Skip to main content
sharethis

สโนว์เดน ให้สัมภาษณ์สื่อจีน เผยสหรัฐฯ แฮกระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตจีนเพื่อดูข้อมูลมาหลายร้อยครั้ง ด้านประชาชนโลกจริง-โลกอินเตอร์เน็ตหนุนการเปิดเผยข้อมูลของเขา ทั้งชุมนุม แถลงการณ์ ช่วยเหลือด้านการเงิน และล่ารายชื่อให้สหรัฐฯ ละเว้นโทษ

 
13 มิ.ย.2013 เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน ชายอายุ 29 ปี ผู้เปิดโปงโครงการสอดแนมข้อมูลของสภาความมั่งคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NSA) กล่าวให้สัมภาษณ์ต่อสื่อท้องถิ่น เซาธ์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ พูดถึงสาเหตุที่เขาเลือกมาอยู่ฮ่องกงและเผยว่าเขามีหลักฐานเรื่องที่สหรัฐฯ ทำการจารกรรมทางอินเตอร์เน็ตต่อทั้งจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกง
 
“คนที่บอกว่าผมทำพลาดที่เลือกมาที่ฮ่องกง เขากำลังเข้าใจเจตนาผมผิดไป ผมไม่ได้มาที่นี่เพื่อหลบซ่อนตัวจากระบบยุติธรรม ผมมาเพื่อเปิดโปงอาชญากรรม” สโนวเดนกล่าว เขาบอกอีกว่าทางการสหรัฐฯ พยายาม ‘ข่มเหง’ ฮ่องกงเพื่อให้ส่งมอบตัวสโนวเดนกลับสหรัฐฯ ในฐานะนักโทษ
 
ในกรณีนี้ เรจินา ยิบ คณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายนิติบัญญัติของฮ่องกงและอดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงระดับสูงกล่าวว่า ตัวเขาเองไม่สามารถพูดแทนทางการฮ่องกงในตอนนี้ได้ แต่ถ้าหากสหรัฐฯ มีข้อเรียกร้องมาถึงทางการก็จะจัดการตามกระบวนการกฎหมาย
 
นอกจากนี้สโนว์เดนยังได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา NSA ได้ปฏิบัติการจารกรรมโดยมีเป้าหมายเป็นจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงหลายร้อยครั้ง “พวกเราได้แฮกเข้าไปในแกนของระบบเครือข่ายที่เปรียบเสมือนเป็นอินเตอร์เน็ตเราเตอร์ขนาดใหญ่ เพื่อที่จะให้เราได้เข้าถึงข้อมูลการสื่อสารของเครื่องคอมพิวเตอร์หลายแสนเครื่องโดยที่ไม่ต้องไปแฮกทีละเครื่อง”
 
สโนว์เดน กล่าวถึงเป้าหมายที่หนึ่งคือมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ซึ่งมีสถานีวิจัยด้านอินเตอร์เน็ตชั้นนำและเป็นแหล่งโครงสร้างใหญ่ที่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตของทั้งเมืองฮ่องกง แต่ทางมหาวิทยาลัยก็ได้แถลงว่าพวกเขาไม่สามารถตรวจพบการรุกล้ำใดๆ และยังคงใช้งานได้ตามปกติ
 
การเปิดโปงเรื่องดังกล่าวทำให้หนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวของทางการจีนมีพาดหัวข่าวว่า การเปิดเผยเรื่องราวของสโนว์เดนทำให้ภาพลักษณ์สหรัฐฯ ในสายตาต่างชาติเสียหาย และเป็นการทดสอบการสานสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
 
ลี ไห่ตง นักวิจัยด้านอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยการทูตของจีนกล่าวผ่านสื่อจีนว่า ตั้งแต่เมื่อหลายเดือนที่ผ่านมาสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนเป็นผู้ก่อการจารกรรมทางอินเตอร์เน็ตมาตลอด แต่ดูเหมือนภัยร้ายแรงที่สุดต่อเสรีภาพและสิทธิความเป็นส่วนตัวคืออำนาจที่ไม่อาจควบคุมได้ของรัฐบาลสหรัฐฯ เอง
 
สื่อจีนกล่าวอีกว่า วิธีการที่สหรัฐฯ จัดการในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องท้าทาย ที่เสี่ยงต่อการทำลายความสัมพันธ์อันดีระหว่างสหรัฐฯ และจีน จากการที่สโนว์เดนในตอนนี้อยู่ในอาณาเขตของจีน และความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศก็เริ่มเสื่อมถอยลงไปแล้วจากเรื่องความปลอดภัยทางอินเตอร์เน็ต
 
 
ประชาชนชุมนุม - ล่ารายชื่อ กรณีโครงการ PRISM และการคุ้มครองสโนว์เดน
 
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักข่าวนอกกระแส CommonDream รายงานเรื่องประชาชนในโลกออนไลน์และนอกแสดงการสนับสนุน เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน โดยมีทั้งการชุมนุมและการล่ารายชื่อเรียกร้อง 
 
ในนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.56 มีกลุ่มนักกิจกรรมรวมตัวกันที่จัตุรัสยูเนียนสแควร์ ท่ามกลางฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก แอนดี้ สเตฟาเนี่ยน ผู้จัดการประท้วงกล่าวว่า วาระของสโนวเดนที่นำเสนอในสื่อถูกทำให้กลายเป็น ‘เรื่องชายขอบ’
 
“ในตอนนี้สื่ออาจจะนำเสนอเรื่องนี้มาก แต่ที่ผ่านมาเราจะพบว่าเมื่อคนเปิดโปงรัฐบาลเหล่านี้เปิดเผยตัวออกมาไม่ว่าจะเป็นแดเนียล เอลส์เบิร์ก หรือแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง ไม่นานนักก็จะมีความพยายามกล่าวให้ร้ายบุคคลเหล่านี้ อาจจะมีการสร้างเรื่องเล่าคู่ขนาน หรือพยายามทำให้พวกเขาดูเป็นตัวร้าย จากสิ่งที่พวกเขาทำ” แอนดี้กล่าว
 
แอนดี้กล่าวอีกว่า พวกเราควรจะตั้งคำถามว่า เหตุใดสโนวเดนถึงยอมสละความสะดวกสบายส่วนตัวเพื่อเปิดโปงความจริงในเรื่องที่รัฐบาลสหรัฐฯ แอบสอดแนมพวกเราโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ โดยอ้างเรื่องสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยที่การแอบสอดแนมเช่นนี้ถือเป็นการผิดหลักมาตรา 4 ของบทแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ
 
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.56 ในฮ่องกง ก็มีกลุ่มประชาชนผู้สนับสนุนสโนวเดนราว 1,000 คน วางแผนชุมนุมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลคุ้มครองเขา และไม่ส่งตัวเขาออกนอกประเทศ
 
ในสังคมออนไลน์ก็มีการรวบรวมรายชื่อในเว็บไซต์ทำเนียบขาวเพื่อเรียกร้องให้ทางการสหรัฐฯ อภัยโทษให้สโนว์เดน ซึ่งในตอนนี้มีมากกว่า 68,000 รายชื่อแล้ว ขณะเดียวกันก็มีการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายของสโนว์เดน
 
มีพนักงานของ Facebook รายหนึ่งชื่อ ดไวท์ โครว บริจาคเงินส่วนตัว 1,000 ดอลลาร์ (ราว 30,000 บาท) เพื่อช่วยเหลือสโนว์เดนด้านค่าธรรมเนียมทางกฎหมาย, ค่าที่พักโรงแรม และค่าเดินทาง โดยที่โครวกล่าวว่า เขาคิดว่าสโนว์เดนจะต้องรับมือกับสิ่งที่มากกว่าค่าธรรมเนียมทางกฎหมายแน่ๆ แต่สโนว์เดนต้องอยู่ในฮ่องกงโดยที่บัญชีของเขาถูกอายัด ดังนั้นการช่วยเหลือด้านงานเงินจึงสำคัญ
 
ทางด้านกลุ่มปฏิบัติการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตโลก (Global Network Initiative หรือ GNI) ก็ได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยบอกว่า กรณีการสอดแนมไม่ว่าจะมาจากรัฐบาลใดก็ตามเป็นเรื่องชวนให้ตั้งคำถามเกี่ยวกับ ความโปร่งใส มาตรการตรวจสอบ และผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนที่รวมถึงสิทธิความเป็นส่วนตัว และเสรีภาพในการแสดงความเห็น
 
โดยทาง GNI ได้กล่าวเรียกร้องผ่านแถลงการณ์ให้รัฐบาลสหรัฐฯ และทั่วโลกพยายามสร้างความโปร่งใสมากขึ้นทั้งด้านกฎหมายและการบังคับใช้ เนื่องจากความโปร่งใสที่มากขึ้นจะทำให้มีข้อมูลการอภิปรายในเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเรียกร้องให้เพิ่มตัวแทนภาคส่วนต่างเข้าร่วมตัดสินใจโครงการในแนวนี้ด้วย
 
“เมื่อรัฐบาลสหรัฐฯ มีเทคโนโลยีหรือความสามารถใหม่ๆ ในการด้านการสอดแนม ทาง GNI ขอเรียกร้องให้มีการตัวแทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจนโยบายด้วย” แถลงการณ์ GNI กล่าว “เสรีภาพในการแสดงความเห็นและสิทธิความเป็นส่วนตัวจะได้รับการคุ้มครองหากมีการฟังความเห็นจากทุกส่วน”
 
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Protesters Worldwide Rally to Support Whistleblower Edward Snowden, CommonDreams, 12-06-2013 
 
Hong Kongers to protest in support of U.S. whistleblower Edward Snowden, The Raw Story, 12-06-2013
 
NSA revelations will test China-US ties, say Chinese media, The Guardian, 13-06-2013
 
GNI Statement on Communications Surveillance, GNI, 12-06-2013

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net