Skip to main content
sharethis

เพจยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม หรือ SS ประกาศปิดเพจ หลังเสียบประจานผิดคน-โดนแจ้งความ กรณี รพ.พระมงกุฏไล่ที่ 'พลทหารมังกรทอง' ทางเพจยังคงคอมเมนท์ตอบผู้แสดงความเห็นแม้ประกาศปิดไป 6 ชม.แล้ว แจงปิดเพจไม่ได้ประกาศลบหน้า

โพสต์ประกาศปิดเพจของ SS

เมื่อเวลา 11.00 น. และ  13.00 น. แฟนเพจในเฟซบุ๊ก ชื่อ “ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS” ได้โพสต์ ประกาศปิดเพจตัวเอง โดยอ้างว่าเป็นไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการโพสต์ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน กรณีข่าวของ พ.ท.หญิงโสภา แห่ง รพ.พระมงกุฏไล่ที่ขายล็อตเตอรี่อดีตพลทหารมังกรทอง  ลิ้มประเสริฐกุล หรือแชมป์ แต่ส่งผลต่อ พ.ต.หญิง โสภา แห่ง รพ.ค่ายกาวิละ เนื่องจากเพจดังกล่าวได้นำภาพของ พ.ต.หญิงโสภา แห่ง รพ.ค่ายกาวิละ ซึ่งมีการเบลอหน้ามาเสียบประจานจนมีการแชร์ในเฟซบุ๊กพร้อมการด่าทอจำนวนมาก กระทั่งสามีของผู้เสียหายมาทักท้วง พร้อมระบุด้วยว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว

ในประกาศปิดเพจของ SS ทีมงานเพจยุทธการณ์ลงทัณฑ์ทางสังคม ระบุว่า จากกรณีปัญหาที่ SS ได้นำเสนอข้อร้องเรียนจากเพื่อนสมาชิกเรื่อง "พันโทหญิงโสภา แห่ง รพ.พระมงกุฏ" ไล่ที่ขายลอตเตอรี่ของน้องแชมป์ (พลทหารมังกรทอง) เมื่อวันที่ 19 ก.ค.2556 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงทุกประการที่ปรากฏตามข่าวต่อมา แต่ SS ผิดพลาดตรงที่ได้นำภาพของ "พันตรีหญิงโสภา แห่ง รพ.ค่ายกาวิละ" เชียงใหม่ มาทำเป็น "ภาพประกอบข่าว" โดยทำการเบลอหน้าตามมารยาทแล้ว (เพราะไม่มั่นใจว่าจะเป็นคนเดียวกันหรือไม่? หรือถ้าใช่ก็อาจจะเป็นภาพเก่าสมัยเป็นพันตรี) ทั้งนี้ ในพาดหัวข่าวและเนื้อหาก็เขียนชัดว่า "พันโทหญิงโสภา แห่ง รพ.พระมงกุฏ"

"ในวันเดียวกันนั้น หากข่าว 9 อสมท.สำนักข่าวไทย มิได้ออกข่าวขยายผลว่า "ภาพดังกล่าวคือ..พันตรีหญิงโสภา บุญชุม แห่ง รพ.ค่ายกาวิละ เชียงใหม่" คนส่วนใหญ่ก็ยากที่จะทราบว่าภาพดังกล่าวคือใคร เพราะ SS เบลอหน้าไว้แล้ว และไม่ได้เขียนตรงไหนว่าภาพดังกล่าวคือ "พันตรีหญิงโสภา บุญชุม ที่ รพ.ค่ายกาวิละ เชียงใหม่"  อย่างไรก็ตาม ทีมงาน SS กราบขออภัยต่อ พันตรีหญิงโสภา บุญชุม และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจจริงๆ จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ และขอแสดงความรับผิดชอบด้วยการ "ปิดเพจ" ไปจนกว่า พันตรีหญิงโสภา บุญชุม และครอบครัว จะให้อภัย SS" ประกาศของ SS ระบุ

เพจดังกล่าวระบุด้วยว่า ขอย้ำว่า "เรา" ไม่มีเจตนาโทษใคร เราขอน้อมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น โปรดอย่าพยายามแปลความว่าเป็นการ "แถ" เป็นเพียงแต่เราจำต้องชี้แจงทุกอย่างตามข้อเท็จจริง

