Skip to main content
sharethis

หลังจากกรณีหญิงอายุ 23 ปี ถูกรุมข่มขืนในอินเดียเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ชาวอินเดียก็มีความตื่นตัวและมีการประท้วงเรียกร้องให้มีการจัดการเรื่องความปลอดภัยแก่ผู้หญิงมากกว่านี้ ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มทางการเมืองกลุ่มหนึ่งใช้วิธีแจกมีดให้ผู้หญิงใช้เป็นอาวุธ

เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2013 สำนักข่าว BBC ได้นำเสนอรายงานเรื่องกลุ่มนักกิจกรรมของพรรคการเมืองฝ่ายขวาจัด 'ชีฟ เซนา' แก้ปัญหาความปลอดภัยของผู้หญิงในอินเดียด้วยการแจกมีด โดยได้กล่าวถึงที่มาของพรรค พวกเขาติดอย่างไรถึงใช้วิธีการแจกมีด และประชาชนชาวอินเดียคิดเห็นอย่างไร

เหตุเกิดเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมาเมื่อมีการแจกมีด 21,000 เล่ม ให้กับกลุ่มชนชั้นกลางในนครมุมไบ ซึ่งมีผู้หญิงหลายพันคนเข้าแถวรอรับ หลายคนในนั้นได้แต่งกายในชุดซาลวาร์ กามีซ (shalwar kameezes) เพื่อเตรียมเดินขบวนเฉลิมฉลอง บาล ทักเกอเร ผู้ก่อตั้งพรรค 'ชีพ เสนา'

 

บทบาทการคุ้มครองสตรีของพรรคฝ่ายขวาและข้อถกเถียงเรื่อง 'ตำรวจศีลธรรม'

BBC เปิดเผยว่าพรรคชีพ เสนา จัดตั้งโดย บาล ทักเกอเร ผู้ที่เคยเป็นนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนการเมืองมาก่อน และพรรคการเมืองนี้ก็มีส่วนในการผลักดันเรื่องสิทธิของชุมชนชาวมหาราษฏรี ที่อพยพมาจากทางตอนใต้ของอินเดีย ซึ่งแม้พรรคการเมืองนี้จะเป็นที่รู้จักส่วนน้อยนอกเมืองมุมไบ แต่ก็เป็นพรรคที่มีอำนาจมากในเมืองหลักด้านเศรษฐกิจของอินเดีย

พรรคชีพ เสนา เป็นกลุ่มฝ่ายขวาสายทหารที่ชื่นชอบประท้วงหยุดงานใหญ่แบบที่เรียกว่า  “เบินดฮ์” (Bandh) ในอินเดีย รวมถึงการใช้ความรุนแรง พวกเขาเคยได้รับเสียงข้างมากจนได้ปกครองรัฐมหาราษฏระในอินเดียมาในปี 1995 และเมื่อเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญจากกรณีการรุมข่มขืนในเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว (2012) พวกเขาก็หันมาสนใจประเด็นที่ถูกนำเสนอตามหน้าสื่อของอินเดียอย่างเรื่องสิทธิสตรี

ผู้สื่อข่าวอเล็ก เพรสตัน ของ BBC ได้สัมภาษณ์เด็กนักเรียนหญิงบนรถประจำทางซึ่งเดินทางจากเชนไนมายังมุมไบ เธอบอกว่าเธอไม่ชอบพรรคชีพ เสนา ในแง่การเมือง แต่ก็บอกว่า 'กองกำลังตำรวจศีลธรรม' ของพรรคนี้ทำให้ชีวิตของผู้หญิงในมุมไบดีขึ้น

BBC เปิดเผยว่าอัตราการล่วงละเมืดทางเพศในมุมไบมีน้อยกว่าเมืองใหญ่เมืองอื่นๆ ในอินเดีย และแม้ว่าในพรรคจะมีพวกหัวรั้นและพวกชอบใช้กำลัง แต่พรรคชีพ เสนา ก็มีประวัติดีในแง่การพยายามส่งเสริมผู้แทนที่เป็นสตรี เป็นผู้กล่าวต่อต้านวัฒนธรรมสตี (วัฒนธรรมเป่าหญิงม่ายทั้งเป็นพร้อมกับสามีที่เสียชีวิต) และต่อต้านการบังคับแต่งงาน

อเล็ก เพรสตัน ยังได้สัมภาษณ์ไวยบัพ ปุราณดาเร นักข่าวการเมืองผู้ติดตามบันทึกชีวิตของทักเกอเร เมื่อถามเรื่องบทบาทการคุ้มครองสตรีในเมืองปุราณดาเรก็บอกว่าพรรคชีพ เสนา กำลังเผชิญภาวะวิกฤติด้านตัวตน หลังจากที่พรรคสูญเสียอำนาจในปี 1999 พวกเขาก็พยายามหาประเด็นต่างๆ มาชู

"แล้วก็เกิดเหตุการข่มขืนบนรถประจำทางขึ้น ผู้คนก็หันมาสนใจเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยของผู้หญิง มีการประท้วงอยู่มาก และมีความรู้สึกว่ารัฐบาลยังคงทำอะไรได้ไม่มากพอ พรรคชีพ เสนา เลยคิดจะฉวยโอกาสในเรื่องนี้" ปุราณดาเรกล่าว

และเมื่อถามว่า 'กองกำลังตำรวจศีลธรรม' เข้าทำร้ายผู้หญิงที่สวมประโปรงสั้นและคู่รักที่เดินจับมือถือแขนกันจริงหรือไม่ ปุราณดาเรก็บอกว่า เป็นเรื่องจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นแค่อันธพาลโหดเหี้ยม

ปุราณดาเรเล่าอีกว่าชุมชนมหาราษฏรีมีผู้หญิงที่เข้มแข็งและมีใจรักอิสระ ในครอบครัวของชาวมหาราษฏรีมีผู้หญิงเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องต่างๆ และพรรคชีพ เสนา ก็ค้องทำงานเอาใจพวกเธอ

 

'การเรียกร้องความสนใจ เพื่อชี้ให้เห็นประเด็น'

ผู้สื่อข่าว BBC ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ชเวตา ปารูคาร์ นักการเมืองดาวรุ่งของพรรคชีพ เสนา เธอบอกว่าการแจกมีดเป็นการ "การเรียกร้องความสนใจ เพื่อชี้ให้เห้นประเด็น"

ในช่องโทรทัศน์ของอินเดียเย็นวันที่มีการแจกมีด ผู้นำท้องถิ่นของพรรคก็พยายามกล่าวปกป้องการติดอาวุธให้กับสตรีในเมืองโดยอ้างว่า "บาล ทักเกอเร เคยบอกว่าผู้หญิงควรพกมีดในกระเป๋ามากกว่าลิปสติก" และกล่าวอีกว่า หากรัฐบาลไม่สามารถสร้างความปลอดภัยให้กับผู้หญิงได้พวกเราจึงต้องแจกจ่ายมีดเพื่อให้เสริมกำลังให้กับพวกเธอเอง

มีดที่แจกให้กับผู้หญิงในกลางเมืองมุมไบมีรูปห้อยอยู่ที่ปลายด้ามจับ เป็นรูปของบาล ทักเกอเร กำลังยิ้ม

 

เรียบเรียงจาก

Shiv Sena knives: At the sharp end of Indian politics, BBC, 10-02-2013 http://www.bbc.co.uk/news/magazine-21384169

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net