Skip to main content
sharethis

บริษัทด้านความปลอดภัย เรย์ธิออน ได้ร่วมกับหน่วยความมั่นคงสหรัฐฯ พัฒนาระบบ 'ไรออท' (Riot) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการขุดเจาะข้อมูลและพยากรณ์บุคคลจากภาพถ่าย, การพูดคุย หรือการระบุตำแหน่ง ในโซเชียลเน็ตเวิร์กชื่อดังต่างๆ ทำให้กลุ่มสิทธิฯ แสดงความกังวลเรื่องเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวในโลกอินเตอร์เน็ต

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. สำนักข่าว เดอะ การ์เดียน เปิดเผยว่าบริษัทด้านระบบความปลอดภัยแห่งหนึ่งได้พัฒนาซอฟท์แวร์ติดตามและพยากรณ์พฤติกรรมของผู้คนอย่างลับๆ โดยวิธีการดึงข้อมูลจากเว็บไซเชียลเน็ตเวิร์ก

บริษัท เรย์ธิออน ซึ่งเป็นบริษัทด้านความปลอดภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกได้สร้าง 'ระบบวิเคราะห์ผลในระดับใหญ่มาก' ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมหาศาลจากผู้คนในเว็บไซต์อย่าง เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์ และโฟร์สแควร์ได้

ระบบดังกล่าวชื่อ 'ไรออท' (Riot) หรือ เทคโนโลยีการซ้อนทับข้อมูลอย่างรวดเร็ว (Rapid Information Overlay Technology) โดยที่เรย์ธิออนกล่าวว่าพวกเขาไม่ได้ขายเทคโนโลยีนี้ให้กับผู้ซื้อรายใดรายหนึ่ง แต่พวกเขาก็ยอมรับว่าในปี 2010 เทคโนโลยีดังกล่าวนี้มีการนำไปให้รัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมกันใช้เพื่อเป็นการวิจัยและพัฒนาในการสร้างระบบรักษาความมั่นคงระดีบชาติที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจากตัวตนนับล้านล้านตัวตนที่มีอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ตได้

ความสามารถในการสอดส่องเว็บไซต์ชื่อดังทำให้หน่วยงานความมั่นคงระดับชาติและหน่วยข่าวกรองให้ความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ชวนให้กังวลในเรื่องเสรีภาพและความเป็นส่วนตัวของประชาชนในโลกออนไลน์

เทคโนโลยีไรออทมีความซับซ้อน แสดงให้เห็นว่ามันสามารถใช้เป็น "กูเกิ้ลสำหรับสายลับ" ซึ่งมีการตรวจตราและกำกับโซเชียลเน็ตเวิร์กตัวเดียวกับที่เคยส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติในโลกอาหรับมาก่อน

ไรออทสามารถตรวจสอบภาพชีวิตทั้งหมดของคนๆ หนึ่งได้ รวมถึงให้ข้อมูลเรื่องเพื่อนของเขา สถานที่ที่เขาเดินทางไปในแผนที่ โดยใช้การคลิกปุ่มแค่ไม่กี่ปุ่ม

ไบรอัน อูช หัวหน้าทีมสืบสวนของเรย์ธิออนกล่าวในวีดิโอสาธิตว่า ภาพของผู้ใช้ที่โพสท์ลงในโซเชียลเน็ตเวิร์กมีข้อมูลรายละเอียดในมิติต่างๆ ซึ่งแฝงมากับสมาร์ทโฟนโดยอัตโนมัติเรียกว่า 'เอ็กซิฟเฮดเดอร์เดต้า' (exif header data) ซึ่งไรออทได้ดึงข้อมูลนี้ออกมา แสดงให้เห็นว่าไม่เพียงแค่ตัวรูปเท่านั้นที่ถูกโพสท์ลงไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่สถานที่ที่ถ่ายภาพก็ถูกระบุลงไปด้วย

ไบรอัน ได้สาธิตให้เห็นโดยใช้ภาพของ 'นิค' ซึ่งเป็นพนักงานของเรย์ธิออนเป็นตัวอย่าง โดยจากข้อมูลที่ได้รับจากโซเชียลเน็ตเวิร์กไรออทได้แสดงให้เห็นว่านิคไปเยือนสนามเบสบอลวอชิงตันเนชันนัลพาร์คบ่อยๆ ซึ่งมีครั้งหนึ่งที่เขาได้ถ่ายภาพคู่กับผู้หญิงผมบลอนด์คนหนึ่ง

