Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมทุนนิยมโลกาภิวัตน์นั้น มีผู้ใช้แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่สุดประมาณเกือบ 40 ล้านคน แยกเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรมจำนวนกว่า 10 ล้านคน แรงงานนอกระบบทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรจำนวนกว่า 24 ล้านคน รวมทั้งมีแรงงานข้ามชาติกว่า 3 ล้านคน

ย่อมสะท้อนให้เห็นว่า สังคมชนบทได้ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา แยกไม่ออกจากอิทธิพลของรัฐและทุน ชนบทไม่เหมือนเดิม ชนบทไม่โรแมนติคเหมือนแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนเพ้อฝันที่ครอบงวงการเอ็นจีโอส่วนหนึ่งอยู่ ชนบทเชื่อมโยงกับเมือง ท้องถิ่นเชื่อมกับสิ่งที่ไมใช่ท้องถิ่น การจัดการแรงานในครัวเรือนแบบสังคมชาวนาแบบเพียงผลิตเพื่อยังชีพเปลี่ยนไป มีการไหลลื่นของแรงงานเข้าสู่ด้านอื่นๆ มากขึ้น

การจัดการแรงงานของครัวเรือนต่างๆในท้องถิ่นชนบท ก็มีมากกว่าการมีอาชีพเกษตรกรรมเพียงอย่างเดียวแม้แต่กลุ่มชาติพันธุ์บนดอยสูงก็ตาม เนื่องจากว่า “ไม่สามารถจัดการตนเองได้” “พึ่งตนเองได้” “ไม่อาจพอเพียง” ด้วย

 ชีวิตและการดำรงอยู่ของพวกเขา จึงมีความเป็น พลวัตร หลากหลาย ซับซ้อนมากขึ้น

กล่าวได้ว่า ปัจจุบัน แรงงานนอกภาคเกษตรกรรมโดยเฉพาะคนหนุ่มสาว ก็ได้มีส่วนสำคัญในการหล่อเลี้ยงครัวเรือนในชนบทท้องถิ่นให้อยู่รอดได้ด้วย โดยคนงานหนุ่มสาวเหล่านี้ซึ่งเป็นลูกหลานได้ส่งเงินให้พ่อแม่ที่บ้านนั้น

คนงานหนุ่มสาวเหล่านี้จำนวนมากต้องทำงานหนัก จำแจซ้ำซากมากกว่า 8 ชั่วโมงเหมือนดั่งหุ่นยนต์ ยังต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงของงาน ความไม่ปลอดภัยในสถานที่ประกอบการ สิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ระบบป้องกันและอื่นๆ รวมทั้งไม่มีสวัสดิการเท่าดี ไร้สวัสดิภาพในการทำงาน ยังไร้หลักประกันในการทำงานเมื่ออายุมากขึ้นด้วย

หรือแรงงานอยู่ในฐานะอยากจน คุณภาพชีวิตไม่ดีนักก็ว่าได้ แต่ไม่ใช่โทษว่าคนงานกินเหล้าเครียดแล้วก็จน อย่างสสส.บอกอยู่และครอบงำอยู่

และกล่าวโดยรวมก็คือ คุณภาพชีวิตแรงงานไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็นในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง และที่สำคัญคนงานไม่มีความรู้ด้านสิทธิแรงงานอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นพื้นฐานของสิทธิผู้ใช้แรงงานในระบอบประชาธิปไตย เพื่อเป็นพลังต่อรองให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

จากโครงการที่ได้ศึกษา ผลจากการใช้เครื่องมือ “คะแนนศักยภาพชุมชน” พบว่า การให้ความรู้โดยเฉพาะด้านคุ้มครองสวัสดิการแรงงานตามกฎหมายแรงงานนั้นของราชการในพื้นที่ลำพูน แม้ว่ากฎหมายนี้ปัจจุบันล้าหลังไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงแล้ว หรือมีช่องโหว่ให้ประโยชน์กับนายจ้างมากก็ตาม

ปรากฏว่า การให้ความรู้ด้านนี้ ยังไม่ถูกกลุ่มเป้าหมายที่ควรจะเป็น กลุ่มเป้าหมายที่ควรจะเป็นนั้นคือกลุ่มเป้าหมายแรงงานฝ่ายการผลิตโดยตรงซึ่งเป็นคนงานระดับล่างสุด เป็นกลุ่มคนที่ถูกกดขี่ลิดรอนสิทธิมากที่สุด แต่กระบวนการให้ความรู้ของราชการกลับถูกบริษัทหรือทุนบิดเบือนโดยให้ความร่วมมือเพียงส่งให้เจ้าหน้าที่ของบริษัทฝ่ายงานฝ่ายบุคคล ฝ่าบบริหารต่างๆ ของบริษัทที่เป็นตัวแทนเครื่องมือของบริษัทมากกว่าเป็นตัวแทนหรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานโดยตรง

