Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การแข่งขันกีฬาฟุตบอลเป็นเกมกีฬาอย่างหนึ่งที่ประกอบด้วยการแข่งขันมากมายหลายระดับและมีผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ อาทิเช่น นักกีฬาฟุตบอล ผู้ชมกีฬาฟุตบอล ผู้จัดการทีมฟุตบอลและเจ้าหน้าที่กำกับการแข่งขันกีฬาฟตุบอล ซึ่งบุคคลเหล่านี้มีที่มาแตกต่างกันเหล่านี้นอกจากจะมีทักษะที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหรือหน้าที่ของตนในเกมกีฬาฟุตบอลที่แตกต่างกันแล้ว บุคคลเหล่านี้ยังมีที่มาจากความหลากหลาย (diversity) ทางด้านเชื้อชาติ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นอกจากนี้ ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพในยุคปัจจุบันยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สนับสนุนหรือก่อให้เกิดความหลากหลากทางด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมภายในสโมสรกีฬาฟุตบอลหรือการแข่งขันกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ ที่มากขึ้น จากการเปิดโอกาสให้สโมสรกีฬาฟุตบอลสามารถรับโอนผู้เล่นหรือนักกีฬาฟุตบอล (transfer of players) ที่มีความสามารถกับศักยภาพเข้ามาสังกัดในทีมของตนภายใต้หลักเกณฑ์และวีธีการว่าด้วยการโอนผู้เล่นและกำหนดสถานะของผู้เล่น (Regulations on the Status and Transfer of Players) ที่สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ ได้กำหนดเอาไว้ เพื่อให้การแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับประเทศ ภูมิภาคและระดับนานาชาติมีหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับโอนหรือการให้โอนตัวผู้เล่นกีฬาฟุตบอลอันมีมาตรฐานเดียวกัน อนึ่ง สโมสรกีฬาฟุตบอลหลายแห่งได้พยายามเฟ้นหาตัวผู้ที่มีความสามารถด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล เพื่อจ้างให้มาปฏิบัติงานในสโมสรของตนภายใต้สัญญาจ้างแรงงานและสัญญาจ้างทำของในตำแหน่งต่างๆ กัน เช่น ผู้จัดการทีม ผู้ฝึกสอน นักกายภาพบำบัดและนักเศรษฐศาสตร์กีฬา เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งต่างๆ ที่หลากหลายภายใต้สัญญาจ้างระดับต่างๆ ของสโมสรกีฬาฟุตบอล อาจมีเชื้อชาติ สีผิว ภาษาและวัฒนธรรมอันมีที่มาต่างกันด้วย

การรวบรวมผู้เล่นกับผู้เกี่ยวข้องกีฬาฟุตบอลที่มีความสามารถของสโมสรกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ จะสามารถส่งเสริมศักยภาพหรือประสิทธิภาพสำหรับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและธุรกิจกีฬาฟุตบอลตามทิศทางที่สโมสรได้กำหนดก็ตาม แต่ความหลากหลายทางด้านเชื้อชาติ ภาษาและวัฒนธรรมของผู้เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลที่แตกต่างกัน ย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญหนึ่งที่อาจก่อให้เกิดการกระทบกระทั้งหรือข้อขัดแย้งระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลที่มาจากสโมสรกีฬาฟุตบอลเดียวกันหรือต่างสโมสรกัน จนก่อให้เกิดปัญหาการเหยียดผิว (racism) ในเกมกีฬาฟุตบอลทั้งในระดับสมัครเล่นและในระดับอาชีพ

ในปัจจุบันสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่า (Fédération Internationale de Football Association - FIFA) ได้กำหนดประมวลวินัย (FIFA Disciplinary Code - FDC) ในส่วนสารบัญญัติ มาตรา 58 ว่าด้วยเรื่องการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล ที่กำหนดมาตรการที่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลและผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่แสดงออกด้วยการกีดกันหรือแสดงพฤติกรรมอันเป็นการเหยียดผิวต่อสาธารณชนหรือต่อบุคคล โดยอาศัยเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว หรือชาติพันธุ์ ต้องได้รับโทษปรับ (fine) เป็นจำนวนเงินตามที่ประมวลวินัยมาตรานี้ได้กำหนดเอาไว้ และห้ามเข้าอัฒจรรย์ (stadium ban) ภายในระยะเวลาขั้นต่ำตามที่ประมวลดังกล่าวได้กำหนดเอาไว้ นอกจากนี้ หากผู้ชมกีฬาฟุตบอลคนใดได้แสดงป้ายอันมีข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเหยียดผิวหรือแสดงออกซึ่งความดูแคลนในการแข่งขัน สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสหพันธ์กีฬาฟุตบอลที่จัดการแข่งขันหรือกำกับการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในขณะนั้น สามารถกำหนดโทษปรับแก่ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ชมกีฬาฟุตบอลสังกัดสโมสรกีฬาฟุตบอลที่กระทำการดังกล่าวได้และมีอำนาจห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลที่มีสังกัดดังกล่าวเข้าไปเชียร์การแข่งขันในรอบต่อไป แต่หากพิสูจน์ได้ว่าผู้ชมกีฬาฟุตบอลไม่ได้สังกัดสโมสรกีฬาฟุตบอลนั้นๆ สโมสรกีฬาฟุตบอลเจ้าบ้านมีอำนาจดำเนินการปรับหรือห้ามไม่ให้ผู้ชมกีฬาฟุตบอลผู้กระทำการดังกล่าวเข้ามาชมการแข่งขันในรอบต่อไปได้

