Skip to main content
sharethis

ชี้ปมคำถามสำคัญ ‘บริษัทเชฟรอน’ เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการท่าเรือแต่ สผ.ยังคงดำเนินการไปสู่กระบวนการอนุมัติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตสร้างต่อไปเพื่ออะไร ร้อง ‘บริษัทเชฟรอน’ ยกเลิก EHIA อย่างเป็นทางการ

ภาพจาก: http://www.greenpeace.org
 
วันนี้ (26 ก.พ.56) ที่สำนักงานนโยบายแผนสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (สผ.) เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และภาคีเครือข่ายชุมชนท่าศาลา รวมตัวทวงถาม สผ.เพื่อสร้างความกระจ่างกรณีที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติการก่อสร้างท่าเรือที่ อ.ท่าศาลา มาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 แต่กลับพบว่ากระบวนการดำเนินการทางกฎหมายคือการส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ (EHIA) ยังคงดำเนินการต่อไปไม่หยุดยั้ง
 
เครือข่ายภาคประชาชนระบุด้วยว่า กระบวนการหยุดเหล่านี้กลายเป็นระบบที่บิดเบี้ยวและฟั่นเฟือนสำหรับกลไกการอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งบทเรียนจากกรณีเชฟรอนกลายเป็นประเด็นที่น่ากังวล ห่วงใย ต่อการไม่เป็นธรรมในระบบ การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปจนกระทั่งการอนุมัติและการออกใบอนุญาต
 
คำถามที่สำคัญคือ ‘เจ้าของโครงการประกาศยุติโครงการ แต่สผ.ยังคงดำเนินการไปสู่กระบวนการอนุมัติเพื่อให้ได้ใบอนุญาตการสร้างท่าเรือต่อไป?’
 
ประเด็นถัดมา คือ ชุมชนได้ร้องไปยัง สผ.ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 เพื่อให้เกิดการทบทวนรายงาน EHIA ซึ่งพบว่าผิดพลาดจากข้อเท็จจริง โดยขอให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ทบทวนมติเพื่อให้ยกเลิกรายงาน EHIA เพราะพบข้อผิดพลาดหลายประการในรายงาน EHIA อย่างไรก็ตาม จนกระทั่งขณะนี้ยังไม่มีการทบทวนมติแต่อย่างใด ในขณะที่กระบวนการอนุมัติยังคงดำเนินการต่อท่ามกลางการประกาศยุติโครงการจากเจ้าของโครงการ
 
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา และภาคีเครือข่ายชุมชนท่าท่าศาลา คือ ให้บริษัทเชฟรอนยกเลิกรายงาน EHIA อย่างเป็นทางการ และให้ สผ.ยุติการดำเนินการต่อในกระบวนการอนุมัติการสร้างท่าเรือดังกล่าว
 
ส่วนกิจกรรมในวันนี้ เครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เครือข่ายลูกหลานท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน มีการเปิดการแสดงโดย เลน จิตติมา และเครือข่ายฯ มีการแสดงทางศิลปะ และอ่านบทกวี อ่านคำประกาศ จากนั้นในช่วงบ่ายมีการประชุมเจรจากับตัวแทน สผ.
 
แถลงการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้
 
 
 
แถลงการณ์
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา-เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา-เครือข่ายลูกหลานท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน
 
26 กุมภาพันธ์ 56

...สผ.กับเชฟรอนต้องหยุดเกมลวงโลก 
ถอนรายงาน อีเอชไอเอ เชฟร่อน ทันที!!!
 
ท้องทะเลอันกว้างใหญ่ที่อำเภอท่าศาลากลายเป็นแหล่งผลิตอาหารเลี้ยงคนนับแสนมาหลายชั่วอายุคน ทะเลท่าศาลาเป็นของทุกคนที่กินปลาและที่เป็นมนุษย์ทะเลนี้จึงมิใช่ของคนท่าศาลาเพียงหมู่เดียว หากแต่พวกเราเพียงทำหน้าที่เป็นคนรักษาทะเลและผลิตอาหารเลี้ยงผู้คน เราใช้เวลานับ 20 ปีสู้กับการทำลายร้างทะเลท่าศาลา เราใช้เวลา 10 กว่าปีสำหรับกระบวนการอนุรักษ์ให้ทะเลยังคงสมบูรณ์ เราอาจได้เงินมาจากการจับสัตว์น้ำ แต่เงินของเราก็คืออาหารของทุกคน

