบรรดานักการเมืองบางประเทศ
 
พูดก็พูดเถอะครับ กรณีของรัฐสภาไทย มีความพยายามกันอย่างมากในการโปรโมทองค์กรรัฐสภา ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการเมืองสำคัญแห่งหนึ่ง เช่น มีการจัดตั้งสื่อโทรทัศน์เป็นของตัวเอง เป็นต้น  แต่สำหรับหน่วย งานวิจัยเพื่อสนับสนุนการทำงานของ สส./สว.เพื่อให้เข้าถึงข้อเท็จจริงเชิงข้อมูลในด้านต่างๆ ยังไม่เห็นมีใครสนใจเสนอเรื่องนี้กันแต่อย่างใด
 
 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net