Skip to main content
sharethis

สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนารวมตัวสันเขื่อนราษีไศล ปักหลักครั้งชุมนุมใหญ่หลังเดือดร้อน 15 ปีแก้ปัญหาไม่คืบ ขู่พร้อมอยู่ยาวหากผลเจรจาร่วมตัวแทนรัฐฯ 14 มิ.ย.นี้ยังไร้ความชัดเจน แกนนำเผยเตรียมถ่ายทอดสดออนไลน์การประชุมจากทำเนียบถึงที่ชุมนุม 

 
วันนี้ (14 มิ.ย.56) สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเดือดร้อนจากเขื่อนหัวนามานากว่า 15 ปี ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2556 จากการออกมาชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.56 บริเวณศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเครือข่ายทามมูล สันเขื่อนราษีไศล อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ หลังยุติการเคลื่อนไหวไม่ชุมนุมมานานกว่า 3 ปี ตั้งแต่เมื่อปี 2552 เป็นต้นมา
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหาและมีกระบวนการทำงานตามขั้นตอนในระดับจังหวัด สามารถนำไปสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแก้ไขปัญหา (ชุดใหญ่) ที่ น.สพ.ยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมในวันนี้ (14 มิ.ย.56) ณ ทำเนียบรัฐบาล 
 
แถลงการณ์ระบุว่า ชาวบ้านจำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนหัวนาอีกครั้ง เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 27 เม.ย.53 ให้กรมชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการจ่ายค่าทดแทนที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบ ควบคู่ไปกับการสร้างคันเขื่อนถมลำน้ำมูนเดิมให้แล้วเสร็จ ขณะนี้กรมชลประทานได้มีการปิดประตูเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปลายปี 2555 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าทดแทนให้กับราษฎรได้จนถึงปัจจุบัน
 
สำหรับข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ตามแถลงการณ์ มี 3 ข้อ คือ 1.ให้รับรองขอบเขตอ่างที่ได้มีการกันเขตระดับน้ำท่วมจริงที่ระดับ +114 ม.รทก. ร่วมกัน ตามผลการศึกษาผล ในวันที่ 23 พ.ย.54 เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบ 2.ให้รับรองบัญชีรายชื่อราษฎรผู้ได้รับผลกระทบชุดแรกที่ได้รับการรังวัด รว 43 ก.แล้ว เพื่อเป็นการนำร่องในการแก้ไขปัญหาการจ่ายค่าทดแทนอย่างเป็นรูปธรรม
 
และ 3.ให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินทำกินอย่างยุติธรรม ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องสามารถจัดหาที่ดินแปลงใหม่ได้ในท้องถิ่นใกล้เคียง เพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน และมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
 
 
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในระหว่างการชุมนุมสมัชชาคนจนเขื่อนราศีไศลจำนวนกว่า 2,000 คน ได้เดินทางมาสมทบร่วมชุมนุมที่สันเขื่อนราศีไศล โดยขณะนี้ผู้ชุมนุมได้เตรียมที่พักอาศัย และเตรียมความพร้อมในการชุมนุมยืดเยื้อหากการแก้ไขปัญหาไม่มีความคืบหน้า
 
นางสำราญ สุรโครต แกนนำกลุ่มชาวบ้านกล่าวว่า ระหว่างการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาจะมีการถ่ายทอดสดผ่านสื่อในระบบออนไลน์มายังที่ชุมนุม เพื่อให้สมาชิกผู้ได้รับผลกระทบทุกคนได้มีส่วนร่วมติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และจะได้พบปะพูดคุยกับ น.สพ.ยุคล ก่อนจะมีการประชุมคณะกรรมการด้วย
 
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนไปที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ บริเวณสันเขื่อนราษีไศล เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนหัวนา ในพื้นที่ อ.กันทรารมย์ อุทุมพรพิสัย และราศีไศล รวมพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ โดยได้ยื่นหนังสือให้ตัวแทนโครงการส่งน้ำ และบำรุงรักษามูลล่าง
 
 
 