11 ก.ย.2555 คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ภายใต้ฝ่ายเลขาคือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้อนุมัติรายงาน EHIA ให้บริษัทเชฟรอนสร้างท่าเรือเพื่อรองรับกิจกรรมปิโตรเลียมของบริษัท... วันนั้นคนท่าศาลาเพิ่งตระหนักว่ากลไกของรัฐมีไว้เพื่อรับใช้ทุนขนาดใหญ่ และนักวิชาการได้ใช้สติปัญญาอันโง่เขลาตัดสินว่าการสร้างท่าเทียบเรือที่นี่ชอบด้วยเหตุผลตามที่บริษัทเสนอ... ทั้งที่รายงาน EHIA ของบริษัทเชฟรอนน่าจะเป็นรายงานฉบับที่มักง่ายที่สุดเล่มหนึ่งตามการวิเคราะห์ และจัดสัมมนาของนักวิชาการและการจัดทำข้อมูลของภาคประชาชนมาเทียบเคียงชี้ข้อบกพร่องให้เห็นว่า รายงานฉบับนี้มักง่ายเกินไปที่จะอนุมัติ... แต่ สผ.และคชก.ก็ยังใช้นิสัยเดิมคือไม่ยอมรับ

7 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด ได้ประกาศยุติโครงการท่าเทียบเรือฯ หลังจากที่องค์กรภาคประชาชนรณรงค์ให้เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง จนเกิดพลังอย่างมหาศาลของประชาชนท่าศาลาและพื้นที่ใกล้เคียงในการลุกขึ้นมาประกาศเจตนารมณ์ปกป้องพื้นที่นี้ไว้สำหรับการผลิตอาหาร พร้อมกับประกาศหยุดยั้งภัยคุกคามใดก็ตามที่กระทำกับพื้นที่ผลิตอาหาร... วันที่บริษัทเชฟรอนประกาศยุติโครงการฯ เราคิดว่าจะสานต่อเจตานารมย์ปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารอย่างปราศจากภัยคุกคาม... หากแต่ สผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐได้สร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญสำหรับเส้นทางอนุมัติการสร้างอุตสาหกรรมขนาดใหญ่คือประกาศเดินหน้าต่อด้วยการส่งรายงาน EHIA ไปยัง กอสส.และกรมเจ้าท่า... วันนั้นคนท่าศาลาและพื้นที่อื่นๆ กำลังงงว่าเรากำลังสู้อยู่กับอะไร
 
12 ธันวาคม 2555 บริษัทเชฟรอนฯ ส่งหนังสือมายัง เลขาธิการ สผ.เพื่อขอแจ้งยุติโครงการสร้างท่าเทียบเรือฯ อย่างเป็นทางการ แต่ยังคงขอส่งรายงาน EHIA ฉบับสมบูรณ์มายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ คำถามที่สำคัญสำหรับคนท่าศาลาและสาธารณะที่รับรู้คือ ในขณะที่บริษัทประกาศยุติโครงการแต่ยังดำเนินการส่งรายงาน EHIA ซึ่งเป็นรายงานที่จะขอรับใบอนุญาตสร้างท่าเรือต่อไป... การกระทำทั้งสองประกาศขัดกันอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเรามิอาจไว้วางใจบริษัทเชฟรอนที่ประกาศวิสัยทัศน์ว่า “เราซื่อสัตว์ต่อตนเองและผู้อื่น เราดำเนินธุรกิจทุกประเภทบนพื้นฐานของจรรยาบรรณ มาตรฐานสูงสุด เรารักษาคำพูดของเราเสมอ เรามีความรับผิดชอบต่อการกระทำและงานที่ได้รับมอบหมาย” วิสัยทัศน์ที่ขัดกับการกระทำเช่นนี้จะให้เราไว้วางใจได้อย่างไร
 
25 มกราคม 2556 สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา มีหนังสือถามมายังเลขาธิการ สผ.ขอให้ชี้แจงเรื่องราวทั้งหมดที่กำลังเกิดขึ้นเพราะได้รับความสับสนจากเส้นทางการอนุมัติรายงานจนถึงการขอใบอนุญาต โดย สผ.ได้มีหนังสือตอบคำถามมายังสมาคมลงวันที่ 6 ก.พ.2556 
 
ประการแรก ขอให้ทบทวนมติ คชก. สมาคมฯ ได้ทำหนังสือลงวันที่ 22 พ.ย.2555 ขอให้ คชก.ทบทวนมติการอนุมัติรายงาน EHIA ของเชฟรอนเพราะพบข้อบกพร่องหลายประการ จนถึงปัจจุบัน บริษัทเชฟรอนยังไม่ส่งข้อมูลมายัง สผ.เพื่อประกอบการพิจารณาครั้งใหม่ของ คชก.ตามการร้องขอของ สผ.ลงวันที่ 30 พ.ย.2556 เวลาผ่านไปเกือบ 4 เดือน บริษัทเชฟรอนยังไม่ชี้แจงข้อมูล แต่กลับแข็งขันในการส่งรายงาน EHIA กลับมายัง สผ.เพื่อดำเนินการต่อ ตกลงพวกคุณ (สผ.กับ เชฟรอน) กำลังเล่นเกมส์อะไรกันอยู่ 
 
