Skip to main content
sharethis

ความเห็นจากพื้นที่ ก่อนเดินหน้าพูดคุยเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้ ย้ำรัฐต้องคุยกับหลายๆ กลุ่ม รวมทั้งภาคประชาสังคมในพื้นที่ต้องมีบทบาท ต้องตกลงกันก่อนว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก ชี้ความขัดแย้งต้องจบลงด้วยการเจรจา แต่ถ้าไม่มีความจริงใจ ความรุนแรงจะย้อนกลับมา

การลงนามเพื่อริเริ่มการพูดคุยเพื่อสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่ง (สมช.) ในฐานะตัวแทนรัฐไทย กับนายอาแซ เจ๊ะหลง หรือฮัสซัน ต็อยยิบ แกนนำขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (BRN-Coordinate) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ประเทศมาเลเซีย ทำให้นักวิชาการ และคนทำงานภาคประชาสังคม ต่างให้คำนิยามของการลงนามครั้งนี้แตกต่างกันออกไป

ทว่า สิ่งที่เหมือนกัน คือ “การพบปะครั้งนี้เป็นขั้นตอนสำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรูปแบบสันติวิธี”

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา

“ต้องคุยหลายๆ กลุ่มและภาคประชาสังคมต้องมีบทบาท”

แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การพบว่าครั้งนี้ ถือว่าเป็นเจตจำนงที่ดีของรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาโดยการพูดคุย

“อีกทั้งยังเป็นการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลมีความพร้อมจะมีการเจรจากับฝ่ายขบวนการ การพูดคุยครั้งนี้มีความแตกต่างจากการพูดคุยจากหลายครั้งที่ผ่านมา ที่ดำเนินการโดยฝ่ายทหาร และภาคประชาสังคม ซึ่งส่วนใหญ่แล้วรัฐบาลไม่เคยทราบ

“หลังจากการลงนามเพื่อจะพูดคุยกันในครั้งนี้ คิดว่าไม่ได้หวังว่าจะทำให้เกิดความสงบสุขในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องการพุดคุยครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างความรู้จัก และสร้างความไว้วางใจระหว่างกัน หลังจากนั้น จึงพัฒนาสู่การทำอย่างไรที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่าย ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน

“อย่างไรก็ตาม การพูดคุยระหว่างกันตัวแทนรัฐบาลไทยกับแกนนำขบวนการ BRN-Coordinate ที่จะมีขึ้นครั้งต่อไปในวันที่ 28 มีนาคม 2556 คิดว่าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นในหลายๆ ประเด็น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ ต้องมีการพูดคุยกับหลายๆ กลุ่มที่เคลื่อนไหวในพื้นที่ แม้ว่ากลุ่มเหล่านั้นจะไม่มีกองกำลังที่เคลื่อนไหวในพื้นที่แล้วก็ตาม

“เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2556 ที่ผ่านมา ดิฉันและสมาชิกกลุ่มวะดะห์ในฐานะที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ได้มีการประชุมนัดแรกไปแล้วหลังจากได้รับการแต่งตั้ง โดยดิฉันตนได้เสนอต่อที่ประชุมว่า อยากให้ภาคประชาสังคมในพื้นที่เข้ามามีบทบาทในกระบวนการพูดคุยด้วย เนื่องจากภาคประชาสังคมเป็นบุคคลในพื้นที่ ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษาและอื่นๆ

“บุคคลเหล่านี้มีความใกล้ชิดกับประชาชน และรู้ปัญหาในพื้นที่อย่างดี แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับแต่อย่างใดในขณะนี้

“อยากให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ว่า ประชาชนต้องการให้พื้นที่ตรงนี้มีการปกครองในรูปแบบใด ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบเดิมทีใช้อยู่ในปัจจุบัน หรือเป็นรูปแบบใหม่ตามที่ฝ่ายขบวนการนำเสนอ หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งคิดว่าน่าจะให้ภาคประชาสังคมเป็นผู้ดำเนินการสำรวจก็ได้

 

นางสาวละม้าย  มานะการ

 “ต้องตกลงกันก่อนว่าจะไม่ให้เกิดความรุนแรงอีก”

นางสาวละม้าย  มานะการ กองเลขานุการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นการเจรจาระหว่าง พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร กับ นายฮัสซัน ต็อยยิบ หากรัฐบาลมีความจริงใจในการเจรจา หรือเป็นนโยบายของรัฐบาลจริงๆ คิดว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ในลักษณะสันติวิธี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ที่ทำงานในเรื่องสันติวิธี เน้นการพูดคุยเพื่อสันติภาพ และการเจรจาระหว่างกัน

“จากการศึกษากรณีของจังหวัดอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย และกรณีภาคใต้ของประเทศฟิลิปปินส์  พบว่า กว่าที่การเจรจาจะนำไปสู่การเกิดสันติภาพได้นั้น ต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ดังนั้นสิ่งสำคัญหลังจากนี้ที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการคือ การกำหนด Road Map (แผนที่นำทาง) ให้ชัดเจนว่า จะนำสันติภาพมาสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร

”รัฐบาลจะต้องทำความเข้าใจในหน่วยงานของรัฐเอง และหน่วยงานของรัฐทุกๆหน่วยต้องออกมาสนับสนุนการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้ และเรื่องนี้ต้องเป็นนโยบายของทุกๆ รัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ที่สำคัญอย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นเรื่องการเมือง เพราะประชาชนในพื้นที่มีความสูญเสียมามากพอแล้ว

“สิ่งที่สำคัญที่รัฐบาลและขบวนการ BRN-Coordinate ต้องดำเนินการ คือต้องมีข้อตกลงในเบื้องต้นก่อนว่า จะต้องทำให้ไม่เกิดความรุนแรงหรือความสูญเสียอีกต่อไป ในระหว่างการเจรจานี้ หากเกิดความรุนแรงอีก ทางขบวนการจะต้องออกมาชี้แจ้งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขบวนการ BRN เป็นผู้กระทำหรือไม่ หากเป็นผู้กระทำ ก็ต้องอธิบายว่า กระทำด้วยเหตุผลอะไร เพราะหากความรุนแรงยังคงเกิดขึ้นอยู่ การเจรจาก็จะเป็นไปได้ยากมาก

อาจารย์อะฮหมัด สมบูรณ์  บัวหลวง

“ความขัดแย้งต้องจบลงด้วยการเจรจาและความจริงใจ”

อาจารย์อะฮหมัด สมบูรณ์ บัวหลวง ผู้อำนวยการหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า การลงนามดังกล่าว เป็นการทำสัญญาต่อกัน

“การลงนามครั้งนี้ ตนมีความคิดเห็น 2 ประการ คือ ประการที่ 1.รัฐบาลไทยยอมรับว่ามีขบวนการกอบกู้เอกราชปาตานีจริง ดังนั้นหลังจากนี้รัฐบาลจะเรียกขบวนการกอบกู้เอกราชปาตานีว่า “โจร” อีกต่อไปไม่ได้ อีกทั้งเป็นการยอมรับว่า การต่อสู้ในพื้นที่เป็นการต่อสู้ทางอุดมการณ์  

“ประการที่ 2.เป็นการเปิดพื้นที่ในการแก้ปัญหาในมิติใหม่ ที่ประเทศไทยจะต้องจารึกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขั้นจะต้องจบลงด้วยการพูดคุยเท่านั้น ดังนั้นการเซ็นสัญญาครั้งนี้ เป็นแสวงหาสันติภาพในอนาคต ฉะนั้นหลังจากนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องมีความจริงใจต่อการแสวงหาแนวทางสันติภาพที่ถาวร ไม่ใช่แค่ต้องการให้ประชาคมโลกรับรู้ว่า รัฐบาลมีแนวทางแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีแล้วเท่านั้น

“หลังจากนี้ อย่าถามว่าพื้นที่ตรงนี้จะสงบหรือไม่ เนื่องจากความสงบสุขกับความรุนแรงเป็นคนละเรื่องกัน การเซ็นสัญญาครั้งนี้เป็นกระบวนการหรือขั้นตอนหนึ่งที่จะหาทางออกร่วมกันในอนาคต หรือเป็นการยอมรับศักดิ์ศรีของแต่ละฝ่ายในการทำข้อตกลงร่วมกัน

“การเซ็นสัญญาครั้งนี้ บุคคลที่ออกมาเซ็นสัญญากับรัฐบาลจะเป็นตัวปลอมหรือตัวจริงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่สิ่งที่สำคัญคือเป็นเป็นมิติใหม่ที่ประวัติศาสตร์ไทยจะต้องจารึกว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจะต้องจบลงบนโต๊ะเจรจา หรือต้องแก้ปัญหาด้วยสติปัญญา ไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยการใช้อาวุธ

“ส่วนเหตุรุนแรงในพื้นที่นั้น คิดว่าจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป แต่จะรุนแรงขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับทั้ง 2 ฝ่ายว่า จะมีความจริงใจแค่ไหนในสิ่งที่เซ็นสัญญาลงไป หากรัฐบาลไม่มีความจริงใจ ก็อาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้อีก หรือหากรัฐบาลมีความจริงใจ แต่ฝ่ายขบวนการไม่มีความจริงใจ ผลสะท้อนก็จะกลับไปเกิดขึ้นต่อขบวนการเสียเอง

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net