แม้ว่าสหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศหรือฟีฟ่าในฐานะที่เป็นองค์กรกำกับกิจการกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศ (international football governing body) จะมีอำนาจกำหนดกฎเกณฑ์ทางกีฬาฟุตบอลระหว่างประเทศเกี่ยวกับกรณีเหยียดผิวเพื่อวางบรรทัดฐานให้สมาคมกีฬาฟุตบอลหรือสหพันธ์กีฬาฟุตบอลปฏิบัติตาม ภายใต้หลักความเป็นอิสระในการกำกับดูแลกีฬา (legal autonomy for governance of sport) หรือหลัก lex sportiva ในทางตรงกันข้าม ในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอาชีพระดับประเทศและระดับภูมิภาคหลายการแข่งขันได้ประสบกับปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอล ตัวอย่างเช่น กรณีที่หลุยส์ ซัวเรซเหยียดผิวปาทริซ เอฟรา และกรณีจอห์น เทอร์รี่เหยียดผิวอันตน เฟอร์ดินาน ในปี 2011 เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้เอง ในการประชุมเป็นทางการของฟีฟ่าครั้งที่ 63 ที่สาธารณรัฐเมาริตุส (Mauritius) ระหว่างวันที่ 30 ถึง 31 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมา ฟีฟ่าได้กำหนดวาระการประชุมที่สำคัญหลายประการเพื่อให้การแข่งกีฬาฟุตบอลในระดับสากลมีความเป็นธรรมภายใต้หลักธรรมาภิบาลกีฬา รวมไปถึงการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ ด้วยเหตุนี้ การเลือกปฏิบัติหรือเหยียดผิวจึงถือเป็นประเด็นสำคัญที่ถูกนำมาอภิปรายในการประชุมเป็นทางการในครั้งนี้ด้วย

ฟีฟ่าได้จัดทำเอกสารที่สำคัญเกี่ยวกับความตั้งใจของฟีฟ่าในการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในวงการกีฬาฟุตบอล 2013 โดยเอกสารฉบับนี้มีเนื้อความสนับสนุนให้ฟีฟ่ากระทำการปฏิรูปกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการขจัดการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของมนุษย์ที่มีส่วนร่วมกับเกมกีฬาฟุตบอล เพราะปัญหาการเลือกปฏิบัติในวงการกีฬาฟุตบอลและการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลก็ถือเป็นสิ่งสะท้อนปัญหาสังคมประการหนึ่งด้วย อนึ่ง แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาฟีฟ่าได้มีความพยายามในการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลมาหลายครั้งแล้ว เช่น การยอมรับหลักเกณฑ์อันเป็นแนวทางต่อต้านการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลของฟีฟ่า (principles of the FIFA Resolution Against Racism) ในการประชุมเป็นทางการของฟีฟ่า ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ค.ศ. 2001 แต่ปัญหาของการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเกมกีฬาฟุตบอลไม่ได้หมดไปจากการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในทุกระดับชั้นแต่ประการใด