หรืออีกด้านหนึ่งความพยายามของราชการที่จะทำหน้าที่ให้ความรู้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีจำนวนนับสี่หมื่นคนในลำพูนยังมีข้อจำกัดหรือน้อยมากเช่นกัน แต่หากโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องในอนาคต ไม่ใช่ในระยะเวลาแสนสั้นนั้นเหมือตอนทำที่ผ่านมา ก็จะมีแนวโน้มที่ดีที่ทางราชการจะได้ร่วมมือกับสหภาพแรงงาน สมาคมส่งเสริมสิทธิแรงงาน สื่อมวลชน นักวิชาการ ในการจัดอบรมให้ความรู้ด้านสิทธิแรงงานกับผู้ใช้แรงงานได้โดยตรงมากขึ้น

ต่อเรื่องสิทธิแรงงานที่จักนำสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงานนั้น ขอเสนอว่ารัฐไทยหรือหน่วยงานใดๆ ควรจัดระบบการศึกษาที่กำหนดให้มีการบรรจุเป็นหลักสูตร ให้แรงงานมีความรู้ด้านสิทธิแรงงานก่อนเข้าสู่ประตูโรงงาน หมายความว่านักศึกษาระดับมัธยม ปวช ปวส ต้องรู้ เช่น สิทธิพื้นฐานแรงงาน กฎหมายแรงงาน ความสำคัญของสหภาพแรงงาน เป็นต้น คงอาจมิเพียงเป็นบทบาทของสำนักงานคุ้มครองแรงงานเท่านั้นในการให้ความรู้เรื่องนี้

หรืออาจารย์ในมหาวิทยาลัยควรรู้ด้วยหรือไม่ ? เพราะอาจารย์จำนวนไม่น้อยทำงานหนัก เงินเดือนน้อย สวัสดิการไม่ค่อยดีสักเท่าไหร่ ก็มี ?

อย่างไรก็ตาม คุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานยังเกี่ยวข้องเชื่องโยงกับสิทธิเสรีภาพในสังคมการเมืองด้วยเช่นกัน ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 โอกาสที่คนงานจะรวมกลุ่มกัน จัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญของแรงงาน ในการต่อสู้ต่อรองเพื่อความยุติธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น

นับว่ายากยิ่งนัก เนื่องจากไม่มีเสรีภาพ ไม่ว่ายุคสมบูรณญาสิทธิราช ยุคเผด็จการอำนาจนิยม ยุคอำมาตยาธิปไตยก็ตาม แต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ดอกไม้ประชาธิปไตยเบ่งบาน คนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานได้จำนวนมาก

ประวัติศาสตร์ไทยก็บอกไว้ว่า เสรีภาพของคนงานก็เหมือนคนกลุ่มอื่นๆ มักควบคู่กับระบอบประชาธิปไตยรัฐภา มีพรรคการเมือง มีผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง

ประวัติศาสตร์จึงบอกให้รู้ว่า ประชาธิปไตยระบอบรัฐสภา เอื้อให้คนงานได้รวมกลุ่มในรูปสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างอำนาจต่อรองด้านต่างๆไม่ว่าสวัสดิการ ค่าจ้างขั้นต่ำ และอื่นๆเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนงาน

การเคลื่อนไหวเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ใช้แรงงาน การต่อสู้ผลักดันให้มีกฎหมายสำคัญของผู้ใช้แรงงานก็เกิดในยุคที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เช่น กฎหมายแรงงานมีขึ้นภายหลัง 14 ตุลา16 กฎหมายประกันสังคมเกิดขึ้นในยุคชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ที่มาจากการเลือกตั้ง กฎหมายลาคลอด 90 วัน เนื่องจากมีเสรีภาพที่เปิดในผู้ใช้แรงงานเคลื่อนไหวอย่างเสรีผลักดันวาระผู้ใช้แรงงานเองได้

ขณะเดียวกันกฎหมายลิดรอนเสรีภาพแรงงาน ก็เกิดยุคไม่ใช่ประชาธิปไตย เช่น กฎหมายแยกรัฐวิสาหกิจออกจาการเอกชน การมีที่ปรึกษาแรงงานที่ไม่มีความเป็นอิสระ ต้องถูกกำกับจากรัฐ ซึ่งเกิดยุคอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกที่คณะรัฐประหารรสช สุจินดา คราประยูรแต่งตั้งขึ้น

หรือแม้แต่หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 49 ช่วงคมช.ครองอำนาจ คนงานแถวชลบุรีเล่าว่า มีโรงงานหนึ่งสหภาพประท้วงเรื่องสวัสดิการ ถูกเจ้าของโรงงานนำทหารมาข่มขู่สหภาพแรงงาน

ดังนั้นคำว่า ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ และคุณภาพชีวิตของแรงงานจึงไม่อาจแยกออกจากกัน

