Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

การสื่อสารเป็นการต่อสู้ทางความคิดที่สามารถผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่ประหยัดเลือดเนื้อได้กว่าการใช้กำลังเข้าประหัตประหารกัน และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่มั่นคงกว่าเนื่องจากเข้าไปอยู่ในความคิดหรืออาจฝังลงสู่จิตใต้สำนึกในลักษณะของความนิยมชมชอบหรืออารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงต่อเรื่องนั้นๆ

สื่อใหม่เป็นช่องทางในการทำกิจกรรมทางสังคมในปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต และสัญญาณโทรคมนาคม กลายเป็นเครื่องมือและสนามหลักในการทำกิจกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษามนุษย์ ดังสุภาษิตที่ว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” อย่างมิต้องสงสัย และอาจจะดียิ่งขึ้นเมื่อใช้กับคนไทยๆ

อย่างไรก็ดี การใช้สื่อใหม่ก็มีข้อดีที่ประหยัดต้นทุนในการลงมือลงแรง ผู้ใช้สามารถแสดงความเห็นหรือส่งผ่านข้อมูลกิจกรรมต่างๆได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่ายจิปาถะ การสื่อสารและเผยแพร่ความคิดและความรู้สึกสำนึกร่วมเกิดขึ้นรวดเร็วและสามารถส่งผ่าน ผลิตซ้ำได้ในเวลาไม่นาน ความเสี่ยงในการได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุต่างๆน้อยลง และด้วยความสามารถในการถ่ายทอดเหตุการณ์แบบทันทีทันใดได้ตลอดเวลาก็ลดความยุ่งยากให้กับชีวิตประจำวันของแต่ละคนที่มีภาระและเงื่อนไขไม่เหมือนกันได้ นักกิจกรรมไม่มีอัตลักษณ์ตายตัวสามารถเคลื่อนย้าย เปลี่ยนหน้ากากไปในหลายกิจกรรม ต่างความจำเป็นและคิดค้นรูปแบบให้เหมาะกับวาระและเป้าหมายเฉพาะเจาะจงได้

อย่างไรก็ดี สื่อใหม่ก็เรียกร้องให้นักกิจกรรมต้องใช้เวลา ความคิด และความรู้สึกร่วมไปกับประเด็นที่ตนจุดประเด็นขึ้นตลอดเวลาและต้องเกาะติดสถานการณ์เพื่อให้เกิดการถกเถียง หรือแสดงออกซึ่ง “ถูกที่ถูกเวลา” เป็นอย่างมาก ทั้งนี้นักกิจกรรมอาจต้องมีความเข้าใจต่อระบบการสื่อสารของสื่อใหม่ที่ถูกออกแบบให้กักเก็บข้อมูลของผู้ใช้ไว้ในที่ซึ่งอยู่นอกเหนือการควบคุมผู้ใช้ การลบทุกอย่างออกจากเครื่องหรือบัญชีการใช้ ไม่ได้ทำให้ข้อมูลหายไป กลับกันได้ทำให้สำเนาของเราหายไป แต่ข้อมูลไปอยู่กับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือแม้กระทั่งรัฐอยู่แล้ว การทำกิจกรรมในสื่อใหม่ที่มีลักษณะแบบสื่อผสมต้องการความสามารถทางคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบให้เหมาะกับลักษณะงานต่างๆ แม้ปัจจุบัน เฟซบุ๊ก ได้ทำให้ง่ายขึ้น แต่เมื่อใดที่ต้องการป้อมปราการของตนก็ต้องสร้างเว็บไซต์ของตน กิจกรรมดังกล่าวต้องใช้งบประมาณทั้งในลักษณะการสร้าง การควบคุมให้กิจกรรมเดินไป และการแก้ไขปัญหาต่างๆ และสิ่งสำคัญที่สุด คือ ความสามารถเชิงศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ที่ดึงความสนใจให้ประชาชนทั่วไปหันมาสนใจและรับรู้ได้ง่ายและซาบซึ้งตรึงใจ

ผลสำเร็จของกิจกรรมทางสังคมโดยใช้สื่อใหม่ อาจวัดได้จากความสัมพันธ์และผลสะเทือนระหว่างโลก ออนไลน์ กับ ออฟไลน์ ดังเช่น การใช้สื่อเรียกคนในโลกออนไลน์มาทำกิจกรรมในโลกจริง หรือกิจกรรมในโลกจริงถูกนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ แล้วอาจเกิดปรากฏการณ์เผยแพร่ความคิด ถกเถียง และสร้างกิจกรรมต่อเนื่อง ต่อยอดออกไปเรื่อยๆ อย่างไม่รู้จบ จนบางครั้งหาที่มาและต้นตอไม่เจอ แต่จริงๆแล้วสามารถสืบย้อนได้ซึ่งเป็นประโยชน์ในเชิงการศึกษาประวัติศาสตร์การต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อถอดบทเรียน หาแนวทางในการทำงานอื่นๆ ที่มีหน้างานต่างกันไป