ประการสอง สผ. มีความเห็นว่าแม้ว่าบริษัทประกาศยุติโครงการฯ จะไม่มีผลต่อการเห็นชอบรายงานของ คชก. และหาก คชก. ยืนยันมติเห็นชอบรายงาน EHIA สผ.ก็จะส่งรายงานไปยังกรมเจ้าท่า ซึ่งเป็นหน่วยงานอนุญาตเพื่อจัดทำกระบวนการต่อไปรวมทั้งส่งให้ กอสส.เพื่อให้ความเห็นประกอบต่อไป คำถามสำหรับคนท่าศาลาจึงมีว่า การประกาศยุติโครงการฯ ของบริษัทเชฟรอน ไม่มีผลแต่อย่างใด กระบวนการยังคงเดินหน้าต่อจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตและเชฟรอนจะเปลี่ยนใจมาสร้างท่าเทียบเรือตอนไหนก็ได้ เพราะใบอนุญาตไม่มีหมดอายุ ในขณะที่บริษัทเชฟรอนยังทำงานมวลชนในพื้นที่แบบรุกหนักเช่นเดิม นี่อาจเป็นการเล่นละครตบตาประชาชนครั้งสำคัญภายใต้การเล่นแง่ตามกลไกกฎหมายที่ให้อำนาจกับ สผ. 
 
20 กุมภาพันธ์ 2556 บริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีหนังสือตอบมายังสมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา จากการส่งหนังสือไปสอบถามเพื่อขอความชัดเจนกรณียุติโครงการฯ ลงหนังสือวันที่ 5 ก.พ. 2556 บริษัทยืนยันไม่ขอยกเลิกรายงาน EHIA โดยอ้างว่าจะเป็นประโยชน์กับสาธารณะ...เหตุการณ์ที่สอดคล้องต้องกันยืนยันว่า ทั้งบริษัทเชฟรอนและสผ.จะยังคงยืนยันดำเนินการส่งรายงานEHIA ฉบับนี้ไปสู่กระบวนการขอใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่าต่อไป... การประกาศยุติโครงการของเชฟรอนเป็นเพียงปาหยี่เยื้อเวลาเท่านั้นเอง

เราไม่ได้เรียกร้องเกินกว่าเหตุ แต่มิอาจไม่กระทำเพราะกลไกที่ขาดความโปร่งใสไร้ซึ่งความเป็นธรรมสำหรับกระบวนการพัฒนา ที่จะก่อให้เกิดความวิบัติทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมในอนาคต คำถามก็คือหน่วยงานรัฐมีไว้สำหรับรับใช้ประชาชนหรือรับใช้นายทุนข้ามชาติ การประกาศยุติโครงการของเชฟรอนฯ ควรจะเพียงพอที่จะทำให้ทุกอย่างจบลง โดยมิต้องดำเนินการใดๆ แม้กระทั่งรายงาน EHIA ก็ต้องยกเลิกเพราะไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการต่อ เหตุการณ์ที่กลับตาลปัตรดังกล่าว มิอาจทำให้การเคลื่อนไหวของลูกหลานชาวนครศรีธรรมราชและเครือข่ายที่เฝ้าติดตามเรื่องนิยุติลงได้ เพราะประเด็นนี้กลายเป็นประเด็นสาธารณะที่แสดงถึงความฟั่นเฟือนของระบบ และความไม่ชอบมาพากลระหว่างหน่วยงานรัฐกับเจ้าของโครงการ
 
ข้อเรียกร้องของเราคือ ขอให้ยกเลิกรายงาน EHIA ฉบับนี้ทันที เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งที่ต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีความจำเป็นอย่างใดอีกที่จะดำเนินการเพราะเจ้าของโครงการประกาศยุติการดำเนินการแล้ว ข้อเรียกร้องของเรามีเพียงข้อเดียวเท่านั้นและคิดว่าสมเหตุผลสำหรับการปกป้องพื้นที่ชุมชน สมเจตนารมณ์ของบริษัทที่ต้องการยุติโครงการฯ... เหลือเพียงหน่วยงานรัฐ (สผ.) ที่ถึงเวลาต้องแสดงจุดยืน อย่าได้กลายเป็นศัตรูของประชาชนอีกเลย
 
สมาคมเครือข่ายประมงพื้นบ้านอ่าวท่าศาลา
เครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา
เครือข่ายลูกหลานชาวท่าศาลาและภาคีติดตามกรณีเชฟรอน
26 กุมภาพันธ์ 56
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net