Skip to main content
sharethis

ชี้ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน รวมถึงการมอบหมายสัมปทานให้เอกชนจัดการเบ็ดเสร็จ ชี้การเวนคืนที่ดินจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ชุมชนอย่างรุนแรง 

10 มิ.ย. 56 - เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำเหนือ อีสาน และใต้ ออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย แสดงการคัดค้านโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) 
 
จดหมายดังกล่าวที่ลงนามโดยองค์กรประชาสังคม อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ และภาคใต้ สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล และสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ระบุว่า นอกจากโครงการดังกล่าวจะขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชนแล้ว ยังขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เช่น ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน เครือข่ายดังกล่าวจึงเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการดำเนินโครงการดังกล่าวทันที 
 
 
0000
 
 
จดหมายเปิดผนึก
 
199/13 ซ. 6 ถ.โพธาราม
ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ 50300
                    
 
10 มิถุนายน 2556
 
เรื่อง             เรียกร้องให้ยกเลิกโครงการออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย
 
เรียน             ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ
ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายปลอดประสพ สุรัสวดี
 
            ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ได้ทำการประมูลเพื่อดำเนินงานโครงการออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทยนั้น   เครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆดังรายชื่อแนบท้ายจดหมาย ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการดำเนินงานของโครงการดังกล่าว เนื่องจากสาเหตุหลายประการ  
 
ประการแรก การดำเนินงานของโครงการดังกล่าวขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันรวมถึงที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ทั้งที่มันจะส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากมายทั้งในระสั้นและระยะยาวและเป็นวงกว้างทั้งประเทศ รัฐบาลที่อ้างว่าตัวเองมาจากเสียงประชาชนกลับทำในสิ่งตรงกันข้ามคือการเหยียบย่ำคุกคามประชาชนที่พยายามแสดงความคิดเห็นและมีส่วนร่วม อย่างไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่าเป็นผู้นำ 
 
ประการที่สอง การดำเนินงานภายใต้แผนงานตามที่ได้มีการประกาศรายชื่อบริษัทผู้ที่ผ่านการคัดเลือกการประมูลนั้น ไม่สามารถจะทำได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้เนื่องจากเป็นแผนงานขนาดใหญ่และใช้งบประมาณสูง
 
ประการที่สาม การดำเนินโครงการของ กบอ.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เช่น ขาดการศึกษาผลกระทบด้านต่างๆ รวมถึงการวิเคราะห์โครงการ การจัดทำยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนแม่บท การวิเคราะห์การลงทุน 
 
ประการที่สี่ กบอ.ได้ปรับเปลี่ยนระบบและระเบียบต่างๆในการทำงาน ให้บริษัทเอกชนต่างประเทศที่ได้รับสัมปทานเป็นฝ่ายจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การศึกษาผลกระทบต่างๆไปจนถึงการออกแบบและก่อสร้าง รวมถึงการเวนคืนที่ดินการหาพื้นที่อพยพซึ่งจะกระทบต่อชุมชนและก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง
 
ดังนั้นเครือข่ายประชาชนในลุ่มน้ำภาคเหนือ อีสาน และภาคใต้ รวมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมอื่นๆดังรายชื่อแนบท้ายจดหมาย จึงเรียกร้องมายัง ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย นายปลอดประสพ สุรัสวดี  ให้ยกเลิกแผนงานโครงการดังกล่าว หากไม่มีการดำเนินงานตามที่ประชาชนได้เรียกร้องพวกเราจะดำเนินการตามมาตรการต่างๆที่ได้วางแผนไว้เพื่อปกป้องทรัพยากร สิทธิ และชุมชนของตนเองอย่างถึงที่สุด
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
 
นายสายัณน์ ข้ามหนึ่ง
ราษฎรตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
ผู้ลงนามแนบท้าย
1.    คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ จ.แพร่
2.    กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ต.ออบขาน จ.เชียงใหม่
3.    กลุ่มชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแม่ขาน ม.แม่ขนินใต้ ต.บ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่
4.    เครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
5.    กลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่แจ่ม อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่
6.    กลุ่มคัดค้านเขื่อนโป่งอาง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
7.    เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอิง จ.พะเยา และ เชียงใหม่
8.    กลุ่มตะกอนยม ต.สะเอียบ จ.แพร่
9.    กลุ่มเยาวชนจิตอาสาหญ้าแพรกสาละวิน
10.  เครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง
11.  เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน (คสข.)
12.  สภาประชาชนภาคอีสาน
13.  เครอข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร
14.  เครือข่ายชุมชนคนฮักน้ำของ จ.อุบลฯ
15.  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
16.  คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv.จ.อุดรธานี
17.  กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง
18.  กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
19.  สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
20.  เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
21.  เครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือ
22.  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) 
23.  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
24.  มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) 
25.  สมัชชาองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ
26.  เครือข่ายทรัพยากรและสิ่่งแวดล้อมภาคอีสาน
27.  ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
28.  ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
29.  มูลนิธิฮักเมืองแจ่ม จ.เชียงใหม่
30.  สถาบันอ้อผะหญา
31.  สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
32.  โครงการทามมูล จ.สุรินทร์
33.  เครือข่ายนักวิชาการนิเวศวัฒนธรรมอีสาน
34.  สถาบันปัญญาปีติ
35.  ชุมชนนักกิจกรรมภาคเหนือ
36.  สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนปากมูล
37.  โครงการเสริมศักยภาพองค์กรชุมชนในการอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำแก่งละว้า
38.  เครือข่ายอนุรักษ์และฟื้นฟูแก่งละว้า จ.ขอนแก่น
39.  กลุ่มพิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
40.  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโคกหินขาว

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net