Skip to main content
sharethis


วันนี้ (22 มี.ค.56) ที่กระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจกระทรวงการคลัง (ศสค.) ร่วมกับ สมาคมเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ “ระบบประกันรายได้เพื่อความชราภาพ : โอกาสและความยั่งยืน” มีวิทยากร 4 คน คือ นายกฤษฎา อุทยานิน  นางดัยนา บุญนาค  รศ.ดร.วรเมศม์ สุวรรณระดา และ ดร.ลลิตา จันทรวงศ์ไพศาล โดยมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ในการเปิดงาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ชี้แจงถึงสาเหตุความล่าช้าของการรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ว่ายังติดขัดที่การแก้ไขพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ เพราะไม่ต้องการให้ซ้ำซ้อนกับพระราชบัญญัติประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกับกองทุนการออมแห่งชาติทุกประการ 

นายกิตติรัตน์กล่าวว่า  ทั้งที่มาตรา 40 ก็ระบุความคุ้มครองไว้ถึงสองแผน คือ แผนแรก ประชาชนฝากเงินเดือนละ 70 บาท รัฐจะสมทบให้อีก 30 บาท รวมเป็น 100 บาท ให้การดูแลระหว่างที่ยังไม่เกษียณอายุการทำงาน และแผนสอง ประชาชนฝากเงินเดือนละ 100 บาท รัฐสมทบให้อีก 50 บาท รวมเป็น 150 บาท ให้การดูแลทั้งระหว่างและหลังเกษียณอายุการทำงาน แต่ก็ยังมีคนให้ความสนใจลงทุนน้อย มีเพียง 7.7 ล้านคน ทั้งที่ควรจะมีถึง 30 ล้านคน จึงจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่ามีข้อบกพร่องอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลและประชาชนในอนาคต ต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพื่อเชิญชวนผู้ประกอบอาชีพอิสระมาลงทุนอย่างมั่นใจ ขณะนี้กระทรวงการคลังต้องทำงานใกล้ชิดกับกระทรวงแรงงาน และมีความเห็นตรงกันว่า ให้ปรับปรุงพระราชบัญญัติประกันสังคมมาตรา 40 ในรูปแบบของการเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนมากขึ้น  เป็นทางเลือกที่สาม ซึ่งเน้นการออมอย่างจริงจัง ไม่จำกัดเหมือนสองทางเลือกแรก

ด้านนางอรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน ได้ยื่นหนังสือต่อนายกิตติรัตน์  เพื่อขอให้มีการเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติโดยเร็วเพราะประชาชนเสียโอกาสในการออมเงิน  การเปิดรับสมัครช้าทั้งที่พระราชบัญญัติถูกประกาศใช้แล้ว ทำให้แรงงานนอกระบบถูกชะลอเวลาเข้าสู่ระบบประกันรายได้ยามชราภาพออกไป แรงงานที่เกษียณแล้วไม่ได้รับการคุ้มครองหลักประกันการดำรงชีพยามชรา 

ขณะเดียวกัน มีผู้ร่วมการเสวนา ซึ่งเป็นตัวแทนจากแรงงานนอกระบบ แสดงความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการทำกฎหมายให้สมบูรณ์เบ็ดเสร็จเพื่อให้ไม่เกิดปัญหาในอนาคต เพราะเชื่อว่าไม่มีกฎหมายใดที่สร้างสำเร็จโดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุง เช่นเดียวกับการแก้กฎหมายเพื่อตามเอาผิดกับคนที่ใช้เทคโนโลยีกระทำความผิด จึงต้องการให้เปิดรับสมัครสมาชิกตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติซึ่งประกาศใช้ไปตั้งแต่ พ.ศ. 2554 และภาคประชาชนซึ่งเคยไปร้องเรียนที่กรรมาธิการ การคลัง การธนาคารและสถาบันการเงิน สภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยที่ กอช.จะอยู่ในพระราชบัญญัติประกันสังคม เพราะเจ้าหน้าที่มีพร้อมอยู่แล้ว โดยภาคประชาชนต้องการให้ตั้งเป็นองค์กรอิสระมาบริหารจัดการ ไม่ต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐเพราะในอนาคต กองทุนนี้จะมีเงินจำนวนมหาศาลยิ่งกว่าประกันสังคม

ในช่วงการเสวนา รศ.ดร.วรเมศม์ สุวรรณระดา คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเป็นห่วงว่าสังคมไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว เนื่องจากมีจำนวนประชากรที่อายุ 60 ปีมากกว่าร้อยละ 10 และยังเป็นสังคมลูกน้อย อัตราการเสียชีวิตลดต่ำลง คือ มีอายุยืนมากขึ้น  จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างหลักประกันของชีวิตเมื่อยามชราให้มั่นคงมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น แต่ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจ

ในกรณีของกองทุนการออมแห่งชาติ วรเมศม์เห็นว่า ระบบประกันรายได้ของรัฐมีหลากหลายรูปแบบ แต่อยากให้เปิดรับสมัครสมาชิกได้แล้ว เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งจะเกิดมากขึ้นอีก การแก้กฎหมายถือเป็นเรื่องปลีกย่อยแต่การเปิดรับสมัครสมาชิกเป็นเรื่องโครงสร้างที่ควรเร่งทำที่สุด ส่วนกฎข้อบังคับมีข้อบกพร่องอย่างไรก็แก้ได้ในภายหลัง

นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัจจุบันการรณรงค์เรื่องการมีลูกมีลักษณะตรงกันข้ามกับอดีต ในอดีตส่งเสริมให้คนมีลูกน้อยๆ แต่เดี๋ยวนี้ต้องรณรงค์ให้มีลูกเพิ่มขึ้น เพราะคนมีลูกกันน้อยลงหรือไม่มีเลย คนในสังคมมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น จึงต้องจัดการดูแลตัวเองได้มากขึ้น แต่รัฐจะมีนโยบายสนับสนุนอย่างไร เพื่อให้ประชาชนจำนวนเป้าหมายคือ ร้อยละ30 ได้รับประโยชน์ ประชาชนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ เป็นแรงงานนอกระบบ จะเข้าถึงประโยชน์นี้ได้อย่างไร ก็น่าจะเป็นเรื่องของการพึ่งพากันเองในชุมชน นอกจากนี้แล้ว การออมเงินเพื่อเป็นหลักประกันในวัยชราก็จะต้องมีการแบ่งประเภทอย่างชัดเจนด้วย

นางดัยนา บุนนาค กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการกำกับตลาดทุน สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เห็นว่า สาเหตุที่การแบ่งประเภทของลักษณะการออม ยังไม่สำเร็จครบถ้วนก็เนื่องมาจากการทำงานของรัฐล่าช้า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลก็มีการเปลี่ยนคณะทำงานใหม่ตลอด ตั้งคณะกรรมการพิจารณาใหม่ตลอด ทั้งๆ ที่การออมเงินต้องเตรียมการนานเป็นสิบปี แต่ก็ถูกปล่อยให้ล่วงเลยมานาน ดังนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้สำเร็จสิ้นอย่างเร่งด่วน อยากให้รัฐบาลและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงคนที่มีโอกาสที่จะผลักดันเรื่องนี้ควรหันมาให้ความสนใจให้มาก ช่วยกันสร้างเครือข่ายทางสังคมขึ้นมาเพื่อช่วยกันเรียกร้องในเรื่องนี้ ในส่วนของภาครัฐก็ควรหยิบเรื่องที่ศึกษาไว้แล้วมาทำเลย อย่าตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาอีก ศึกษามาพอแล้ว ปัญหาเล็กๆ น้อยอย่าให้มาเป็นอุปสรรค เอาเรื่องใหญ่ให้เกิดมาก่อน หากมีปัญหาก็ไปแก้วันข้างหน้าได้ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาหนึ่ง เพราะฉะนั้นต้องทำเลย

“ตอนนี้เราคุยกันเรื่องการสร้างอินฟราสตรัคเจอร์สองล้านล้าน ตัวเลขมโหฬาร โครงการสวยหรูมาก แต่ถ้าเราไม่สร้างทรัพยากรมนุษย์  ถ้าเราไม่สร้างไว้ แม้จะมีรถไฟความเร็วสูง มีอะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมด  แต่มนุษย์ไม่มีความพร้อม มีคนแก่ยากจนอยู่ตามถนน รถไฟก็ไม่มีประโยชน์อะไร” นางดัยนากล่าว

ดร.ลลิตา จันทร์วงศ์ไพศาล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าสิ่งสำคัญประการหนึ่งในการออมเงินของประชาชนคือการมีความรู้ว่าออมอย่างไรจึงจะเหมาะสมเพียงพอ เพราะจากประสบการณ์การทำงานวิจัยกับคนในเมืองซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนมีระดับความรู้สูง ยังพบว่าคนส่วนใหญ่ออมเงิน แต่ไม่ได้คำนวณว่าจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายในอนาคตหรือไม่  อย่างไรก็ตาม การออกแบบระบบการออมจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ออมแต่ละคนในการพึ่งพาตนเองว่ารัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือหรือไม่ ช่วยเหลือมากเพียงใด เพราะไม่มีแบบแผนใดแบบแผนหนึ่งที่จะเหมาะสมกับคนทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net