ฟีฟ่ามีความพยายามในการเรียกร้องให้สมาคมกีฬาฟุตบอลและสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลที่จัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลในระดับต่างๆ  มีความผูกพัน (obligation) ในการปฏิบัติตามระเบียบและข้อบังคับของฟีฟ่าว่าด้วยการต่อต้านการเหยียดผิว รวมไปถึงความรับผิดของ (responsibility) ในการรณรงค์และกำจัดปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลให้หมดไปในเกมกีฬาฟุตบอลที่ตนกำกับดูแลอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง ฟีฟ่าได้กำหนดแนวทางที่สำคัญสามประการในการต่อสู้กับปัญหาการเหยียดผิวในเกมกีฬาฟุตบอลสามประการด้วยกัน ได้แก่ ประการแรก การให้การศึกษา (education) ผ่านการจัดทำแผนปฏิบัติให้องค์กรจัดการแข่งขันกีฬาฟุตบอลได้จัดทำแผนต่อต้านการเหยียดผิวทุกรูปแบบในเกมหรือการแข่งขันกีฬาฟุตบอลอย่างเป็นรูปธรรม ประการที่สอง การป้องกัน (prevention) โดยข้อบังคับในการแข่งขันกีฬาฟุตบอลทุกระดับชั้น ต้องกำหนดให้มีมาตรการเฉพาะในการต่อต้านการกีดกันหรือการเหยียดผิว โดยผู้จัดการแข่งขันต้องจัดเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ต่อต้านการกีดกันหรือการเหยียดผิวในสนามกีฬาฟุตบอลเอาไว้เป็นการเฉพาะ เพื่อตรวจสอบหรือระบุการกระทำอันถือเป็นการกีดกันหรือการเหยียดผิวในสนามกีฬาฟุตบอลหรืออัฒจรรย์ฟุตบอล โดยการป้องกันดังกล่าวย่อมถือเป็นการสนับสนุนการปฏิบัติงานของกรรมการผู้ตัดสินและเจ้าหน้าที่วินัยในสนามฟุตบอลให้สามารถปฏิบัติงานได้สะดวกกับอำนวยความสะดวกต่อเจ้าหน้าที่ในการแข่งขันและเจ้าหน้าที่ตำรวจ (ตำรวจทางการยุติธรรม) ให้สามารถแสวงหาพยานหลักฐานประกอบการไต่สวนข้อเท็จจริงในสมาคมกีฬาฟุตบอลและการพิจารณาคดีในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาได้ง่ายขึ้น ประการที่สาม การลงโทษ (sanction) ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในประมวลวินัยกีฬาฟุตบอลต้องผูกพันสมาคมหรือสมาพันธ์กีฬาฟุตบอลในทุกระดับชั้น โดยองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการที่มีอำนาจวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับการเหยียดผิว (judicial bodies) อาจนำเอาหลักเกณฑ์ในข้อบังคับดังกล่าวหรือดุลพินิจของคณะกรรมการวินัยของสมาคมกีฬาฟุตบอลระดับต่างๆ มาพิจารณาควบคู่กับกฎหมายในเขตอำนาจศาลของตนได้ อย่างไรก็ดี ในอนาคตอาจมีการปฏิรูปมาตรการป้องกันการเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอลเพิ่มเติมอีกสองกรณีด้วยกัน ได้แก่ กรณีการกระทำอันเป็นลหุโทษ (minor offence) ที่เกี่ยวกับการความผิดฐานเหยียดผิวในกีฬาฟุตบอล ที่อาจจะกำหนดเพียงโทษปรับหรือตักเตือนเล็กน้อยกับกรณีการกระทำความผิดซ้ำ (reoffenders) และการกระทำความผิดอย่างร้ายแรง (serious incidents) อาจกำหนดบทลงโทษด้วยการตัดแต้มการแข่งขัน การไล่ออกจากการแข่งขันหรือการลดลำดับในตารางการแข่งขัน

ความตั้งใจของฟีฟ่าและแนวทางในการปฏิรูปข้อบังคับของฟีฟ่าในอนาคต จะส่งผลให้เกิดการป้องกันการเหยียดผิวกับการกีดกันจากเหตุแห่งความแตกต่างทางเชื้อชาติ ศาสนา ภาษา สีผิว หรือชาติพันธุ์ มากน้อยเพียงใดในอนาคต ประเด็นนี้จึงถือเป็นความท้าทายทางด้านกฎหมายกีฬาและธรรมาภิบาลกีฬาฟุตบอลที่รอการพิสูจน์ว่าการปฏิรูปข้อบังคับของฟีฟ่าและบังคับใช้ข้อบังคับที่ได้รับการปฏิรูปจะมีประสิทธิภาพมากสักเพียงใด

โปรดดูข้อมูลเพิ่มเติม:

[1] ประมวลวินัย (FIFA Disciplinary Code - FDC) ใน http://www.fifa.com/mm/document/affederation/administration/fifa_dc_en_34118.pdf

[2] เอกสารความตั้งใจของฟีฟ่าในการต่อสู้กับปัญหาการเลือกปฏิบัติและการเหยียดผิวในวงการกีฬาฟุตบอล 2013 (Resolution on the fight against racism and discrimination 2013) ใน http://www.fifa.com/mm/document/afsocial/anti-racism/02/08/56/92/fifa-paper-against-racism-en-def_neutral.pdf

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net