ล่าสุดเพจดังกล่าวยังมีการโพสต์ตอบโต้ผู้ที่มาคอมเมนท์อยู่โดยตลอด อย่างกรณีผู้ใช้ชื่อในเฟซบุกว่า “Prach Panchakunathorn” เข้าไปแสดงความเห็นว่า “การ "ปิดเพจ" มันคือการปิดไปเลย ลบเพจไปเลย ไม่ใช่แค่หยุดการโพสท์ จนกว่าเจ้าทุกข์จะให้อภัย สัญญาอะไรไว้ก็รักษาคำพูดหน่อย มาเล่นคำแบบนี้มันน่าสมเพช ...ถ้ารักษาคำพูดแค่นี้ ยังไม่มีศักดิ์ศรีพอ” เพจ SS ได้โต้อกลับโดยทำภาพมาชี้แจงว่า ไม่ได้ประกาศลบหน้าเพจแต่อย่างใด

โพสต์ชี้แจงว่าไม่ได้ประกาศลบเพจ ของ SS

ทั้งนี้เฟซบุ๊กแฟนเพจยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS ปัจจุบันมีผู้กดไลค์อยู่ 35,600 ไลค์ เป็นเพจที่ตั้งมาตั้งแต่ต้นปี 2553 และถูกร้องเรียนจนมีการปิดเพจไปพักหนึ่งก่อนที่จะมีการเปิดใหม่ช่วงกลางปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยช่วงแรกเพจนี้บทบาทและสร้างความวิตกกังวลต่อผู้คิดต่างทางการเมืองโดยเฉพาะในประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจำนวนมากในเฟซบุ๊ก จากพฤติกรรมที่มักทำการเสียบประจานบุคคลต่างๆ รวมถึงการล่าแม่มดของเพจนี้ โดยเอาข้อมูลส่วนบุคคลและภาพของผู้ที่เพจนี้กล่าวหาว่าหมิ่นและผู้วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ รวมทั้งเป็นฝ่ายที่สนับสนุนเสื้อแดง มาโพสต์เผยแพร่ในเพจเพื่อให้เกิดการรุมด่า และบางครั้งเลยไปถึงการคุกคามทางอื่น เช่น กดดันให้มีการไล่ออกจากที่ทำงาน เป็นต้น

จากรายงานประจำปีเครือข่ายพลเมืองเน็ต เสรีภาพและวัฒนธรรมอินเตอร์เน็ตไทย พ.ศ.2554 ที่จัดทำโดยเครือข่ายพลเมืองเน็ตระบุว่า ชุดวาทกรรมหลักของ SS ที่ใช้ในการด่าทอฝ่ายต่อต้านอำนาจเก่ามีศูนย์กลางที่ความคิด “ความเป็นไทย” ที่อยู่ภายใต้แนวคิดสมบูรณาญาสิทธิราช อันได้แก่ การเป็นคนไทยต้องจงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ผู้เป็นเจ้าของแผ่นดินไทย หากผู้ใดตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์หรือไม่แสดงความรักต่อสถาบันพระมหากษิตริย์ ไม่เช่นนั้นถือว่าไม่ใช่คนไทย เป็นผู้ไม่สำนึกบุญคุณต่อพระมหากษัตริย์ และถือเป็นคนเลว ดังจะเห็นได้จากวาทกรรมที่พบบ่อยๆ ในเพจนี้เช่น “เนรคุณ” “หนักแผ่นดิน” “ใจเขมร” เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าภายหลังจากเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย เพจดังกล่าวเริ่มมีประเด็นที่หลากหลายมากขึ้น โดยมีการมุ่งเป้าไปที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลมากขึ้น พร้อมทั้งมีการหยิบเรื่องทางสังคม เช่น เรื่องเณรคำ มาวิจารณ์ รวมทั้งความสนใจในการเสียบประจานกลุ่มเป้าหมายก็ลดลงเนื่องจากมีเรื่องที่โพสต์หลากหลาย เมื่อเทียบกับช่วงแรกที่เน้นเรื่องการละเมิดสถาบันฯ บวกกับการที่เฟซบุ๊กมีการเปลี่ยนระบบเป็น Timeline ซึ่งทำให้ข้อมูลไหลไปตามเวลาที่เร็วกว่าเดิม ขณะเดียวกันฝ่ายที่ถูกเสียบประจานก็เริ่มมีปฏิกิริยาโต้กลับน้อยลง เพจที่ถูกตั้งขึ้นมาต่อต้านเพจ SS นี้อย่างเช่น เพจ Anti-Social Sanction เพจ Sanction Witch Doctors เพจ WHY- Social Sanction ก็ถูกปิดไป จึงทำให้เพจ SS ลดบทบาทลงแม้จำนวนยอดไลค์จะมากขึ้นกว่าเดิมถึงเกือบ 3 เท่าก็ตาม (ปี 2554 มี 13,700 ไลค์ )