แถลงการณ์สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
ฉบับที่ ๑/๒๕๕๖ วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖
 
วันนี้พวกเรามีความจำเป็นที่จะต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหา
ผลกระทบจากเขื่อนหัวนาอีกครั้ง จากมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ ให้กรมชลประทานดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านการจ่ายค่าทดแทนที่ดินทำกินที่ได้รับผลกระทบควบคู่ไปพร้อมกับการสร้างคันเขื่อนถมลำน้ำมูนเดิมให้แล้วเสร็จ บัดนี้กรมชลประทานได้มีการปิดประตูเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปลายปี ๒๕๕๕ แต่ยังไม่สามารถดำเนินการจ่ายค่าทดแทนให้กับราษฎรได้จนถึงปัจจุบัน
 
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา ได้ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อรักษาสิทธิในที่ดินทำกิน และสิทธิชุมชน มานานกว่า ๑๕ ปี เพื่อผลักดันให้เกิดกระบวนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเขื่อนหัวนาที่ถูกต้อง ครบถ้วน ทั่วถึง และยุติธรรม
 
ขณะนี้คณะอนุกรรมการระดับจังหวัดทั้ง ๒ ชุด ได้แก่ (๑) อนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัด ได้ดำเนินการปักขอบเขตอ่างครอบคลุมขอบเขตน้ำท่วมถึงจริงในระดับน้ำหน้าเขื่อน +๑๑๒ ม.รทก. แต่กันเขตในระดับน้ำ +๑๑๔ ม.รทก. ตามผลการศึกษาฯ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่าง กรมชลประทาน ฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และฝ่ายราษฎร ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ ตามมติคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาระดับจังหวัดศรีสะเกษ ยังได้ดำเนินการตรวจสอบและจัดทำบัญชีรายชื่อราษฎรผู้ได้รับผลกระทบชุดแรก เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาต่อไป ในส่วนราษฎรที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบทรัพย์สิน สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนาได้ผลักดันให้กรมชลประทานเปิดรับการยื่นคำร้องใหม่ โดยมีนายอำเภอท้องที่ทุกอำเภอเป็นประธานกรรมการแก้ไขปัญหา เพื่อให้ทุกคน ทุกครอบครัว ทุกพื้นที่ ได้มีสิทธิอย่างเท่าเทียม (๒) อนุกรรมการสืบเสาะราคาที่ดินฯ ได้ดำเนินการสืบเสาะราคาที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ (รว๔๓ก.) เสร็จแล้ว โดยมีหลักการร่วมกัน คือ    ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องได้รับค่าทดแทนที่ดินอย่างยุติธรรม
 
บัดนี้ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าราษฎรผู้ได้รับผลกระทบชุดแรกที่ผ่านการตรวจสอบในสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างครบถ้วนทุกกระบวนการเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๔๕-๒๕๕๒ สมควรได้รับการแก้ไขปัญหาในระยะเวลาอันสมควร จากกรมชลประทานและรัฐบาล เราจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
 
 
๑.      ให้รับรองขอบเขตพื้นที่น้ำท่วมถึงจริงในระดับ +๑๑๔ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ตามผลการศึกษา EIA และ ครม. มีมติเห็นชอบไปแล้วเมื่อ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๓ และมีการลงตรวจสอบพื้นที่จริง ในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหาผลกระทบ
๒.     ให้รับรองบัญชีรายชื่อราษฎรผู้ได้รับผลกระทบชุดแรกที่ผ่านการตรวจสอบในสิทธิ์ในที่ดินทำกินอย่างครบกระบวนการเรียบร้อยแล้ว และดำเนินการจ่ายค่าชดเชยโดยเร็ว
๓.      ให้จ่ายค่าทดแทนที่ดินทำกินอย่างยุติธรรม ผู้ได้รับผลกระทบจะต้องสามารถจัดหาที่ดินแปลงใหม่ได้ในท้องถิ่นใกล้เคียง เพื่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน และมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
 
สมัชชาคนจนเขื่อนหัวนา
๑๔ มิถุนายน ๒๕๕๖
ด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net