นอกจากนี้แล้วไรออทยังได้แสดงแผนภาพใยแมงมุมที่เผยให้เห็นความสัมพันธ์และความเชื่อมโยงระหว่างบุคคลต่างๆ  จากการที่พวกเขาสื่อสารกันผ่านทางทวิตเตอร์ นอกจากนี้ยังมีการขุดข้อมูลจากเฟซบุ๊คและดึงเอาข้อมูลสถานที่จากโฟร์สแควร์ซึ่งสามารถบอกเพือนของตนได้ว่ากำลังอยู่ที่ไหน

ซึ่งในวีดิโอสาธิตแสดงให้เห็นว่านิคผู้ที่ชอบโพสท์สถานที่ลงในโฟร์สแควร์มักจะไปที่โรงยิมในช่วง 6 โมงเช้าทุกต้นสัปดาห์ ไบรอันกล่าวว่า ดังนั้นหากต้องการพบตัวเขาหรืออย่างน้อยก็อุปกรณ์สื่อสารของเขาก็สามารถไปเจอเขาได้ที่โรงยิม 6 โมงเช้าวันจันทร์


กลุ่มสิทธิฯ เผยกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้

การขุดเจาะข้อมูลจากเว็บไซต์สาธารณะเพื่อใช้ในการบังคับกฏหมายถือเป็นเรื่องถูกกฏหมายในหลายประเทศ เช่นในปีที่แล้วมีเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอของสหรัฐฯ เรียกร้องให้มีการพัฒนาโปรแกรมขุดเจาะข้อมูลเพื่อตรวจตรา'กลุ่มหรือบุคคลที่กระทำไม่ดี'

อย่างไรก็ตามจินเจอร์ แมคคอล นักกฏหมายประจำองค์กรศูนย์ข้อมูลด้านสิทธิส่วนบุคคลอิเล็กโทรนิค (Electronic Privacy Information Centre) ในประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่าเทคโนโลยีของเรย์ธิออชวนให้เกิดความกังวล เนื่องจากข้อมูลของผู้ใช้สามารถถูกเก็บไว้อย่างลับๆ โดยไม่มีการกำกับดูแล

แมคคอลกล่าวว่า เว็บไซต์โซเชียลเน็ตเวิร์กมักไม่ค่อยโปร่งใสในเรื่องที่ว่าข้อมูลอะไรที่ถูกแบ่งปันออกไป และถูกแบ่งปันออกไปอย่างไร ผู้ใช้อาจโพสท์ข้อมูลที่พวกเขาเชื่อว่ามีแต่เพื่อนเท่านั้นที่เห็น แต่จริงๆ แล้วมีเจ้าหน้าที่ทางการหรือบริการดึงข้อมูลอย่างโปรแกรมไรออท

ทางเรย์ธิออนเองบอกว่าพวกเขาไม่ต้องการให้วีดิโอสาธิตดังกล่าวมีการเปิดเผยต่อสาธารณชน จาเรด อดัมส์ โฆษกหน่วยระบบข้อมูลข่าวสารของเรย์ธิออนกล่าวว่า ไรออทเป็นระบบที่ช่วยนำข้อมูลมาใช้กับการรักษาความมั่นคงในประเทศซึ่งมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างมาก จาเรดบอกอีกว่าพวกเขาได้ระวังไม่ให้ข้อมูลระบุตัวตนของบุคคลเช่น หมายเลขบัญชีธนาคารหรือข้อมูลด้านการเงินของบุคคลรั่วไหลออกไป

เรย์ธิออนได้จดสิทธิบัตรโปรแกรมไรออทไว้เมื่อเดือนธ.ค. 2012 และมีแผนนำเสนอต่อรัฐบาลสหรัฐฯ และที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคง ซึ่งจากข้อมูลที่ตีพิมพ์โดยหน่วยงานควบคุมการค้าของสหรัฐฯ เปิดเผยว่าไรออทถูกจัดเป็นวัตถุประเภท 'EAR99' ภายใต้กฏควบคุมการส่งออก ซึ่งหมายความว่ามันสามารถถูกส่งออกไปนอกประเทศได้โดยไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตในสถานการณ์ปกติ


เรียบเรียงจาก

Software that tracks people on social media created by defence firm, The Guardian, 10-02-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net