ด้วยคุณประโยชน์และเงื่อนไขทั้งหลายทำให้เกิดความพยายามในการเข้ามาจัดการกับสื่อใหม่และข้อมูลที่ไหลเวียนอยู่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ

1) การใช้เทคโนโลยี โดยอาศัยคนเขียนโปรแกรมกำหนดว่าจะปิดกั้น ติดตาม หรือเก็บข้อมูลใดบ้าง โดย

2) ทุนนิยมและการภาคเอกชนมีบทบาทหลัก โดยตลาดเป็นตัวชี้ว่าบรรษัทจะปฏิบัติตัวอย่างไรตามความนิยมและการตอบสนองของลูกค้าผู้ใช้บริการ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายความเป็นส่วนตัวของเฟซบุ๊ก 

3) รัฐเข้าควบคุมกิจกรรมทั้งหลายโดยเฉพาะในช่วงที่ประกาศภาวะฉุกเฉินที่อำนาจในการกำกับเกิดจากกฎหมายและการประกาศใช้ของรัฐบาลนั้นๆ

4) รัฐกำกับโดยให้ชุมชนออนไลน์ทำตามกรอบ เช่น การให้นโยบายและขอความร่วมมือไปยังผู้ดูแลเว็บข่าว บอร์ด

5) ปล่อยให้ชุมชนออนไลน์ปกครองกันเอง มีกติกาของตนเอง และบังคับกติกาด้วยการแบน ลบ หรือปิดกั้น


แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ความร่วมมือระหว่างรัฐกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมในรูปแบบต่างๆ ซึ่งอาจกระทบกระเทือนต่อสิทธิของประชาชนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะนักกิจกรรม  ในหลายกรณีพบว่า กูเกิล (บริการทั้งหลายมิใช่เพียงเสิร์ชเอนจิน) สื่อเครือข่ายทางสังคม เช่น เฟซบุ๊ก หรือเว็บไซต์ชื่อดังจำนวนมาก ได้ทำการเก็บสะสมข้อมูล แบ่งปันข้อมูล และขุดค้นฐานข้อมูล ร่วมกับหน่วยงานรัฐ กลายเป็นฐานข้อมูลของบุคคลจำนวนมาก

นอกจากนี้ยังมีเทคนิคอันแสนแยบคายในสร้างฐานข้อมูลของประชาชน ที่ไม่ต้องพึ่งการเซ็นเซอร์ความเห็นอันสุดแสนล้าหลังและสร้างผลกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กรรัฐและเอกชน ไม่ว่าจะเป็น

-  การยั่วยวนหรือเปิดสวรรค์ของผู้นิยมข้อมูลแบบสุดขั้วแล้วใช้โปรแกรมตามบุคคลที่เข้ามาใช้ต่อไปจนถึงตัวบุคคลนั้น ดังกรณีเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน

-  การทำให้ชนชั้นกลางเพลิดเพลินกับสื่อบันเทิงทั้งหลายซึ่งส่งต่อได้ง่าย เช่น ได้เวลาทีวี ผลิต เผยแพร่ซ้ำในเน็ต

-  การทำให้ชนชั้นกลางอิ่มเอมไปกับเรื่องเล่าของยายไฮและโรงงานปลากระป๋อง จนไม่อยากจะลุกมาสู้อะไรต่อ

-  สร้างสื่อดราม่าด้วยงบประมาณรัฐ ที่มุ่งปลุกระดมความรักชาติ ซึ่งหน่วยงานรัฐ กับ กอ.รมน. ให้การสนับสนุน

-  การทำมาหากินขององค์กรต่างๆเพื่อปลุกเร้าและแสดงออกถึงความนิยมเจ้าและรักชาติอย่างออกนอกหน้า (Commercializing Ultra-royalism) ผ่านมิวสิกวิดีโอ สารคดี และการโฆษณาเสริมภาพลักษณ์ จนทำให้การแสดงความคิดเห็นวิจารณ์องค์กรเหล่านั้นโดนกดทับไปด้วยภาพลักษณ์ที่จงรักภักดีและน้อมนำฯ

-  รัฐจัดให้มีบริการที่ฟรีเพื่อทำให้ประชากรเข้าใช้อินเทอร์เน็ตมากขึ้น ประชาชนเข้ามาสร้างฐานข้อมูลเองมากขึ้น

-  ฐานข้อมูลกลายเป็นสินค้าของบรรษัทเพราะสามารถนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เพื่อออกแบบกลยุทธ์ทางการตลาดได้ และสามารถตกลงกับรัฐเพื่อแบ่งปันจัดเป็นข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของรัฐและรายชื่อเฝ้าระวังของฝ่ายความมั่นคง