 

ครอบครัว “พ.ต.หญิง โสภา” แจ้งความเอาผิดมือโพสต์รูป

ส่วนพ.ต.หญิงโสภา ผู้เสียหายนั้นเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา “สำนักข่าวไทย” ได้ตรวจสอบพบว่านายทหารหญิงที่ถูกนำภาพมาโพสต์ คือ “พ.ต.หญิงโสภา บุญชุม” หัวหน้าวอร์ดห้องฉุกเฉิน รพ.ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเรื่องดังกล่าว นายพิรส บุญชุม อยู่บ้านเลขที่ 99/44 ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สามีของ พ.ต.หญิงโสภา ยืนยันกับสำนักข่าวไทยว่าภรรยาไม่รู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากทำงานที่ จ.เชียงใหม่ มาตั้งแต่ปี 2541 คาดว่ามีการนำภาพในฐานข้อมูลของนักเรียนชั้นนายพัน ในช่วงที่ภรรยาลงเรียนที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วไปเผยแพร่ เนื่องจากมีชื่อเหมือนกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าไล่ที่พลทหารมังกรทอง

นายพิรส กล่าวว่า หลังมีการส่งต่อข้อความและภาพทางอินเทอร์เน็ต ครอบครัวก็ได้รับผลกระทบ มีคนรู้จักโทรมาสอบถามเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อตรวจสอบจึงพบว่ามีข้อความต่อว่าภรรยาอย่างรุนแรง ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องใดๆ ทำให้ตัดสินใจไปแจ้งความลงบันทึกประจำไว้ที่ สภ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เมื่อเวลาประมาณ 19.30 น. เมื่อวานนี้ (19 ก.ค.) ขณะที่วันนี้จะเดินทางไปที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) จ.เชียงใหม่ และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เพื่อเร่งหาตัวผู้ที่โพสต์รูปมาแสดงความรับผิดชอบ

“ผมไม่ทราบเนื้อหาเรื่องราวที่เกิดขึ้น และไม่อยากยุ่ง ขอเพียงให้คนโพสต์รูปมารับผิดชอบกรณีใส่รูปผิดเท่านั้น คาดว่าน่าจะชื่อเหมือนกัน แต่คนละนามสกุล”  นายพิรส กล่าว

 

รพ.พระมงกุฎเกล้า ยันไม่มีการไล่ที่ "พลทหารมังกรทอง" ชี้เป็นการกระทำโดยพลการ

ขณะที่กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ รายงาน (20 ก.ค.) ว่า พ.อ.นพ.พีระพล ปกป้อง ผู้อำนวยการกองอุบัติเหตุและเวชกรรมฉุกเฉิน ร.พ.พระมงกุฎเกล้า เปิดเผยถึงกรณีที่มีการส่งต่อข้อความทางโซเชียลมีเดีย อ้างว่า พลทหารมังกรทอง ลิ้มประเสริฐสกุล หรือ น้องแชมป์ ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนทำให้ร่างกายทุพลภาพ ถูกทหารหญิงยศพันโท ของร.พ. พระมงกุฎเกล้า ไล่ที่ห้ามขายลอตเตอรี่ บริเวณริมทางเดินภายใน ร.พ.พระมงกุฎเกล้า ว่าทหารหญิงคนดังกล่าวมีหน้าที่เกี่ยวกับการส่งกำลังบำรุงและการไปต่อว่าพลทหารมังกรทอง เนื่องจากรู้สึกว่าแผงลอตเตอรี่กีดขวางเส้นทาง ทำให้เข็นรถผู้ป่วยลำบาก ถือเป็นการกระทำโดยพลการ พล.ต.ชุมพร เปี่ยมสมบูรณ์ ผอ.รพ.พระมงกุฎเกล้า ไม่รู้เห็น และไม่มีนโยบายไล่ที่พลทหารมังกรทอง ซึ่งที่ผ่านมาพลทหารมังกรทองได้ขออนุญาตขายลอตเตอรี่ในเขตโรงพยาบาล และโรงพยาบาลได้อนุมัติให้เป็นกรณีพิเศษมานานแล้ว เรื่องที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลไม่รู้เห็น ถือว่าเป็นเรื่องระหว่างบุคคล อย่างไรก็ตาม อาจจะมีการเรียกตัวพันโทหญิงคนดังกล่าวมาตักเตือน

