Skip to main content
sharethis

แพทย์นิติเวชเผยผลพิสูจน์จากการเทียบเคียงลายนิ้วมือ ยันว่าผู้ตาย คือ 'เอกยุทธ' สาเหตุเพราะขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตแล้วไม่ต่ำกว่า 5 วัน ด้านหมอพรทิพย์ติงเก็บหลักฐานรวบรัดหวั่นถูกครหา “รัฐตำรวจ” ยกเอกยุทธตัวอย่างคนที่สู้อำนาจรัฐ เทียบกรณี ‘ทนายสมชาย’

13 มิ.ย.56 สำนักข่าวไทย รายงาน พล.ต.ท.จรัมพร สุระมณี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ยืนยันผลตรวจเบื้องต้นการตรวจสอบลายนิ้วมือจากร่างที่ขุดพบที่ จ.พัทลุง ยืนยันเป็นนายเอกยุทธ อัญชันบุตร แต่ต้องรอผลตรวจดีเอ็นเอเทียบกับลูกชาย และหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น กระดุมเสื้อ 3 เม็ด และเชือกรองเท้า ที่พบบริเวณจุดที่ฝังศพ อยู่ระหว่างตรวจพิสูจน์ รวมทั้งเร่งหาเสื้อผ้าที่ถูกถอดทิ้งหายไป จากการตรวจสอบสภาพศพพบมีร่องรอยจากการบีบรัดที่ข้อมือ ลำคอ และพบรอยช้ำที่ส้นเท้าซ้ายที่คาดว่าเกิดจากการกระแทก ส่วนที่บริเวณปากพบรอยคล้ายถูกรัดด้วยเชือก จากนี้จะต้องตรวจหาสารพิษจากอาหารที่พบในช่องท้อง อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นแพทย์ระบุเป็นการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตมานานไม่ต่ำกว่า 5 วัน

ขณะที่ พล.ต.ต.นพ.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า จากการเทียบเคียงลายนิ้วมือศพกับฐานข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันได้ว่าผู้เสียชีวิตเป็นนายเอกยุทธจริง แต่เพื่อความชัดเจน แพทย์จะตรวจทุกขั้นตอน รวมทั้งประวัติการทำฟันของนายเอกยุทธอีกครั้ง

ส่วนรายละเอียดการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ เช่น ผลดีเอ็นเอ ต้องรอผล 1-2 วัน และภายในวันนี้ หลังแพทย์ผ่าพิสูจน์แล้ว ญาติสามารถนำศพนายเอกยุทธไปประกอบพิธีบำเพ็ญกุศลได้

หมอพรทิพย์ติงเก็บหลักฐานรวบรัด หวั่นถูกครหา“รัฐตำรวจ”

ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการ Online รายงานด้วยว่า 13 มิ.ย.56 แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันทน์ ผู้ตรวจราชการสำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมบลูสกายโดยระบุถึงกรณีดังกล่าวว่า คดีของนายเอกยุทธ ถือว่าไม่ได้แตกต่างจากคดีของนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งหายตัวไปอย่างมีเงื่อนงำในปี 2547 ในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

“คดีนี้มันก็ไม่ต่างจากกรณีของคุณสมชาย นีละไพจิตร ซึ่งเรายังไม่รู้ประเด็นว่าคืออะไร แต่ผู้ตายไม่ใช่ประชาชนธรรมดาที่ไม่เคยมีเรื่องกับอำนาจรัฐ เพราะฉะนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ คุณเอกยุทธถือเป็นตัวอย่างของคนที่สู้กับอำนาจรัฐ จะเป็นฝั่งอะไรก็ช่าง แต่เมื่อมีการตาย เจ้าหน้าที่รัฐและการเมืองต้องระวัง ระวังต่อการเข้าไปก้าวก่าย ระวังต่อการที่ทำให้เห็นได้ว่ามันมีการดำเนินการไม่สุด” พญ.พรทิพย์กล่าว

อดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งถูก ครม.สั่งย้ายให้มาเป็นผู้ตรวจราชการฯ กล่าวต่อว่า โดยหลักการในต่างประเทศซึ่งเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเต็มที่จะไม่มีการผูกขาดอำนาจอย่างในประเทศไทยเช่นปัจจุบัน โดยผู้ตรวจเก็บพยานหลักฐาน ผู้ตรวจพิสูจน์ และผู้ทำสำนวนต้องไม่เป็นหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันผู้ดำเนินการเกี่ยวกับคดีดังกล่าวเกี่ยวพันกับตำรวจ และผู้ถืออำนาจรัฐทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชาชนครหาได้ว่าปัจจุบันรัฐไทยเป็น “รัฐตำรวจ”

“ทำอย่างไรถึงจะตอบได้ว่า ที่เขาตรวจพิสูจน์มันมีความโปร่งใสจริง เก็บมาเต็มที่ แต่ถ้าถามว่าหมอเห็นจากภาพที่เอาศพขึ้น ก็ตอบได้เลยค่ะว่ามันทำอะไรได้มากกว่านั้นเยอะค่ะ” พญ.พรทิพย์ระบุ และเสริมว่า เท่าที่ตนเห็นจากสื่อทำให้เกิดความเป็นห่วง เพราะคดีนี้ถือเป็นฆาตกรรมอำพราง ซึ่งตำรวจไม่ควรสืบทางโทรทัศน์ ซึ่งตำรวจจับผู้ต้องหามาแถลงทีนึง เมื่อมีผู้ต้องสงสัยก็กลับไปหาหลักฐานมาเพิ่มอีกที ทำให้ขาดความน่าเชื่อถือ

ประเด็นต่อมาคือ ข้อมูลและหลักฐานอื่นๆ เช่น ข้อมูลการใช้โทรศัพท์ของผู้ต้องหาทางเจ้าหน้าที่กลับไม่ทำให้ปรากฎออกมา ทั้งนี้แม้ทางญาติของผู้เสียชีวิตอยากให้ตนเข้าไปตรวจสอบคดีนี้เพิ่มเติมเหมือนในอดีต ตนก็คงทำไม่ได้เนื่องจากบทบาทของตนเองในปัจจุบันคือผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม แม้จะมีสถานะของความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่ก็ตาม

“หมอไม่สามารถทำงานได้ ถ้าไม่มีเครื่องมือหรือมีทีม แต่ถ้า (ผู้บังคับบัญชา) สั่งการมาให้ครบมันก็ทำอะไรได้อยู่แล้วค่ะ ... พอลำบากทีก็จะคิดถึงเราทุกที” พญ.พรทิพย์กล่าว โดยเมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่าเมื่อถูกย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรมมีภารกิจอะไรบ้าง พญ.พรทิพย์ตอบว่า “ตรวจกระดาษมั้งคะ”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net