-  การชะลอโครงการเพิ่มความเร็วสัญญาณโทรคมนาคม และสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ เพื่อชะลอการอัพโหลดและสร้างข้อมูลที่หลากหลายจากการผลิตสื่อของผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล และแย่งช่องทาง

-  การขยายความรับผิดของบรรณาธิการหนังสือต่อการกระทำของนักเขียนคนอื่น เท่ากับสร้างบรรทัดฐานในการรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต และผู้ควบคุมเว็บไซต์ จนทำให้ระวังมากและบีบช่องทางกิจกรรมแคบลง


โทษทางอาญาของหมวดว่าด้วยความมั่นคงแห่งรัฐ ควรปรับใช้กับการกระทำที่รุนแรง และมีกระบวนการพิสูจน์ที่แน่นหนา และหลักฐานที่หนักแน่น และผลกระทบมีลักษณะนามธรรม และกระทบรัฐในภาพใหญ่ ถ้าจะเป็นความผิดควรพิสูจน์ว่ากระทบต่อการรับรู้ของสาธารณะในลักษณะสร้างความตื่นตระหนกได้ หากทำในพื้นที่ส่วนตัว หรือวงแคบ ไม่ควรเป็นความผิด เพราะฉะนั้น เรื่องไม่จริงจังในพื้นที่ก้ำกึ่งว่าจะเป็นส่วนตัวหรือส่วนสาธารณะ ควรยกประโยชน์ให้ผู้กล่าวหา

ต่างจากการกระทำอาญาเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นในลักษณะปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชัง Hate Speech มีลักษณะสร้างความเกลียดหรือเจตนาให้เกิดขึ้นทันที และมีผลในชีวิตประจำวันอย่างเป็นรูปธรรมและแพร่หลาย และโทษไม่ได้หนักเมื่อเทียบกับความผิดต่อความมั่นคง ควรแล้วหรือไม่ที่จะนำหลักความรับผิดอย่างเด็ดขาด Strict Liability มาใช้โดยไม่ต้องสร้างภาระในการนำสืบและพิสูจน์เจตนา เพื่อทำให้เกิดการควบคุมตนเองของผู้พยายามเผยแพร่ความเกลียดชังในสังคมให้มากขึ้น

นักกิจกรรมและผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหลายก็เสมือนคนที่ติดอยู่ในกล้องโดยไม่รู้ตัว พอรู้ตัวแล้ววิ่งหลบออกไปจากกล้องก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะได้ถูกบันทึกข้อมูล และเผยแพร่ต่อไปไม่รู้จบ ดังนั้น การต่อสู้ในสื่อใหม่ที่มีการกักเก็บข้อมูลมหาศาลและสามารถนำผลิตและใช้ประโยชน์ได้อย่างไม่รู้จบ จึงต้องสู้เพื่อไม่ให้สิ่งที่ไม่ได้เจตนาหรือเรื่องผ่อนคลาย หรือระบายความอึดอัดต่อรัฐและโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรมของสังคม แต่ไม่ได้เหยียดหยามเกลียดชังใครหรือกลุ่มใดเป็นการเจาะจง กลายเป็นเรื่องจริงจังและต้องรับผิดชอบทางกฎหมายไปเสียหมด มากกว่าการต่อสู้ว่าไม่ควรกักเก็บข้อมูล เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งหลายออกแบบมาโดยกองทัพสหรัฐอเมริกาเพื่อจัดเก็บและรื้อฟื้นข้อมูลได้แม้โลกจะถูกถล่มราบไปด้วยสงครามนิวเคลียร์แล้วก็ตาม

บทความนี้มิได้ให้ข้อมูลเพื่อสร้างความกลัวเพราะโดยสภาพนักกิจกรรมก็ไม่มีความกลัวในการกระทำที่แสดงออกมาอยู่แล้ว แต่ให้ข้อมูลแก่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรู้ว่าสื่อใหม่เป็นเทคโนโลยีที่เก็บสะสมข้อมูลอยู่ และได้สะสมมานานแล้ว หากเราจะสะดุดและหยุดการเคลื่อนไหวไปก็เท่านั้น แนวทางการเคลื่อนไหว น่าจะเป็นการสู้ต่อให้ข้อมูลเหล่านั้นไม่อาจนำมาปรักปรำให้ต้องรับผิดตามกฎหมายเสียมากกว่า และสู้เพื่อให้เราเข้าถึงข้อมูล เพื่อตรวจสอบว่าถูกต้องหรือไม่ ใคร/หน่วยงาน/องค์กรใดเก็บไว้ เก็บไว้เพื่อวัตถุประสงค์อะไรชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ นานเท่าไหร่ และเราต้องได้รับแจ้งเมื่อใครเอาไปใช้เพื่อให้เราชี้แจงแก้ไขข้อมูลได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net