ด้าน นายนพรัตน์ ลิ้มประเสริฐสกุล พ่อของน้องแชมป์ กล่าวว่า การขับไล่มีมาตลอด ซึ่งตนและน้องแชมป์ก็ย้ายที่ขายมาตลอดเช่นกัน ทั้งๆ ที่มีหนังสืออนุญาต โดยเหตุการณ์ที่ถูกโพสต์ในโซเซียลมีเดีย และกำลังแชร์อย่างมากมายเกิดขึ้นเพราะอาสาสมัครชาวฮอลแลนด์ที่เดินทางมาช่วยเหลือทหารที่ได้รับผลกระทบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เดินทางมาเยี่ยมน้องแชมป์และอยู่ในระหว่างการพูดคุยเพื่อจะลากลับประเทศ ในระหว่างนั้นมี พันโทหญิงท่านหนึ่งเดินมาพบและพูดจาขับไล่ให้ไปพูดคุยที่อื่น พร้อมทั้งยังไล่ให้น้องแชมป์ไปขายลอตเตอรี่ที่อื่นด้วย ทำให้อาสาสมัครชาวฮอลแลนด์ไม่พอใจและโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊คทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากถึงความไม่เหมาะสม กรณีที่ทหารที่มียศสูงไปรังแกคนที่ด้อยกว่า

ด้านพ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก เปิดเผยถึงกรณีดังกล่าวว่า โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อยู่ในความรับผิดชอบของกรมแพทย์ทหารบก เป็นหน่วยขึ้นตรงกองทัพบกด้วย ส่วนการกระทำของนายทหารหญิงคนดังกล่าว ไม่มั่นใจว่า ถูกกฎกติกาหรือไม่ แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นเรื่องที่ผู้บังคับบัญชา น่าจะให้ความสนใจ โดยคงจะต้องมีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไรให้โดยเร็วที่สุด เพราะถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ส่วนพลทหาร มังกรทอง ที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติราชการ ยืนยันว่า กองทัพคงไม่ทอดทิ้งต้องดูแลกัน ถ้าปล่อยเรื่องเช่นนี้ไว้คงไม่งาม ไม่ว่าจะเป็นคนของเรา หรือคนของใคร

สำหรับ พลทหารมังกรทอง  ลิ้มประเสริฐกุล หรือแชมป์ วัย 19 ปี ในปี 2551 เขา  สังกัด ร. 7 พัน 1  ค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่  ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา ระหว่างปฏิบัติภารลาดตระเวนคุ้มครองครู  เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551เขาและชุดรักษาความปลอดภัย ถูกลอบวางระเบิด และถูกยิงซ้ำได้รับบาดเจ็บสาหัส ได้รับความกระทบกระเทือนทางสมอง  นอนเป็นเจ้าชายนิทราอยู่ 3 เดือน และต้องรักษาตัวอยู่ที่ รพ.พระมงกุฎอยู่ 2 ปี หลังจากออกจากโรงพยาบาล ได้รับมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พระราชทานอาชีพ การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล  โดยน้องแชมป์ และคุณพ่อ  ช่วยกันขายหน้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ ภายในโรงพยาบาลพระมงกุฎ

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าล่าสุด 16.00 น. 22 ก.ค.56 เพจยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม - Social Sanction: SS ยังมีการโพสต์อยู่โดยอธิบายว่าการโพสต์ดังกล่าวไม่ใช่การเคลื่อนไหว หากแต่เป็นการชี้แจง จนกระทั้งเวลา 16.25 น. เพจดังกล่าวไม่สามารถเข้าไปได้แล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net