อีกด้านหนึ่งปัจจุบันมีการกล่าวกันถึง กระบวนการยุติธรรมที่อยุติธรรมสังคมไทยมากขึ้น ไม่เพียงเรื่องราวของสมยศ พฤกษาเกษมสุข เรื่อง112 สิทธิการประกันตัว ขณะที่กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานก็ต้องปฏิรูปเช่นกัน เนื่องจากว่าที่ผ่านมาและเป็นอยู่ ความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง นายจ้างมักใช้กระบวนการศาลจัดการกับพวกผู้นำแรงงาน พวกแกนนำสหภาพ ต้องการทำลายสหภาพแรงงาน ขณะนี้สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ก็ถูกกระทำอยู่ แรงงานกำลังต่อสู้อยู่

เมื่อสหภาพแรงงานฟ้องศาล ศาลมักฟังเชื่อนายจ้างในฐานะผู้มีพระคุณมากกว่าในฐานะผู้เอาเปรียบกดขี่แรงงาน และไม่มีความรู้ด้านแรงงานและไม่สนใจความทุกข์ร้อนยากลำบากของแรงงานสักเท่าใด

ถึงที่สุดแล้ว เรื่องคุณภาพชีวิตของแรงงานจะดีขึ้น ยังต้องพิจารณาถึงความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมไทยด้วยเช่นกัน หากกล่าวแบบสุดๆแล้ว แรงงานต้องผลักดันให้สังคมไทยเป็นรัฐสวัสดิการ หมายถึงว่า จากครรถ์มารดาถึงเชิงตะกอน ตามที่อาจารย์ป๋วย อึ่งภากรณ์ชี้ทางไว้ ปัจจัยพื้นฐานของชีวิตรัฐต้องทำหน้าที่ดูแลประชาชน ครบวงจร ถ้วนหน้า และเท่าเทียม

แน่นอนว่ารัฐต้องมีการเก็บภาษที่ก้าวหน้า ทุกคนต้องเสียภาษี มรดก ที่ดิน มิใช่ภาษีบริโภคอย่างที่เป็นอยู่ ต้องมีการลดงบประมาณไม่จำเป็นเพื่อนำงบมาสร้างรัฐสวัสดิการ เช่น งบประมาณกองทัพ และอื่นๆที่ฟุ่มเฟือยไม่มีประโยชน์ต่อสังคม

ที่สำคัญสำหรับแรงงานแล้ว การจะผลักดันเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและรัฐสวัสดิการนั้นได้ในอนาคต แรงงานต้องมีสิทธิการเลือกตั้งในสถานประกอบการ แม้ปัจจุบันแรงงานมีสิทธิเลือกตั้งตามหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียง ไพร่เท่ากับอำมาตย์ ทุกคนเท่ากันในระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาก็ตาม

เราจะเห็นว่า เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึง มีแรงงานคนต่างจังหวัดจำนวนมากที่อยู่ในเขตอุตสาหกรรมและเขตเมือง เดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิดตนเอง เพื่อไปเลือกผู้แทนราษฎรตามสิทธิที่มีสำเนาทะเบียนบ้านรับรองตามกฎหมายเลือกตั้ง

บางครั้งแม้แต่การเลือกตั้งตัวแทนระดับระดับท้องถิ่น เทศบาล องค์กรบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ก็ต้องไปกันในฐานะผู้พลเมืองผู้ตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย

แต่โลกความเป็นจริง แรงงานคนต่างจังหวัดจำนวนมาก หาได้ดำรงชีวิต ทำมาหากิน มีอาชีพในถิ่นกำเนิดบ้านเกิดตนเองจังหวัดตนเองแล้ว หรือไม่ได้อยู่บ้านตนเองมานับสิบๆปีแล้ว เขาควรมีสิทธิการเลือกตั้งในพื้นที่ที่เขาทำงานอยู่และใช้ชีวิตมากกว่าถิ่นเกิดของเขา เขาจึงจะมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนได้

เพียงไปเลือกตั้ง แต่หาได้มีชีวิตในพื้นที่ที่มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกไปก็เหมือนลอยไปกับสายลม ?

อาจมีคำถามว่า แล้วทำไม พวกเขาเหล่านั้น จึงไม่ย้ายทะเบียนบ้านมาในพื้นที่ที่เขาทำงานทำมาหากิน เพื่อมีสิทธิเลือกและมีสิทธิในชีวิตเลือกได้อย่างแท้จริง

พวกเขาไม่ได้เป็นราชการ ไม่ได้เป็นคนชั้นกลาง ที่มีบ้านอยู่เองของตนเอง จึงไม่มีทะเบียนบ้านและการมีสิทธิเลือกตั้งต้องมีตามทะเบียนบ้านจึงลำบากยากนักสำหรับพวกเขา แต่เนื่องเพราะพวกเขาเป็นนั้นคนระดับล่างชนชั้นนั้นล่าง จึงไม่มีโอกาสมีบ้านเป็นของตนเอง เพียงมีชีวิตอยู่รอดก็แสนเข็ญมิอาจฝันถึงบ้านสักหลัง พวกเขาจำนวนมากจึงต้องเช่าหอพัก เช่าบ้านเขาอยู่

ดังนั้น หนทางข้างหน้าในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 50 จึงต้องบัญญัติสิทธิการเลือกตั้งของแรงงานไว้ในสอดคล้องกับพวกเขาด้วย

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net